เรียนออนไลน์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 13 Sep 2021 13:56:50 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 การเรียนแบบออนไลน์ของทั้งผู้เรียน และผู้สอนเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้นในปีที่ผ่านมา https://positioningmag.com/1351537 Tue, 14 Sep 2021 04:00:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1351537

ผ่านมาหนึ่งปีกว่าแล้วที่โรงเรียน สถานศึกษาทั้งหลายต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจไม่ทันได้เตรียมรับมือเพื่อจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ รายงานการสำรวจฉบับล่าสุดที่จัดทำขึ้นโดย เลอโนโว และ ไมโครซอฟท์ พบว่า นักเรียนนักศึกษาและครูผู้สอนเริ่มเข้าใจถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของการเรียนออนไลน์ และเริ่มที่จะสนุกไปกับการใช้ประโยชน์จากการเรียนออนไลน์ อย่างไรก็ตามการเรียนออนไลน์ก็ยังมีอุปสรรค โดยอุปสรรคนี้ไม่ใช่การขาดแคลนการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่เป็นการไม่รู้จักใช้โซลูชันที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งความท้าทายด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเนื่องจากการเรียนออนไลน์ที่ปัจจุบันกินระยะเวลามานาน

การปิดโรงเรียนในหลายๆ ประเทศเกือบตลอดทั้งปี 2020 นี้ทำให้ครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียนนักศึกษาต่างเผชิญกับความท้าทายของเทคโนโลยีการเรียนรู้ใหม่ๆ การศึกษานี้ช่วยให้เราเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่าครูผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียนนักศึกษาได้ปรับตัวให้เข้ากับการเรียนออนไลน์อย่างไรบ้างในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ความท้าทายที่แท้จริงมีอะไรบ้าง และมีแนวทางแก้ไขใดบ้างที่นำมาปรับใช้เพื่อช่วยให้เทคโนโลยีการเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การศึกษานี้ได้สำรวจนักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง และครูผู้สอนประมาณ 3,400 คน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ e – learning ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และยังสำรวจว่าเทคโนโลยีสามารถกระตุ้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนนักศึกษาและสนับสนุนการเรียนรู้ได้อย่างไร โดยบริษัทผู้เชี่ยวชาญ YouGov และ Terrapin ได้ดำเนินการสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ผลการสำรวจที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

เทคโนโลยีการศึกษากลายเป็นบรรทัดฐานในช่วงปีที่แล้วโดยมีผลลัพธ์ที่หลากหลาย

ครูผู้สอน และนักเรียนนักศึกษา มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผลกระทบของชั้นเรียนออนไลน์ที่มีต่อผลประสิทธิภาพด้านการศึกษา ครูผู้สอนแสดงความคิดเห็นในทางที่ดีเกี่ยวกับประสิทธิภาพการสอนทางออนไลน์ โดย 59% มั่นใจว่ามีประสิทธิภาพการสอนที่ดีขึ้น และ 24% เชื่อว่ายังคงรักษาระดับของประสิทธิภาพไว้ได้ อย่างไรก็ตาม การประเมินของนักเรียนนักศึกษามีความหลากหลาย ตัวอย่างเช่น ประมาณหนึ่งในสามของนักเรียนเชื่อว่าประสิทธิภาพของตนดีขึ้น อีกสามส่วนเชื่อว่ายังคงเหมือนเดิมในช่วงเรียนออนไลน์ และอีกสามส่วนที่เหลือเชื่อว่าประสิทธิภาพการเรียนของตนลดลง

สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว นักเรียนนักศึกษา และครูผู้สอนส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นในปีที่ผ่านมา แนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไป โดย 66% ของนักเรียนนักศึกษาและ 86% ของครูผู้สอนคาดว่าจะใช้จ่ายไปกับเทคโนโลยีการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นในปีที่จะมาถึงนี้

การเข้าถึงและความสะดวกสบายถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญของการเรียนออนไลน์

การเข้าถึง และความยืดหยุ่น ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญในการเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียนนักศึกษา รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงเนื้อหาและสื่อการเรียนที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก ในขณะเดียวกัน ครูผู้สอนมองว่าการรวมศูนย์สื่อการสอนให้มาอยู่ในแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายเพียงที่เดียวนั้นเป็นข้อดีที่เห็นได้ชัด เช่น Microsoft Teams สำหรับการศึกษารวมทั้งผู้ที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า e – learning ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน และช่วยให้เกิดการเรียนรู้และการสนับสนุนในแบบส่วนตัวมากยิ่งขึ้น

นักเรียนนักศึกษา และครูผู้สอน ต่างก็ตระหนักถึงความต้องการของตนแต่เพิ่งเริ่มใช้ประโยชน์จากโซลูชันที่มีอยู่

นักเรียนนักศึกษา และผู้ปกครองกล่าวว่า เทคโนโลยีที่ให้ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ประสิทธิภาพที่ยืดหยุ่น และคุณประโยชน์อย่างต่อเนื่องเป็น “สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง” และมีเพียง 17% เท่านั้นที่มองว่าค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดสำหรับโซลูชันเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ 75% ของครูผู้สอนยังให้ความสำคัญเรื่องการรักษาความปลอดภัยเฉพาะสำหรับการศึกษา, การรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล(79%), ฟีเจอร์การทำงานร่วมกัน(64%), เครื่องมือสำหรับการประเมินนักเรียนนักศึกษา(63%), ความง่ายในการใช้งานทั่วไป (59%) และฟีเจอร์การเข้าถึง(53%) ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ (72%) ใช้แล็ปท็อปและ 29% ใช้แท็บเล็ตในการเรียนออนไลน์ แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ใช้โซลูชันการเรียนรู้แบบเต็มรูปแบบ

นักเรียนนักศึกษาและครูผู้สอนพบว่ามีวิธีรับมือกับการสนับสนุนทางเทคนิค แต่การเสียสมาธิ การมีส่วนร่วม และการปลีกตัวอยู่ลำพังก็ยังคงเป็นอุปสรรค

การเว้นระยะห่างทางกายภาพไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับนักเรียนนักศึกษาหรืออาจารย์ในการขอรับการสนับสนุนทางเทคนิคที่ต้องการในขณะที่เรียนออนไลน์หรือ e-learning แม้ว่าทีมสนับสนุนทางเทคนิคของสถานศึกษาหลายแห่งไม่สามารถรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน แต่นักเรียนนักศึกษาและครูผู้สอนต่างก็พบว่ามีแหล่งสนับสนุนอื่นๆ

โดยนักเรียนนักศึกษามักจะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมชั้น เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวที่อายุน้อยมากกว่า ในทำนองเดียวกัน 32% ของครูผู้สอนพยายามค้นหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาเทคนิคด้วยตนเอง อีก 31% ขอความช่วยเหลือจากครูท่านอื่น และ 11% ขอความช่วยเหลือจากเด็กที่อยู่ในละแวกบ้านใกล้เคียงกัน

ปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมที่ลดน้อยลงเป็นปัญหาที่ทั้งนักเรียนนักศึกษาและครูผู้สอนมากกว่าครึ่งเผชิญ โดย การสำรวจทำให้พบว่า นักเรียนนักศึกษาและครูผู้สอนเกินครึ่งมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่อ่อนแอลงในช่วงเรียนออนไลน์ ทั้งนี้ความท้าทาย 4 อย่างที่นักเรียนนักศึกษา และผู้ปกครอง ลงความเห็นพ้องกันจากการเรียนออนไลน์คือ เรื่องสมาธิในการเรียน, แรงจูงใจในการเข้าชั้นเรียนออนไลน์ที่บ้านมีน้อย, การขาดโอกาสได้พบปะมีปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์/เพื่อนร่วมชั้น และเรื่องความโดดเดียวจากการต้องเว้นระยะห่างทางสังคม

แม้ว่าแอปพลิเคชันการประชุมทางวิดีโอมีช่องทางในการมีปฏิสัมพันธ์แบบเรียลไทม์ที่หลากหลาย แต่การเข้าชั้นเรียนทั้งหมดผ่านหน้าจอกลับเป็นความท้าทายสำหรับนักเรียนนักศึกษา โดย 75% ของครูผู้สอนกล่าวว่า “นักเรียนไม่มีสมาธิเมื่อต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์” ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่ง

รูปแบบการสมัครใช้บริการใหม่ๆ การทำงานร่วมกันและอุปกรณ์ที่ชาญฉลาดมากขึ้นช่วยปลดล็อกศักยภาพในการเรียนออนไลน์ได้

แม้ผลสำรวจจะชี้ได้อย่างชัดเจนว่า ทั้งนักเรียนนักศึกษาและครูผู้สอนต่างตระหนักถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มีต่อการศึกษา แต่การดึงศักยภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ให้ได้เต็มประสิทธิภาพนั้นยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยทั้งนักเรียนนักศึกษา และครูผู้สอนต่างกำลังมองหาวิธีการที่จะเรียนรู้ร่วมกันผ่านเทคโนโลยีที่สามารถก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทั้งระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และกับเนื้อหาของการเรียน

โลกได้เข้าสู่สภาวะ New Normal และการศึกษาก็กำลังก้าวเข้าสู่การเรียนการสอนยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง เข้าถึง เสมือนอยู่ในชั้นเรียนจริง ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกชั้นเรียน

