แม่และเด็ก – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 29 Apr 2023 11:04:40 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “จีน” กำลังพิจารณาให้ “หญิงโสด” ทำ IVF ถูกกฎหมาย สนับสนุน “ซิงเกิลมัม” แก้ปัญหาประชากรลด https://positioningmag.com/1429112 Sat, 29 Apr 2023 10:41:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1429112 ประเทศ “จีน” กำลังประสบปัญหาประชากรลดลง เพราะสาวจีนยุคใหม่ไม่นิยมแต่งงาน ทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหา โดยหนึ่งในนโยบายที่กำลังพิจารณาคือ อนุญาตให้ “หญิงโสด” เป็น “ซิงเกิลมัม” ผ่านการทำ IVF (เด็กหลอดแก้ว) กระตุ้นกลุ่มผู้หญิงที่มีรายได้ดี พร้อมมีบุตร แต่ไม่ต้องการมีสามี

ประเทศจีนเผชิญปัญหาประชากรลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ ซึ่งจะทำให้สังคมกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มระดมทุกนโยบายมาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อกให้หนึ่งครอบครัวมีลูกได้ 2-3 คน (จากเดิมจีนเคยมีนโยบาย “ลูกคนเดียว” มาตลอด) หรือให้โควตาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มเมื่อมีบุตรเพิ่ม เป็นต้น

อีกหนึ่งนโยบายที่ที่ปรึกษาทางการเมืองของรัฐบาลให้คำแนะนำไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2023 คือพิจารณาอนุญาตให้ “หญิงโสด” สามารถเข้าถึงบริการ IVF (เด็กหลอดแก้ว) และการฝากไข่ได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะในปัจจุบัน จีนอนุญาตเฉพาะคู่สมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นที่จะฝากไข่และทำ IVF ได้

หากนโยบายนี้ได้รับการสนับสนุน ก็จะจูงใจให้กลุ่มผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีสามี ไม่พบสามีที่มองว่าเหมาะสมกับตนเอง หรือหย่าจากสามี แต่พร้อมที่จะมีลูกด้วยสถานะทางการเงินของตนเองสามารถเลี้ยงดูได้ พวกเธออาจใช้วิธีทำ IVF เพื่อเป็น “ซิงเกิลมัม” หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ช่วยแก้ปัญหาประชากรจีนลดลงได้อีกทางหนึ่ง

(Photo : Shutterstock)

ปัญหาประชากรจีนลดลงขณะนี้มาจากหลายปัจจัย ในช่วงที่จีนยังใช้นโยบายลูกคนเดียวนั้นทำให้หลายครอบครัวมี “ลูกสาว” เป็นที่พึ่งหนึ่งเดียว พวกเธอหลายคนเรียนจบสูง หารายได้ได้สูง และเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำให้ถ้าไม่พบชายที่มีสถานะเท่าเทียมกันหรือสูงกว่า พวกเธอมักจะไม่ตกลงแต่งงาน

แม้แต่ในคู่ที่แต่งงานกันแล้ว ก็ยังมีปัจจัยลบข้อต่อๆ มาที่ทำให้ไม่พร้อมมีลูก เช่น ค่าเล่าเรียนแพง ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรสูงขึ้น เมื่อกังวลเรื่องการเงินในครัวเรือน จึงทำให้หลายคู่ชะลอการมีลูกออกไปก่อน จนเมื่อพร้อมจะมีบุตรก็มักจะอยู่ในวัยที่มีบุตรยากเสียแล้ว

แนวคิดการสนับสนุน “ซิงเกิลมัม” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในสังคมจีนเช่นกัน เพราะการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในจีนมักจะถูกตัดสินตีตราจากคนรอบข้าง ทำให้หญิงโสดที่จะเลือกเดินเส้นทางนี้อาจจะมีไม่มาก

