Xiaomi – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 02 Apr 2024 05:07:11 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 หุ้น ‘เสียวหมี่’ พุ่ง 15% หลังบริษัทเปิดตัว ‘รถอีวี’ รุ่นแรกลงตลาด ด้วยยอดจอง 5 หมื่นคันใน 27 นาที https://positioningmag.com/1468671 Tue, 02 Apr 2024 03:43:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1468671 ย้อนไปช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นของ เสียวหมี่ (Xiaomi) พุ่งขึ้นเกือบ 10% หลังจากที่บริษัทได้ระบุวันเปิดตัว SU7 รถอีวีรุ่นแรก และหลังจากที่เปิดตัวได้ 4 วัน เมื่อตลาดหุ้นฮ่องกงเปิด หุ้นของเสียวหมี่ก็พุ่งขึ้นอีก 15%

หุ้นของ เสียวหมี่ (Xiaomi) บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติจีนพุ่งขึ้น 15% หลังตลาดฮ่องกงเปิดทำการในวันนี้ ซึ่งถือเป็นวันทำการซื้อขายวันแรกนับตั้งแต่บริษัทเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า SU7 โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 29,870 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.1 ล้านบาท ซึ่งรถรุ่นดังกล่าวจะมาชนกับ Tesla Model 3 แต่จะสามารถขับได้ไกลกว่า และถูกกว่าประมาณ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.4 แสนบาท

ที่น่าสนใจคือ ยอดจอง SU7 ของเสียวหมี่มียอดจองบนร้านออนไลน์กว่า 50,000 คัน ภายใน 27 นาที และภายใน 24 ชั่วโมงมียอดจองแตะ 88,898 คัน โดยยอดจองดังกล่าวทำให้ลูกค้าต้องรอรับรถอย่างน้อย 5-7 เดือน เลยทีเดียว ทั้งนี้ เสียวหมี่เปิดเผยว่าโรงงานของบริษัทมีกำลังการผลิตรถที่ 200,000 คันต่อปี

อย่างไรก็ตาม ที่ราคารถของเสียวหมี่เปิดมาได้น่าสนใจนั้น ทาง CEO ของบริษัทอย่าง เหลย จวิน ได้ออกมายอมรับว่า ราคาที่ตั้งนั้นบริษัทยอม ขาดทุน เพื่อต่อสู้กับสงครามราคารถอีวีในปัจจุบัน

สำหรับการลดราคาเกิดขึ้นตลาดรถอีวีจีนนั้น เกิดจากการเติบโตเริ่มแสดงสัญญาณการชะลอตัว สมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแห่งประเทศจีน (China Passenger Car Association) ระบุว่า การรุกของรถยนต์นั่งที่ใช้แบตเตอรี่และรถยนต์ไฮบริดมีมากกว่า 1 ใน 3 ของรถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายในจีน

Source

]]>
1468671
ประธาน Xiaomi อินเดีย ชี้ “รัฐบาลตรวจสอบบริษัทจีนอย่างหนัก ทำให้ซัพพลายเออร์ไม่กล้าตั้งฐานการผลิตในแดนภารตะ” https://positioningmag.com/1462276 Sun, 11 Feb 2024 17:07:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462276 เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ผู้ผลิตสินค้าไอทีจากจีน ยังต้องดิ้นรนในตลาดอินเดียต่อเนื่อง โดยประธาน Xiaomi อินเดีย ชี้ว่า การที่รัฐบาลอินเดียตรวจสอบบริษัทจีนอย่างหนัก ส่งผลทำให้ซัพพลายเออร์ไม่กล้าตั้งฐานการผลิตในแดนภารตะ แม้ว่าจะมีความต้องการที่จะใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวโดยอ้างอิงเอกสารที่เกี่ยวข้องว่าเสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ผู้ผลิตสินค้าไอทีจากประเทศจีน ที่กำลังดิ้นรนอย่างหนักในอินเดียชี้ว่าการที่รัฐบาลได้ตรวจสอบบริษัทจีนอย่างหนัก ส่งผลทำให้ซัพพลายเออร์ของบริษัทรู้สึกไม่สบายใจ และไม่กล้าที่จะตั้งฐานการผลิตในประเทศ

Muralikrishnan B. ซึ่งเป็นประธานของ Xiaomi อินเดีย ได้ตอบจดหมายของรัฐมนตรีกระทรวงไอทีของอินเดียว่าจะทำอย่างไรที่ผู้ผลิตสินค้าไอทีรายนี้จะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศอินเดีย ซึ่งเขาชี้ว่าบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์นั้นไม่กล้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ เนื่องจากไม่สบายใจกับมาตรการของรัฐบาลอินเดีย

ประธานของ Xiaomi อินเดียยังกล่าวเสริมว่า “รัฐบาลอินเดียจำเป็นต้องดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการสร้างความมั่นใจ เพื่อสนับสนุนให้ซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนของโทรศัพท์นั้นสร้างโรงงานในประเทศ”

นอกจากนี้ Xiaomi เองยังดิ้นรนด้วยการยื่นฟ้องรัฐบาลอินเดียเพื่อที่จะลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับประกอบโทรศัพท์มือถือ โดยชี้ว่าเพื่อที่จะเพิ่มสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