]]>
1351537
รู้จักโครงการ ‘The Educator’ โดย ‘AIS Academy’ กับภารกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับ “ครู” สู่ยุค 2021 https://positioningmag.com/1344249 Thu, 29 Jul 2021 04:00:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1344249

การเรียนออนไลน์ (Learn Form Home) ในบ้านเราเริ่มเป็นที่รู้จัก และมีให้เห็นตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงระลอกแรกในปี 2020 แต่ถึงอย่างนั้นการเรียนในรูปแบบนี้ยังพบอุปสรรคอีกมากมาย โดยเฉพาะสื่อการสอนและวิธีการสอนของครูที่ยังปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยี ส่งผลให้นักเรียนได้รับความรู้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ AIS Academy ลุกขึ้นมากระตุกสังคมโลกการศึกษาอีกครั้ง ให้หวนคิดและถึงเวลาที่ดิจิทัลเทคโนโลยีจะเข้าไปเปลี่ยนหน้าตา รูปแบบวิธีการสอน รวมถึงยกระดับครูไทย ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ไม่ใช่ครูทุกคนที่พร้อมสอนออนไลน์

ดร. ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าคุณครูในแต่ละพื้นที่ของไทยมีความแตกต่างและหลากหลาย อย่างไรก็ตามในแต่ละพื้นที่ก็พยายามและความมุ่งมั่นที่จะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์เพื่อทดแทนการสอนแบบปกติ ดังนั้น ครูจึงพยายามพัฒนาตนเอง พยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะสกิลทางด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็น 2 ทักษะที่คุณครูในปัจจุบันจำเป็นต้องเรียนรู้ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ จิตวิญญาณของความเป็นครูและหัวใจของการเรียนรู้ เพราะครูต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตการเป็นครูเพื่อพัฒนาตนเอง

“ยุคนี้คุณครูเองต้องทำงานหนักมาก เพราะบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีมากนัก ดังนั้น จึงมีการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ครูก็พยายามปรับตัวเรียนรู้เพื่อที่จะสอนนักเรียน สิ่งสำคัญคือ หัวใจของการเรียนรู้”

ความยั่งยืนที่แท้จริงต้องมากกว่าแค่ในองค์กร

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอไอเอสเล็งเห็นเรื่องดิจิทัลทรานซ์ฟอร์มเมชั่นตั้งแต่ก่อนการระบาดของ COVID-19 เมื่อองค์กรได้ผ่านการทำดิจิทัลทรานซ์ฟอร์มเมชั่น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงการทำงานและการเรียนการสอนภายในองค์กร แต่การทำเฉพาะภายในอาจเป็น ‘ความยั่งยืนที่ไม่ยั่งยืน’ เท่ากับการช่วยให้สังคมภายนอกเติบโตไปด้วยกันจึงเกิดเป็นโครงการ THE EDUCATORS THAILAND โดย AIS Academy

“ประโยชน์ของดิจิทัลจะทำให้การเรียนการสอนสามารถทำได้ทั่วถึงและครอบคลุมพื้นที่ที่ห่างไกลและโรงเรียนที่มีข้อจำกัดด้านจำนวนคุณครู ขณะที่ครูเองก็พยายามปรับตัว ดังนั้น ถ้ามีอาวุธช่วยครูก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศ เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทัดเทียม”

เจาะลึกโครงการ THE EDUCATORS THAILAND

สำหรับโครงการ THE EDUCATORS THAILAND เพื่อต่อยอดการศึกษาของไทย ด้วยการให้ความสำคัญกับคุณครู บุคลากรต้นน้ำ ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาหลักสูตรและต่อยอดทักษะการออกแบบสื่อการเรียนการสอนยุคใหม่ให้สอดรับกับการศึกษายุคดิจิทัลแบบครบวงจร ตั้งแต่ การวางโครงสร้างหลักสูตร เครื่องมือสื่อการสอน และการวัดประเมินผลผู้เรียน

โครงการดังกล่าวนั้นเปิดกว้างให้บุคลากรด้านการศึกษาจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น นักการศึกษา ครูผู้สอน บุคลากรด้านการศึกษาทุกสังกัด และนักศึกษาฝึกสอน สามารถเข้าร่วม Un Learn และ Re Learn ทักษะการสอน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คน

“เราเห็นว่าคุณครูกว่า 90% ที่เข้าร่วมโครงการของเรามีความพร้อมและความตั้งใจในการเรียนรู้อย่างมาก” ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ หัวหน้าส่วนงานการจัดการความรู้ด้านเทคนิค AIS กล่าว

สำหรับเนื้อหาภาคทฤษฎีที่จะทำการสอนมีทั้งหมด 5 หลักสูตร ได้แก่

1. ภูมิทัศน์ของการเรียนในอนาคต องค์ประกอบของการเรียนออนไลน์ สื่อการสอนออนไลน์ ระบบ LMS และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน

2. การวิเคราะห์เนื้อหา และวิธีการเรียนออนไลน์

3. กลยุทธ์การสอนออนไลน์ การสอนแบบผู้เรียนอิสระ การสอนโดยใช้กิจกรรมกลุ่ม การออกแบบการสอน

4. การผลิตวิดีโอออนไลน์ สำหรับการศึกษา

5. การวัดประเมินผลออนไลน์ การวัดความรู้ การวัดทักษะ การวัดทัศนคติ

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวถูกออกแบบและพัฒนาโดย AIS Academy ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยบุคลากรชั้นนำในวงการ โดยเป็นหลักสูตรเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโครงการ THE EDUCATORS THAILAND เท่านั้น เมื่อผู้เรียนผ่านการอบรมหลักสูตรจะได้รับใบประกาศนียบัตร และ Digital Credential Badge ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับรองคุณวุฒิระดับสากล

นอกจากนี้ยังมีเวิร์คช้อปการผลิตนวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เตรียมความพร้อมในการผลิตผลงานในการแข่งขันชิงถ้วยรางวัลเกียรติยศ พระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรม-ราชกุมารี โดยจะมีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประจำปี 2564 ในวันที่ 15 ธ.ค.

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และ Intouch, กรรมการ บริษัท เลิร์นดิ จำกัด กล่าวว่า ทาง AIS Academy ยังมีภารกิจในการนำองคูความรู้ต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้กับอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคสังคม เพราะเชื่อว่าเป็นการช่วยยกระดับอีโคซิสเต็มส์ให้เติบโตไปด้วยกันในทุกด้านด้วยเทคโนโลยี ดังนั้น เอไอเอสอยากจะเป็นตัวช่วยในการจุดประกายให้ภาคเอกชนต่าง ๆ นำจุดแข็งมาช่วยให้ประเทศสามารถฟื้นฟูจาก COVID-19 และมีความสามารถในการแข่งขันได้

“ระหว่างทางที่เราพัฒนาเราอยากเห็นการยกระดับขีดความสามารถและ Mindset แม้โครงการจะจบในช่วงสิ้นปี แต่เชื่อว่าคนที่เข้าโครงการจะนำประสบการณ์ไปส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเรื่องการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญ และเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ”

 

]]>
1344249
เรียนออนไลน์เฟื่องฟู ‘Coursera’ เตรียมขาย IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ รับเทรนด์การศึกษายุคใหม่ https://positioningmag.com/1322294 Sun, 07 Mar 2021 10:04:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1322294 เว็บไซต์เรียนออนไลน์ชื่อดังอย่าง ‘Coursera’ เตรียมเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังกระเเสการเรียนทางไกลบูมขึ้นมาก ท่ามกลางวิกฤตช่วงโรคระบาด กลายเป็นทิศทางของการศึกษายุคใหม่

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า Coursera กำลังยื่นเอกสารต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) เพื่อเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชน (IPO) ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยจะใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า ‘COUR’

Coursera เเพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 โดย Daphne Koller และ Andrew Ng อดีตศาสตราจารย์ด้านคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

หลังจากที่ทั้งสองได้คลุกคลีในวงการนี้มานาน จึงมองเห็นเทรนด์การศึกษาออนไลน์ ว่าควรเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงหลักสูตรการเรียนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของ COVID-19

จากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ทุกคนต้องเว้นระยะห่าง ทางการต้องระงับการเรียนการสอนที่โรงเรียนเเละสถาบันการศึกษา รูปแบบการเรียนรู้จึงเป็นมาเป็นการสื่อสารทางออนไลน์เเทน

ในปี 2020 ที่ผ่านมา มียอดผู้สมัครเรียนกับ Coursera เพิ่มขึ้นถึง 65% บริษัททำรายได้รวมกว่า 293 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9 พันล้านบาท) เติบโต 59% เมื่อเทียบกับปี 2019 

จากหนังสือชี้ชวนของบริษัท ระบุว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้น มาจากการเพิ่มขึ้นของผู้ลงทะเบียนในช่วงการระบาดของ COVID-19”

อย่างไรก็ตาม เเม้ Coursera จะมีรายได้เติบโตขึ้น จากอานิสงส์วิกฤตโรคระบาด เเต่ยังคงขาดทุนเพิ่มขึ้นทุก เฉลี่ยปีละ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปีที่ผ่านมาขาดทุนไปแล้ว 66.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2 พันล้านบาท) เเต่ก็ยืนยันว่าธุรกิจนี้ยังต่อยอดไปได้อีกไกล

ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา Coursera มีผู้ที่เรียนออนไลน์และได้รับวุฒิการศึกษาไปแล้ว กว่า 1.2 หมื่นคน มีค่าใช้จ่ายในการเรียนโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6 หมื่นบาท) ต่อคน

จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2020 มีมหาวิทยาลัยกว่า 150 แห่งทั่วโลก เปิดคอร์สสอนอยู่บน Coursera ทั้งสิ้นกว่า 4,000 คอร์ส โดยมีค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจนได้วุฒิการศึกษา อยู่ที่ราว 9,000-45,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว2.7 แสนบาท ถึง 1.3 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ยังเข้าถึงกลุ่มลูกค้ากำลังทรัพย์น้อย โดยมีใบรับรองการศึกษาและหลักสูตรทักษะวิชาชีพที่ ‘หลากหลาย’ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 9.99 – 99 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 274 – 3,000 บาท)

โดยช่วงที่มีการแพร่ระบาด Coursera ได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาลในประเทศต่างๆ มากกว่า 330 แห่งใน 70 ประเทศและ 30 รัฐของสหรัฐอเมริกา เพื่อเสนอให้คนว่างงานเเละผู้ที่สนใจ สามารถเข้าถึงหลักสูตรต่างๆ สำหรับธุรกิจเเละเทคโนโลยีได้ฟรี

ทั้งนี้ PitchBook ประเมินมูลค่าบริษัทของ Coursera ว่าอยู่ที่ราว 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.6 หมื่นล้านบาท

การเสนอขายหุ้น IPO ของ Coursera ครั้งนี้ จะได้ธนาคาร Morgan Stanley, Goldman Sachs และ Citigroup จะเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยช่วงราคาเเละจำนวนหุ้นที่จะเสนอขายดังกล่าว

 

ที่มา : CNBC , Forbes 

]]>
1322294
Zoom ดาวรุ่งจากโควิด ยอดขายพุ่ง 326% มองปีนี้โตได้อีก ‘ทำงานที่ไหนก็ได้’ คือเทรนด์เเห่งอนาคต https://positioningmag.com/1321639 Wed, 03 Mar 2021 06:20:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1321639 เเอปพลิเคชันวิดีโอคอล ‘Zoom’ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เเจ้งเกิดได้อย่างสวยงาม ในช่วงวิกฤตโรคระบาด เมื่อผู้คนต้องทำงานทางไกล เเละเรียนออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์ กลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตใหม่ที่จะดำเนินต่อไปเเม้ผ่านพ้น COVID-19

โดยในปี 2020 บริษัททำยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 326% สู่ระดับ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผลกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 671.5 ล้านดอลลาร์ จากเพียง 21.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 เท่า

Zoom Video Communications Inc. เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 4/2020 (..2020 – ..2021) มีรายได้อยู่ที่ 882.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 369% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 69.7% เพิ่มขึ้นจากในไตรมาสที่ 3/2020 ซึ่งอยู่ที่ 66.7%

‘Zoom’ ดังเป็นพลุเเตกชั่วข้ามคืน กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มหลักที่หลายองค์กรเลือกใช้สำหรับสื่อสารทางไกลระหว่างการทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้

นผีที่ผ่านมา การเเข่งขันเพื่อชิงตลาดของแอปพลิเคชันประชุมทางไกล เรียกได้ว่าถึงขั้นดุเดือดเมื่อ Zoom ต้องเจอคู่แข่งรายใหญ่ที่ก่อตั้งมานานอย่าง WebEx ของ Cisco, Google Hangouts และ Microsoft Teams 

อีริค หยวนผู้ก่อตั้ง Zoom ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Zoom บอกว่า ตัวเลขยอดขายไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก นับเป็นปีที่มีสิ่งที่คาดไม่ถึง เกิดขึ้นมากมาย

เเม้ตอนนี้สถานการณ์โรคระบาดจะกลับดีมาดีขึ้น เเละมีการกระจายวัคซีนทั่วโลก เเต่เขาเชื่อว่า Zoom จะเติบโตได้ต่อเนื่อง ถึงจะไม่พุ่งเท่ากับปีก่อนก็ตาม การทำงานของ Zoom เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

อีริคมองว่าการ ‘ทำงานที่ไหนก็ได้’ เเบบ Remote Working จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเทรนด์เเห่งอนาคต และแพลตฟอร์มของบริษัทจะยังคงตอบสนองกับเทรนด์นี้ เเละเตรียมความพร้อมให้กับผู้ใช้บริการต่อไป

โดยในปี 2021 บริษัทตั้งเป้าจะเติบโตมากกว่า 40% เพื่อทำยอดขายให้เเตะระดับ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้อัตราการเติบโตจะไม่มากเท่ากับปี 2020 ที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เเต่เชื่อว่าจะเป็นการเติบโตที่มั่นคงเเละยั่งยืนมากขึ้น

ต้องติดตามดูว่า Zoom จะมีกลยุทธ์เเละฟีเจอร์ใหม่ๆ อะไรออกมาดึงดูดลูกค้าในปีนี้ เมื่อผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ พร้อมๆ กับที่บริษัทเทคเจ้าใหญ่ต่างเร่งเครื่องพัฒนาเเพลตฟอร์มวิดีโอคอล เพื่อเเข่งขันในตลาดนี้อย่างเต็มรูปเเบบ

 

]]>
1321639
สถาบันสอนภาษา สู้ตลาดขาลง ‘วอลล์สตรีท อิงลิช’ รุกออนไลน์ จับกลุ่มผู้ใหญ่ เรียนเพื่อหางาน https://positioningmag.com/1319819 Mon, 01 Mar 2021 13:30:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319819 โรงเรียนสอนภาษาต้องปรับกระบวนท่าทุกมิติ หลีกหนีช่วงขาลงหลายเเบรนด์ชะลอเปิดสาขา หันมาทุ่มออนไลน์ เจ้าใหญ่ปรับตัวพออยู่ได้ เเต่เจ้าเล็กต้องล้มหายไปกับพิษโควิด

โอฬาร พิรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย เปิดเผยกับ Positioning ว่า ตลาดรวมของสถาบันสอนภาษาอังกฤษในไทย ได้รับผลกระทบตลอดปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าลดลงเล็กน้อย จากเดิมในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ราว 3,500 ล้านบาท 

ปัจจัยหลักๆ มาจาก สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้หลายครอบครัวต้องจำกัดค่าใช้จ่าย รวมถึงสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ การท่องเที่ยวที่ซบเซา เเละการปิดชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์

เเต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนมาสมัครเรียนภาษากันมากขึ้น เพื่อนำไปช่วยหางานทำเสริมทักษะให้เหนือกว่าคู่เเข่งในยามที่ตลาดเเรงงานระส่ำ มีคนตกงานเกือบล้านคน

ด้านผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ชะลอการขยายสาขา เเต่บางรายสู้ไม่ไหวต้องหายไปจากตลาด ส่วนผู้เล่นรายใหญ่ก็เหลือแค่ไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งตอนนี้เหลือระดับ Global Brands เเข่งขันกันอยู่ 3 เจ้า

โดยวอลล์สตรีท อิงลิช (Wall Street English) เปิดให้บริการในไทยมานาน 17 ปี มีการเติบโตเฉลี่ย 5-10% ก่อนโรคระบาด ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน จากรายได้จากที่มีอยู่ราว 600 ล้านบาท ปีที่ผ่านมา ลดลงไป 30% เหลือ 400 กว่าล้านบาท เเละมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนลดลงไปถึง 25% หรือประมาณ 7,500 คน

-โอฬาร พิรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย

ซีอีโอวอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย มองว่า ปีนี้เป็นโอกาสของธุรกิจสถาบันสอนภาษาที่จะฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง เเละตลาดโดยรวมน่าจะกระเตื้องขึ้นมา

กลยุทธ์ของวอลล์สตรีท อิงลิช จึงเน้นไปที่การปรับตัวเองให้ทันสมัย ก้าวทันพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป หาพาร์ตเนอร์อย่างโรงเรียน-มหาวิทยาลัย ขยายสาขาไปสู่ต่างจังหวัด เเละเพื่อนบ้านในอาเซียน พร้อมเป้าหมายที่จะกลับมาเติบโตให้ได้ 40% ในปีนี้ เเละรักษาเเชมป์ส่วนแบ่งมาร์เก็ตเเชร์ในตลาดไว้ที่ 35%

ที่ผ่านมาการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสถาบันสอนภาษา เเต่เป็นสิ่งที่ทำมานานมากเเล้ว เเต่การเรียนเเบบผสมผสาน ทั้งออฟไลน์ออนไลน์จะเป็นเทรนด์การศึกษาเเบบใหม่ของทุกโรงเรียนในยุคนี้

วอลล์สตรีท ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี สัดส่วนการเรียนที่สาขาจะลดเหลือ 60% และสัดส่วนออนไลน์จะเพิ่มเป็น 30% ส่วน Omni Channel จะเป็น 10%

ท่ามกลางโลกดิจิทัล ที่มีคลาสออนไลน์ให้เรียนฟรีเรียนรู้ด้วยตัวเองได้จากมีช่องยูทูบเเละโซเชียลมีเดียต่างๆ

โอฬาร มองว่า การมีคลาสเรียนฟรีในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนสนใจ และอยากเรียนภาษาอังกฤษเเบบจริงจังมากขึ้น ส่วนโรงเรียนสอนภาษาก็ต้องสร้างทักษะของผู้เรียนให้มากกว่าที่พวกเขาเรียนรู้เอง

