เอเซีย พลัส – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 05 Feb 2024 07:50:06 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘เอเซีย พลัส’ เตรียมยกระดับบริการจาก ‘Broker หุ้น’ สู่ ‘Wealth Management’ ตั้งเป้ารายได้ปี 2024 โต 10% https://positioningmag.com/1461445 Sun, 04 Feb 2024 18:53:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1461445 บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบริษัทเอเซีย พลัส เผยแผนธุรกิจและกลยุทธ์ปี 2567-2569 ชู Wealth Management เป็นหัวหอกในการเติบโต พร้อมรุกตลาดกองทุนรวม ต่อยอดบริการทางการเงินและผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุม จากเดิมที่เน้นไปยังธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์อย่างเดียว

ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเขามองว่าเศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง จากเหตุผลที่เม็ดเงินลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า เช่น เวียดนาม ลาว

ขณะเดียวกันก็มองว่าประเทศไทยไม่มีโครงการใหญ่ๆ ดึงดูดนักลงทุน เขายังมองว่าไทยนั้นเหลือแต่บุญเก่าและมองว่าเพื่อนบ้านอาจแย่งไปด้วย เช่น การผลิตสินค้า Electronics ที่ตอนนี้เวียดนามได้เปรียบกว่า และทางออกของรัฐบาลชุดไหนๆ ก็คือต้องเอาใส่ใจ และต้องลงทุนเพิ่ม

ผลที่เกิดขึ้นทำให้ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มองว่าหุ้นไทยนั้นมีผลตอบแทนไม่ดีเท่าไหร่ และกลายเป็นว่าหุ้นสหรัฐฯ ดีกว่าด้วยซ้ำ

สำหรับกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนองค์กรในระยะ 3 ปีนั้นจะเน้นไปที่ 4 แกนหลักที่สำคัญ ได้แก่

  1. Product & Value โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการให้มีความหลากหลายเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า
  2. Process & Customer Experience นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานและการบริการ เพื่อมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
  3. Brand Value & Perception มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ให้โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะการปรับภาพลักษณ์บริษัทให้ทันสมัยและเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth)
  4. People & Innovation พัฒนาศักยภาพของบุคลากรโดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ในด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ความเข้าใจลูกค้า โดย ก้องเกียรติ กล่าวถึงการพัฒนา Relationship Manager (RM) ให้มีความสัมพันธ์กับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และอยู่เคียงคู่กับลูกค้าทุกเวลา ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะยกระดับบริการจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์หรือ Broker หุ้น ไปเป็นธุรกิจ Wealth Management แต่ ก้องเกียรติ ก็มองว่าธุรกิจดังกล่าวมีความท้าทาย จะเห็นได้จากสถาบันการเงินของไทยหลายแห่งต้องจับมือกับผู้เล่นจากต่างประเทศ

ในปี 2024 นี้ ก้องเกียรติ ได้กล่าวถึงการเน้นไปยังธุรกิจ 2-3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ ธุรกิจบริหารกองทุนรวม (บลจ.) จะต้องกองทุนรวมให้บริการลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายภาษีที่ลงทุนในต่างประเทศแม้ว่าจะยังมีความไม่ชัดเจนก็ตาม

ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจวาณิชธนกิจ จะเน้นไปยังเรื่องการควบรวมกิจการ หรือเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในด้านต่างๆ ขณะที่ธุรกิจการลงทุนของบริษัทก็จะเน้นการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัททั้งในและนอกตลาดหุ้น

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้า KPI ในปี 2024 นี้รายได้รวมจะเติบโต 10%

]]>
1461445
เอเซีย พลัส มองหุ้นไทยไตรมาส 4 มีลุ้นเป็นขาขึ้น จากปัจจัยมูลค่ายังถูก-กำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มฟื้นตัว https://positioningmag.com/1446789 Wed, 04 Oct 2023 17:31:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1446789 บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด มองหุ้นไทยในไตรมาส 4 ของปีนี้มีลุ้นขาขึ้นจากปัจจัยบวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ใกล้จบรอบ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเป้าดัชนีหุ้นไทยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,524 จุด

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด ได้ให้มุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4 ของปี 2023 มีโอกาสได้เห็นทิศทางกลับเป็นขาขึ้น แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิดสภาวะถดถอย แต่มองว่าการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ใกล้จบ และน่าจะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.5%

ในมุมมองของเศรษฐกิจจีน เทิดศักดิ์มองว่าภาคอสังหาน่าจะใช้เวลาหลายปีในการฟื้นตัว แต่ภาคอุตสาหกรรมอื่นฟื้นตัวดีมาก ถ้าหากไปดูตัวเลขเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัยของ เอเซีย พลัส ได้กล่าวถึงสภาวะที่ตลาดหุ้นไทยที่มีการเทขายในช่วงหลายวันที่ผ่านมา รวมถึงค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่านั้นเกิดจากสาเหตุมาจากการปรับสมดุลในเรื่องภาคการเงิน ซึ่งเป็นผลของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกาที่นักลงทุนมองว่าจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยยาวนานกว่านั้น

ผลที่เกิดขึ้นทำให้เกิดสภาวะตลาดผันผวนจากเม็ดเงินไหลออกจากที่ที่มีผลตอบแทนต่ำ อย่างเช่น ไทย ฯลฯ ไหลกลับไปยังสหรัฐฯ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า คาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักพัก โดยเทิดศักดิ์ชี้ว่าถ้าค่าเงินบาทเริ่มนิ่งถึงจะสะท้อนภาพว่าเป็นยังไงหลังจากนี้

เขายังแนะนำว่าถ้าหากเป็นนักลงทุนที่เน้นซื้อขายระยะสั้น ช่วงนี้ถือว่าเสี่ยงมาก ถ้านักลงทุนระยะยาวเหมาะกับการซื้อหุ้น โดยมองว่าปัจจัยพื้นฐานตอนนี้ถูกมาก โดยอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) เหลือเพียง 1.46 เท่า จากผลของดัชนีหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปีปรับตัวลดลงมาแล้วกว่า 10%

นอกจากนี้ เอเซีย พลัส ยังมองประเด็นในไทยนั้นเห็นพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้นเรื่อยๆ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาพลังงาน ฟรีค่าธรรมเนียม VISA ความคาดหวังจากโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทในระยะถัดไป รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่กำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มองกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตจาก โดยปัจจัยหลักจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ เอเซีย พลัส มองไว้ที่ 1,524 จุด

