BBL – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 24 Nov 2020 13:47:22 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เเบงก์กรุงเทพ ลุยกลยุทธ์ “ทำบุญ” กระตุ้นรูดบัตร จ่อปรับฐานรายได้กู้บัตรเครดิตเป็น 2.5-3 หมื่นบาท https://positioningmag.com/1307341 Tue, 24 Nov 2020 10:43:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1307341 โรคระบาดทำเศรษฐกิจซบเซา คนระวังใช้จ่าย ประหยัดมากขึ้น รูดบัตรเครดิตน้อยลงเเบงก์กรุงเทพขยับเจาะลูกค้าจ่ายตามไลฟ์สไตล์ เน้นดีลซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้าในชีวิตประจำวัน ลุยต่อกลยุทธ์กระตุ้นรูดบัตรได้ร่วมทำบุญจ่อปรับเพิ่มรายได้ขั้นต่ำสมัครบัตรเครดิตเป็น 25,000-30,000 บาทต่อเดือน ห่วงกลุ่มหนี้ครัวเรือนสูง 

โชค ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก เพราะภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา เเละคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 12 เดือนจึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งต้องจับตาดูการพัฒนาวัคซีนด้วย

การที่เศรษฐกิจซบเซานั้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิตเเละการจับจ่ายใช้สอยของผู้ถือบัตรของธนาคารโดยตรง

ล่าสุด ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกรุงเทพ ลดลง 11-12% เมื่อเทียบจากปีก่อนดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงล็อกดาวน์ ในเดือนเม..-.. ที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรลดลงไปต่ำสุดที่ 16-17% เนื่องจากการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวหายไป

สำหรับเป้าหมายบัตรเครดิตใหม่ของปีนี้ ผู้บริหารเเบงก์กรุงเทพ ยอมรับว่า ไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 2.8 แสนบัตร เพราะปัจจุบันทำได้เพียง 1.8 แสนบัตรเท่านั้น หลักๆ มาผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และคาดว่าสิ้นปีนี้จะทำได้ 2 แสนบัตร ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพมีฐานลูกค้าบัตรเครดิตทั้งหมดราว 2.5 ล้านราย

ปีหน้าถ้าได้ยอดบัตรใหม่ 2 แสนบัตร เท่ากับปีนี้ก็เก่งแล้ว ส่วนยอดใช้จ่ายมองว่าจะทรงตัวจากปีนี้

โชค ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ

ขยับหาลูกค้า ซื้อของอุปโภค-บริโภค

เมื่อผู้คนต้องประหยัดเเละระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดน้อยลงไปด้วย ประกอบกับการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศที่เคยเป็นหมวดที่มีการใช้จ่ายสูงหายไป

ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เเบงก์กรุงเทพต้องขยับหันมามุ่งไปส่งเสริมการใช้จ่ายเน้นด้านอุปโภคบริโภครูดบัตรเพื่อซื้อสินค้าเเละการเดินทางในชีวิตประจำวัน

ธนาคารกรุงเทพ จะทำโปรโมชันกับกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต เติมน้ำมัน การรักษาพยาบาล เเละการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น

เรียกได้ว่า เป็นไปตามเทรนด์ของผู้ให้บริการบัตรเครดิตหลายราย ที่เริ่มหันมาเปิดบัตรใหม่ตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น อย่าง บัตรเครดิตช้อปปิ้งออนไลน์ บัตรเครดิตเพื่อตรวจสุขภาพ ฯลฯ

ผู้บริหารเเบงก์กรุงเทพ มองว่า เป็นโอกาสที่ดีในการจะเข้าถึงลูกค้าใหม่เเละตอบโจทย์ลูกค้าเก่ามากขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ใช้จ่ายเฉพาะส่วนตามจุดประสงค์มากขึ้น ไม่รูดบัตรเกินเพื่อเผื่อใช้ เเต่คิดว่าจะใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งยังมีอีกหลายเซกชั่นการใช้ชีวิตที่ธุรกิจบัตรเครดิตจะขยายไปหาลูกค้าได้อีก