หลักสูตรของวอลล์สตรีท จะเน้นไปที่การได้เรียนสดกับอาจารย์ชาวต่างชาติ ที่เป็นเจ้าของภาษา มีการถามตอบเเบบเรียลไทม์ ไม่ให้ลูกค้าต้องเรียนเองทั้งหมด และมีโค้ชคอยติดตามให้คำแนะนำเป็นระยะ

โดยคลาสเรียนทั้งในสาขาเเละเรียนออนไลน์ จะใช้หลักสูตรเดียวกัน ดังนั้นประสบการณ์การเรียนออนไลน์จะไม่เเตกต่างกัน ซึ่งแต่ละคลาสจะกำหนดให้เรียนแค่ 4 คนต่อคลาสเท่านั้น

สำหรับทิศทางของวอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทยในปีนี้ จะมีการเดินเกมรุกการสอนทั้ง 3 เเพลตฟอร์ม คือ สาขา , ออนไลน์ เเละ Omni Channel

ผสมการเรียนที่สาขาและออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยช่วงนี้มีการจัดโปรโมชั่นในคอร์สออนไลน์ ในราคาประมาณ 2,000 กว่าบาทต่อเดือน เพื่อดึงดูดให้คนมาสมัครมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการปรับหลักสูตรให้หลากหลาย เเละสั้นลงมีตั้งแต่ 3 เดือน , 6 เดือน, 1 ปี, 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี เนื่องจากพบว่าช่วง COVID-19 คอร์สสั้นๆ แค่ 1-3 เดือน มีกระเเสตอบรับที่ดีมาก จึงเป็นโอกาสในการหาลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมาเรียนเเละอยากทดลองเรียนบ้าง

โดยการเรียนทางออนไลน์ ช่วยให้โรงเรียนเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างกลุ่ม ‘คนทำงาน’ และ ‘เจ้าของกิจการ’ ได้มากขึ้น รวมถึงตลาดในต่างจังหวัดด้วย

อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นถึง 7 เเสนคน เป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันในตลาดเเรงงาน การมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีจึงเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ

ทั้งนี้ กลุ่มนักเรียนของวอลล์สตรีท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ราว 53% ตามมาด้วยกลุ่มคนทำงาน อายุ 23-29 ปี ราว 27% และกลุ่มเจ้าของกิจการ มีอยู่ราว 20%

ส่วนเเผนการสาขาในไทย ปัจจุบันวอลล์สตรีท อิงลิช มีสาขาทั้งหมด 15 แห่ง กว่า 12 แห่งกระจุกอยู่ในกรุงเทพ มีต่างจังหวัดเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ ระยอง ตอนนี้กลับมาเปิดบริการครบแล้ว เเละมีผู้ใช้บริการราว 90% ซึ่งถือว่ามีโอกาสเติบโตได้อีก

โดยตั้งเป้าจะเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ราว 1-2 สาขา ผ่านโมเดลแฟรนไชส์ในต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนนี้เปิดเป็นแฟรนไชส์ที่เดียวคือขอนแก่น ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นของบริษัท)

ในวิกฤตก็ยังมีโอกาสในการขยายสาขา เพราะมีค่าเช่าหรือต้นทุนการเปิดสาขาที่ถูกลง

ส่วนการขยายไปต่างประเทศนั้น หลังจากที่ได้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ในการขยายสาขาในไทย สปป.ลาว และกัมพูชา มาเมื่อ 2 ปีก่อน ทีมงานตั้งเป้าว่ากลางปีนี้จะเปิดสาขาในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยภายใน 5 ปี จะมี 3 สาขา ด้านสาขาในสปป.ลาว นั้นกำลังอยู่ในระหว่างหาพันธมิตร

บรรยากาศการเรียนการสอนของวอลล์สตรีท อิงลิช ในสาขารังสิต

ส่วนพาร์ทเนอร์อื่นๆ อย่างมหาวิทยาลัยนั้น กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา หลังประสบความสำเร็จจากการจับมือกับม.ศรีปทุม เข้าไปนำร่องการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษให้นักศึกษาทุกชั้นปี โดยผู้สอนเเละหลักสูตรจะเป็นอาจารย์จากวอลล์สตรีท อิงลิช ส่วนอาจารย์วิชาภาษาอังกฤษของ ม.ศรีปทุม ได้ปรับบทบาทเป็นโค้ช หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษา

จากข้อมูลของ EF Education First เกี่ยวกับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในประเทศที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลัก พบว่า ประเทศไทย มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับต่ำโดยเมื่อปี 2562 ประเทศไทยอยู่อันดับที่74 จากทั้งหมด 100 ประเทศที่สำรวจ แต่ในปี 2563 ตกมาอยู่อันดับที่ 89

โอฬาร มองว่า อุปสรรคในการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทย คือความกล้า ในการสื่อสารเเละการขาดโอกาสในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เเม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติเดินทางมาเยอะก็ตาม โดยภาษาอังกฤษยังมีความจำเป็นสำหรับคนทุกกลุ่ม เพราะช่วยเปิดโลกความรู้ ปูทางไปสู่คณะเรียนที่ใฝ่ฝันเเละการเลื่อนตำเเหน่งที่สูงขึ้นได้

การปรับตัวของโรงเรียนสอนภาษา เพื่อเสิร์ฟความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่มากในตลาด ในยามเศรษฐกิจตกต่ำเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป

 

]]>
1319819
ตม.สหรัฐฯ อาจส่งนักศึกษาต่างชาติกลับประเทศ ถ้ามหา’ลัยที่เรียนเปลี่ยนไปสอนออนไลน์ https://positioningmag.com/1286713 Tue, 07 Jul 2020 12:45:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1286713 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือ ICE ของสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2020 ว่า นักเรียนต่างชาติที่กำลังอยู่ระหว่างศึกษาในสหรัฐฯ อาจถูกส่งกลับประเทศบ้านเกิด หากมหาวิทยาลัยที่บุคคลนั้นเรียนอยู่ปรับไปเป็นระบบเรียนออนไลน์เท่านั้น ระเบียบนโยบายใหม่นี้อาจส่งผลกระทบต่อนักเรียนต่างชาติ 1.2 ล้านคนในประเทศสหรัฐฯ

มหาวิทยาลัยจำนวนมากของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาปรับการเรียนการสอนไปเป็นการเรียนออนไลน์เท่านั้น เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย Harvard ประกาศปรับไปเป็นการเรียนออนไลน์ทุกวิชา ไม่ว่านักศึกษาจะยังอยู่ในเขตแคมปัสมหาวิทยาลัยหรือไม่ ซึ่งทำให้นักศึกษาสามารถเดินทางออกจากสหรัฐฯ กลับประเทศบ้านเกิดได้เลย

“มีความไม่แน่นอนมากมายและน่าหงุดหงิดอย่างมาก” วาเลอเรีย เมนดิโอล่า นักศึกษาด้านบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัย Harvard กล่าวกับสำนักข่าว CNN “ถ้าฉันต้องกลับไปเม็กซิโก ฉันก็กลับได้ แต่นักเรียนต่างชาติหลายคนไม่สามารถทำอย่างนั้นได้”

จากข่าวประชาสัมพันธ์ที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ICE ประกาศวันที่ 6 ก.ค. 2020 เปิดเผยว่า นักเรียนนักศึกษาต่างชาติที่ใช้วีซ่านักเรียน “ไม่สามารถปรับไปเรียนออนไลน์ทั้งภาคการศึกษาแล้วยังคงพักอาศัยในสหรัฐฯ ต่อได้” รวมถึงเสริมว่า “กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะไม่ออกวีซ่าให้กับนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียนในโปรแกรมหรือในสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทุกวิชาสำหรับทั้งภาคการศึกษา และด่านตรวจคนเข้าเมืองจะไม่อนุญาตให้นักเรียนกลุ่มนี้เข้าสู่สหรัฐฯ ด้วย”

ทั้งนี้ ปกติวีซ่าประเภท F-1 ที่ให้ชาวต่างชาติพำนักในประเทศระยะยาวได้ตลอดการศึกษา จะอนุญาตให้นักศึกษาผู้ถือวีซ่าเรียนวิชาที่เปิดสอนแบบออนไลน์ได้ไม่เกิน 1 วิชาต่อเทอม สำหรับกรณีนี้ ICE จะอนุโลมให้ผู้ถือวีซ่า F-1 เรียนออนไลน์ได้หลายวิชา แต่ต้องไม่ใช่ทุกวิชา ดังที่กล่าวไปข้างต้น

มหาวิทยาลัย Harvard หนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ ซึ่งจะปรับมาเป็นระบบการเรียนการสอนออนไลน์ทุกวิชา รับมือโรค COVID-19 (photo: college.harvard.edu)

นโยบายใหม่นี้ทำให้นักเรียนต่างหัวหมุน โดยเอเจนซี่ที่ดูแลการเรียนต่อของนักศึกษาแนะนำว่านักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในสหรัฐฯ ไปแล้วควรใช้วิธีหลีกเลี่ยงนโยบายนี้ เช่น โอนย้ายหน่วยกิตไปอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ยังมีการเรียนแบบผสมผสาน คือมีทั้งเรียนออนไลน์และยังมีคลาสเรียนแบบปกติอยู่

แบรด ฟาร์นสเวิร์ธ รองประธาน สภาการศึกษาอเมริกัน หน่วยงานที่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยกว่า 1,800 แห่งทั่วประเทศ กล่าวว่า ประกาศของ ICE ทำให้เขาและอีกหลายคนแปลกใจ และมองว่าประกาศนี้จะสร้างความสับสนและความไม่แน่นอนยิ่งขึ้นไปอีก

