เมื่อโลก (ถูกบังคับให้) เปลี่ยนมา Work from Home สารพัดเทคโนโลยีการประชุมและทำงานออนไลน์จึงถูกนำมาใช้ โดยหนึ่งในแพลตฟอร์มมาแรงที่หลายบริษัทเลือกใช้คือ “Zoom” แพลตฟอร์มนี้ก่อตั้งโดย “อีริค หยวน” ชายชาวจีนผู้อพยพไปสร้างเนื้อสร้างตัวที่สหรัฐอเมริกา และกลายเป็นมหาเศรษฐีในวัย 50 ปี
Zoom เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น NASDAQ เมื่อเดือนเมษายน 2562 และเป็นหนึ่งในหุ้นไม่กี่ตัวที่รอดพ้นหายนะทางเศรษฐกิจจากไวรัส COVID-19 ด้วยได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการที่บริษัทต่างต้องปิดสำนักงานและให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ส่งให้ Zoom เป็นหนึ่งในลิสต์รายชื่อแพลตฟอร์มประชุมทางไกล ที่ออฟฟิศทั่วโลกเลือกใช้ (นอกจากแอปฯ นี้ยังมีแพลตฟอร์มเด่นๆ อื่น เช่น MS Teams, Hangout, Lark, Slack เป็นต้น)
ข้อมูลจาก Apptopia ระบุว่า จากปกติที่แอปฯ Zoom จะมียอดดาวน์โหลดเฉลี่ย 1 แสนครั้งต่อวัน ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 3.4 แสนครั้งต่อวันแล้ว
ในแง่ราคาหุ้น นับตั้งแต่เปิดปี 2563 ถึงปัจจุบัน (30 มีนาคม 2563) หุ้นของ Zoom พุ่งขึ้นถึง 121% ราคาวันนี้อยู่ที่ 150.88 เหรียญสหรัฐ เทียบกับดัชนีตลาดหุ้น NASDAQ ที่ร่วงลง -14.5% ในช่วงเดียวกัน โดยหุ้น Zoom เริ่มไต่กราฟขึ้นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และพุ่งขึ้นแรงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม
เห็นได้ชัดว่าราคาหุ้น Zoom แปรผันตามสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 โดยรีวิวจากผู้ใช้หลายคนเห็นตรงกันว่า Zoom มีจุดเด่นสำคัญที่ทำให้บริษัทเลือกใช้คือมีความเสถียรระหว่างใช้ เพราะกินแบนด์วิธต่ำ ไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็ใช้งานได้ และมีฟีเจอร์เปลี่ยนฉากหลังเป็นอะไรก็ได้ เพื่อปิดบังว่าตนเองอยู่ที่ไหนหรือปิดห้องรกๆ ไม่น่ามอง
Bloomberg รายงานว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นของ Zoom ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ “อีริค หยวน” ผู้ก่อตั้งบริษัท Zoom เพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เขามีทรัพย์สินสุทธิรวม 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ แล้วในปี 2563 และเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 274 ของโลก
Positioning ขอชวนคุณมารู้จักมหาเศรษฐีหน้าใหม่วัย 50 ปีคนนี้ว่าเขาเป็นใคร และบริษัท Zoom กำลังเติบโตมากแค่ไหน!