แต่ไม่ว่านโยบายนี้จะได้รับการอนุมัติหรือไม่ คลินิก IVF จะเป็นธุรกิจที่เติบโตในจีนอย่างแน่นอน และได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการด้านสุขภาพระดับชาติของจีน (NHC) โดยปัจจุบันคลินิก IVF ทั้งของรัฐและเอกชนมีอยู่ 539 แห่งในจีน ทาง NHC ระบุว่าจะดันให้มีคลินิกเพิ่มขึ้นเป็น 600 แห่งภายในปี 2025 หรืออัตราส่วนเท่ากับ 1 แห่งต่อประชากร 2.3 ล้านคน

นอกจากคลินิกในประเทศแล้ว ชาวจีนยังนิยมเดินทางไปทำ IVF ในต่างประเทศด้วย เพราะสามารถเลือกเพศของลูกและคัดยีนได้ด้วย ต่างจากในจีนที่กฎหมายไม่อนุญาตให้คัดเลือกเพศ

ประเทศที่ชาวจีนนิยมเดินทางไปทำ IVF ก็ไม่ใกล้ไม่ไกล นิยมบินมาที่ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์นี่เอง

Source

]]>
1429112
ตลาด “แม่และเด็ก” ยังเติบโตแม้จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง ผลิตภัณฑ์พรีเมียม-ออร์แกนิคมาแรง https://positioningmag.com/1368682 Fri, 24 Dec 2021 11:40:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1368682 ตลาดสินค้า “แม่และเด็ก” ในไทยยังมาแรง แม้เกิดวิกฤต COVID-19 และจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง เนื่องจากเหล่าคุณแม่ยังคงใช้จ่ายสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก โดยเทรนด์ช่วงที่ผ่านมา พบว่าสินค้าระดับพรีเมียมยิ่งขายดี รวมถึงสินค้าออร์แกนิคตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ด้านเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค เหล่าแม่ๆ ยอมรับช่องทาง “ออนไลน์” มากขึ้นในทุกมุมมอง

ข้อมูลจาก “ธนาคารกรุงเทพ” ระบุว่าตลาดสินค้า “แม่และเด็ก” ในไทยมีมูลค่าแตะ 40,300 ล้านบาท และปี 2564 กลายเป็นตลาดที่น่าจับตามองเพราะมูลค่าตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพ่อแม่ยุคใหม่มีการวางแผนเตรียมตัวก่อนมีลูกมากขึ้น มีการวางงบประมาณเลี้ยงดูบุตร จึงทำให้ครอบครัวยุคใหม่พร้อมจ่ายสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีเทคโนโลยีสูงสำหรับเด็ก

ตลาดแม่และเด็กนั้น คนมักจะคิดถึงเฉพาะของกินของใช้ แต่ “ธนาคารกสิกรไทย” สำรวจตลาดพบว่า สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับเด็กนั้นมีหลากหลายขึ้นมาก โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายเด็ก, อาหารและขนมเด็ก, ของเล่นเสริมพัฒนาการ, ของใช้สำหรับเด็ก, เครื่องสำอางสำหรับเด็ก, สถาบันเสริมทักษะสำหรับเด็ก และสินค้าเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก (เช่น นาฬิกาข้อมือติดตามตำแหน่ง)

งานแฟร์ Baby Fair Central x TheAsianparent 2021 (ภาพจาก : เซ็นทรัล ลาดพร้าว)

เห็นได้ว่า ตลาดเปิดกว้างมากสำหรับกลุ่มแม่และเด็ก โดยข้อมูลจาก “นิธินันท์ อัศวทร” กรรมการ บริษัท ทิคเคิลด์ มีเดีย จำกัด และผู้จัดการประจำประเทศไทยของ TheAsianparent มองตรงกันว่าตลาดแม่และเด็กปี 2564 ยังคงเติบโต

นิธินันท์กล่าวว่า แม้ว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่จะลดลง 2% แต่กำลังซื้อต่อคนของคุณแม่ไม่ได้ลดลงและกลับเพิ่มขึ้นด้วย ยกตัวอย่าง งาน Baby Fair Central x TheAsianparent 2021 ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยอดขายภายในงานเติบโตถึง 6 เท่าเทียบกับปีก่อน ซึ่งนอกจากจะเกิดจากกำลังซื้อที่พร้อมแล้ว น่าจะเกิดจากมู้ดผู้บริโภคช่วงนั้นเกิด ‘Revenge Spending’ ด้วย หลังผ่านการล็อกดาวน์นานหลายเดือน