ฟาร์นสเวิร์ธมองว่า นโยบายนี้จะเป็นอย่างไรต่อ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายลงในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-พฤศจิกายน) และมหาวิทยาลัยจำนวนมากกว่านี้ตัดสินใจปรับไปเป็นการเรียนออนไลน์ทุกวิชาเพื่อช่วยป้องกันโรค

“ผมคิดว่าเรื่องนี้จะยิ่งก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักเรียนต่างชาติ รวมถึงว่าที่นักศึกษาที่กำลังมองหาสถาบันเรียนต่อในฤดูใบไม้ร่วง ความไม่แน่นอนนี้อาจจะผลักให้พวกเขาเลือกมหาวิทยาลัยในประเทศอื่นได้” ฟาร์นสเวิร์ธกล่าว

 

นักศึกษาหลายประเทศกลับบ้านเกิดไม่ได้

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่อนุมัติออกวีซ่าให้กับนักเรียนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในคอร์สแบบเรียนออนไลน์ทุกวิชาอยู่แล้ว แต่สถานการณ์นี้ก็ไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่เป็นเหตุผลให้ ICE ต้องควบคุมอย่างเข้มงวดเช่นนี้

“นี่ไม่ใช่พวกมหาวิทยาลัยห้องแถว ไม่ใช่การหลอกลวง นี่คือกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีตัวตนจริง เป็นมหาวิทยาลัยที่จะสอนในคลาสเรียนปกติอยู่แล้วหากไม่เกิดโรคระบาดขึ้น” เธเรซ่า คาร์ดินัล บราวน์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายตรวจคนเข้าเมืองและผู้อพยพจาก ศูนย์นโยบาย Bipartisan กล่าว

“ปัญหาใหญ่ไปกว่านั้นคือ ประเทศหลายประเทศออกกฎการเดินทางที่เข้มงวดไปแล้ว ทำให้นักศึกษากลับบ้านไม่ได้ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นพวกเขาจะทำอย่างไร มันจะกลายเป็นปัญหาที่ไร้ทางออกสำหรับนักเรียนหลายคน” บราวน์กล่าว

(Photo by Anna Shvets from Pexels)

ด้าน แลร์รี่ บาโคว ประธานมหาวิทยาลัย Harvard ตอบโต้ในวันเดียวกันนั้นว่า “เรามีความกังวลอย่างยิ่งต่อนโยบายที่ออกโดย ICE ซึ่งเป็นวิธีการอันรุนแรงและกำปั้นทุบดินสำหรับปัญหาที่สลับซับซ้อน สำหรับนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกปรับไปอยู่ในคอร์สออนไลน์แล้ว พวกเขาจะมีทางเลือกเพียงแค่เดินทางกลับประเทศหรือย้ายมหาวิทยาลัยเท่านั้น”

บาโควยังกล่าวต่อว่า นโยบายของ ICE นั้น “ทำลายวิธีการรับมือที่พิจารณามาอย่างถี่ถ้วนของมหาวิทยาลัยหลายแห่งและ Harvard ด้วยในการที่จะปกปักประโยชน์ของนักเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนต่อในโปรแกรม โดยที่ยังรักษาสุขภาพและความปลอดภัยจากโรคระบาดได้”

“เราจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศเพื่อหาหนทางต่อจากนี้” เขากล่าวเสริม

 

แผนสกัดนักศึกษาต่างชาติ?

รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวนโยบายเพิ่มความเข้มงวดต่อการเข้าเมืองของคนต่างชาติอยู่แล้ว ดังนั้นการระบาดของโรค COVID-19 จึงส่งผลให้สหรัฐฯ เร่งระงับวีซ่าทำงานของชาวต่างชาติ โดยที่โรงงานอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญ และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้อพยพ ต่างเห็นตรงกันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เพียงฉวยโอกาสนี้เป็นตัวเร่งนโยบายส่งกลับผู้อพยพ รวมถึงลดอัตราการอนุมัติให้คนต่างชาติเข้าเมืองโดยถูกกฎหมายด้วย

นโยบายยกเลิกวีซ่านักเรียนต่างชาติก็เช่นกัน หากบังคับใช้จะทำให้นักเรียนต่างชาติ (ซึ่งมักจะเสียค่าเทอมสูงลิ่วให้ประเทศสหรัฐฯ) ต้องหาทางบินกลับประเทศบ้านเกิด

สถาบันศึกษานโยบายการอพยพ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในวอชิงตันดีซี ให้ข้อมูลว่า มีนักศึกษาประมาณ 1.2 ล้านคนตกอยู่ภายใต้กลุ่มวีซ่าที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายใหม่นี้ โดยนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ลงทะเบียนเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาราว 8,700 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูลจำนวนนักศึกษาเมื่อเดือนมีนาคม 2018)

ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า Top 3 สัญชาติของนักเรียนนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐฯ ได้แก่ จีน (31%), อินเดีย (17%) และเกาหลีใต้ (4.4%) ทั้งนี้ สำหรับนักเรียนไทยในสหรัฐฯ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน รายงานว่ามีนักเรียนนักศึกษาไทยรวม 6,636 คน ในช่วงที่เกิดโรคระบาดเมื่อต้นเดือนเมษายน

จนถึงขณะนี้นักเรียนนักศึกษาบางส่วนเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว แต่อีกจำนวนมากยังพำนักอยู่ในสหรัฐฯ ดังนั้น นโยบายของ ICE อาจจะมีผลต่อนักเรียนไทยด้วยเช่นกัน

Source

]]>
1286713
โอกาสในวิกฤต ยุคใหม่ “อักษรเจริญทัศน์” ถึงเวลา #เรียนออนไลน์ พลิกโฉมการศึกษาไทย https://positioningmag.com/1281835 Wed, 03 Jun 2020 06:18:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1281835 เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ ธุรกิจที่ปรับตัวทันคือธุรกิจที่จะอยู่รอด” เมื่อผ่านพ้นวิกฤตอันหนักหนาสาหัสนี้ไปได้

ก่อนหน้านี้ Digital Disruption เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจทุกภาคส่วน รวมถึงภาคการศึกษา” โดยเฉพาะในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เป็นเหมือนปัจจัยเร่งที่กระตุ้นให้สถานศึกษา ครูผู้สอน และผู้เรียน ต้อง “ลงสนามจริง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เราพูดถึงการเรียนออนไลน์กันมาหลายปี เเต่ยังไปไม่ถึงไหน คราวนี้ถึงเวลาของจริงมาเเล้ว ถือเป็นโอกาสในวิกฤต เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ต้องพัฒนากันต่อไป” 

ตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ทายาทรุ่น 3 แห่ง อักษรเจริญทัศน์ เปิดใจกับ Positioning ถึงมุมมองการศึกษาไทยในยุค New Normal การปรับตัวเเละกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กร ความท้าทายในการสร้างสรรค์การเรียนรู้ใหม่ รวมถึงเกร็ดชีวิต เเรงบันดาลใจเเละเป้าหมายต่อไป

ตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวตำนาน 80 ปีของอักษรเจริญทัศน์มาบ้างเเล้ว จากรุ่นคุณปู่ที่มาจากเมืองจีนเเบบเสื่อผืนหมอนใบ เริ่มขายหนังสือตามวัดจากนั้นขยับมาพิมพ์ใบลานขายเเละขยายเป็นสำนักพิมพ์

จากหนังสือพระสู่หนังสือเรียน

จากหนังสือเรียนสู่สื่อการเรียนรู้ดิจิทัล

จุดเปลี่ยนสำคัญของอักษรเจริญทัศน์ยุคใหม่ที่ก้าวขึ้นมาเป็นตัวท็อปในวงการ คือการเข้ามาสานต่อกิจการของทายาทรุ่นที่ 3 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

น่าเเปลกใจไม่น้อย เเม้ตะวันจะเติบโตมากับธุรกิจการศึกษา แต่ชีวิตของเขากลับไม่ได้เลือกที่จะมาสายนี้ตั้งแต่แรก เขาเรียนวิศวกรรมเครื่องกลที่ออสเตรเลีย ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทด้านธุรกิจ ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และจบออกมาทำงานสายธนาคาร นานนับ 10 ปี

เขาเล่าย้อนว่า เมื่อถึงเวลาที่ครอบครัวคิดจะมองหาเจเนอเรชั่นใหม่เข้ามาสานต่อธุรกิจ เขาชั่งใจอยู่นานทีเดียว เพราะไม่ได้อยู่ในเเวดวงการศึกษามาก่อน คิดหนักไปจนถึงว่าตัวเองจะมีความสุขเหมือนตอนทำงานสายเเบงก์หรือเปล่า

จนได้ยินคำแทงใจว่า รุ่นที่ 3 มักจะไปไม่รอด นี่คือเเรงผลักดันที่ทำให้เขาต้องการจะพิสูจน์ตัวเองและจะทำให้องค์กรก้าวไปให้ไกลที่สุดเเละต้อง “แตกต่าง”

ถามว่าการทำงานทุกวันนี้ สนุกกว่าสมัยทำงานแบงก์ไหม ผมว่าความรู้สึกมันต่างกัน ตอนทำงานแบงก์เราช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมาย เเต่เราตอนนี้กำลังช่วยให้เด็กไทย 10 ล้านคนบรรลุเป้าหมาย เพื่อจะได้โตขึ้นไปพัฒนาประเทศ