บริษัทจีนประสบปัญหาในการตีตลาดประเทศอินเดีย เนื่องจากความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศบริเวณพรมแดน ส่งผลทำให้รัฐบาลอินเดียประกาศข้อระเบียบต่างๆ ที่ส่งผลทำให้บริษัทจากจีนดำเนินธุรกิจได้ยากมากขึ้น ซึ่ง Xiaomi เองเป็นอีกบริษัทที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

สำหรับผู้นำตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศอินเดียนั้นเป็น Samsung ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในอินเดียเป็นอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งมากถึง 20% รองลงมาคือ Xiaomi ที่ 16% จึงทำให้บริษัทต้องหาทางในการดึงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมา โดยในเดือนกรกฎาคมของปี 2023 ที่ผ่านมา บริษัทได้เตรียมเจาะตลาดอินเดียเพิ่มมากขึ้น แม้ว่า 2 ประเทศนี้จะมีความขัดแย้งก็ตาม

ไม่ใช่แค่ Xiaomi ที่พบปัญหาความยากลำบาก แม้แต่บริษัทคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Vivo ก็ประสบปัญหาที่ว่าเช่นกัน ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียกล่าวหาว่าบริษัทละเมิดกฎระเบียบด้านวีซ่าเข้าประเทศ และยังรวมถึงการยักยอกเงินมากถึง 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐออกนอกประเทศ

]]>
1462276
มาอีกบริษัท Xiaomi เตรียมพัฒนาชิปเป็นของตัวเอง ใช้งานในโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้า https://positioningmag.com/1443243 Sun, 03 Sep 2023 13:14:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1443243 Xiaomi บริษัทผู้ผลิตสินค้าไอทีรายใหญ่ของประเทศจีน เตรียมที่จะพัฒนาชิปของบริษัทเป็นของตัวเอง ซึ่งจะใช้งานในโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ซึ่งจะมีการวางขายในช่วงปีหน้า แต่รายละเอียดนั้นยังมีไม่มากนัก

เว็บไซต์ IT Home รวมถึง TechGoing ได้รายงานข่าวโดยอ้างอิง Blogger สายไอทีในประเทศจีนที่ได้เข้าไปในงานแถลงข่าวภายในบริษัทว่ายักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสินค้าไอทีอย่าง Xiaomi ได้เตรียมพัฒนาชิปเป็นของตัวเอง เพื่อที่จะใช้งานในโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้า

ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม มีข่าวที่ว่ารถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทนั้นมีแผนที่จะวางจำหน่ายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2024 มาแล้ว โดยคาดว่าจะมีการผลิตในปีแรกที่ 100,000 คัน ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้นรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ที่กำลังจะวางจำหน่ายจะใช้ชิปของบริษัทที่ผลิตขึ้น

Blogger รายดังกล่าวยังรายงานว่า ในประเด็นของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Lu Weibing ซึ่งเป็นประธานของ Xiaomi ได้กล่าวว่า การผลิตนั้นราบรื่นเป็นไปได้ด้วยดี และเขายังได้กล่าวเสริมว่าบริษัทต้องการที่จะเป็น 1 ใน 5 แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาวให้ได้ด้วย หลังจาก Xiaomi ได้ลงทุนและวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เงินจำนวนมาก

สำหรับราคารถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทนั้นคาดว่าเริ่มต้นอยู่ที่ 100,000 หยวน ขณะที่รุ่นแพงสุดจะอยู่ที่ 300,000 หยวน ไม่เพียงเท่านี้บริษัทยังวางแผนที่จะเปลี่ยนสาขาที่ขายอุปกรณ์ไอทีหลายแห่งในประเทศจีนให้กลายเป็นโชว์รูมรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทแทนด้วย

นอกจากการพัฒนาชิปแล้ว บริษัทยังได้จดทะเบียนเว็บไซต์ mios.cn กับกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่เว็บไซต์นั้นยังไม่มีข้อมูลอะไร โดยคาดว่าจะเป็นเว็บไซต์สำหรับระบบปฎิบัติการ MiOS ของบริษัทกำลังพัฒนาอยู่ในเวลานี้

อย่างไรก็ดีสำหรับรายละเอียดของชิปที่บริษัทพัฒนา ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่บริษัทผู้ผลิตหลายแห่งได้เริ่มเปลี่ยนแนวทางการผลิตมาใช้ชิปที่พัฒนาเป็นของตัวเองไม่ว่าจะเป็น Apple หรือ Alphabet ในโทรศัพท์มือถือหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือแม้แต่บริษัทจีนเองอย่าง HiSilicon ก็พัฒนาชิปโทรศัพท์มือถือให้กับ Huawei