 

สินค้าพรีเมียมรุ่ง แม่ๆ ยอมเปย์ให้ลูก

ข้อมูลจาก Mintel สำรวจตลาดของใช้ส่วนตัวสำหรับเด็กในไทย พบว่ากลุ่มที่มาแรงคือสินค้า “พรีเมียม” ที่ปลอดภัยกับเด็ก รวมถึงตอบโจทย์ด้านเวลเนสและไลฟ์สไตล์ได้ด้วย

สอดคล้องกับข้อมูลของนิธินันท์ที่เล็งเห็นพฤติกรรมคุณแม่ การเลือกสินค้าให้ลูกไม่ได้เลือกที่ถูกที่สุด แต่เลือกสิ่งที่ดีที่สุด ยิ่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น รถเข็นเด็ก คุณแม่ยินดีที่จะจ่ายราคาแพงกว่าเพื่อให้ได้เทคโนโลยีดีกว่า โดยมองว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง

“รถเข็นเด็ก” หนึ่งในสิ่งที่แม่ๆ ยอมลงทุนเพื่อลูก (Photo : Pixabay)

การใช้จ่ายกับสินค้าพรีเมียมสะท้อนในยอดขายชัดเจน ยกตัวอย่างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Arpanetgirl ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับกลางถึงระดับบน พบว่ายอดใช้จ่ายต่อบิลปีนี้ขึ้นไปถึง 10,000 บาทต่อบิล และคาดว่าปีหน้ายอดขายบริษัทจะโต 20-30% จากกำลังซื้อกลุ่มกลางถึงไฮเอนด์ที่ยังคงมีสม่ำเสมอ

 

ผลิตภัณฑ์ “ออร์แกนิค” มาแรง

ด้านกลุ่มสินค้าที่มาแรงปีนี้ นิธินันท์มองว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคยิ่งมาแรงมากขึ้น แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ดีมานด์ยังคงโตต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่แค่อาหารหรือเครื่องดื่ม แต่รวมถึงของใช้ของเด็กด้วย เช่น ครีมอาบน้ำ เสื้อผ้า กระทั่งคอกกั้นเด็กคุณแม่ก็ต้องการวัสดุสารเคมีต่ำ เนื่องจากกังวลเรื่องเด็กอาจมีอาการแพ้ได้

สอดคล้องกันกับข้อมูลของ Mintel ที่พบว่าของใช้เด็กนั้น สิ่งสำคัญที่คุณแม่มองหาคือ ต้องทำมาจากส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติและปลอดภัยกับเด็ก โดยมีแม่ๆ 75% ที่ให้ปัจจัยนี้เป็นอันดับหนึ่งในการเลือกสินค้า

ไม่ใช่แค่อาหาร-เครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัวและเสื้อผ้าเด็ก พ่อแม่ก็ต้องการผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเช่นกัน (Photo : Pixabay)

 

“ออนไลน์” พฤติกรรมใหม่ของคุณแม่

TheAsianparent ยังระบุถึงอีกเทรนด์พฤติกรรมของคุณแม่หลังเผชิญวิกฤต COVID-19 นั่นคือการยอมรับการใช้ชีวิต “ออนไลน์” ทั้งของตนเองและลูกๆ เช่น ยอมรับการเรียนออนไลน์อยู่กับบ้านของลูกมากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าลูกจะได้รับเชื้อมากกว่าหากกลับไปเรียนออนไซต์

คุณแม่ยังนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ให้กับลูก จากพฤติกรรมก่อนหน้านี้ คุณแม่จะต้องการจับต้องสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ เช่น รถเข็น คอกกั้น ต้องได้ทดลองใช้ก่อน แต่ปัจจุบันยอมที่จะซื้อออนไลน์ เพราะกังวลเรื่องความสะอาดหากต้องออกจากบ้านไปทดลองใช้สินค้าที่หยิบจับร่วมกับผู้อื่น