ไม่ใช่เเค่หนังสือเรียน เเต่ต้องเป็นการ “เรียนรู้”

ความตั้งใจว่าจะต้องเเตกต่างทำให้ตะวันมองการศึกษาไทยในมุมมองใหม่ เขาเริ่มจากทำการบ้านอย่างหนัก ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับโรงเรียนครู ผู้ปกครองเเละนักเรียนทั่วประเทศ รวมถึงไปดูการเรียนการสอนในต่างประเทศ

จนค้นพบว่า สิ่งที่ผู้คนต้องการไม่ใช่แค่หนังสือเรียนที่ดี แต่พวกเขาต้องการการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

นำมาสู่จุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับรูปแบบองค์กร จากผู้ผลิตหนังสือเรียนสู่การเป็นบริษัทที่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้แก่เด็กและสังคมได้ มีการดีไซน์ระบบการเรียนรู้เเบบใหม่ เพื่อให้ครูและนักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมากขึ้น เน้นให้ครูใช้คำถามจุดประกายเด็ก ๆ ด้วยคำถามว่า Why (ทำไม) และ How (อย่างไร) เพื่อให้เด็กได้เกิดการคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ การสร้างบรรยากาศของห้องเรียนยุคใหม่ ให้เด็กกล้าสงสัย ได้เเก้ปัญหาเเละนำเสนอผลงานตัวเองได้

“สำหรับอักษรฯ คำว่า Digital เป็นเพียงแค่เครื่องมือหรือช่องทาง แต่เราให้ความสำคัญกับคำว่ากระบวนการเรียนรู้ หรือ Learning Design มากกว่า”

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาคู่มือครู จัดอบรมครูเฉลี่ยปีละกว่า 7 หมื่นคน มีการเพิ่มเเนวคำถาม-คำตอบให้ครูนำไปประยุกต์สอนในห้องเรียน กระตุ้นความคิดเด็กเเละพัฒนาทักษะของครูไปพร้อมๆ กัน ส่วนการพัฒนาหนังสือเรียน จะเน้นการอธิบายด้วยภาพ มีอินโฟกราฟิกที่ทำให้เข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้น เพิ่มสื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ เช่น คลิปวิดีโอสรุปเนื้อหาจากการเรียนเกือบชั่วโมงให้เป็นการเล่าเรื่องสั้นๆ 3-5 นาที ช่วยให้มีเวลาเหลือที่จะเเลกเปลี่ยนความเห็นกันในห้องเรียนมากขึ้น ปัจจุบันอักษรฯ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาปีละไม่ต่ำกว่า 100 รายการ

โอกาสในวิกฤติ เปิดโลก “เรียนออนไลน์” 

จากประเด็น #เรียนออนไลน์ ที่กำลังถูกพูดถึงในสังคม เมื่อถามถึงมุมมองในฐานะผู้ที่อยู่ในเเวดวงสื่อการเรียนการสอนว่าอะไรคืออุปสรรคของการเรียนออนไลน์ในไทย และมองความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยีของเด็กไทยอย่างไรบ้าง

ตะวันตอบว่า เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนากันไป ซึ่งการเรียนออนไลน์ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเราและถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

“ส่วนตัวผมมองว่าไม่มีโซลูชันไหนที่สมบูรณ์แบบ เรื่องใหญ่กว่านั้นคือทัศนคติใหม่ของการเปลี่ยนโลกทัศน์การศึกษา การกล้าลองของใหม่ สิ่งเหล่านี้จะพิสูจน์ได้ว่า ไม่ว่าครูจะอยู่ในบริบทโรงเรียนแบบไหนก็สามารถลองใช้ได้ หลังจบ COVID-19 ไปแล้ว โลกทัศน์สำหรับครูและนักเรียนก็จะเปิดกว้างขึ้น”

โดยเขามองว่า “ความคุ้นเคยของคุณครู” คืออุปสรรคหลักของการเรียนออนไลน์ ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายให้ครูได้ลองโมเดลใหม่ๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีในการก้าวข้ามความท้าทายที่แตกต่างกัน

“ผมว่าเรื่องในเชิงเทคนิคมันแก้ได้ไม่ยาก แต่เรื่องของพฤติกรรมคือสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน ถ้าทุกคนได้ลองออกจาก Comfort Zone ของตัวเองสำเร็จแล้ว อะไรก็จะดีขึ้นทั้งนั้น”

ส่วนการเข้าถึงเทคโนโลยีของเด็กไทย เขามองว่าช่วงนี้ต้องเริ่มทำในสิ่งที่ทำได้เเละกลุ่มที่ทำได้ก่อน แล้วค่อยกระจายไปเรื่อยๆ เป็นการปูทางที่ใช้เวลานานเเละเป็นเรื่องระยะยาว ต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน

“หลังจากนี้ New Normal ของโลกการศึกษาจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ครูและนักเรียนจะพบว่ามีแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมากมายมหาศาลบนโลกใบนี้ คุณครูที่มีความพร้อม ก็จะสามารถสอนทุกอย่างในรูปแบบดิจิทัลได้ แล้วครูก็ยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนได้กว้างไกลมากขึ้น นักเรียนได้รับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพในรูปแบบที่หลากหลาย มีความยืดหยุ่น และมีความสร้างสรรค์ในการทำงานเพิ่มขึ้น”

ในช่วงการเรียนออนไลน์นี้ อักษรเจริญทัศน์ได้เปิดตัวดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้สำหรับทุกคนที่มีชื่อว่า Aksorn On-Learn เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนทั้งผู้เรียนและผู้สอน ในรูปแบบของ E-book คลิปวิดีโอ เเละสื่อประกอบการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น สื่อการเรียนรู้ Interactive 3D สื่อการเรียนรู้ Interactive Software ภาพยนตร์สารคดีสั้นเพื่อการศึกษา สไลด์ประกอบการสอน ไฟล์เสียงประกอบการสอน ผู้เรียนสามารถจัดตารางการเรียนได้ด้วยตนเอง ไม่จำกัดเวลา เรียนรู้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ สามารถพัฒนาและทบทวนความรู้ได้ด้วยตนเอง ด้านผู้สอน สามารถจำลองบรรยากาศการเรียนในชั้นเรียนได้สะดวก

Aksorn On-Learn ครอบคลุมกลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศึกษาฯ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

หลังเปิดตัวตั้งเเต่ช่วงต้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาในช่วง 2 สัปดาห์เเรกมีผู้ลงทะเบียนและเข้าใช้งานแล้วมากกว่า 8,000 คน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มครูผู้สอนกว่า 57% และกลุ่มของนักเรียและผู้ปกครองประมาณ 43% สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานได้ฟรีแล้วตั้งแต่วันนี้ที่ aksornonlearn

ปรับโฉมตลาดหนังสือเรียน เข้าใจเรื่องยากได้ง่ายขึ้น

กลับมาคุยกันเรื่องธุรกิจหนังสือเรียนในไทยที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ตามงบประมาณของรัฐบาลที่จัดสรรผ่านกระทรวงศึกษาธิการ

อักษรเจริญทัศน์ กินส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 40% ด้วยยอดขายที่ราว 2,500 ล้านบาท และถือเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจด้านการศึกษาในปีที่ผ่านมา ตีคู่มากับองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งในปีนี้ตะวันคาดว่าตลาดยังทรงๆ

“ก่อนหน้านี้ เรายังเป็นรองในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ คณิตศาสตร์ แต่ช่วงที่ผ่านมาทำได้ดีขึ้นมาก มีการเปลี่ยนการนำเสนอใหม่ โดยเอาหลักคิดการสอนคณิตศาสตร์จากสิงคโปร์มาปรับใช้ เปลี่ยนจากคณิตศาสตร์ที่เป็นนามธรรม มาอธิบายให้เห็นเป็นภาพส่วนในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราได้มีการทำสื่อการเรียนแบบใหม่ในรูปแบบ Interactive 3D ที่ทำให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่องยากได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่”

ขณะที่ในภาพรวมของการทำการตลาด ยังเป็นแบบ B2B (Business-to-Business) ลูกค้ารายใหญ่คือกลุ่มโรงเรียน ซึ่งบริษัทกำลังวางเป้าหมายเพื่อพัฒนาไปสู่แบบ B2C (Business-to-Customer) ให้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการลงทุนร่วมกับสตาร์ทอัพทางการศึกษาหลายแห่ง เช่น SkillLane ซึ่งทางอักษรฯ ถือหุ้นส่วนหนึ่งด้วย

“การเข้าถึงลูกค้าเเบบ B2C คือความฝันของคนทำธุรกิจหนังสือเรียนทุกเจ้า เพราะทำได้ยากมาก แต่เราจะพยายามให้มีมากขึ้น ก้าวต่อไปของอักษรฯ คือการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่”

เปลี่ยนองค์กรเก่าเเก่ สู่การทำงานเเบบใหม่

“ทุกวันนี้ผมยังชอบไปลงพื้นที่อยู่เรื่อยๆ ผมชอบให้พนักงานของเราไปคุยกับคุณครู นักเรียน ไปดูการเรียนการสอน เราจะได้เห็นปัญหาเเละข้อเสนอจากคนที่อยู่กับมันจริงๆ”