ที่มา – IT Home, TechGoing

]]>
1443243
Xiaomi รับไฟเขียวจากหน่วยงานของรัฐบาลจีนให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ คาดเริ่มผลิตได้ 1 แสนคันในปี 2024 https://positioningmag.com/1442145 Wed, 23 Aug 2023 14:16:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1442145 Xiaomi รับไฟเขียวจากหน่วยงานของรัฐบาลจีนให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว โดยคาดว่าในปี 2024 บริษัทจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้มากถึง 1 แสนคัน อย่างไรก็ดีการเข้ามาในอุตสาหกรรม EV นี้ถือว่าเป็นความท้าทายของบริษัทไม่น้อย เนื่องจากคู่แข่งมีจำนวนมาก

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า เสียวหมี่ (Xiaomi) ผู้ผลิตสินค้าไอทีจากประเทศจีน ได้รับไฟเขียวจากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ให้บริษัทสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว โดยผู้ผลิตสินค้าไอทีรายนี้ถือเป็น 1 ใน 4 บริษัทที่ได้รับไฟเขียวจากหน่วยงานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ตามมาหลังจากบริษัทได้ทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทในสภาวะอากาศหนาวเย็นจัดแล้ว และตั้งเป้าที่จะวางขายรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024 และ Lei Jun ซึ่งเป็น CEO ของ Xiaomi ได้กล่าวว่าแผนการที่บริษัทจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นโครงการใหญ่อันสุดท้ายในอาชีพผู้ประกอบการของเขา

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Beijing Daily สื่อของรัฐบาลจีนได้รายงานว่าโรงงานในกรุงปักกิ่งของ Xiaomi จะสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ราวๆ 200,000 คันต่อปี แต่ในปี 2024 ที่บริษัทวางแผนว่าจะวางจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้นั้นจะผลิตได้ 100,000 คันให้ได้ก่อน

อย่างไรก็ดี Xiaomi จะต้องได้รับไฟเขียวจากกระทรวงอุตสาหกรรมและสารสนเทศ (MIIT) ซึ่งจะประเมินผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละรุ่นสำหรับข้อกำหนดด้านเทคนิคและความปลอดภัย

สำหรับตลาดหลักของรถยนต์ไฟฟ้าจาก Xiaomi คือผู้ใช้งานทั่วไป โดยราคารถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทนั้นเริ่มต้นอยู่ที่ 100,000 หยวน ขณะที่รุ่นแพงสุดจะอยู่ที่ 300,000 หยวน ไม่เพียงเท่านี้บริษัทยังวางแผนที่จะเปลี่ยนสาขาที่ขายอุปกรณ์ไอทีหลายแห่งในประเทศจีนให้กลายเป็นโชว์รูมรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทแทนด้วย

การเข้ามาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทส่วนหนึ่งมาจากยอดขายสินค้าไอทีของบริษัทลดลง โดยเฉพาะการรายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุดนั้น ยอดขายสินค้าของบริษัทลดลง 18.9% จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทต้องเข้ามาในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้านี้ด้วย เนื่องจากขนาดตลาดที่ใหญ่กว่า และยังไม่มีผู้ชนะในตลาดที่แท้จริง

นอกจากนี้การเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของ Xiaomi ถือว่าอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้ผลิตหลายรายจะต้องต่อสู้ทั้งในเรื่องของราคาระหว่างกัน นอกจากนี้ยังรวมถึงความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่ชะลอตัวลงจากสภาวะเศรษฐกิจ และยังรวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นความท้าทายไม่น้อย

]]>
1442145
Xiaomi รุกตลาดอินเดียหนัก เพิ่มร้านค้ามากกว่าเดิม หลังส่วนแบ่งตลาดตามหลังคู่แข่งอย่าง Samsung https://positioningmag.com/1437942 Mon, 17 Jul 2023 13:14:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1437942 เสี่ยวหมี่ ผู้ผลิตสินค้าไอทีจากจีน ประกาศรุกตลาดอินเดียหนัก หลังส่วนแบ่งตลาดล่าสุดตามหลังคู่แข่งอย่าง Samsung ขณะเดียวกันบริษัทเองก็ต้องพบกับอุปสรรคในการทำธุรกิจ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดีย

เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ผู้ผลิตสินค้าไอทีหลากหลายชนิด ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์มือถือด้วยนั้นได้ประกาศรุกตลาดอินเดียเพิ่มมากกว่าเดิม โดยบริษัทต้องการที่จะชิงยอดขายโทรศัพท์มือถือกลับมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเสียตำแหน่งให้กับคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Samsung ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าไอทีจากเกาหลีใต้

ขณะเดียวกันประเทศอินเดียมีช่องทางในการขายสินค้าอย่างโทรศัพท์มือถือผ่าน E-commerce ของผู้เล่นรายใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Flipkart หรือ Amazon รวมถึงผู้เล่นรายอื่นก็ตาม โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 44% ของยอดขายโทรศัพท์มือถือภายในอินเดีย แต่ Xiaomi เองก็พยายามที่จะตั้งร้านค้าเพิ่มเติมในการขายสินค้าของบริษัทให้มากขึ้น และเจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้ใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้าของบริษัท

Muralikrishnan B. หัวเรือใหญ่ของ Xiaomi ประจำประเทศอินเดียได้กล่าวว่าช่องทางร้านค้ายังถือว่าเป็นสัดส่วนรายได้ราวๆ 34% และบริษัทกำลังเจาะตลาดในช่องทางนี้อยู่ ซึ่งยอดขายตามร้านค้าของคู่แข่งอย่าง Samsung คิดเป็นสัดส่วนถึง 57%