รวมไปถึงการพบแพทย์ Telemedicine กลายเป็นช่องทางที่นิยมมากขึ้น จากเดิมเด็กๆ ที่มักจะป่วยง่าย เมื่อเกิดเจ็บป่วย พ่อแม่มักเร่งรีบพาไปโรงพยาบาล แต่ยุคนี้หากเป็นไปได้ คุณแม่ก็ยอมรับที่จะพบแพทย์ออนไลน์มากขึ้นเพื่อรักษาในเบื้องต้นด้วยตนเอง

ทั้งหมดคือเทรนด์ของตลาดสินค้า “แม่และเด็ก” ในปีนี้และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปีหน้า!

]]>
1368682
คุยกับ “Arpanetgirl” แบรนด์เสื้อผ้าเด็กสไตล์ ‘ลูกคุณ’ เริ่มด้วยเงินหลักพัน สู่ยอดขาย 100 ล้าน https://positioningmag.com/1366752 Tue, 14 Dec 2021 11:10:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1366752 ถ้าคุณอยู่ในวงการ ‘แม่ๆ’ ที่ชอบแต่งตัวลูกในสไตล์ลูกคุณหนูสายหวาน น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาแบรนด์ Arpanetgirl (อาร์พาเน็ตเกิร์ล) มาบ้าง เบื้องหลังของแบรนด์นี้เริ่มจากคุณแม่ที่ต้องการทำธุรกิจไปพร้อมกับการเลี้ยงลูก เริ่มต้นลงทุนหลักพันบาท จนขยายมาเป็นธุรกิจที่ตั้งเป้าไปสู่ 100 ล้านบาทในเวลา 7 ปี!

Arpanetgirl เป็นแบรนด์เสื้อผ้าเด็กผู้หญิงอายุ 1-10 ขวบ มีสไตล์ที่ชัดเจนเป็นของตนเองคือเสื้อผ้าใส่แล้วจะต้องให้ลุค “ลูกคุณหนู” สายหวาน ฟรุ้งฟริ้ง เน้นสีสันสดใสและลวดลายน่ารัก โดยวางตำแหน่งทางการตลาดเป็นเสื้อผ้าเด็กระดับกลางถึงบน ราคาชุดเดรสชุดหนึ่งตกราคาประมาณ 1,000-2,000 บาท

แบรนด์นี้ปัจจุบันขายผ่าน ‘ออนไลน์’ ช่องทางเดียว แถมยังขายเฉพาะโซเชียลคอมเมิร์ซผ่าน Facebook, Instagram และ Line@ ไม่มีขายผ่านมาร์เก็ตเพลสด้วยซ้ำ แต่หลังเปิดขายมา 7 ปี ปีนี้ทำยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 5-6 ล้านบาท คาดว่าทั้งปี 2564 อาจจะมีรายได้ถึง 70-80 ล้านบาท และตั้งเป้าปี 2565 ขอทำรายได้แตะ 100 ล้านบาท

Arpanetgirl
ตัวอย่างชุดในสไตล์ Arpanetgirl

Arpanetgirl ทำได้อย่างไร? ต้องไปคุยกับ “จิรฉัตร พรมสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์พาเน็ตเกิร์ล จำกัด คุณแม่นักธุรกิจวัย 36 ปีที่ลาออกจากงานประจำมาเพื่อมุ่งมั่นเลี้ยงลูกสาว ‘น้องอาร์พาเน็ต’ ที่มาของชื่อแบรนด์

“จุดเริ่มต้นคือลาออกจากงานประจำเพื่อมาเลี้ยงลูก แต่ไม่อยากเลี้ยงลูกเฉยๆ อย่างเดียว เพราะตั้งใจว่าเมื่อลูกโตก็ไม่อยากกลับไปทำงานประจำแล้ว อยากจะสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมามากกว่า” จิรฉัตรเล่าย้อนไปถึงช่วงวัย 28-29 ปีที่ตัดสินใจครั้งสำคัญ