เขาเล่าถึงการปรับเปลี่ยนองค์กรตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ก้าวเข้ามาบริหารว่า การที่จะทำคอนเทนต์เพื่อสนองการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดของคนทำงานทุกตำเเหน่ง

“ความยากที่สุดคือการต้องทรานส์ฟอร์มคนในบริษัทที่มีอายุ 70-80 ปี ต้องทำให้ทุกคนกล้าที่จะเสนอไอเดีย มีการระดมสมองกันตลอดเวลา ในที่ประชุมผมจะชอบฟังพวกเขาพูดมากกว่า”

ตะวันเล่าย้อนไปในช่วงปีแรกๆ ที่เข้ามาทำงานที่อักษรฯ เขาลงมือทำเองเกือบทุกรายละเอียด อย่างการออกแบบปกหนังสือ เขียนโบรชัวร์ด้วยตนเอง ทุกวันนี้องค์กรสามารถขับเคลื่อนได้เอง ทุกส่วนงานสามารถทำงานประสานกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหัวหน้ามาคอยสั่งงานตลอด

ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานในเครือทั้งหมดราว 1,400 คน มีทีมวิจัยและพัฒนา มีการนำกระบวนการเรียนรู้ที่ได้ออกแบบไว้ไปทดลองปรับใช้กับห้องเรียนจริง นำ Pain Point ของครูเเละนักเรียนมาปรับปรุงสื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

“ปู่ผมเคยถามว่า ผมอยากให้คนอื่นจดจำผมแบบไหนตอนที่ผมได้จากโลกนี้ไปแล้ว ผมตอบปู่ไปว่า ผมอยากให้คนอื่นจดจำผม ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกครอบครัวที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี และผมได้ทำในสิ่งที่ทำให้โลกมันดีขึ้น นี่คือหลักยึดในการทำงานเเละการใช้ชีวิตของผม” ตะวันกล่าว

เเนะเด็กรุ่นใหม่ รู้กว้าง รู้ลึก ยืดหยุ่นได้

อีกเกร็ดชีวิตเล็กๆ ของผู้สร้างสรรค์ “ตำราเรียน” มายาวนาน ที่ในวัยเด็กมีวิชาที่ชอบเเละวิชาที่ไม่ชอบเหมือนกับนักเรียนทุกคน ตะวันบอกว่า ตอนเด็กเขาชอบเรียน “วิชาฟิสิกส์” มากเพราะเป็นวิชาที่ทำให้ได้คิดและได้ไขปัญหา

“ผมเลือกเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ใช่เพราะอยากเป็นวิศวกร ผมเเค่อยากเรียนฟิสิกส์ ส่วนวิชาที่ไม่ชอบตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็คงเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ แต่ไม่น่าเชื่อว่าทุกวันนี้พอผมได้ทำงานจริงๆ เรื่องเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเจรจา การเข้าใจผู้คน การสื่อสารเเละการตัดสินใจ”

ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งอักษรเจริญทัศน์ ปิดท้ายด้วยการฝากถึง “คนรุ่นใหม่” ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนวัยศึกษาว่า ความสงสัยคือบ่อเกิดของการเรียนรู้ทั้งมวล ทุกคนมีจุดแข็งของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องตามแฟชั่นของสังคม

“ยุคนี้เราต้องรู้ให้กว้างและรู้ให้ลึกในบางเรื่อง จนสามารถประกอบร่างเป็นองค์ความรู้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องปรับตัวให้เป็น เมื่อเจอปัญหาต้องยืดหยุ่นให้ได้”

 

]]>
1281835
ทำความรู้จัก App ‘StartDee’ โดย ‘ไอติม พริษฐ์’ กับจุดมุ่งหมาย ‘ลดเหลื่อมล้ำ’ ด้านการศึกษา https://positioningmag.com/1278086 Tue, 12 May 2020 09:30:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1278086 ถ้าพูดถึงชื่อของ ‘ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ’ ภาพจำของหลายคนคงยังติดที่ ‘นักการเมือง’ รุ่นใหม่ไฟแรงแห่งพรรคประชาธิปัตย์ หลานชายของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ แต่ปัจจุบันไอติมได้วางมือจากเรื่องการเมืองชั่วคราว และหันมาสวมหมวกของซีอีโอ บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด โดยพัฒนาแอปพลิเคชันด้านการศึกษา ‘StartDee’ ที่เปรียบเสมือน ‘Netflix’ ของการศึกษาไทย พร้อมมีเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย

การศึกษาลดความเหลื่อมล้ำได้ 39%

ไอติม เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่หันมาทำด้านการศึกษาเพราะเชื่อว่าการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่าง ทั้งเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ประกอบกับการประเมิน PISA ในปี 2018 จาก 79 ประเทศทั่วโลกประเทศไทยได้อันดับที่ไม่ค่อยดีนัก โดยคณิตศาสตร์อยู่ที่อันดับ 58 วิทยาศาสตร์อยู่อันดับที่ 54 และการอ่านอยู่อันดับที่ 67 ในขณะที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงขนาดใหญ่มีผลการเรียนที่เทียบเท่ากับโรงเรียนชั้นนำระดับโลก ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง อาจจะขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน หรือคุณครูที่มีไม่เพียงพอสำหรับทุกระดับชั้น ซึ่งหากเด็กไทยทั่วประเทศกว่า 8 ล้านคน ได้รับการศึกษาที่เหมือนกัน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่รวยที่สุดกับคนที่จนที่สุดจะลดลงได้ถึง 39% (ข้อมูลจาก UNESCO)

ไม่ได้มาแทนแต่มา เสริม โรงเรียน

การศึกษาที่ดี 1.ต้องมีคุณภาพ 2.ราคาไม่สูง และ 3.เข้าถึงง่าย แต่ทางเลือกในปัจจุบันยังสามารถตอบโจทย์ได้แค่ 2 ใน 3 ดังนั้น StartDee จะมาช่วยปลดล็อกตรงนี้ ดังนั้น เทคโนโลยีไม่ได้มาแทนโรงเรียนโดยสิ้นเชิง เพราะแต่ละส่วนก็มีจุดเด่นแตกต่างกัน อาทิ โรงเรียนมีเนื้อหาที่ครอบคลุมกว่า, ครูสามารถทำความรู้จักกับนักเรียนได้ดี และนักเรียนได้เจอกับเพื่อน ๆ ขณะที่ออนไลน์ก็มีจุดเด่นที่ต่างจากโรงเรียน อาทิ สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ตลอดเวลา, สามารถรวมครูเก่ง ๆ ไว้ในที่เดียว ดังนั้นการเรียนออนไลน์จะมาช่วยเสริมการเรียนปกติ

สำหรับ StartDee มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็น GenZ ขณะที่การเข้าถึงแอปพลิเคชันก็ทำได้ง่าย เพราะนักเรียนทั่วประเทศไทยกว่า 86% มีสมาร์ทโฟน และ 82% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และในส่วนของหลักสูตร จะมีตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ครอบคลุม 7 วิชาหลัก มีการเรียนการสอนทั้งคลาสประจำวัน คลาสไลฟ์สด อีกทั้งสามารถดูย้อนหลังได้ มีแบบฝึกหัด ชีทสรุปบทเรียน ช่วยให้สามารถทบทวนบทเรียนได้ด้วยตัวเองตามความต้องการได้อย่างไม่จำกัด

ไม่ ฟรี แต่ ถูก

เพราะด้วยความเป็นบริษัทเอกชน ดังนั้นจำเป็นต้องทำรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงบริษัทและเงินเดือนของครูผู้สอน แต่โจทย์ที่ต้องการให้เข้าถึงง่าย ราคาจึงต้องไม่สูง ดังนั้นจึงตั้งราคาเริ่มต้นเพียง 200–300 บาทต่อเดือน ซึ่งถ้าเทียบกับการเรียนพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ ถือว่าถูกกว่า 10-15 เท่า และเพื่อเป็นการลดช่องว่างในการขาดหายไปจากการเรียนรู้ในช่วงที่โรงเรียนถูกเลื่อนเปิดเทอม จึงเปิดให้เรียนฟรี ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563

ทั้งนี้ Startdee มีพันธมิตรทั้งภาครัฐ-เอกชน ร่วมขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทย อาทิ เอไอเอส (AIS) ที่ช่วยสนับสนุนอินเทอร์เน็ต ร่วมพัฒนาคอนเทนต์ด้านทักษะดิจิทัล พร้อมกับแจกซี้ดซิม (ZEED SIM) ให้ใช้บริการแอปพลิเคชัน StartDee โดยไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ต, การีนา (Garena) ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนทุนการศึกษาและพัฒนาทักษะรอบด้านให้เยาวชน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ที่ร่วมทำงานวิจัยเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งโรงเรียนอีกหลายแห่งทั่วประเทศ ที่ร่วมทดลองใช้งานและพัฒนาแอปพลิเคชัน

สำหรับแอปพลิเคชันด้านการศึกษา “StartDee” iOS ดาวน์โหลดได้ที่ App Store (https://apple.co/3diWevO) Android ดาวน์โหลดได้ที่ Play Store (https://bit.ly/2WasAlx) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม www.facebook.com/startdeethailand และ http://startdee.com