“ทำบุญ” กระตุ้นรูดบัตร 

อีกหนึ่งบัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องสุขภาพเเละการชอบทำบุญของคนไทย ก็คือการ Co- Brand กับโรงพยาบาลศิริราช ที่ทำมาเเล้ว 5 ปี เเละเพิ่งมีการอัพเกรดสิทธิประโยชน์ต่อไปอีก 5 ปี เนื่องจากมีกระเเสตอบรับที่ดี สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

สำหรับ “บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น แรบบิท ศิริราชจะให้ฟรีประกันอุบัติเหตุ พร้อมค่ารักษาพยาบาล แตะจ่ายได้เหมือนบัตรแรบบิท ขณะที่บัตรเครดิตวีซ่า แพลทินัม ศิริราชให้ผ่อนจ่ายค่ารักษาค่ารักษา 0% นาน 3 เดือนพร้อมส่วนลดคะแนนสะสมเเละตรวจสุขภาพฟรี

โดยทุกยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรดังกล่าว ธนาคารกรุงเทพจะสมทบให้ศิริราช 0.2% ของยอดใช้จ่าย

ปัจจุบัน บัตรร่วมศิริราช มีผู้ถือบัตรรวมกว่า 1.4 ล้านราย มียอดบริจาคของลูกค้าและเงินสมทบธนาคารแก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รวมกว่า 275 ล้านบาทในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

การที่เราทำให้ผู้ถือบัตรสามารถเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในคราวเดียวกัน ทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตร เป็นการสร้างความแตกต่างจากบัตรอื่น ๆ ในตลาด ตอบโจทย์ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการได้มีส่วนช่วยดูแลสังคม หรือการทำดีในแบบที่สามารถจับต้องได้จริง รู้สึกดีเมื่อรู้ว่าทุกการใช้จ่ายของลูกค้า ได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วย

ผู้บริหารเเบงก์กรุงเทพ บอกอีกว่า บัตรเครดิตที่เเบ่งยอดการใช้จ่ายไปทำบุญเเละช่วยเหลือสังคมนั้น กระตุ้นผู้บริโภคให้ตัดสินใจเลือกหยิบบัตรมาใช้จ่ายง่ายขึ้น เป็นอีกหนึ่งเเนวทางในการเพิ่มยอดใช้จ่ายผ่านบัตรได้ดี โดยเฉพาะในยามเศรษฐกิจไม่เเน่นอน

โชค ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ (ซ้าย) ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (ขวา)

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพมีบัตรเครดิตที่ทำโปรโมชันร่วมทำบุญกับหลายโรงพยาบาล เเต่เป็นไปในลักษณะการเเลกพอยท์ ไม่ได้เป็น Co- Brand เหมือนกับศิริราช โดยคาดหวังว่าจะมีลูกค้าผู้ถือบัตรร่วมศิริราชทั้ง 2 แบบเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

ต่อไปก็อาจจะมีการพิจารณาร่วมกับโรงพยาบาลอื่นๆ เเต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะออกบัตร Co- Brand ในช่วงเร็วๆ นี้

ปรับรายได้ขั้นต่ำของลูกค้าเป็น 2.5-3 หมื่นต่อเดือน

ส่วนภาพรวมแผนธุรกิจปี 2564 ในเบื้องต้นธนาคารกรุงเทพ จะปรับฐานคุณสมบัติของลูกค้าใหม่เป็นผู้มีรายได้ 25,000 -30,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่มีการพิจารณาปล่อยกู้ บัตรเครดิตอยู่ที่รายได้ราว 20,000 บาทต่อเดือน เพื่อหวังชะลอหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันคนกลุ่มนี้อยู่ระดับสูง และไม่อยากส่งเสริมให้คนใช้จ่ายเกินตัว

เราจะเน้นไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายบัตรเครดิตกับลูกค้าเดิมเป็นหลัก

จากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับภาคท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน โดยล่าสุด มีลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ราว 35,000 ราย ส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ มีลูกค้าราว 20-25% ที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อ