อีริค หยวน ถูกปฏิเสธวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ถึง 8 ครั้ง
ทศวรรษ 1990s อีริคยังเป็นนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ประยุกต์ ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซานตงในจีนแผ่นดินใหญ่ เขาได้ฟัง บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft กล่าวถึง “อินเทอร์เน็ต” แรงบันดาลใจจากการฟังเกตส์ทำให้อีริคมุ่งมั่นจะเข้าทำงานในซิลิคอน วัลเลย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่เขาต้องพิสูจน์ความมุ่งมั่นอย่างมากเมื่อวีซ่าของเขาถูกปฏิเสธถึง 8 ครั้ง กว่าจะเป็นผลสำเร็จก็เมื่อยื่นขอเป็นครั้งที่ 9 ในที่สุดอีริคได้เดินทางไปสหรัฐฯ ในปี 1997 โดยที่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง แต่เขามีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำให้เขาได้งานในบริษัท WebEx บริษัทซอฟต์แวร์การประชุมทางไกล
อีริคยังทำงานในบริษัทนี้อยู่เมื่อ Cisco เข้าเทกโอเวอร์ WebEx ในปี 2007 ถึงจุดนี้เขาก็ได้รับตำแหน่งระดับสูงเป็นรองประธานกรรมการฝ่ายวิศวกรรมเพื่อกำกับดูแล WebEx ต่อไป
ลูกค้าไม่แฮปปี้ ออกมาทำเองดีกว่า
หลังจากขึ้นตำแหน่ง VP ทำให้อีริคได้พูดคุยกับลูกค้ามากขึ้น และเขาพบว่าลูกค้าไม่พึงพอใจในบริการของ WebEx โดยอีริคกล่าวว่า แพลตฟอร์มของ WebEx เริ่มรันโปรแกรมช้า คุณภาพเสียงและวิดีโอไม่ดีนัก และยังไม่มีระบบ screen-sharing (เปิดหน้าจอของเราให้ผู้อื่นดูด้วย) เมื่อใช้บนสมาร์ทโฟน เขาพยายามแล้วที่จะกล่อมให้ WebEx พัฒนาโปรแกรมใหม่แต่ไม่เป็นผล
สุดท้ายอีริคจึงตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะสละเงินเดือนหลักแสนเหรียญและลูกน้อง 800 คน ณ ขณะนั้น เพื่อออกมาเปิดสตาร์ทอัพของตนเองเมื่อปี 2011 ลูกน้องวิศวกรของเขาที่ Cisco ลาออกตามมานับ 40 คน
ศรัทธาในตัวอีริคเท่านั้นที่ทำให้นักลงทุนยอมจ่าย
เรื่องยากประการต่อมาคืออีริคต้องหาแหล่งเงินทุนให้ได้ ในขณะที่ยุคนั้นมีทั้ง Cisco, Microsoft, Google ที่ทำระบบประชุมทางไกลในตลาดอยู่แล้ว เมื่อต้องชนกับยักษ์ใหญ่ คนที่ยอมลงทุนกับเขาตั้งแต่ Seed Stage คือคนที่เชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของอีริค หยวน หนึ่งในนั้นคือ ซูบราห์ ไอยาร์ อดีตซีอีโอ WebEx ที่ควักกระเป๋าให้ 3 ล้านเหรียญ
แต่เดิมอีริคจะให้ชื่อแอปฯ นี้ว่า Saasbee แต่ Maven Ventures หนึ่งใน VC ที่ลงทุนกับเขาตั้งแต่ช่วงแรกมองว่าเป็นชื่อที่ “ห่วยมาก” และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Zoom
ในที่สุดแอปฯ Zoom เปิดตัวครั้งแรกในปี 2012 ใช้เวลาเพียง 2 ปีโกยผู้ใช้ไป 40 ล้านคนจากการใช้โมเดล ‘ฟรีเมียม’ คือให้ผู้บริโภคใช้ฟรีแต่มีฟีเจอร์ที่ต้องเสียค่าบริการเพิ่ม (ยังเป็นโมเดลนี้อยู่ถึงปัจจุบัน) บริษัทค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2018 บริษัททำรายได้ไปถึง 330 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีพนักงานกว่า 1,700 คน