เอเซีย พลัส ยังมองว่าหุ้นไทยมีโอกาสจำกัดในการปรับตัวลดลงอีก และปัจจุบันถือว่าอยู่ในโซนที่หุ้นราคาถูก แนะนำนักลงทุนทยอยสะสมหุ้นที่มีพื้นฐานเด่น ราคาน่าสะสม และมีปัจจัยเฉพาะตัวหนุนให้มีโอกาสฟื้นตัวเด่นกว่าตลาด เช่น AOT, SCGP, PTTEP, TOP, BCPG, TU และ III

ขณะที่เหตุการณ์ที่มีการกราดยิงในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง เอเซีย พลัส มองว่ามีผลต่อความรู้สึกของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยแน่ๆ โดยส่วนใหญ่ถ้ามองจากอดีตผลกระทบเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ​ 2 อาทิตย์ ตอนนี้มองว่าหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดนเทขายมาก และมองเห็นโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาได้

]]>
1446789
COVID-19 ระลอกสามป่วนเศรษฐกิจปี’64 นักวิเคราะห์ “ปรับลด” จีดีพีไทยถ้วนหน้า https://positioningmag.com/1328555 Wed, 21 Apr 2021 09:12:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1328555 รวมข้อมูลจาก 4 สถาบันวิเคราะห์การเงินการลงทุน คาดการณ์ใหม่ “ปรับลด” จีดีพีไทยปี 2564 ถ้วนหน้า “กรุงไทย” ปรับลดฮวบเหลือโต 1.5% ขณะที่ “เอเซีย พลัส” ยังมองบวก คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.46% มาตรการรัฐรอบใหม่ไม่รุนแรงเท่าปีก่อน

Positioning รวบรวมข้อมูลจาก 4 สถาบันวิเคราะห์การเงินการลงทุน ตบเท้ากันออกคาดการณ์ใหม่เศรษฐกิจไทยปี 2564 ปรับลดจีดีพีลงทั้งหมด ดังนี้

– ศูนย์วิจัยกรุงไทย COMPASS : ปรับลดเหลือ 1.5% จากเดิม 2.5%
– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : ปรับลดเหลือ 1.8% จากเดิม 2.6%
– ศูนย์วิจัยกรุงศรี : ปรับลดเหลือ 2.2% จากเดิม 2.5%
– เอเซีย พลัส : ปรับลดเหลือ 2.46% จากเดิม 2.6%

การปรับลดจีดีพีไทย 2564 เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่สาม ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนไทยลดลง โดยขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าการแพร่ระบาดรอบนี้จะผ่อนแรงลงเมื่อใด

 

“กรุงไทย” : รอบสามกระทบหนักการบริโภค

ศูนย์วิจัยกรุงไทย COMPASS ปรับลดหนักที่สุด โดยมองว่าผลกระทบ COVID-19 รอบสามจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ เหลือ 1.5% จากเดิม 2.5% เพราะกระทบโดยตรงกับการบริโภคภายในประเทศ กระทบการท่องเที่ยว และภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัด ทำให้เม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบได้น้อย

คาดว่าการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้เวลา 3 เดือน เข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 กว่าที่จะเห็นการฟื้นตัวได้ มีเพียงปัจจัยภาคส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี ช่วยชดเชยจีดีพีได้ แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะพยุงจีดีพีให้เติบโตได้เท่าที่เคยคาดการณ์ไว้

 

“กสิกรไทย” : กังวลการคุมการระบาด-วัคซีน

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่มองค่อนข้างเป็นลบกับสถานการณ์ระบาดรอบสาม โดยปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยเหลือ 1.8% จากเดิม 2.6%

กสิกรไทยมองว่า ผลของมาตรการของรัฐ แม้จะไม่ได้เข้มงวดมาก แต่จะมีผลต่อความกังวลและทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงอาจมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดิมคาดว่าจะเข้ามา 2 ล้านคน อาจจะต่ำกว่าที่คาดไว้

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อีกประเด็นหนึ่งที่กสิกรไทยชี้ให้เห็นคือ “วัคซีน” เป็นตัวแปรสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะหากการฉีดวัคซีนล่าช้า อาจทำให้การระบาดรอบสามยืดเยื้อ หรือเกิดการระบาดรอบใหม่ได้อีกในไตรมาส 3/64 ซึ่งจะมีผลซ้ำอีกกับการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยว

รวมถึงหากจำนวนผู้ติดเชื้อสูงต่อเนื่อง อาจมีผลทำให้ระบบสาธารณสุขล่ม ซึ่งส่งผลกับเศรษฐกิจอย่างประเมินค่ามิได้

 

“กรุงศรี” : จีดีพีลดลงเล็กน้อย 0.3%

ฟากสถาบันที่ยังมองไม่รุนแรงมากคือ ศูนย์วิจัยกรุงศรี มองว่าจีดีพีไทยปีนี้จะลดลงเหลือ 2.2% จากเดิม 2.5% ถือว่าลดลงไม่แรงเทียบกับสถาบันอื่นๆ ที่ปรับคาดการณ์

จุดที่กรุงศรีมองว่าจะปรับลดลงคือ “การลงทุนภาครัฐ” และ “นักท่องเที่ยว” คาดว่าจะลดจากเดิม 4 ล้านคน เหลือ 3 ล้านคน แต่เนื่องจากการนำเข้า-ส่งออกเติบโตดี และการบริโภคภาคเอกชนน่าจะดีขึ้น ทำให้การปรับลดไม่สูงมาก

อย่างไรก็ตาม การประเมินข้างต้นตั้งอยู่บนสมมติฐานว่ารัฐจะใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบอ่อนๆ ไม่เกิน 2 เดือน คือสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในเดือนกรกฎาคม ไทยกลับมามีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 100 รายต่อวัน และทำให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ หากการล็อกดาวน์บางส่วนยิงยาวไปถึง 3 เดือน จะทำให้จีดีพีประเทศลดลง 0.75%

 

“เอเซีย พลัส” : มองบวก กระทบจีดีพีเพียงเล็กน้อย

สำหรับ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินว่าจีดีพีไทยน่าจะลดลงจากเดิมที่คาดว่าโต 2.6% เหลือกรณีที่ดีที่สุดเติบโตได้ 2.46%