โดย Xiaomi ได้เตรียมที่จะขยายร้านค้าเพิ่มให้ได้มากกว่าปัจจุบันซึ่งมี 18,000 ร้านค้าทั่วประเทศอินเดีย และจะจ้างพนักงานในการส่งเสริมการขายมากกว่า 12,000 คนภายในสิ้นปี 2024 และบริษัทจะยังร่วมมือกับร้านค้าต่างๆ ในการขายสินค้าประเภทอื่นไม่ว่าจะเป็น กล้อง CCTV หรือแม้แต่โทรทัศน์ ซึ่งสินค้าเหล่านี้นั้นไม่ค่อยมีคู่แข่งในอินเดียมากนัก

ปัจจุบัน Samsung ถือว่ามีส่วนแบ่งการตลาดในอินเดียเป็นอันดับ 1 โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 20% รองลงมาคือ Xiaomi ที่ 16% จึงทำให้บริษัทต้องหาทางในการดึงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมา

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทยืนยันว่าจะยังอดทนที่จะทำธุรกิจในแดนภาระตะต่อไป แม้ว่าบริษัทจะถูกศาลอินเดียอายัดทรัพย์สินมากถึง 676 ล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม โดยบริษัทยืนยันถึงความบริสุทธิ์ว่าเงินดังกล่าวนำไปจ่ายให้กับซัพพลายเออร์ รวมถึงบริษัทได้กล่าวว่าจะไม่มีการย้ายการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถานก็ตาม

โดยที่ผ่านมาบริษัทจีนประสบปัญหาในการตีตลาดประเทศอินเดีย เนื่องจากความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศบริเวณพรมแดน ส่งผลทำให้รัฐบาลอินเดียประกาศข้อระเบียบต่างๆ ที่ส่งผลทำให้บริษัทจากจีนดำเนินธุรกิจได้ยากมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายของ Xiaomi หลังจากนี้ไม่น้อย

ที่มา – Reuters, South China Morning Post

]]>
1437942
หวานหมู “สมาร์ทโฟนจีน” หลังเกิดสงครามยูเครน Xiaomi-Realme แท็กทีมครองตลาด “รัสเซีย” https://positioningmag.com/1427924 Wed, 19 Apr 2023 12:34:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1427924 Xiaomi และ Realme ผงาดขึ้นครองตลาดสมาร์ทโฟนใน “รัสเซีย” แทนที่ Samsung และ Apple หลังเกิดสงครามยูเครนและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

M. Video-Eldorado Group บริษัทค้าปลีกท้องถิ่นในรัสเซียเปิดข้อมูล แบรนด์สมาร์ทโฟนจากจีนครองมาร์เก็ตแชร์สูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากแบรนด์ตะวันตกคว่ำบาตรตลาดนี้เนื่องจากเหตุรัสเซียบุกรุกดินแดนยูเครน

โดยยอดขายสมาร์ทโฟนจีนเติบโตขึ้น 42% ในเชิงปริมาณ และมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น 70% รวมถึงมีแบรนด์หลักที่ครองตลาดคือ Xiaomi ปรับขึ้นจากอันดับ 2 มาเป็นเบอร์ 1 ของตลาด ขณะที่ Realme ก็ดีดจากเบอร์ 4 มาเป็นอันดับ 2 ของตลาด

ในไตรมาสแรกปี 2023 ชาวรัสเซียซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ประมาณ 6.5 ล้านเครื่อง ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ถ้าคิดเป็นมูลค่าต่อเครื่องแล้ว ราคาที่ซื้อตกลง 23% เหลือเฉลี่ยเครื่องละ 22,000 รูเบิล (ประมาณ 9,200 บาท)

Realme จีน อินเดีย
Realme ดีดขึ้นจากสมาร์ทโฟนเบอร์ 4 มาเป็นเบอร์ 2 ในตลาดรัสเซีย

สำหรับสมาร์ทโฟนที่ตกอันดับคือ Samsung ที่เคยเป็นเบอร์ 1 ในรัสเซีย ปัจจุบันลงมาอยู่อันดับ 3 และ Apple ที่เคยอยู่อันดับ 3 ก็ร่วงมาเป็นอันดับ 4 แทน Counterpoint Research รายงานว่า สองแบรนด์ใหญ่นี้เคยมีมาร์เก็ตแชร์รวมกันแตะ 57% แต่เมื่อถอนตัวจากตลาดแล้วทำให้มาร์เก็ตแชร์ลดเหลือ 34%

ขณะที่อันดับ 5 ปัจจุบันเป็นของแบรนด์ Tecno จากจีน ซึ่งเติบโตได้อย่างรวดเร็วในตลาดรัสเซีย