เขานัดพบทุกคนผ่าน Zoom
อาจไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนักที่เจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์ประชุมทางไกลจะไม่ค่อยมาเจอใครตัวต่อตัว เขากลับไปจีน 3 ปีต่อครั้ง แม้ว่าจะมีลูกน้องวิศวกรอยู่ที่นั่นนับร้อยคน เมื่อเขาระดมทุนจาก VC แห่งใด เขาไปเจอนักลงทุนแค่ครั้งแรกครั้งเดียวและจัดแจงเซ็ตระบบ Zoom ให้ ทำให้ในรอบ 5 ปี อีริคเคยเดินทางไปทำงานนอกเมืองหรือนอกประเทศแค่ 8 ครั้ง ที่เหลือนั้นเขากระตุ้นให้ทุกคนรอบตัวดาวน์โหลดแอปฯ Zoom มาใช้คุยกับเขา
ในยุคแรก เขาตอบอีเมลลูกค้าด้วยตนเอง
ช่วงแรกของแอปฯ Zoom บริษัทยังไม่มีทีมการตลาดโดยเฉพาะ พวกเขาพึ่งพาการบอกปากต่อปากของลูกค้า และอีริคต้องการให้แอปฯ นี้พัฒนาตามความต้องการของลูกค้าจริงๆ เขาจึงมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการบริการลูกค้า เขายังไล่อ่านและตอบอีเมลลูกค้าที่เขียนมาบ่นและต้องการจะยกเลิกใช้บริการด้วยตนเองจนถึงช่วงปี 2015
ส่วนยุคนี้ Zoom กำลังบุก Twitter เต็มพิกัด รีทวีตผู้ใช้ที่โพสต์ภาพหรือวิดีโอการใช้งาน Zoom ของพวกเขา
Finding out that you can change your video backgrounds on @zoom_us just made my night ? pic.twitter.com/1FULl28zLJ
— Mireia Codina (@codinami) March 27, 2020
ไล่กวาดลูกค้ารายใหญ่และขยายไปทั่วโลก
ปัจจุบันแอปฯ Zoom มีฐานลูกค้าองค์กร 50,000 บริษัท ลูกค้าหลักนั้นอยู่ในสหรัฐฯ โดยมีบริษัทใหญ่ๆ ที่ใช้งาน เช่น Samsung, Uber, Walmart, Ford, Tesla บริษัทยังกล่าวด้วยว่า ครึ่งหนึ่งของบริษัท Top 500 ของสหรัฐฯ ใช้บริการ Zoom แบบชำระค่าสมาชิกอย่างน้อย 1 บัญชี
อย่างไรก็ตาม ในภาพระดับโลก Zoom ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก โดยมีองค์กร 18% ทั่วโลกที่ใช้ Zoom หลังจากเข้าตลาดหุ้นแล้วทำให้บริษัทมุ่งขยายตัวในระดับโลกมากขึ้น โดยมีประเทศเป้าหมาย เช่น แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย
เรื่องแปลกก็คือ Zoom ยังไม่บุกจีนแผ่นดินใหญ่เต็มตัว แม้ว่าจะมีวิศวกรถึง 500 คนทำงานจากจีน เพราะอีริคมองว่าตลาดจีนยังไม่แน่นอนนักสำหรับธุรกิจซอฟต์แวร์องค์กรแบบนี้
ฝันที่จะเป็น Cisco หรือ Facebook
อีริคมองเป้าหมายว่าบริษัทเขาสามารถใหญ่เทียบเท่า Cisco หรือ Facebook นั่นแปลว่าบริษัทเขาต้องให้บริการมากกว่าแพลตฟอร์มประชุมทางไกลหรือโทรศัพท์ออนไลน์แบบทุกวันนี้
มีการคาดการณ์ว่า Zoom อาจจะขยายเพิ่มบริการแชท ถังเก็บข้อมูลกลาง ไปจนถึงการวิเคราะห์ดาต้าที่เก็บได้จากการใช้งาน เช่น วิเคราะห์ได้ว่าควรแชทหรือโทรฯ เวลาไหนจึงจะเหมาะสม หรือวิเคราะห์แพตเทิร์นการพูดคุยได้ว่าการตอบโต้ลักษณะนี้แปลว่าคุณกำลังจะปิดดีลได้
Source: India Times, Forbes, Fortune