“จิรฉัตร พรมสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์พาเน็ตเกิร์ล จำกัด

มองไปรอบตัว ธุรกิจที่ทำแล้วจะได้อยู่กับลูกด้วยก็คือ “เสื้อผ้าเด็ก” จึงใช้เงินหลักพันไปหาซื้อเสื้อผ้าสำเร็จจากประตูน้ำ-สำเพ็ง โดยเลือกสไตล์แบบที่ตรงกับ ‘จริต’ ของตัวเอง คือเป็นเสื้อผ้าสไตล์ลูกคุณหนูหวานๆ ให้เป็นในโทนเดียวกัน

จากนั้นก็ตั้งเพจ Facebook ของตนเองในชื่อ Arpanetgirl เพื่อเป็นหน้าร้านขายของ จับลูกสาวแต่งตัวถ่ายแบบเป็นพรีเซ็นเตอร์ชุด เสมือนเป็นเสื้อผ้าแบรนด์ของตนเอง ผลปรากฏว่าขายดีขึ้นเรื่อยๆ จนมีคนกดไลก์เพจหลายพันคนในระยะเวลา 2 ปีแรก

 

หันมา “ดีไซน์” ชุดเอง หนีสงครามราคา

อย่างไรก็ตาม จุดพลิกของ Arpanetgirl คือ เมื่อเสื้อผ้าขายดี ร้านอื่นก็เริ่มไปหารับเสื้อผ้าแบบเดียวกันมาขายทั้งหน้าร้านออฟไลน์ ออนไลน์ แถมยังใช้รูปลูกสาวที่ร้านถ่ายเองไปโปรโมตด้วย ทำให้เกิดการแข่งขัน ตัดราคากัน

ต้องเปลี่ยนมาดีไซน์แบบชุดเอง เลี่ยงการขายสินค้าแบบเดียวกันและทำสงครามราคา

ดังนั้น จึงต้องตัดสินใจเสี่ยงลงทุนปั้นงานดีไซน์ของตนเองเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว และจ้างโรงงาน OEM ผลิต ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้น จากเดิมลงทุนซื้อสต๊อกชุดหลักสิบชุดต่อหนึ่งแบบ เมื่อจ้างโรงงานต้องผลิตหลักร้อยชุดต่อหนึ่งแบบ บางคอลเลกชันยังไม่โดนใจลูกค้า ขายไม่ดีเท่าที่คิด แต่ก็ต้องกัดฟันลงทุนผลิตคอลเลกชันต่อไปจนกว่าจะตรงใจผู้บริโภค

ประมาณ 1 ปีหลังจากเริ่มดีไซน์งานเอง จิรฉัตรบอกว่า มีวันที่ประทับใจที่สุดในชีวิตการทำธุรกิจ คือวันที่แบรนด์ไปออกงานแฟร์ Baby Best Buy และได้จับเงินสด 3 แสนภายในวันเดียวเป็นครั้งแรก เห็นได้ว่าแบรนด์เริ่มติดตลาด เป็นที่รู้จัก สินค้าถูกใจลูกค้าจริงๆ

 

หัวใจหลักคือ “ธีมชุด” ที่เล่าเรื่องได้

จุดขายของแบรนด์ Arpanetgirl ที่ทำให้คนสนใจ จิรฉัตรมองว่าเกิดจาก “ดีไซน์” นอกจากจะลุคคุณหนู สวยแบบใครเห็นก็ต้องทักว่า ‘ซื้อที่ไหน’ ทำให้คุณแม่ยิ้มออก รายละเอียดลายชุดก็มีธีม มีเรื่องราวให้นำมาเล่าและทำการตลาดได้

ตัวอย่างเช่น ธีมสถานที่ท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้แบรนด์นำชุดไปไลฟ์ขายในสถานที่จริง ธีมลายผัก มีสตอรี่จูงใจให้ลูกๆ รู้สึกรักผัก ยอมทานผักมากขึ้น หรือบางครั้งมีธีมตามกระแสช่วงนั้นอย่างธีมครัวซองต์ ล้อไปตามกระแสฮิตทานครัวซองต์ ทำการตลาดคู่กับการแนะนำร้านครัวซองต์สุดอร่อย