โดยธนาคารกรุงเทพ มีมาตรการให้ความช่วยเหลือต่างๆ เช่น ด้วยการพักชำระหนี้ 3 เดือน , คิดดอกเบี้ย 12% จาก 16% และแปลงหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา ซึ่งจะมีการประเมินทุกๆ 3 เดือนหากลูกค้ายังไม่สามารถกลับมาชำระได้ก็จะมีการช่วยเหลือต่อไป

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ภาพรวมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสภาพที่เป็นไป โดยขณะนี้อยู่ที่ 2.6% จากสิ้นปี 2019 อยู่ที่ 2.15% 

 

]]>
1307341
ธนาคารไทย ตามหา “ขุมทรัพย์ใหม่” เเย่งลงทุนอาเซียน ส่ง “ดิจิทัลเเบงกิ้ง” เข้าถึงท้องถิ่น https://positioningmag.com/1279921 Mon, 25 May 2020 13:10:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279921 เห็นได้ชัดว่าช่วงนี้ ธนาคารใหญ่ในไทยกำลังหา “บ่อเงิน” เเห่งใหม่ ด้วยการเข้าไปเจาะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
ที่เป็นตลาดเติบโตใหม่ เป็นโอกาสทองที่จะเข้าไปปูทางสร้าง “ดิจิทัลเเบงกิ้ง” ให้เข้าถึงประชากรจำนวนมาก
ในยามที่คู่เเข่งยังไม่เยอะ

ธนาคารกรุงเทพ เพิ่งปิดดีลซื้อ “Permata” เเบงก์ใหญ่อันดับ 12 ของอินโดนีเซียเเบบ “เสร็จสมบูรณ์” ไปหมาดๆ
ขณะที่ “เมียนมา” ดึงดูดสุดๆ ทั้ง SCB เเละ KBANK รุมเเย่งเข้าลงทุน ส่วนกรุงศรี ขอขยับไปลุยฟิลิปปินส์เเละเวียดนาม

อินโดฯ เนื้อหอม ตลาดใหญ่…โตได้อีก

เมื่อ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพิ่งปิดดีลซื้อ “พอร์มาตา” (Permata) ธนาคารใหญ่อินโดนีเซีย เเบบเสร็จสมบูรณ์ไปเป็นที่เรียบร้อย หลังประกาศทำสัญญาซื้อขายกันมาตั้งเเต่ช่วงปลายปี 2019 โดยมีการโอนเงินกว่า 73,722 ล้านบาทจ่ายค่าหุ้น 89.12% พร้อมเดินหน้าทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดอีก 10.88% จากผู้ถือหุ้นรายย่อยต่อไป ซึ่งจะทำให้ BBL เป็นเจ้าของพอร์มาตา 100% ในอนาคต

BBL ปิดดีลซื้อ “เพอร์มาตา” เเบงก์อินโดฯ โอนเงิน 7.37 หมื่นล้าน จ่ายค่าหุ้น 89.12% เสร็จสมบูรณ์

ถือเป็นดีลประวัติศาสตร์ของเเบงก์ในอาเซียน โดยพอร์มาตา เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 12 ของอินโดนีเซีย มีสินทรัพย์ 366,595 ล้านบาท (หรือประมาณ 167,394,076 ล้านรูเปียห์ หรือ 11,349 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มีฐานลูกค้าจำนวน 3.75 ล้านราย และสาขา 312 แห่งทั่วอินโดนีเซีย มีจุดเด่นเรื่องฐานเงินฝากและเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง นับเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงเทพที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การดำเนินการในครั้งนี้
จะส่งผลให้สัดส่วนของสินเชื่อในตลาดต่างประเทศต่อสินเชื่อรวมของ BBL เพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 25%
เป็นไปตามกลยุทธ์เพื่อการเติบโตของธนาคาร โดยวางเป้าหมายจะเจาะลูกค้าลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs
ทั้งนี้ BBL ได้เข้าไปเปิดสาขาในกรุงจาการ์ตาเเห่งเเรก มาตั้งเเต่ปี 1968