หลังจากแบรนด์ใหญ่อย่าง Samsung และ Apple ถอนตัวออกจากรัสเซียเมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน ทำให้เหล่า “สมาร์ทโฟนจีน” ได้โอกาสในการตีตลาดเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ทั้งสองแบรนด์ยังคงมียอดขายอยู่แม้จะประกาศถอนตัวจากตลาดไปแล้ว เป็นเพราะรัฐบาลรัสเซียอนุญาติให้มีการนำเข้าได้โดยไม่ผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการ ยกตัวอย่างเช่น M. Video-Eldorado Group ก็หันมานำเข้าสมาร์ทโฟน Samsung และ Apple ผ่านทางประเทศคาซัคสถานแทน

Samsung และ Apple เสียส่วนแบ่งการตลาดในรัสเซีย หลังมาตรการคว่ำบาตร

ขณะที่จีนก็ยังคงทำการค้ากับรัสเซียตามปกติและยิ่งเพิ่มมูลค่าซื้อขายระหว่างกัน เมื่อปี 2022 การค้าระหว่างจีนกับรัสเซียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 34.3% ขึ้นไปแตะ 1.89 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และทั้งสองประเทศยังวางเป้าหมายที่จะมีมูลค่าการค้าขายระหว่างกันขึ้นไปแตะ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2024 อีกด้วย

การดำรงการค้าของเอกชนจีนกับรัสเซียก็มิใช่ว่าจะไม่มีผลกระทบทางลบเสียเลย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ก่อน หน่วยงานต่อต้านการคอร์รัปชันในยูเครน นำชื่อบริษัท Xiaomi และผู้ก่อตั้ง/ซีอีโอ “เหล่ย จุน” รวมถึงชื่อบริษัท/ผู้บริหารอีกมากมาย ไปไว้ในทำเนียบรายชื่อ “ผู้สนับสนุนสงครามระหว่างประเทศ” ซึ่งทาง Xiaomi ออกมาปฏิเสธแล้วว่าบริษัทไม่ได้สนับสนุนการทำสงครามใดๆ ทั้งสิ้น

Source

]]>
1427924
CEO ของ Xiaomi เผย รถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของบริษัทจะวางขายในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 https://positioningmag.com/1422193 Thu, 09 Mar 2023 09:30:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1422193 Xiaomi ผู้ผลิตสินค้าไฮเทคหลากหลายชนิด ได้กล่าวว่าบริษัทจะวางขายรถยนต์ไฟฟ้าในครึ่งแรกของปี 2024 ซึ่งล่าสุดบริษัทได้ทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยในสภาวะอากาศหนาว หลังจากที่ได้ประกาศไว้เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาว่าบริษัทจะเป็นอีกผู้เล่นในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา Lei Jun ซึ่งเป็น CEO ของ Xiaomi ได้กล่าวในการประชุมว่าบริษัทได้ลงทุนไปกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 3,000 ล้ายหยวนแล้ว และมีทีมงานมากถึง 2,300 คน และมีโรงงานที่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้มากถึง 300,000 คันต่อปี

นอกจากนี้ CEO ของ Xiaomi ยังได้กล่าวว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ณ เวลานี้ก้าวหน้าไปอย่างมาก

ตลาดหลักของรถยนต์ไฟฟ้าจาก Xiaomi คือผู้ใช้งานทั่วไป โดยราคารถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทนั้นเริ่มต้นอยู่ที่ 100,000 หยวน ขณะที่รุ่นแพงสุดจะอยู่ที่ 300,000 หยวน และผู้ผลิตสินค้าไฮเทคจากจีนรายนี้ทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้สภาวะอากาศหนาวแล้วเสร็จเมื่อไม่นานมานี้

การเข้ามาในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตสินค้าไฮเทครายนี้เนื่องจากยอดขายโทรศัพท์มือถือนั้นไม่ได้เติบโตตามเป้ามากนัก โดยก่อนหน้านี้ Lei ได้กล่าวว่าบริษัทวางแผนที่จะเอาชนะ Apple ในยอดขายโทรศัพท์มือถือให้ได้ภายใน 3 ปี

อย่างไรก็ดีช่วงเวลาที่วางขายรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนแข่งขันอย่างดุเดือดมากสุด เนื่องจากปัจจุบันมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในจีนหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Xpeng และ Nio ฯลฯ รวมถึง BYD ผู้เล่นรายใหญ่ที่ครองตลาดจีน

ที่มา – Technode, SCMP

]]>
1422193
‘iPhone’ ครองแชมป์สมาร์ทโฟนขายดีประจำ Q4 แม้จะเป็นไตรมาสที่ตลาดแย่สุดในรอบ 10 ปี https://positioningmag.com/1416011 Thu, 19 Jan 2023 11:38:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1416011 2022 ถือเป็นปีที่ไม่ได้ดีนักสำหรับตลาด สมาร์ทโฟน ที่ดูเหมือนจะมาถึงจุดอิ่มตัวจริง ๆ แล้ว โดยช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ภาพรวมก็ติดลบถึง -17% อย่างไรก็ตาม แบรนด์ที่สามารถครองตำแหน่งแชมป์ในไตรมาสดังกล่าวได้ก็คือ iPhone ของ Apple แซงหน้า Samsung