ที่มา: เอเซีย พลัส

เหตุที่มองว่าจะลดลงไม่มาก เพราะมาตรการรัฐคุมระบาดรอบสามไม่รุนแรงเท่ากับเมื่อปีก่อน โดยไม่ได้มีการเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถาน และร้านอาหารกับศูนย์การค้าไม่ถูกปิดชั่วคราวแต่ใช้วิธีควบคุมเวลาเปิดปิดแทน จึงมองว่าจะไม่กระทบการใช้จ่ายมากนัก

นอกจากนี้ การส่งออกนำเข้าก็ยังเติบโตได้ดี และไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาด อย่างไรก็ตาม หากการระบาดยืดเยื้อยาวนาน กรณีที่แย่ที่สุด เชื่อว่าจีดีพีไทยจะโตเพียง 2.04%

]]>
1328555
เอเซีย พลัส ประเมิน “จีดีพีไทย 2563” ร่วงแรง -8.4% หวังใช้จ่ายภาครัฐช่วยฟื้นเศรษฐกิจ https://positioningmag.com/1286934 Wed, 08 Jul 2020 09:58:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1286934
  • เศรษฐกิจโลกปี 2563 อ่วมติดลบ -4.9% จับตาการล็อกดาวน์รอบสองของหลายประเทศทุบซ้ำ ปัจจัยเสี่ยง “สงครามการค้า” ที่สหรัฐฯ อาจเปิดศึกอีกครั้ง
  • เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงทุกตัว ความหวังอยู่ที่ “การลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ” ช่วยฟื้นจีดีพีไทย อย่างไรก็ตาม เอเซีย พลัสเชื่อว่าจีดีพีไทยปีนี้จะติดลบต่ำถึง -8.4%
  • ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมาแล้ว 40% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ช่วง Q3/2563 การเติบโตน่าจะชะลอตัวเนื่องจากไม่มีแรงหนุนจากกองทุน SSFX และการประกาศจีดีพีรวมถึงผลกำไรบลจ.รอบ Q2/2563 ที่รออยู่ ไม่น่าจะออกมาดี
  • ทีมนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) นำโดย “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ ประเมินเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยประจำ Q3/2563 ทิศทางยังมีปัจจัยลบรอบด้านแม้ว่าจะผ่านจุดต่ำสุดใน Q2/2563 ไปแล้วก็ตาม ติดตามอ่านได้ด้านล่าง

    เศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับการล็อกดาวน์และสงครามการค้า

    ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะขึ้นหรือลงปีนี้ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ การล็อกดาวน์รอบสองหากเกิดการระบาดซ้ำ และ ความเร็วในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 โดยการพัฒนาวัคซีนคาดกันว่าจะวิจัยสำเร็จได้เร็วที่สุดคือช่วงปลายปี 2563 แต่ความเป็นไปได้จริงน่าจะอยู่ในช่วงกลางปี 2564 มากกว่า ดังนั้น ปัจจัยสำหรับปีนี้คือเรื่องของการล็อกดาวน์

    “เศรษฐกิจไม่ได้กลัวการระบาดรอบสองแต่กลัวการล็อกดาวน์รอบสองมากกว่า” เทิดศักดิ์กล่าว เพื่อชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจและความผันผวนในตลาดหุ้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประเทศนั้นๆ ในการรับมือโรค COVID-19 หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาได้เห็นแล้วว่าในหลายประเทศมีการล็อกดาวน์บางพื้นที่เพื่อรับมือ เช่น จีน ออสเตรเลีย อังกฤษ

    อีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลกับเศรษฐกิจโลกคือ “สงครามการค้า” เนื่องจากสหรัฐอเมริกาจะมีการเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้ โดยที่คะแนนความนิยมของโดนัลด์ ทรัมป์จากที่โพลสำรวจมาพบว่าตกต่ำลงหลัง COVID-19 จึงเป็นไปได้ว่าทรัมป์จะเปิดสงครามการค้าอีกรอบเพื่อสร้างความนิยมให้ตนเองเหมือนกับการเลือกตั้งครั้งก่อน ซึ่งจะมีผลกับเศรษฐกิจโลก

    ภาพรวมปี 2563 ที่โลกยังตกอยู่ภายใต้ปัจจัยลบของ COVID-19 ทำให้ IMF ประเมินว่าจีดีพีโลกจะติดลบที่ -4.9% โดยมีประเทศหลักที่ยังเติบโตได้คือ “จีน” คาดว่าจีดีพีจะเติบโต +1% ส่วนประเทศอื่นๆ จะติดลบทั้งหมด ขณะที่ภาพปี 2564 น่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ โดย IMF เชื่อว่าจีดีพีโลกจะดีดกลับมาเติบโต +5.4%

    รวบรวมโดย เอเซีย พลัส

    เศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับ “การลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐ”

    มาถึงเศรษฐกิจประเทศไทย IMF ประเมินว่าจีดีพีไทยปี 2563 จะติดลบที่ -7.7% และปี 2564 จะฟื้นตัวที่ +5.0% เห็นได้ว่าประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าค่าเฉลี่ยโลก ปีนี้ติดลบแรงกว่าและปีหน้าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่า

    ด้าน เอเซีย พลัส ประเมินรุนแรงกว่า IMF โดยคาดว่าจีดีพีไทยปี 2563 จะติดลบที่ -8.4% เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยจะติดลบทุกด้าน ดังนี้

    • การท่องเที่ยว แบงก์ชาติประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าเมื่อปี 2550
    • การส่งออก แบงก์ชาติประเมินว่าจะติดลบที่ -10.3% ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552
    • การบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากยังมีจำนวนผู้ว่างงานสูงถึง 3 ล้านคน จะส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศต่ำลงตาม เอเซีย พลัสประเมินติดลบที่ -3.5%
    • การลงทุนภาคเอกชน จากตัวเลขแนวโน้มที่เป็นปัจจัยลบทำให้เอกชนชะลอการลงทุน เอเซีย พลัสประเมินติดลบที่ -10.0%

    ดังนั้น เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่เป็นความหวังของปีนี้คือ “การลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายของภาครัฐ” ซึ่งเอเซีย พลัสประเมินว่าจะเติบโต +2.0% และ +2.5% ตามลำดับ