ตลาดการเงินอินโดนีเซียนั้นหอมหวานในสายตายักษ์ใหญ่การเงินไทยและญี่ปุ่น เพราะธนาคารกรุงเทพไม่ใช่รายเดียวที่สนใจซื้อหุ้นธนาคารอินโดนีเซีย โดย SMFG หรือ Sumitomo Mitsui Financial Group Inc. ก็ยื่นข้อเสนอประมูลครั้งนี้เช่นกัน เเต่พ่ายไป

การเเข่งขันของธุรกิจการเงินในอินโดนีเซียคงดุเดือดต่อไป ด้วยความน่าดึงดูดของศักยภาพการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ที่โตกว่า 5% เเละเเม้จะเจอพิษ COVID-19 ในไตรมาส 1/2020 ทำให้ขยายตัวเพียง 2.97% ต่ำสุดในรอบ 19 ปี เเต่ไทยก็จีดีพีหดตัวถึง -1.8%

อีกทั้ง อินโดนีเซียยังมีประชากรกว่า 260 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลกเเละการเมืองมีเสถียรภาพ ผู้คนในท้องถิ่นอีกจำนวนมหาศาลที่ยังไม่เข้าถึงดิจิทัลเเบงกิ้ง เเละอัตราการเข้าถึงสินเชื่อยังอยู่ในระดับต่ำที่ 36% ในขณะที่ประเทศไทยอัตรานี้เกิน 100% แล้ว เเสดงว่ามี “ช่องว่าง” ของตลาดอีกมาก เป็นโอกาสทองที่ต้องรีบคว้าไว้ให้ได้

ด้านคู่เเข่งอย่าง ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ไม่น้อยหน้า บุกตลาดอินโดฯ เช่นเดียวกัน ด้วยการเข้าถือหุ้นในธนาคาร “แมสเปี้ยน” เต็มเพดาน 40% วางเป้าปั้นธุรกรรมดิจิทัล เจาะลูกค้าท้องถิ่น

โดยเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท กสิกร วิชั่น ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น ธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ของอินโดนีเซีย ในสัดส่วนถือหุ้นรวมเป็น 40% โดยเป็นการเพิ่มสัดส่วนจากที่ธนาคารกสิกรไทยมีอยู่เดิม 9.99% ตั้งแต่ปี 2017

KBank สยายปีกอาเซียน บุก “อินโดฯ-เมียนมา” ลุยซื้อหุ้นเเบงก์เเมสเปี้ยน 40%

“การเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน ถือเป็นทางเลือกของการเข้าไปลงทุนที่คุ้มค่าต่างจากการที่ต้องเข้าไปลงทุนเองใหม่ทั้งหมด แม้ธนาคารแมสเปี้ยนยังเป็นธนาคารขนาดเล็ก แต่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมครบทุกเมืองสำคัญ” ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVision) กล่าว

ธนาคารแมสเปี้ยน (PT Bank Maspion Indonesia Tbk) ในอินโดนีเซีย

ผู้บริหารกสิกรไทย มองว่าอินโดนีเซีย เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ยังเติบโตและมีอนาคตสดใสในอาเซียน
ที่สามารถใช้ความเชี่ยวชาญทางผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร รวมถึงจะใช้รูปแบบการทำธุรกิจที่เป็น Asset-Light และการลงทุนพัฒนาดิจิทัลแบงกิ้ง ตามแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าในอินโดนีเซียที่จะทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ

“KBank จะมุ่งเน้นการให้สินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและย่อมในอินโดฯ โดยใช้ Data Lending และ Formula Lending Model ผลิตภัณฑ์ Payroll เเละขยายธุรกิจร้านค้ารับบัตร รองรับการชำระเงินเเบบไร้เงินสด ผลักดันสินเชื่อมีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล ฯลฯ”

เปิดโลกดิจิทัล ขุมทรัพย์ “เมียนมา”

นอกจากเข้าลงทุนในอินโดนีเซียเเล้ว KBank ยังขยับไปหาขุมทรัพย์ใหม่ เพื่อนบ้านที่คุ้นเคยกันดีอย่าง “เมียนมา”
โดยธนาคารกสิกรไทย ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการโดยธนาคารกลางของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
ในการเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 35% ของ ธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์
(Ayeyarwaddy Farmers Development Bank – A bank) ซึ่งธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารต่างชาติรายแรกที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของเมียนมา

“การร่วมลงทุนในธนาคารกับเอแบงก์ในครั้งนี้ เป็นรูปแบบการเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา
ที่ใช้เงินลงทุนที่น้อยและมีประสิทธิผลกว่าการเข้าไปดำเนินธุรกิจในรูปแบบสาขาต่างประเทศและธนาคารท้องถิ่น
โดยการเข้าไปร่วมลงทุนในเอแบงก์สามารถดำเนินธุรกิจได้ทันที”

สำหรับ “เอแบงก์” ปัจจุบันมีสินทรัพย์ 314 พันล้านจ๊าด หรือราว 6.4 พันล้านบาท มีทุนจดทะเบียน 40 พันล้านจ๊าด หรือ 820 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อปี 2014

ธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ (Ayeyarwaddy Farmers Development Bank – A bank) ในเมียนมา

กลยุทธ์ที่สำคัญของ KBank ในการรุกเมียนมา คือการขยายธุรกิจธนาคารดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชัน เพื่อครอบคลุมลูกค้าส่วนบุคคลทั่วประเทศ ซึ่งยังมีสัดส่วนในการเข้าถึงธนาคารค่อนข้างต่ำ รวมถึงธุรกิจรับชำระเงิน เพื่อตอบโจทย์การชำระสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยลดภาระในการใช้และบริหารเงินสดในประเทศรวมถึงจะขยายช่องทางธนาคารตัวแทน (Agent Banking) และการเพิ่มจำนวนเครื่อง ATM ในเมียนมาด้วย

ฝั่ง “ธนาคารไทยพาณิชย์” (SCB) ก็ประกาศบุกเมียนมาเต็มสูบเช่นกัน หลังรับอนุมัติจัดตั้ง “ธนาคารลูก” อย่างเป็นทางการ โดยตั้งเป้า 5 ปี ยอดสินเชื่อแตะ 7 พันล้านบาท เจาะลูกค้าทุกกลุ่มทั้งรายใหญ่ SMEs เเละรายย่อย

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า
เมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจอันดับต้นๆ ของภูมิภาคที่นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจ

โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ยประมาณ 6-7% และมีมูลค่าการลงทุนตรงจากประเทศไทย (FDI) ที่ได้รับการอนุมัติแล้วจนถึงปัจจุบันที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์และจีน นอกจากนั้นประเทศไทยยังเป็นคู่ค้าในลำดับที่ 2 รองจากจีน มีมูลค่าการค้า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2019 โดยไทยพาณิชย์เริ่มต้นให้บริการผ่านสำนักงานผู้แทนธนาคารในเมียนมาตั้งแต่ปี 2012

ทั้งนี้ ภายใต้ Subsidiary License ทำให้สามารถเปิดธนาคารในรูปแบบบริษัทลูกที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% และสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบเหมือนธนาคารท้องถิ่น เเละสามารถเปิดสาขาใน
แหล่งธุรกิจที่สำคัญได้ 10 สาขา

โดย SCB วางแผนจะทำตลาดเจาะลูกค้ารายย่อยชาวเมียนมา ด้วยผลิตภัณฑ์ทางด้านเงินฝาก สินเชื่อบุคคล ดิจิทัลแบงกิ้ง และกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง รวมถึงกลุ่มนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้านักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนที่เมียนมาและมีความสนใจใช้บริการกับธนาคารแล้วกว่า 100 ราย จากกลุ่มอุปโภคบริโภค พลังงาน นิคมอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยธนาคารตั้งเป้าประมาณการวงเงินสินเชื่อ 7,000 ล้านบาท ภายในปี 2024

“ตลาดลูกค้ารายย่อยของเมียนมา ถือว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับธุรกิจธนาคาร ด้วยประชากรกว่า 54
ล้านคน ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพที่ธนาคารจะพัฒนาการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานให้แก่ชาวเมียนมา”