แม้ว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว Apple จะเจอปัญหาด้านซัพพลายเชน เนื่องจาก Zero Covid ของจีน แต่ยอดจัดส่ง iPhone ก็ขึ้นเป็นที่ 1 ในตลาด โดยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดที่ 25% ตามด้วย Samsung ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 20% อย่างไรก็ตาม ภาพรวมทั้งปี 2022 ซัมซุงยังคงเป็นที่ 1 ในตลาด

ส่วนอันดับ 3 ของตลาดในไตรมาส 4 ได้แก่ Xiaomi โดยส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือ 11% เนื่องจากกำลังโดนเบอร์ 4 และ 5 ที่เป็นเพื่อนร่วมชาติอย่าง OPPO (ส่วนแบ่งตลาด 10%) และ Vivo (ส่วนแบ่งตลาด 8%) แย่งตลาดในอินเดีย

สำหรับภาพรวมของตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกในไตรมาส 4 นั้นติดลบถึง -17% ขณะที่ภาพรวมทั้งปีติดลบถึง -11% โดยคาดว่ายอดจัดส่งทั่วโลกมีไม่ถึง 1.2 พันล้านเครื่อง เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง

“ผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนต้องดิ้นรนในสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจที่ยากลำบากตลอดปี 2022 ไตรมาสที่ 4 ถือเป็นผลประกอบการประจำปีและไตรมาสที่ 4 ที่แย่ที่สุดในรอบทศวรรษ” Runar Bjørhovde นักวิเคราะห์จาก Canalys Research กล่าว

สำหรับตลาดสมาร์ทโฟนปี 2023 นี้ Canalys คาดการณ์ว่า ตลาดจะเติบโตในระดับคงที่ถึงเล็กน้อย แม้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ผ่อนคลายลง แต่ผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การชะลอตัวของเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานจะจำกัดศักยภาพการเติบโตของตลาด ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลเสียต่อตลาดที่อิ่มตัวและตลาดระดับกลางถึงระดับบน

และแม้ว่าจีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศและภาคธุรกิจ แต่การกระตุ้นของรัฐบาลก็มีแนวโน้มที่จะแสดงผลใน 6-9 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีบางภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในจีนซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางธุรกิจ

Source

]]>
1416011
สรุปภาพปี 2022 ‘บิ๊กเทคคอมปานี’ ทั่วโลกปรับ ‘ลดพนักงาน’ ไปมากน้อยแค่ไหน https://positioningmag.com/1414211 Wed, 28 Dec 2022 10:36:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1414211 หากพูดถึงช่วงปี 2020-2021 ที่ทั่วโลกเจอกับวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ซึ่งช่วงเวลานั้นถือเป็นยุคทองของเหล่า Big Tech Company แต่มาปี 2022 ที่การระบาดคลี่คลายลง แต่กลับมีวิกฤตที่ไม่คาดคิดอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนต่าง ๆ จนเกิดปัญหาภาวะเงินเฟ้อตามมา ทำให้บริษัทเทคโนโลยีหลายรายต้องลดพนักงานลง โดยรวมแล้วคาดว่ามีกว่า 44,000 คน เลยทีเดียว ดังนั้น ไปดูกันว่าปีนี้มีบริษัทไหนที่ลดคนกันบ้าง

Meta (11,000 คน)

บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram และ WhatsApp กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ปลดพนักงานมากที่สุดในบรรดาบริษัทเทคโนโลยีทั้งหมดที่ประกาศปลดพนักงานในปีนี้ โดยปรับลดพนักงานมากถึง 13% หรือราว 11,000 คนทั่วโลก จากพนักงานทั่วโลกประมาณ 87,000 คน

โดย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ออกมายอมรับว่า เป็นความผิดของเขาที่ มองการเติบโตในแง่ดีเกินไป แต่เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น นอกจากนี้ การแข่งขันที่สูงจนส่งผลกระทบต่อความต้องการในตลาดที่เริ่มลดลง ขณะที่ตลาดโฆษณาเองก็ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้บริษัทต้องปลดพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 18 ปีของบริษัทนับตั้งแต่ก่อตั้ง

Twitter (3,700 คน)

หลังจากที่ได้เจ้าของใหม่เป็น อีลอน มัสก์ อดีตมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกที่ปัจจุบันหล่นมาเป็นอันดับ 2 โดยหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่ง ความวุ่นวายก็บังเกิด เพราะสิ่งแรกที่มัสก์ทำก็คือ ไล่ผู้บริหารระดับสูงออก พร้อมกับยกเลิกการ Work From Home อีกทั้งยังต้องการให้พนักงานทุกคนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จนทำให้พนักงานบางส่วนไม่พอใจและพร้อมจะ ลาออก

และเนื่องจาก Twitter ตกอยู่ในสถานะใกล้ล้มละลาย ต้องขาดทุนคิดเป็นเงินกว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ราว 140 ล้านบาท) ทำให้มัสก์ ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 50% หรือประมาณ 3,700 คน จากพนักงานทั้งหมด 7,500 คน

(Photo: Shutterstock)

Amazon (10,000 คน)