Arpanetgirl
ตั้งเป้าให้เป็นชุดที่ลูกใส่แล้วสวย มีความสุข และเติมเต็มความชอบของแม่ด้วย

“เราตั้งเป้าให้เด็กใส่แล้วมีความสุข และเราเติมเต็มให้แม่ๆ ด้วยการนำความชอบของแม่มาอยู่ในชุดของลูกด้วย” จิรฉัตรกล่าว

การขายเสื้อผ้าเด็กเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะนอกจากเด็กชื่นชอบแล้ว แม่ๆ ก็เป็นตัวแปรสำคัญเพราะเป็นผู้ตัดสินใจซื้อ ทำให้การเติมความฝันให้แม่คือเรื่องสำคัญเช่นกัน

ไม่ใช่แค่ลายชุด กิมมิกการตลาดอย่างอื่นของ Arpanetgirl ก็พุ่งเป้าไปที่เหล่า ‘หม่ามี๊’ ด้วย เช่น บางคอลเลกชันจะมีแถมเซต ‘ตุ๊กตากระดาษ’ หรือ ‘บ้านกระดาษ’ ทำให้แม่ๆ หวนคิดถึงวัยเด็ก และเพิ่มความต้องการซื้อขึ้นไปอีก

บ้านกระดาษ ของพรีเมียมที่โดนใจเหล่าหม่ามี๊ ได้ย้อนวัยคิดถึงอดีต

 

สร้างแบรนด์จาก “ห้างฯ” แต่ขายในออนไลน์

กลยุทธ์สำคัญอีกส่วนที่ทำให้แบรนด์ติดตลาดแข็งแรงคือ ในช่วงแรกๆ ที่แบรนด์เริ่มออกแบบชุดเอง จะจำหน่ายในราคาแบบ ‘One Price’ ราคาเดียวทั้งร้าน เริ่มมาตั้งแต่ 790 บาท ขึ้นเป็น 890 บาท จนถึง 990 บาท เพื่อทำให้ลูกค้าไม่สับสน และสร้างภาพจำให้ได้ก่อนว่า Arpanetgirl คือแบรนด์หลักร้อยในคุณภาพหลักพัน จนปัจจุบันสามารถขายได้หลายราคาและยกระดับไปเป็นแบรนด์ระดับบนได้ในบางคอลเลกชันด้วย

นอกจากการทำการตลาดออนไลน์ Arpanetgirl ยังใช้การ “ขึ้นห้างฯ” เสริมภาพลักษณ์ เคยเข้าไปวางขายในเซ็นทรัล 3 สาขา คือ ชิดลม ลาดพร้าว และบางนา ระหว่างปี 2560-62 ก่อนจะถอนร้านออกมาทั้งหมดช่วงก่อน COVID-19 ระบาดพอดี

“ตอนเข้าไปตอนแรกบอกเลยว่าไปเอากล่อง ไม่ได้เอาเงินค่ะ เพราะ GP จะถูกหักเยอะมาก แต่ไปเพราะวันนั้นแบรนด์ที่ได้ขึ้นห้างฯ จะได้ชื่อทันที ดังทันที” จิรฉัตรกล่าว

ในช่วงก่อนจะถอนร้านจากห้างฯ เป็นช่วงที่แบรนด์เห็นแล้วว่าคนรู้จักแบรนด์และมีความเชื่อมั่นแล้ว รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเน้นการซื้อออนไลน์เกือบทั้งหมด ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านออฟไลน์อีกต่อไป

 