ลุยปล่อยสินเชื่อรายย่อย ฟิลิปปินส์-เวียดนาม 

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กำลังเดินหน้าร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรที่อยู่ในเครือข่าย MUFG ที่เป็นบริษัทเเม่ โดยมีการเข้าไปร่วมทุน (Joint Venture) โดยถือหุ้น 50% ในบริษัท เอสบี ไฟแนนซ์ คอมปานี อิงค์ (SBF)
บริษัทไฟแนนซ์ในฟิลิปปินส์ ซึ่ง SBF เป็นบริษัทลูกของ Security Bank Corporation ที่ทาง MUFG ถือหุ้นอยู่ 20%

“ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์เเละผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม กล่าวว่า มีการศึกษาตลาดเเละเตรียมเเผนงานร่วมกันเรียบร้อย ซึ่งจะเริ่มรุกตลาดด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน จะนำกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ ไปทดลองเเละดูว่าเเบบไหนได้ผลดี จากนั้นปีต่อไปจึงจะขยายไปสินเชื่อรถจักรยานยนต์และรถยนต์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรุงศรี คอนซูเมอร์ ได้เริ่มธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในลาว (asset รวมอยู่ที่ 6 พันล้านบาท) และธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชา (asset รวมอยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท)

นอกจากฟิลิปปินส์เเล้ว ในเเผนประจำปี 2020 ของกรุงศรียังกำลังมองหาโอกาสลงทุนในเวียดนามเเละอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่เเละมีการเติบโตสูงในกลุ่ม CLMV คาดว่าจะมีการนำ “สินเชื่อรายย่อย” ไปตีตลาดก่อน จากนั้นจึงขยายไปสู่ธุรกิจใหญ่เเละบริการอื่นๆ

ธุรกิจการเงินในไทยต้องเเข่งขันสูง มีกฎเข้มงวดเเถมตลาดยังอิ่มตัวเเล้ว ส่วนตลาดในประเทศเพื่อนบ้านยังเติบโตได้อีก เเน่นอนว่าหลังผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 เราคงจะได้เห็น “เเบงก์ไทย” หาลู่ทางสู่โอกาสใหม่กันอีกหลายเจ้า

]]>
1279921
BBL ปิดดีลซื้อ “เพอร์มาตา” เเบงก์อินโดฯ โอนเงิน 7.37 หมื่นล้าน จ่ายค่าหุ้น 89.12% เสร็จสมบูรณ์ https://positioningmag.com/1279805 Wed, 20 May 2020 18:10:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279805 ธนาคารกรุงเทพ ปิดดีลซื้อ “พอร์มาตา” ธนาคารใหญ่อินโดฯ เสร็จสมบูรณ์เเล้ว หลังโอนเงิน 73,722 ล้านบาท จ่ายค่าหุ้น 89.12% เดินหน้าทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดอีก 10.88% จากผู้ถือหุ้นรายย่อย

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพได้โอนชำระค่าหลักทรัพย์ธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (เพอร์มาตา-Permata) ร้อยละ 89.12 ตามมูลค่าประเมินที่ตกลงร่วมกันที่ 1.63 เท่าของมูลค่าตามบัญชีของเพอร์มาตา ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นเงิน 73,722 ล้านบาท (หรือประมาณ 33,662,797 ล้านรูเปียห์ หรือ 2,282 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับ พีที แอสทรา อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เสร็จสมบูรณ์ในวันนี้

“ธนาคารขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย Otoritas Jasa Keuangan และหน่วยงานของทางการที่เกี่ยวข้องที่ได้อนุมัติและสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการในครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งการเข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตาที่มีสินทรัพย์ 366,595 ล้านบาท (หรือประมาณ 167,394,076 ล้านรูเปียห์ หรือ 11,349 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 12 ของอินโดนีเซียเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์รวม พร้อมด้วยฐานลูกค้าจำนวน 3.75 ล้านราย และสาขา 312 แห่งทั่วอินโดนีเซีย นับเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงเทพที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะส่งผลให้สัดส่วนของสินเชื่อในตลาดต่างประเทศต่อสินเชื่อรวมของธนาคารกรุงเทพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 25 เป็นไปตามกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างรากฐานของธนาคารกรุงเทพเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