    อย่างไรก็ตาม วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาทจากพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ เพิ่งมีการเบิกจ่ายได้ 1.23 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยเป็นวงเงินในส่วนของการเยียวยาประชาชนจาก COVID-19 เช่น นโยบายเราไม่ทิ้งกันจ่ายเงิน 5,000 บาท ที่เหลือซึ่งจะมีงบส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภาครัฐจะต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้เร็วที่สุดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของปีนี้

    ทั้งนี้ เอเซีย พลัส ประเมินด้วยว่าจีดีพีไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วง Q2/2563 โดยคาดว่าจีดีพีไทยติดลบแรงถึง -15.0% และจะดีขึ้นในช่วง Q3-Q4/2563 แต่ก็ยังติดลบอยู่โดยอยู่ที่ -8.5% และ -6.0% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจจะยังแย่กว่าไตรมาสแรกของปีซึ่งเพิ่งเริ่มได้รับผลกระทบจาก COVID-19

    ที่มา : เอเซีย พลัส

    ตลาดหุ้นไทยระวัง Q3 มี “หลุม” รออยู่

    ด้านตลาดหุ้นไทย มีการปรับขึ้นมาแล้ว 40% ภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการฟื้นตัวแรงนั้นเอเซีย พลัสวิเคราะห์ว่า มาจากการลงทุนของนักลงทุนไทยเป็นหลัก เนื่องจาก Fund Flow ของต่างชาติยังไหลออกต่อเนื่อง และเชื่อว่า Q3 จะยังเป็นลักษณะนี้ต่อไป

    โดยการเติบโตของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเกิดจากทั้งการเปิดกองทุนรวมเพิ่มขึ้นของสถาบันการเงิน และการเข้ามาเก็งกำไรจำนวนมากขึ้นของนักลงทุนรายย่อย พบว่าการเปิดบัญชีของรายย่อยช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. 63 สูงขึ้น 5.91% ซึ่งจะทำให้ตลาดมีโอกาสผันผวนสูง

    ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานที่จะผลักให้ตลาดหุ้นโตต่อนั้นลดลง อย่างแรกคือกองทุน SSFX ซึ่งมีการเร่งซื้อจบไปแล้วตั้งแต่สิ้น Q2 ด้วยมูลค่าการซื้อกว่า 8.8 พันล้านบาท ทำให้ Q3 จะไม่ได้อานิสงส์เม็ดเงินลงทุนส่วนนี้แล้ว

    ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจ Q2 ที่จะมาแสดงผลใน Q3 นั้นมีแนวโน้มจะเป็นปัจจัยลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแบงก์ชาติจะมีการประกาศจีดีพีประเทศ Q2 ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ รวมถึงการประกาศผลกำไรบริษัทหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น Q2 ที่น่าจะทำได้ดีที่สุดคือเท่ากับ Q1 ดังนั้น “อนาคตจะมีหลุมรออยู่แน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าลึกแค่ไหน” เทิดศักดิ์กล่าว

    ที่มา : เอเซีย พลัส

    จากภาพรวมทั้งหมด เอเซีย พลัสจึงแนะนำลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการรับงานลงทุนภาครัฐเป็นหลัก โดยตัวเลขแบ็กล็อกงานจะสำคัญต่อราคาหุ้น ไม่ว่าจะเป็นงานโครงสร้างพื้นฐานขนส่งมวลชนหรือโทรคมนาคมก็ตาม เช่น SEAFCO, INSET รวมถึงหุ้นที่มีแรงส่งเฉพาะตัว เช่น CPF เนื่องจากราคาสุกรปรับขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์โดยที่ปัญหาโรคไข้หวัดหมูแอฟริกาในจีนและเวียดนามยังไม่คลี่คลาย เป็นโอกาสการขายของ CPF ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ยังไม่ปรับขึ้น จึงยังทำกำไรได้ดี

    ]]>
    1286934
    อ่านทิศเศรษฐกิจ-ตลาดหุ้น ธุรกิจไหนจะรอดท่ามกลางวิกฤต COVID-19 วิเคราะห์โดย ASPS https://positioningmag.com/1271211 Wed, 01 Apr 2020 13:02:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1271211
  • เศรษฐกิจโลก 2563 ส่อเค้าหนักกว่ายุคซับไพรม์ แนวโน้มจีดีพีโลกติดลบ ด้านเศรษฐกิจไทยคาดจีดีพี -1.4% หวังนโยบายการเงินการคลังภาครัฐช่วยถม “หลุม” ทางเศรษฐกิจไม่ให้สาหัสเท่ายุคต้มยำกุ้ง
  • SSF ช่วยพยุงตลาดหุ้นไทย คาดการณ์ดัชนี SET Index โอกาสลงต่ำสุด 880 จุด
  • 5 กลุ่มอุตสาหกรรมปัจจัยลบ คาดส่งให้กำไรสุทธิลด : กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี, กลุ่มธนาคาร, กลุ่มขนส่งทางอากาศและโรงแรม, กลุ่มสื่อและโฆษณา และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
  • ชี้เป้าหุ้นเด่น ธุรกิจยังเดินได้ท่ามกลาง COVID-19 : กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง, กลุ่มเกษตรและอาหาร, กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มสื่อสาร
  • บทวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจและตลาดทุน ไตรมาส 2/63 โดยทีมนักวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) หลังเกิดโรคระบาดไวรัส COVID-19 ทำให้เอเซีย พลัสปรับคาดการณ์ใหม่หลายส่วน

    เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มติดลบ

    เริ่มจากจีดีพีโลก IMF คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่าน่าจะเติบโตที่ 3.2% อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ในเดือนนั้นรวมเฉพาะผลกระทบของการระบาดในประเทศจีน แต่ขณะนี้การระบาดได้ลุกลามไปทั่วโลกแล้ว ทำให้เอเซีย พลัสมองว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากกว่านั้น

    มองย้อนกลับไปในวิกฤตเศรษฐกิจซับไพรม์ปี 2552 ครั้งนั้นจีดีพีโลกถดถอยที่ -0.1% โดยผลกระทบหนักเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่การระบาด COVID-19 ในครั้งนี้มีผลโดยตรงกับเศรษฐกิจทุกภูมิภาค จึงเป็นไปได้ว่าจะสาหัสกว่าช่วงซับไพรม์

    อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางหลายประเทศมีความพยายามพยุงเศรษฐกิจด้วยนโยบายทางการเงิน ผ่านการทำ QE และรัฐบาลต่างๆ มีนโยบายการคลังอัดฉีดเงินเข้าระบบ ซึ่งน่าจะเป็นแรงหนุนช่วยเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น