ฐานลูกค้า FC ไล่ซื้อเก็บสะสม

จากการสะสมลูกค้ามาเรื่อยๆ ทำให้เกิดกระแส ‘แฟนคลับ’ ของ Arpanetgirl มีแม่ๆ ที่คอย ‘เอฟ’ ทุกคอลเลกชัน แถมยังสั่งทุกไซส์เผื่อโต เพราะลูกๆ บางคนเมื่อชอบชุดลายนั้นแล้วจะอยากใส่ไปตลอด แต่แบรนด์อาจจะขายหมดแล้ว และอีกนานกว่าจะผลิตใหม่ ทำให้เกิดตลาดมือสอง ชุดที่มีดีมานด์สูงบางชุดราคาขึ้นจาก 2,000 กว่าบาทไปถึง 4,000 บาทก็มี

กระแสของสะสมแบบนี้ ทำให้ยอดขายเฉลี่ยต่อบิลทะลุ 10,000 บาท รวมถึงมีลูกค้ากลุ่ม Top Spender ที่ซื้อสินค้ากับแบรนด์ปีละหลักแสนบาท! โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ไลก์เพจเกือบ 170,000 คน

“เราตั้งเป้าให้เด็กใส่แล้วมีความสุข และเราเติมเต็มให้แม่ๆ ด้วยการนำความชอบของแม่มาอยู่ในชุดของลูกด้วย”

จิรฉัตรกล่าวว่า ขณะนี้แบรนด์มีดีไซเนอร์ 5 คนที่คอยออกแบบชุดซึ่งจะออกแบบใหม่ๆ ทุกสัปดาห์ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การขายแบบฟาสต์แฟชั่น เพราะทุกชุดยังใส่ได้ตลอดด้วยดีไซน์น่ารัก คุณภาพผ้าดี ส่งต่อให้ลูกคนต่อไป หรือให้กับญาติได้

 

ปีหน้าขยายไลน์ “เด็กผู้ชาย-ครอบครัว”

เป้าหมายในปี 2565 จิรฉัตรกล่าวว่าแบรนด์จะขยายไลน์เสื้อผ้าเด็กผู้ชายและครอบครัวด้วย โดยช่วง COVID-19 แบรนด์มีการผลิตสินค้าแบบอื่นให้เหมาะกับสถานการณ์ เช่น มาส์กผ้า เสื้อยืด ชุดนอน ชุดอยู่บ้าน ไม่ได้มีเฉพาะเดรสใส่เที่ยวแล้ว ปรากฏว่าสินค้ากลุ่มนี้ขายได้ และทำให้เห็นโอกาสว่าพ่อแม่บางคนก็อยากจะให้ลูกชายลูกสาวแต่งตัวธีมเดียวกัน หรือมีชุดแบบเดียวกันทั้งครอบครัว

ขยายไลน์ชุดเด็กผู้ชาย ใส่ได้ทั้งพี่ทั้งน้อง

รวมถึงจะขยายการผลิต หาโรงงาน OEM เพิ่มเพื่อให้ทันความต้องการ พร้อมขยายช่องทางขายบนมาร์เก็ตเพลส จากแผนการขยายตัวทั้งหมด ทำให้วางเป้าทำยอดขายแตะ 100 ล้านบาทในปีหน้า

โดยปัจจุบันแบรนด์ Arpanetgirl มองตนเองเป็นแบรนด์ระดับ Top 5 ในไทย วัดจากยอดขาย และถือเป็นแบรนด์เดียวใน Top 5 ที่มาจากการขายเสื้อผ้าแบรนด์ตนเองทั้งหมด เทียบกับเจ้าอื่นซึ่งมีรายได้จากการรับ OEM ผลิตเสื้อผ้าด้วย

สำหรับคนที่กำลังทำธุรกิจของตนเองอยู่ จิรฉัตรมีข้อแนะนำการดีไซน์สินค้าและทำตลาดที่น่าสนใจว่า “อย่าคิดเอง”

“อย่าคิดเองเพราะว่าบางทีเราเดาใจลูกค้าไม่ถูกหรอก เราคิดไปเองว่าทำแล้วลูกค้าไม่ซื้อหรอก แต่จริงๆ เราต้องลองตลาดก่อน และต้องฟังลูกค้าเยอะๆ เขาจะบอกเราว่าเขาอยากได้อะไร”

]]>
1366752