ย้อนไปช่วงที่ COVID-19 ระบาด บริษัทอีคอมเมิร์ซทั่วโลกได้รับอานิสงส์จากการช้อปปิ้งออนไลน์ และ Amazon อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ก็คือหนึ่งในนั้น โดยในปี 2021 บริษัทมีพนักงาน Full Time และ Part Time รวมทั้งสิ้น 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 102%

แต่ในปี 2022 นี้ บริษัทได้ประกาศแผนปลดพนักงานครั้งใหญ่ราว 10,000 คน โดยส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานฝ่ายบริการเครื่องมือ, ฝ่ายค้าปลีก และฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นหลัก โดยการปรับลดพนักงานครั้งนี้ ถือเป็นการเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่สุดของบริษัท อย่างไรก็ตาม จำนวนพนักงานที่ลดลงนั้นคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 1% ของพนักงาน Amazon ทั่วโลก

Photo : Shutterstock

Microsoft (1,000 คน)

ก่อนที่จะมีข่าวว่า Microsoft เตรียมลดจำนวนพนักงานลงราว 1,000 ตำแหน่ง บริษัทก็เริ่มส่งสัญญาณว่ากำลังจะรัดเข็มขัดตั้งแต่ช่วงกลางปีแล้ว เนื่องจากบริษัทชะลอจ้างงานในแผนก Windows, Office และ Teams สำหรับจำนวนพนักงานที่จะปลดราว 1,000 ตำแหน่งในครั้งนี้ คาดว่าส่วนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นแผนก Xbox, กฎหมาย, Experiences and Devices, แผนก Strategic tech positions และอื่น ๆ ขณะที่พนักงานที่โดนปลดจะมีทั้งพนักงานระดับล่างจนถึงระดับสูง

Photo : Shutterstock

Apple (100 คน)

บริษัทที่ยังเติบโตได้ดีอย่าง Apple ก็ลดจำนวนพนักงานด้วยเช่นกัน แต่ลดเพียง 100 ตำแหน่ง จากพนักงานทั้งหมด 150,000 ตำแหน่งทั่วโลก โดยจำนวนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดนั้นเป็น พนักงานสัญญาจ้างฝ่ายสรรหาบุคลากร (Recruiter) แม้การเลิกจ้างจะไม่เยอะ แต่ Apple ก็ได้เปิดเผยว่าจะ ชะลอการจ้างงานในปีหน้าเพื่อลดต้นทุน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

(Photo by Sean Gallup/Getty Images)

Netflix (450 คน)

นับเป็นปีที่ไม่ดีเอามาก ๆ สำหรับ Netflix เจ้าของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเบอร์ต้นของโลก หลังจากที่เจอการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น ทำให้จำนวนสมาชิกลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี ส่งผลให้บริษัทต้องลดต้นทุนของบริษัท โดยได้ปรับลดจำนวนพนักงานลงรวมแล้วถึง 450 ตำแหน่ง จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 11,000 คน และนอกจากลดจำนวนพนักงานแล้วบริษัทยัง ต้องหั่นงบแผนก Animation ทิ้งอีกด้วย

นอกจากมาตรการลดต้นทุนแล้ว Netflix ก็พยายามจะหารายได้จากช่องทางใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มแพ็กเกจ โฆษณา หรือการออกมาตรการป้องกันการ แชร์แอคเคาท์ อีกด้วย

Sea (7,000 คน)

Sea Group สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของภูมิภาคอาเซียน เจ้าของธุรกิจเกม Garena, อีคอมเมิร์ซ Shopee และอีเพย์เมนต์ ได้ปรับลดพนักงานกว่า 7,000 คน หรือราว 10% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เพื่อลดภาวะขาดทุนเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีศักยภาพมากขึ้น

นอกจากปรับลดจำนวนพนักงานลงแล้ว บริษัทก็ได้ปรับ ลดโบนัส และในส่วนของพนักงานที่ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งก็จะ ไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือน อีกด้วย ซึ่งปีนี้นับว่าเป็นปีที่ไม่ค่อยดีของ Sea นัก โดยบริษัทจำเป็นต้องปิดกิจการอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee ใน 4 ประเทศ จากวิกฤตดังกล่าว ส่งผลให้ Sea ได้สูญเสียมูลค่าไปประมาณ 77% แล้วในปีนี้

Tesla (200 คน)

มีรายงานว่า เทสลา ได้เลิกจ้างพนักงาน 200 คน ในทีม Autopilot โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานจ้างรายชั่วโมง เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปิดโรงงานในแคลิฟอร์เนีย ส่วนพนักงานที่เหลืออีกราว 350 คน จะถูกโยกไปทำงานในโรงงานใหม่ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน นอกจากนี้ยังจะมีการปลดพนักงานในช่วงต้นปี 2023 ด้วย

ปัจจุบัน เทสลามีพนักงานทั่วโลกประมาณ 100,000 คน โดยมีสำนักงานใหญ่ของเทสลาปัจจุบันตั้งอยู่ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส และบริษัทกำลังสร้างโรงงานใหม่ในออสตินและเบอร์ลิน ทำให้บริษัทเริ่มมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

Photo : Shutterstock

Xiaomi (15%)