     

    เศรษฐกิจไทย -1.4% จับตามาตรการรัฐ

    ตัดภาพมาที่เศรษฐกิจไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เช่นกันและแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ทำให้แบงก์ชาติประกาศคาดการณ์จีดีพีใหม่เป็น -5.3% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ “หนัก” มาก เพราะปีที่เศรษฐกิจประเทศไทยดิ่งลงต่ำสุดคือช่วงวิกฤตปี 2540 ปีนั้นจีดีพีไทยอยู่ที่ -7.1% ทำให้เห็นว่าแบงก์ชาติมองภาพเศรษฐกิจปีนี้จะวิกฤตใกล้เคียงกับยุคต้มยำกุ้ง

    แต่เอเซีย พลัสยังไม่มองภาพลบระดับนั้น โดยประเมินว่าจีดีพีไทยจะอยู่ที่ -1.4% (จากเดิมคาดว่าจะโต 2.8%) โดยมีภาคการส่งออกที่จะติดลบรุนแรง คาดว่าการส่งออกจะ -5.5% ขณะที่สำนักวิเคราะห์ทั้งรัฐและเอกชนอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังมองว่าจีดีพีไทยจะเติบโตได้ แม้จะลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมทุกแห่ง

    ทั้งนี้ หากใช้การประเมินของแบงก์ชาติ การที่จีดีพีถดถอยถึง -5.3% แปลว่ามูลค่าจีดีพีประเทศปีนี้จะลดลงถึง 5.79 แสนล้านบาท นับว่าเป็น หลุมยุบทางเศรษฐกิจ ที่น่ากังวล

    การลดลงของจีดีพีไทยปี 2563F ตามการคาดการณ์ของธปท.

    “เราเห็นว่ารัฐยังมีงบกลางอยู่และอาจจะมีการเกลี่ยงบประมาณเดิมใหม่เพื่อนำมาถมหลุมตรงนี้ เราจึงยังไม่ปรับจีดีพีลงแรงมาก ขอดูการออกมาตรการรัฐเพิ่มเติมก่อน” เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย ASPS กล่าว

    โดยที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีการใช้เครื่องมือทั้งนโยบายการเงินและการคลังไปแล้ว มีการลดอัตราดอกเบี้ยไป 2 ครั้ง และอาจจะลดอีก 1 ครั้ง ส่วนนโยบายการคลัง มีมาตรการชิม ช้อป ใช้ และมาตรการเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นอกระบบประกันสังคมคนละ 5,000 บาทต่อเดือน ระยะ 3 เดือน ซึ่งเอเซีย พลัสเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมออกมา

     

    ตลาดหุ้นหวัง SSF ช่วยพยุง

    ด้านตลาดทุนไทยซึ่งเผชิญกับช่วงดิ่งลงรุนแรง -33% จนต้องใช้นโยบาย “เซอร์กิต เบรกเกอร์” ไปถึง 3 ครั้ง เนื่องจากเงินทุนไหลออกซึ่งเกิดขึ้นทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

    เอเซีย พลัสหวังว่าการเปิดขายกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ซึ่งจะมาแทนที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อใช้หักลดหย่อนภาษี อาจจะช่วยชะลอการไหลออกของเงินทุนได้บ้าง โดยมองว่าจะมีผลเพียงพยุงไว้ เพราะ SSF สามารถหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพียง 2 แสนบาท น้อยกว่า LTF ซึ่งหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 แสนบาท ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการซื้อเท่าที่ผ่านมา

    สำหรับ SET Index ปัจจุบันอยู่ที่ 1,092 จุด (ข้อมูลวันที่ 26 มี.ค. 63) โดยวิเคราะห์ว่ามีโอกาสลงไปต่ำสุดที่ 880 จุด วัดจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาทั้งซับไพรม์ ยุคดอทคอม สงครามอ่าวเปอร์เซีย และ Black Monday ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลงระหว่าง -48% ถึง -59% ซึ่งขณะนี้ SET Index ลดลงมา -47.7% จึงมองว่าอาจจะลดลงได้อีก

     

    5 กลุ่มอุตสาหกรรมปัจจัยลบสูง

    เจาะลึกรายอุตสาหกรรมที่มองว่ามีปัจจัยลบส่งผลต่อกำไรสุทธิในปี 2563 ลดลง มีดังนี้

    1)กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงด้วยปัจจัยลบทั้งดีมานด์หดตัวเพราะการระบาดของ COVID-19 และซัพพลายที่เพิ่มขึ้นเพราะกลุ่ม OPEC ไม่บรรลุการเจรจาลดการผลิตน้ำมัน ส่งผลต่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 30-35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสถานการณ์การระบาดดีขึ้นส่งให้ดีมานด์ฟื้นตัว และมีผู้ประกอบการที่ขาดทุนจนต้องหยุดผลิตมากขึ้น น่าจะทำให้ราคาน้ำมันฟื้นมาอยู่ที่ 40-45 เหรียญต่อบาร์เรลได้

    2)กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ ส่งผลโดยตรงต่อรายรับของธนาคาร

    3)กลุ่มขนส่งทางอากาศและโรงแรม อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ทำให้เกิดการปิดประเทศและล็อกดาวน์

    4)กลุ่มสื่อและโฆษณา ผลกระทบทางอ้อมจาก COVID-19 ทำให้บริษัทต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายและค่าใช้จ่ายแรกที่จะถูกตัดออกคือ งบโฆษณา โดยเอเซีย พลัสวิเคราะห์ว่าเม็ดเงินโฆษณาปี 2563 จะลดลงถึง -25% สาหัสกว่าช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งเม็ดเงินโฆษณาลดลง -15% และช่วงถวายความอาลัย 2559-60 ซึ่งเงินโฆษณาลดลง -12% กลุ่มสื่อและโฆษณาที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ สื่อโรงภาพยนตร์ที่ถูกปิดชั่วคราว และสื่อนอกบ้าน (OOH) ที่เคยเป็นดาวรุ่งจะพลิกกลับด้านเพราะประชาชนออกจากบ้านน้อยลงมาก

    ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจนี้มีหุ้นที่มองว่าจะยังโดดเด่นคือ RS เนื่องจากผันโมเดลธุรกิจไปเป็นเป็นสื่อจำหน่ายสินค้าอีคอมเมิร์ซแล้ว และคอนเสิร์ตใหญ่คือ D2B ถูกจัดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และรับรายได้ไปแล้ว ทำให้งบไตรมาส 1/63 ของ RS น่าจะเป็นไปในทางบวก

    5)กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มรสุมเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ปีนี้ภาคอสังหาฯ ลดการเปิดตัวโครงการใหม่ 2-3% จากปีก่อน มูลค่าโครงการเปิดใหม่ปีนี้อยู่ที่ราว 2.8 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากพิษ COVID-19 ทำให้หลายบริษัทปรับแผนเปิดตัวหรือเตรียมปรับเร็วๆ นี้

    ส่วนแบ็กล็อกรอโอนกรรมสิทธิ์ของอสังหาฯ มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ต้องจับตามอง “คุณภาพ” การโอน เพราะพิษ COVID-19 อาจทำให้อัตราปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น และหากมีลูกค้าต่างประเทศอาจไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ได้

    ยอดขายรอโอนกรรมสิทธิ์ภาคอสังหาฯ รวบรวมโดย ASPS

     

    ก่อสร้าง เกษตร โรงไฟฟ้า สื่อสาร หุ้นเด่น Q2/63

    สำหรับหุ้นเด่นในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ จากสถานการณ์การระบาดยังมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือยังทรงตัวได้อยู่ในช่วงนี้ ได้แก่

    1)กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ในช่วงนี้ไซต์ก่อสร้างยังดำเนินการได้ตามปกติ แม้จะต้องมีมาตรการระมัดระวังการติดเชื้อของแรงงานก่อสร้าง ขึ้นอยู่กับบริษัทต้องรักษาสุขอนามัยให้ดี อย่างไรก็ตาม การประมูลงานใหม่หรืออยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาภาครัฐจะต้องชะลอออกไปก่อน รวมถึงงานโครงการของเอกชนก็น่าจะชะลอตัวเช่นกัน ทำให้แนะนำเลือกหุ้นบริษัทที่มีแบ็กล็อกอยู่แล้วในมือ เช่น SEAFCO, PYLON, UNIQ

    2)กลุ่มเกษตร-อาหาร อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจเด่นเพราะอาหารเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แม้ในยามวิกฤต ปัจจัยบวกในตลาดเกษตรและอาหารช่วงนี้คือ ราคาสุกรที่สูงขึ้น เพราะเกิดโรคระบาดอหิวาต์ในสุกรที่จีนและเวียดนาม ทำให้ซัพพลายเนื้อหมูขาดแคลน รวมถึงการกักตุนอาหารทำให้ทูน่ากระป๋องขายดีทั่วโลก ยอดขายสูงขึ้น 50% ในช่วงเดือนมีนาคม ส่วนปัจจัยลบคือ การปิดร้านอาหารแบบนั่งทานทำให้อาหารประเภทกุ้งและแซลมอนซึ่งส่งขายในร้านอาหารเป็นส่วนใหญ่มียอดขายตกลง

    หุ้นเด่นในกลุ่มนี้จึงเป็น CPF และ TFG ซึ่งได้อานิสงส์จากราคาเนื้อหมูและการส่งออกไก่ และ TU ซึ่งถึงแม้ว่ายอดขายกุ้งจะลดลงแต่ทูน่ากระป๋องพุ่งสูงขึ้นทำให้รายได้ยังทรงตัว

    3)กลุ่มโรงไฟฟ้า สาธารณูปโภคพื้นฐานที่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับรัฐระยะยาว ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ไม่กระทบต่อธุรกิจ มีหุ้นที่น่าสนใจ เช่น GULF, BGRIM

    4)กลุ่มสื่อสาร กลุ่มนี้ช่วงต้นปีมองว่าจะพบปัจจัยลบคือการประมูล 5G จะทำให้การลงทุนสูง อย่างไรก็ตาม หลังการประมูลจบลงพบว่าฝั่งเอกชนใช้เงินลงทุนรวม 6.4 หมื่นล้านบาทสำหรับค่าสัมปทานคลื่น 5G ซึ่งต่ำกว่าการประมูล 4G ถึง 3-5 เท่า และพบว่าสล็อตสัญญาณที่แต่ละค่ายได้รับเหมาะสมกับฐานจำนวนผู้ใช้งาน จึงมองว่าในระยะยาวไม่น่าจะเพิ่มการแข่งขันเพื่อแย่งลูกค้าสูงไปกว่าปัจจุบันนี้

    แต่สถานการณ์ระยะสั้นคือ COVID-19 แม้ดูเผินๆ จะทำให้มีการใช้งานดาต้าสูงขึ้น แต่ที่จริงนั้นมีองค์กรขนาดใหญ่ไม่มากที่พร้อมลงทุนค่าแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม ขณะที่บริษัทขนาดเล็กหรือบุคคลทั่วไปน่าจะต้องการปรับลดราคาแพ็กเกจเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีพื้นฐานมั่นคงน่าจะยังมีรายได้ทรงตัวต่อไปได้ เช่น ADVANC, INTUCH

    รายนามนักวิเคราะห์จาก เอเซีย พลัส: เอนกพงศ์ พุทธาภิบาล, ภราดร เตียรณปราโมทย์, ชาญชัย พันทาธนากิจ, ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์, สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม, นลินรัตน์ กิตติกาพลรัตน์, เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, นวลพรรณ น้อยรัชชุกร และประสิทธิ์ รัตนกิจกมล

    ]]>
    1271211
    อ่าน 8 ข้อทำความเข้าใจธุรกิจ “เซ็นทรัล รีเทล” ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น CRC https://positioningmag.com/1261069 Fri, 17 Jan 2020 12:12:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1261069 วันนี้ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เคาะราคาเปิดขายหุ้น IPO ออกมาแล้วที่ 40-43 บาทต่อหุ้น โดยจะเสนอขายจำนวนไม่เกิน 1,860.1 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 7.4-8.0 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

    ชื่อ “เซ็นทรัล” นั้นไม่มีใครไม่รู้จักเนื่องจากเป็นผู้เล่นใหญ่ของตลาดค้าปลีกบ้านเรา และสำหรับกลุ่มธุรกิจของ “เซ็นทรัล รีเทล” ยังสยายปีกการลงทุนไปในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อิตาลี ด้วย แต่การเสนอขายครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสดิสรัปชันในตลาดรีเทล ทำให้ผู้ลงทุนควรชั่งน้ำหนักความน่าลงทุน