]]>
1278086
คนไทยดูอะไรมากสุดบน YouTube ในช่วงกักตัว… เรียนออนไลน์ยัน “ซุปกิมจิเต้าหู้อ่อน” https://positioningmag.com/1277658 Sat, 09 May 2020 15:39:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1277658 Google เปิดข้อมูล Think with Google ที่ช่วยวิเคราะห์ และค้นหาข้อมูลเชิงลึกเพื่อการมองเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภค ได้เปิดเผยถึง 5 พฤติกรรมของคนไทยที่สนใจเข้าชมเรื่องราวต่างๆ บน YouTube ในช่วง Social Distancing ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนทั่วโลก

โดยในช่วงที่หลายคนกักตัวอยู่บ้านจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนหันมาใช้วิดีโอออนไลน์เพื่อช่วยในการปรับตัวกับการอยู่บ้าน หรือหากิจกรรมทำในยามว่าง ซึ่งเหล่า YouTube Creator ได้มาช่วยกันสร้างวิดีโอที่หลากหลายแนวออกมาเพื่อให้ผู้คนทั่วไปสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน

โดย Think with Google ได้รวบรวมคอนเทนต์วิดีโอ 5 ประเภทที่ผู้ชมในประเทศไทยให้ความสนใจในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้มีดังนี้

1. เรียนออนไลน์

การรณรงค์ให้เว้นระยะห่างในสังคม Social Distancing ส่งผลให้แคมเปญ #WithMe นำโดยเหล่า Creator ที่มาสร้างความบันเทิงและตอบโจทย์ความสนใจแนวต่างๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น หนึ่งในแนววิดีโอที่ได้รับความนิยม ได้แก่ วิดีโอแนว “Learn with Me” (เรียนด้วยกัน) ที่ช่วยตอบสนองความต้องการในการพัฒนาตัวเองผ่านคลาสเรียนออนไลน์

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาคนไทยค้นหาคำว่า “เรียนออนไลน์” บน YouTube เพิ่มมากขึ้น 25x เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากวิดีโอจาก Creators และทาง Google เองก็มีคอร์สเรียนออนไลน์ฟรีสำหรับทุกคนจาก Grow with Google เพื่อช่วยคุณพัฒนาทักษะดิจิทัลในช่วงอยู่บ้านด้วย

2. ทำเมนูง่ายๆ จากของในครัว

หนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตที่คนไทยเลือกทำในช่วงที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานๆก็คือการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาคนไทยค้นหา “เมนู” บน YouTube เพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้วถึง 85% นอกจากการนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์อาหารสำเร็จรูปให้น่าทาน และการสร้างสรรค์เมนูง่ายๆ จากไข่ เหล่า YouTube Creator ยังสอนเมนูตามเทรนด์ซีรีย์เกาหลีที่กำลังมาแรงในประเทศไทยเช่น ซุปกิมจิเต้าหู้อ่อน

3. หางานอดิเรกใหม่ๆ

สถานการณ์ความไม่แน่นอน และการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ๆ อย่างกะทันหันทำให้หลายคนต้องหางานอดิเรกใหม่ๆ เพื่อคลายความเครียดและความกังวล เราพบว่าผู้ชมหันมาพึ่งพาวิดีโอหลากหลายแนว ตั้งแต่วิดีโอคลายเครียดทั่วไปอย่างโยคะ ไปจนถึงวิดีโอแนวอื่นเพื่อหากิจกรรมทำแทนการออกนอกบ้าน เช่น การปลูกผักสวนครัว

เห็นได้ว่ายอดการค้นหาวิดีโอ “โยคะ” ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 245% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2019 ส่วนยอดการค้นหาคำว่า “ปลูก” เพิ่มขึ้น 144% จากปี 2019

4. ออกกำลังกายที่บ้าน

เมื่อต้องอยู่บ้าน ผู้ที่ชอบเข้าฟิตเนส หรือสตูดิโอออกกำลังกายเป็นประจำก็หันมาหาวิธีออกกำลังกายที่บ้านบน YouTube แทน เพราะ YouTube มีช่องฟิตเนสมากกว่า 8,000 ช่องจากทั่วโลก ที่สอนวิธีออกกำลังกายทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเผาผลาญไขมัน การสร้างกล้ามเนื้อ หรือการออกกำลังกายง่ายๆ ในห้องพัก

ในเดือนเมษายน 2020 ปริมาณการค้นหาคำว่า “ออกกำลังกาย” บน YouTube ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 3x เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว และนี่คือสัญญาณบอกว่าผู้คนยังคงออกกำลังกายอย่างเป็นกิจวัตร โดยใช้วิดีโอบน YouTube เป็นตัวช่วยแม้ในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้

5. เข้าร่วมกิจกรรมนอกบ้านในรูปแบบใหม่

ถึงแม้ว่าในช่วงนี้คนไทยจะต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น และไม่สามารถเดินทางออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้ พวกเขาก็หันมาพึ่งพา YouTube เพื่อทำกิจกรรมที่พวกเขาชอบ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาเราพบว่าคนไทยหันมาดูวิดีโอเกี่ยวกับกิจกรรมที่เคยต้องเดินทางไปเข้าร่วม เช่น มวยไทย และการท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งๆ ที่ตอนนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาของการเดินทาง หรือการแข่งขันมวยไทย

]]>
1277658
สิงคโปร์ ห้ามครูใช้ Zoom ในการเรียนการสอน หลังโดนเเฮกเกอร์ป่วน ปล่อยภาพไม่เหมาะสม https://positioningmag.com/1272859 Sun, 12 Apr 2020 10:08:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1272859 กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ ห้ามครูใช้ Zoom เเอปพลิเคชันประชุมผ่านวิดีโอที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงนี้ สำหรับการเรียนการสอนของโรงเรียนที่บ้านหรือโฮมสคูลอย่างเป็นทางการ หลังเกิดเหตุไม่เหมาะสม

สื่อท้องถิ่น รายงานว่า สัปดาห์เเรกของการเรียนที่บ้านในช่วงมาตรการปิดเมืองของสิงคโปร์ เกิดกรณีมีภาพอนาจาร ปรากฎขึ้นบนหน้าจอเเละชายเเปลกหน้าเเสดงความเห็นลามก ระหว่างการสตรีมคาบเรียนวิชาภูมิศาสตร์ ที่มีนักเรียนหญิงกำลังเรียนอยู่

บริษัท Zoom Video Communications Inc กำลังประสบปัญหาเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในการใช้เเอปพลิเคชัน Zoom หลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว โดยจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 200 ล้านคน ตั้งแต่เดือน มี.ค. เมื่อผู้คนทั่วโลกต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต สำนักงานและโรงเรียนทั่วโลก หันมาทำงานเเบบ Work from Home หรือเรียนจากบ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

“สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงมาก” Aaron Loh เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของกระทรวงศึกษาธิการระบุ พร้อมจะมีการเเจ้งตำรวจให้ดำเนินการสืบสวนต่อไป อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าว

“เพื่อเป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้า ครูของเราทุกคนจะต้องระงับการใช้งาน Zoom จนกว่าปัญหาความปลอดภัยจะหมดไป”

โดยทางการสิงคโปร์ เเนะนำให้ครูผู้สอนกำหนดให้นักเรียนต้องล็อกอินอย่างปลอดภัยทุกครั้งก่อนเข้าห้องเรียนออนไลน์ เเละห้ามเเชร์ลิงก์ให้กับบุคคลอื่น

ด้าน Janine Pelosi หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Zoom ระบุคำเเถลงขอโทษในอีเมลว่า บริษัทเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เเละจะมุ่งมั่นพัฒนาเครื่องมือการศึกษาบนเเพลตฟอร์มที่ปลอดภัยต่อไป

ก่อนหน้านี้ ไต้หวันและเยอรมนี มีคำสั่งห้ามใช้ Zoom ในหน่วยงานรัฐเเละการเรียนออนไลน์ไปแล้ว ขณะที่กูเกิลก็ประกาศห้ามใช้เเอปฯ นี้ กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในองค์กร มาตั้งเเต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม : ไต้หวัน สั่งห้ามหน่วยงานรัฐ ประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom จากความกังวลเรื่องความปลอดภัย

Zoom กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้ในเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย เช่น ไม่มีการเข้ารหัสแบบ end-to-end ซึ่งอาจจะทำให้โดนดักฟังหรือสอดเเนมข้อมูล รวมถึงการกำหนดเส้นทางการรับส่งข้อมูลให้ต้องผ่านประเทศจีน อีกทั้งยังมีปัญหา Zoom-bombing ที่มี “แขกไม่ได้รับเชิญ” ปรากฏตัวออกมาระหว่างการประชุมออนไลน์ เป็นต้น

สำหรับการแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้ ทาง Zoom ได้เปิดตัวแผน 90 วัน เพื่อยกระดับความปลอดภัยเเละความเป็นส่วนตัว เเละได้ดึงตัว Alex Stamos อดีตหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของ Facebook มาร่วมงานในฐานะที่ปรึกษา

ทั้งนี้ การเเข่งขันเพื่อชิงตลาดของแอปพลิเคชันประชุมทางไกลกำลังดุเดือด เมื่อ Zoom ต้องเจอคู่แข่งรายใหญ่ที่ก่อตั้งมานานอย่าง WebEx ของ Cisco, Google Hangouts และ Microsoft Teams เเต่ด้วยความที่ Zoom
ใช้งานง่ายจึงทำให้เข้าถึงผู้คนได้มากกว่าในช่วงวิกฤต COVID-19 โดย Zoom ได้กลายมาเป็นหนึ่งในแอปฯ ที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดบน App Store

ที่มา : Reuters , BBC 

 

]]>
1272859