ปี 2020 จีนมีประชากรทั้งสิ้น 1,412 ล้านคน แต่ประชากรที่เพิ่มขึ้นเมื่อปีก่อนมีเพียงแค่ 12 ล้านคน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1961 สถิติการเกิดที่น้อยลงเริ่มน่ากังวล เพราะจะทำให้มีประชากรวัยทำงานลดลงในอนาคต และเงินบำนาญหลังเกษียณของผู้สูงวัยจะไม่เพียงพอ อ่านข้อมูลเหล่านี้เพื่อติดตามสถานการณ์ประชากรในจีนที่อาจเปลี่ยนลักษณะสังคม-เศรษฐกิจได้ในทศวรรษหน้า
1) จีนเคยมีนโยบาย “ลูกคนเดียว” คืออนุญาตให้คู่สามีภรรยามีลูกได้แค่คนเดียว เพื่อลดจำนวนประชากรที่มากเกินไป จนกระทั่งปี 2016 จึงผ่อนผันให้มีลูกได้สองคน
2) ณ ปี 2020 จีนมีประชากรทั้งหมด 1,412 ล้านคน แต่ประชากรที่เพิ่มขึ้นในปี 2020 มีเพียง 12 ล้านคน ต่ำที่สุดที่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 1961 ซึ่งเป็นปีที่เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในจีนจนประชากรเกิดใหม่ลดฮวบ และเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปี 2019 ที่มีเด็กเกิดใหม่ 14.65 ล้านคน
3) ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนต่อจำนวนประชากรหญิง เท่ากับค่าเฉลี่ยผู้หญิงจีนวัยเจริญพันธุ์ 1 คนจะมีลูกเพียง 1.3 คนเท่านั้นเมื่อปี 2020 นอกจากนี้ ยังมีรายงานวิจัยความต้องการของผู้หญิงจีนโดยเฉลี่ยแล้วต้องการมีลูกเพียง 1.8 คน น้อยกว่าอัตราที่ควรจะเป็นคือมีลูก 2.1 คน เพื่อจะทำให้อัตราประชากรของจีนเหมาะสม
4) เมื่อประชากรเกิดน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็น 264.02 ล้านคน ทำให้ปี 2020 จีนมีอัตราส่วนผู้สูงวัยเพิ่มเป็น 18.7% เพิ่มขึ้นมา 5.44% เทียบกับปี 2010 ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจประกันของจีนประมาณการณ์ว่า ประชากรผู้สูงอายุจะขึ้นแตะ 300 ล้านคนภายในปี 2025
5) ในทำนองเดียวกัน ประชากรวัยทำงานจึงลดลงด้วย โดยปี 2020 จีนมีประชากรวัย 15-59 ปี จำนวน 894.38 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 63.35% ลดลง 6.79% จากปี 2010
6) จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น แต่คนทำงานน้อยลงเป็นปัญหาสำคัญ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีนเคยประมาณการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2019 ว่า กองทุนบำนาญของรัฐจะเริ่มขาดเงินสะสมในปี 2035 หากว่าจำนวนผู้เกษียณอายุยังคงเพิ่มขึ้น และคนทำงานที่จะส่งเงินให้กับกองทุนลดลง
7) รัฐบาลจีนตระหนักถึงปัญหานี้ โดยเคยคำนวณไว้ว่า ภายในปี 2050 เงินบำนาญของผู้สูงวัย 1 คนจะมาจากการทำงานของคนวัยทำงานเพียง 1 คน จากปัจจุบันมาจากคนวัยทำงาน 2 คน ซึ่งนั่นแปลว่า เงินบำนาญจะไม่เพียงพอ
8) ความกังวลเกี่ยวกับอัตราประชากรนี้นำไปสู่การเปลี่ยนนโยบายให้มีลูกเพิ่มได้เป็น 2 คนเมื่อปี 2016 โดยหวังว่าจะทำให้คนจีนมีลูกเพิ่ม แต่ก็เพิ่มไม่มากเท่าที่รัฐบาลคาดหวัง โดยปี 2016 ซึ่งเป็นปีแรกที่ให้มีลูกได้ 2 คน มีเด็กเกิดใหม่ 17.86 ล้านคน เพิ่มจากปี 2015 ที่มีเด็กเกิดใหม่ 16.55 ล้านคน และในปี 2017 จำนวนเด็กเกิดใหม่ก็ตกลงอีกเหลือ 17.23 ล้านคน จากนั้นก็ยังคงลดลงต่อเนื่องทุกปี แม้ว่ารัฐจะให้นโยบายเงินอุดหนุนสำหรับการมีลูกคนที่สองแล้วก็ตาม
9) การมีลูกน้อยลงของคนจีนมาจากหลายสาเหตุ ทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงลูก แนวคิดทางสังคมของผู้หญิงที่ต้องการเรียนสูง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จึงไม่ต้องการมีครอบครัว รวมถึงการย้ายจากชนบทมาอยู่ในเมืองใหญ่ก็ทำให้การมีลูกและเลี้ยงลูกยากขึ้น
10) ต้องติดตามต่อว่าจากนี้จีนจะออกนโยบายอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาด้านประชากร ก่อนที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะสูงกว่าเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปี และจะทำให้จีนประสบปัญหาแบบเดียวกับประเทศใกล้เคียงอย่าง ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้