สำหรับการดำเนินการในลำดับถัดไปธนาคารกรุงเทพจะยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย (Otoritas Jasa Keuangan) เพื่อ จัดทำคำขอเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดของธนาคารเพอร์มาตาอีกร้อยละ 10.88 จากผู้ถือหุ้นรายย่อย

หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการรวมสาขาธนาคารกรุงเทพในอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตา ซึ่งจะช่วยเสริมให้ธนาคารกรุงเทพมีรากฐานที่มั่นคงยิ่งขึ้นในสองประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยจะร่วมกับธนาคารเพอร์มาตาในการขยายธุรกิจต่อยอดจากจุดแข็งเดิมในตลาดลูกค้าบุคคล ลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกันลูกค้าของธนาคารกรุงเทพจะมีโอกาสมากขึ้น

ส่วนการขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศอินโดนีเซีย ธนาคารยังมุ่งหวังให้ความร่วมมือในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างธนาคารเพอร์มาตากับกลุ่มแอสทราให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ด้าน พริโจโน ซูกิอาร์โต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีที แอสทรา อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค กล่าวว่า กลุ่มบริษัทแอสทราขอขอบคุณสำหรับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จของธุรกรรมธนาคารเพอร์มาตาในครั้งนี้ กลุ่มบริษัทแอสทรายังคงเชื่อมั่นในภาคธุรกิจบริการทางการเงินของอินโดนีเซีย โดยยังคงให้ความสำคัญกับการขยายบริการทางการเงินไปยังลูกค้าบุคคล และขออวยพรให้ธนาคารกรุงเทพและธนาคารเพอร์มาตาประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทแอสทราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้พัฒนาความสัมพันธ์กับธนาคารเพอร์มาตาให้แน่นแฟ้นต่อไป

บิล วินเทอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาทีมงานธนาคารเพอร์มาตามีผลงานที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง และเราเชื่อว่าธนาคารเพอร์มาตายังคงมีศักยภาพที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในระยะยาว แต่ยุทธศาสตร์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในขณะนี้ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจผ่านสาขาของธนาคารเองเป็นหลัก การเปิดทางให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่อย่างธนาคารกรุงเทพที่ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวางและมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ธนาคารเพอร์มาตามีการพัฒนาทางธุรกิจที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

ชาติศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารกรุงเทพดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ในประเทศอินโดนีเซีย โดยเปิดทำการสาขาจาการ์ตาเป็นแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2511 โดยมีความเชื่อมั่นในความมั่นคงทางเศรษฐกิจและโอกาสในการเติบโตของอินโดนีเซีย แม้ในช่วงเวลาอันยากลำบากที่ทุกประเทศกำลังต่อสู้กับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ธนาคารกรุงเทพพร้อมยืนหยัดเคียงข้างธนาคารเพอร์มาตา และร่วมมือกันสนับสนุนบุคลากร ลูกค้าและสังคม ให้ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ไปด้วยกัน


ทั้งนี้ การเข้าถือหุ้นของธนาคารกรุงเทพในธนาคารเพอร์มาตาครั้งนี้ จะทำให้ทั้งสองสามารถนำความเชี่ยวชาญและจุดแข็งของกันและกันมาใช้สนับสนุนการขยายธุรกิจในตลาดลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกรุงเทพมีเครือข่ายที่เข้มแข็งและครอบคลุมทั่วภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งความสัมพันธ์กับบริษัทชั้นนำทั่วเอเชีย รวมถึงความเชี่ยวชาญในบริการทางการเงินสำหรับการค้าระหว่างประเทศและประสบการณ์เชิงลึกในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยธนาคารเพอร์มาตาสามารถสนับสนุนลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่มีคุณภาพสูง และส่งเสริมการเข้าถึงตลาดนอกประเทศอินโดนีเซียผ่านเครือข่ายของธนาคารกรุงเทพทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ

นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและยานยนต์ให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ อีกทั้งยังพร้อมส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและเผยแพร่ความรู้ทางการเงินในประเทศอินโดนีเซีย

 

]]>
1279805