Xiaomi บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของจีนก็ไม่รอด จำเป็นต้องปรับลดพนักงานลงประมาณ 15% จากพนักงานทั้งหมดราว 35,000 คน โดยประมาณ 32,000 คนนั้นทำงานอยู่ที่จีน โดยการเลิกจ้างงานในครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานในกลุ่มธุรกิจบริการสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต ซึ่งคาดว่าการลดพนักงานจะช่วยลดต้นทุนด้านค่าจ้างได้ราว 15%

โดยสาเหตุที่ Xiaomi ต้องปรับลดพนักงานลงเป็นเพราะยอดขายที่ลดลง โดยจากรายงานรายได้ไตรมาสที่ 3 ร่วงลง 9.7% เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิดในจีน ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคลดลง ด้านรายได้จากสมาร์ทโฟน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของรายได้ทั้งหมดลดลง 11%

Xiaomi
Photo : Shutterstock

บริษัทเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายบริษัทที่วางแผนจะลดจำนวนพนักงานลงในปีหน้า อาทิ Disney หรืออย่าง HP ที่วางแผนจะลดจำนวนพนักงานลง 4,000-6,000 ตำแหน่งในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งคงต้องรอดูกันว่าถ้าเศรษฐกิจในปีหน้าดีขึ้น อัตราการเลิกจ้างจะลดลงไปด้วยหรือไม่

]]>
1414211
Xiaomi จะปลดพนักงาน 10% ของบริษัท สังเวยพิษเศรษฐกิจตกต่ำเพราะโควิด-19 https://positioningmag.com/1413321 Wed, 21 Dec 2022 04:34:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1413321 ไม่ใช่แค่ฝั่งตะวันตก ประเทศจีนก็เลย์ออฟพนักงานขนานใหญ่เช่นกัน ล่าสุดบริษัท Xiaomi เริ่มต้นการปลดพนักงานแล้ว โดยส่วนใหญ่ปลดในแผนกสมาร์ทโฟนและธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต ถือเป็นบริษัทเทครายล่าสุดของจีนที่มีการเลย์ออฟ เหตุเกิดจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อตกต่ำหลังจีนใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวดยาวนาน

โฆษกของบริษัท Xiaomi ระบุว่าการปลดพนักงานครั้งนี้จะกระทบจำนวนพนักงานไม่เกิน 10% ของบริษัท และมองว่าการเร่งประสิทธิภาพส่วนบุคคลและการจัดระบบทำงานในองค์กร จะทำให้การทำงานดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น รวมถึงระบุด้วยว่า พนักงานที่ถูกเลย์ออฟจะได้รับเงินชดเชยอย่างเหมาะสมตามกฎหมายกำหนด

เมื่อสัปดาห์ก่อน โซเชียลมีเดียจีนต่างๆ เช่น Weibo, Xiaohongshu และ Maimai ต่างเต็มไปด้วยโพสต์พูดคุยกันถึงเรื่องการเลย์ออฟของ Xiaomi จนกระทั่งสำนักข่าวท้องถิ่นของจีนเป็นรายแรกที่รายงานเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2022 ว่าบริษัทจะมีการปลดพนักงานจริงๆ และจะทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนพนักงานได้ถึง 15%

ไม่ใช่แค่ Xiaomi ที่มีการเลย์ออฟ ก่อนหน้านี้เทคคัมปะนีรายใหญ่ของจีนต่างมีการปลดพนักงานไปบ้างแล้ว เช่น Tencent, Alibaba Group หรือโซเชียลมีเดีย Xiaohongshu (เสี่ยวหงชู—เปรียบได้กับ Instagram แบบจีน)

โดยกรณีของ Tencent นั้นเพิ่งจะมีการเลย์ออฟรอบล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทบพนักงานในแผนกที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอสตรีมมิ่ง แพลตฟอร์มข่าว เกมมิ่ง และธุรกิจคลาวด์

ตามการรายงานของ South China Morning Post บริษัท Xiaomi มีพนักงานทั้งหมด 35,314 คน (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2022) โดยส่วนใหญ่คือมากกว่า 32,000 คนเป็นพนักงานในจีนแผ่นดินใหญ่

ดังนั้น การปลดพนักงานรอบนี้น่าจะมีผลกระทบกับพนักงานหลายพันคน และเชื่อว่าจะกระทบกับคนที่เพิ่งเข้ามาร่วมงานเมื่อปีก่อน เนื่องจาก Xiaomi เพิ่งจะมีการจ้างงานรอบใหญ่ไปเมื่อเดือนธันวาคมปี 2021

ผลการดำเนินงานเมื่อไตรมาส 3 ปี 2022 ของ Xiaomi นั้นทำรายได้ต่ำลง 9.7% YoY ซึ่งเกิดจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ของรัฐ มีผลต่อเนื่องต่อกำลังซื้อของลูกค้า รายได้ที่ต่ำลงหนักที่สุดคือ “กลุ่มสมาร์ทโฟน” ลดลง 11% YoY และกลุ่มสินค้านี้คือรายได้หลักของ Xiaomi โดยคิดเป็นสัดส่วน 60% ของยอดขายรวมทั้งบริษัท

Source: Reuters

]]>
1413321