    Positioning ขอสรุปพื้นฐานธุรกิจ แผนการเติบโต และหุ้น IPO จากการแถลงของ “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น เป็นเบื้องต้นไว้ที่นี่

     

    1.CRC รวมเฉพาะส่วน “รีเทล” แตกต่างจาก CPN

    ในเครือเซ็นทรัลนั้นมีธุรกิจหลากหลายมากๆ การนำเซ็นทรัล รีเทลเข้าตลาดในครั้งนี้เป็นการรวมเฉพาะธุรกิจ “ค้าปลีก” ของบริษัท เช่น ห้างที่เป็นดีพาร์ตเมนต์สโตร์อย่างเซ็นทรัลชิดลมและโรบินสัน พื้นที่ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ที่อยู่ในเซ็นทรัล พลาซ่า สาขาต่างๆ รวมไปถึงแบรนด์ร้านค้าอย่าง Power Buy, Supersports, ไทวัสดุ, Tops, Family Mart, บิ๊กซี/Go! ในเวียดนาม ฯลฯ

    ดังนั้น จะไม่รวมธุรกิจที่รูปแบบเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธุรกิจส่วนนี้อยู่ในมือ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ผู้ลงทุนพัฒนาตัวอาคารและปล่อยเช่าให้กับร้านค้าย่อยต่างๆ รวมไปถึงการลงทุนออฟฟิศบิลดิ้งและที่อยู่อาศัย

     

    2.ธุรกิจชูโรง: อาหาร วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า

    สรุป CRC จะดึงธุรกิจใดมาเสนอขายนักลงทุนบ้าง? ดูได้จากภาพรวมแบรนด์ด้านบนทั้งหมด 18 แบรนด์

    แบรนด์เหล่านี้กระจายเปิดธุรกิจอยู่ใน 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และอิตาลี จำนวนรวมกว่า 2 พันสาขา และหากแยกเป็นกลุ่มๆ ตามประเภทธุรกิจจะประกอบด้วย

    1.กลุ่มอาหาร (Food) เช่น Tops, Family Mart, บิ๊กซี/Go! ในเวียดนาม มีสัดส่วนในรายได้รวม 42%
    2.กลุ่มแฟชั่น (Fashion) ได้แก่ ห้างเซ็นทรัล, โรบินสัน, Supersports, CMG (นำเข้าสินค้าแฟชั่น), ห้างลา รีนาเชนเต้ ในอิตาลี มีสัดส่วนในรายได้รวม 32%
    3.กลุ่มสินค้าเฉพาะ (Hardline) เช่น ไทวัสดุ, Power Buy, Nguyen Kim (ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เวียดนาม) มีสัดส่วนในรายได้รวม 25%

    แต่ถ้าหากดูการเติบโตของแต่ละกลุ่ม ที่เติบโตได้ดีในระยะหลังคือกลุ่มอาหาร และกลุ่มสินค้าเฉพาะที่มาแรงมาก เติบโตแบบดับเบิ้ลดิจิตช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 ส่วนกลุ่มแฟชั่นนั้นโตต่ำเพียง 1-2%

     

    3.แบรนด์ห้าง/ร้านค้าใน CRC โดยมากเป็นผู้นำตลาดขณะนี้

    แต่ละแบรนด์ของเซ็นทรัล รีเทลมีส่วนแบ่งการตลาดแตกต่างกัน (ดูภาพด้านบน) แต่จะมีแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 อยู่ เช่น ห้างเซ็นทรัลในหมวดห้างดีพาร์ตเมนต์สโตร์ของประเทศไทย (โดยมีโรบินสันเป็นอันดับ 2) ห้างลา รีนาเชนเต้ ในตลาดห้างระดับลักชัวรีของอิตาลี Supersports ในหมวดร้านขายเครื่องกีฬาไทย Power Buy ในหมวดร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย Tops ในหมวดซูเปอร์มาร์เก็ตไทย บิ๊กซี/Go! ในหมวดไฮเปอร์มาร์เก็ตประเทศเวียดนาม

     

    4.ปี’62 รายได้โต 4.1% กำไรโต 3.8% แปรผันตามเศรษฐกิจ

    สรุปรวมรายได้เซ็นทรัล รีเทล ปี 2561 อยู่ที่ 2.07 แสนล้านบาท มีการเติบโตช่วงปี 2559-61 เฉลี่ย 8.3% ต่อปี กำไรสุทธิ ปี 2561 อยู่ที่ 8.6 พันล้านบาท เติบโตช่วงปี 2559-61 เฉลี่ย 9.7% ต่อปี

    อย่างไรก็ตาม ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 CRC มีรายได้รวม 1.6 แสนล้านบาท เติบโต 4.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรสุทธิอยู่ที่ 6.07 พันล้านบาท เติบโต 3.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตลดลงไป

    ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หากแบ่งตามประเทศ ส่วนใหญ่ยังมาจากไทยเกือบ 75% รองลงมาเป็นเวียดนามประมาณ 18% ส่วนที่เหลือราว 7% เป็นรายได้จากอิตาลี

    ญนน์กล่าวภาพกว้างไว้ว่า ธุรกิจของเซ็นทรัล รีเทลนั้นมักจะเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ โดยทั่วไปจะเติบโต 1.5-2 เท่าของอัตราการเติบโตจีดีพีประเทศ

     

    5.ระดมทุนเปิดเพิ่มปีละ 180 สาขา ล็อกเป้า “เวียดนาม” โอกาสโตสูง

    การระดมทุนครั้งนี้บริษัทระบุว่าจะนำไปใช้เพื่อลงทุนเปิดสาขาใหม่และรีโนเวตสาขาเดิม โดย บล.ภัทร ที่ปรึกษาการเสนอขายหุ้น IPO ของเซ็นทรัล รีเทลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการระดมทุนจะทำให้มีเงินสดเข้ามาในบริษัท 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปกติแล้วเซ็นทรัล รีเทลมีการลงทุนปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เท่านั้น และสามารถลงทุนเองได้ โดยมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพียง 0.7 แต่การระดมทุนจะทำให้บริษัทมีความพร้อมเมื่อ “โอกาส” ปิดดีลที่น่าสนใจมีเข้ามา

