ตามแผนการขยายห้างค้าปลีกในตลาด CLMV ของบีเจซี มีเพียงตลาด “เวียดนาม” ที่บริษัทยังไม่ลงแบรนด์ “บิ๊กซี” ด้วยเพราะสัญญาสิทธิการใช้แบรนด์ยังอยู่ในมือเครือเซ็นทรัล แต่เมื่อสัญญาเช่าใช้ลิขสิทธิ์กำลังจะหมดลงในอีก 2-3 ปี และเซ็นทรัลก็ทยอยเปลี่ยนชื่อห้างบิ๊กซีเป็น “Go!” แล้วเพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลง ทำให้บีเจซีเตรียมแผนนำชื่อบิ๊กซีกลับมาใช้
“แกรี่ ฮาร์ดี้” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สายงานต่างประเทศ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยว่า บีเจซีมีแผนจะนำแบรนด์บิ๊กซีในเวียดนามกลับมาใช้ หลังสัญญาเช่าลิขสิทธิ์ที่ให้กับเครือเซ็นทรัลใช้ในเวียดนามกำลังจะหมดลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และเครือเซ็นทรัลเองกำลังปั้นแบรนด์ใหม่ทดแทนในชื่อ Go! (โก!)
โดยแผนเบื้องต้นในการใช้แบรนด์บิ๊กซีที่เวียดนาม บีเจซีต้องการเปิดห้างค้าปลีกรูปแบบ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างฯ มินิ บิ๊กซี เป็นหลัก
“ส่วนเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต จะยังคงเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแบรนด์ เพราะผู้บริโภคมีความเข้าใจลักษณะของเอ็มเอ็มฯ แล้วว่าเป็นห้างค้าปลีกค้าส่ง” แกรี่กล่าว
ปัจจุบัน บีเจซีมีแบรนด์ค้าปลีก 2 แบรนด์ในเวียดนามคือ เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 18 สาขาในกรุงโฮจิมินห์ และกำลังจะเปิดอีก 1 สาขาที่ฮานอยภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงแบรนด์ร้านสะดวกซื้อบีส์ มาร์ท ซึ่งมี 107 สาขา ทั้งหมดอยู่ในกรุงฮานอย
- อ่านเพิ่มเติม: ตลาดเพื่อนบ้านคึกคัก “บิ๊กซี” ปี 2563 ลงทุน 1,500 ล้านระดมเปิดสาขากัมพูชา-ลาว-เวียดนาม
ผู้บริหารระดับสูงของ บมจ.บิ๊กซีฯ อีกรายให้ความเห็นว่า สิทธิในแบรนด์ที่บีเจซีให้เซ็นทรัลเช่าใช้ที่เวียดนาม ที่จริงแล้วบีเจซียังสามารถนำมาใช้เปิดห้างค้าปลีกและบริหารเองได้ แต่บริษัทไม่ทำ เพราะถ้าหากใช้แบรนด์เดียวกันแต่มีแนวทางการบริหารต่างกันอาจทำให้ผู้บริโภคสับสนได้ ดังนั้นบริษัทจึงรอให้หมดสัญญาเช่ากันก่อนแล้วค่อยวางแผนเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์บิ๊กซีต่อไป
ด้านความเคลื่อนไหวฝั่ง เครือเซ็นทรัล ตั้งแต่ปลายปี 2561 เซ็นทรัลประกาศสร้างแบรนด์ใหม่ในนาม Go! เพื่อทดแทนแบรนด์บิ๊กซีที่ใช้อยู่ โดยเปิดตัวในคอนเซ็ปต์ กิน-ช้อป-เที่ยว ที่เดียวจบ และตั้งใจจะทยอยเปลี่ยนแบรนด์ไปจนครบ 35 สาขาของบิ๊กซี เวียดนาม ภายในปี 2564
เครือเซ็นทรัลยังเตรียมงบลงทุนอีก 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อขยายห้างค้าปลีกต่างๆ อีก 500 แห่ง ภายใน 5 ปีข้างหน้าด้วย
ตลาดเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดหอมหวานของการทำธุรกิจค้าปลีก ด้วยจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน เกือบ 70% เป็นประชากรวัยทำงาน และประมาณ 34% เป็นประชากรที่อาศัยในเขตเมืองซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 2,385 เหรียญสหรัฐ ต่อคนต่อปี (ราว 71,550 บาท) เศรษฐกิจประเทศเวียดนามยังเติบโตเฉลี่ย 8% และเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ทำให้ภาคการผลิตตัดสินใจย้ายฐานมาที่นี่จำนวนมาก อนาคตเวียดนามจึงมีความน่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Kantar เปิดเผยว่า ธุรกิจโมเดิร์นเทรดของเวียดนามเติบโตช้ากว่าที่คาด ณ ปี 2560 โมเดิร์นเทรดมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดค้าปลีกเวียดนามเพียง 17% ค่อนข้างน้อยมากถ้าเทียบกับประเทศในเอเชียซึ่งโมเดิร์นเทรดมีสัดส่วน 52% ของตลาดรวม เนื่องจากผู้บริโภคเวียดนามยังนิยมช่องทางดั้งเดิม (ร้านชำและตลาดสด) เพราะมีความเชื่อมั่น อาศัยความไว้ใจ และมองว่าร้านค้าเหล่านี้ไม่กระตุ้นให้พวกเขาซื้อของไม่จำเป็นกลับบ้านไปด้วย
แต่ Kantar วิเคราะห์ว่า ร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงคือโมเดิร์นเทรดที่มีโอกาสสูงสุดเพราะกลายเป็นแหล่งพบปะของวัยรุ่นเวียดนาม และทำเลสอดคล้องกับตลาดเวียดนาม ประเทศที่ 96% ของประชากรมีมอเตอร์ไซค์ ทำให้ต้องการที่จอดรถไม่ใหญ่แต่ต้องไปถึงได้สะดวก