    ด้าน ญนน์ บอกว่าปีนี้บริษัทมีแผนขยายสาขาห้างฯ และร้านค้าอีก 180 สาขาในไทย และห้างฯ Go! อีก 7 สาขาที่เวียดนาม

    บนเวทีแถลงข่าวญนน์ยังให้ความสนใจกับตลาดเวียดนามเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันห้างร้านของ CRC ในเวียดนาม ได้แก่ บิ๊กซี/Go!, Nguyen Kim และ Lanchi Mart (มินิสโตร์) มีทั้งหมด 133 สาขา ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะขยายเป็นเท่าตัว และญนน์ยังระบุว่าโอกาสตลาดของเวียดนามมีสูงมาก มีพื้นที่สำหรับทำรีเทลได้ถึง 800-1,000 สาขาทั่วประเทศ

     

    6.ไม่กลัวดิสรัป เตรียม Omnichannel ไว้รองรับแล้ว

    กลับมาที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมนั่นคือ “อี-คอมเมิร์ซ” เซ็นทรัล รีเทลเสนอแผนธุรกิจว่าบริษัทได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้แล้ว โดยมีทั้งแพลตฟอร์ม Central.co.th ขายสินค้าจากห้างเซ็นทรัล มีแพลตฟอร์มร่วมทุน JDCentral และ Tops ก็มีระบบสั่งซื้อออนไลน์แล้ว

    (photo: CRC)

    ญนน์ยังไฮไลต์จุดเด่นของการที่ “ห้าง” มาทำ “อี-คอมเมิร์ซ” คือสามารถสร้างระบบการขายแบบ Omnichannel ได้ง่ายเพราะมีตัวห้างเป็นจุดมาเลือกชมและรับสินค้าอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง Tops นั้นมีลูกค้าเลือกวิธีรับสินค้าเองที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นจำนวนมาก รวมถึงอ้างอิงเทรนด์ในต่างประเทศ เช่น ห้างดั้งเดิมอย่าง Walmart สามารถปรับตัวจากการใช้ Omnichannel เอาชนะ Amazon ได้ ทำให้ CRC มีความมั่นใจว่าจะไม่ถูกดิสรัปในตลาด

     

    7.เคาะราคาหุ้น IPO ที่ 40-43 บาท เตรียมขึ้นเป็น SET50

    มาว่ากันที่การเปิดราคาซื้อขายหุ้น IPO ของ CRC เคาะราคามาที่ 40-43 บาทต่อหุ้น และจะเปิดขาย 1,860.1 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 7.4-8.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งเซ็นทรัล รีเทลระบุว่า เป็นหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมาร์เก็ตแคปจะใหญ่เป็นอันดับ 15 ของตลาด ทำให้จะถูกจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่ม SET50 อัตโนมัติ

    “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล

    สำหรับการซื้อขายหุ้น IPO ของ CRC มีขั้นตอนพิเศษตรงที่จะนำ บมจ.โรบินสัน (ROBINS) เข้ามารวมใน CRC ด้วย ทำให้มีการทำ Tender Offer แลกหุ้น ให้ผู้ถือหุ้น ROBINS เข้ามาถือหุ้นใน CRC ได้ ปัจจุบันเมื่อเคาะราคาหุ้น CRC แล้ว จึงจะมีการเสนอแลกหุ้นของสองบริษัทในอัตราส่วนหุ้นสามัญเพิ่มทุน CRC 1.55-1.66 หุ้น ต่อ 1 หุ้นสามัญเดิมของ ROBINS

    ผู้ที่สนใจจองซื้อสามารถจองได้ 4 วัน ระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค. 63 และ 3 ก.พ. 63 ส่วนผู้ที่ต้องการแลกหุ้น ROBINS สิ้นสุดการยื่นตอบรับคำเสนอซื้อภายใน 3 ก.พ. 63 แต่หุ้น ROBINS จะเทรดได้ต่อเนื่องจนถึง 1 วันก่อนที่หุ้น CRC จะเข้าสู่ตลาด

    หลังจากนั้นวันที่ 5 ก.พ. 63 จะระบุราคา IPO ที่ชัดเจน และคาดว่าภายในสองสัปดาห์ หรือประมาณวันที่ 20 ก.พ. 63 หุ้น CRC จะเข้าเทรดในตลาดวันแรก

     

    8. P/E 30-32 เท่า “เอเซีย พลัส” ประเมินราคาเหมาะสม

    สรุปว่าควรซื้อหรือไม่ควรซื้อหุ้น CRC เราสอบถามไปที่ “สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม” ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ประมาณการณ์กำไรสุทธิ 8 พันล้านบาทของเซ็นทรัล รีเทล เมื่อคำนวณออกมาจากราคา 40-43 บาท จะได้ค่า P/E 30-32 เท่า ซึ่งอยู่ในช่วงบนของกลุ่มหุ้นค้าปลีก ถือเป็นราคาที่ “สมเหตุสมผล” ไม่ตั้งราคาสูงเกินไป และมองว่าหากนักลงทุนสนใจซื้อเชื่อว่าราคาเทรดวันแรกไม่น่าจะต่ำกว่าราคาจองซื้อ

    ส่วนการประเมินพื้นฐานบริษัทเซ็นทรัล รีเทล สุวัฒน์มองว่ามีพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนาม และกลุ่มร้านค้าสินค้าเฉพาะอย่าง ไทวัสดุ, Power Buy, Supersports รวมถึงโดยรวมของธุรกิจมีความครบรอบด้าน

    อย่างไรก็ตาม สุวัฒน์มองปัจจัยลบระยะสั้นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงนี้ไม่ดีนัก (อ้างอิงข้อมูลจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประชาชนส่วนใหญ่ 50.3% มองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับแย่) ทำให้ในรอบ 6 เดือนข้างหน้า รายได้และกำไรของค้าปลีกอาจจะมีความเสี่ยง

    หรือถ้ามองระยะยาว มีปัจจัยลบเช่นกัน เพราะสัดส่วนรายได้ 32% ของ CRC อิงอยู่กับสินค้าแฟชั่นซึ่งถูกดิสรัปโดยการค้าออนไลน์ แม้ว่า CRC จะปรับตัวไปสู่ Omnichannel แล้ว แต่ประเมินว่าการแก้เกมครั้งนี้จะช่วยพยุงตัวไว้มากกว่าที่จะทำให้เติบโตได้

     

    ]]>
    1261069