Eatable – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 22 Sep 2020 13:31:54 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Update ’14 ตัวเลือก’ บนสังเวียน ‘Food Delivery’ ที่ไม่ได้มีแค่รายใหญ่ให้เรียกใช้เวลาหิว https://positioningmag.com/1298224 Tue, 22 Sep 2020 12:49:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298224 หากย้อนไปเมื่อปี 2012 ตลาด ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ บ้านเรายังมีแค่ Food Panda จากนั้นในปี 2018 ก็มี Grab และ Uber ที่ตามมา แต่แล้วอูเบอร์ก็ขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปให้กับคู่แข่งอย่าง Grab ทำให้ผู้เล่นหลักในตอนนั้นแทบจะมีแค่ Grab อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ทยอยตบเท้าเข้ามาเพียบ เพื่อหวังชิงเค้กมูลค่า 35,000 ล้านบาทก้อนนี้ โดยเฉพาะในปี 2020 นี้ที่เปรียบเสมือน ‘ปีทอง’ ของตลาด เพราะมาตรการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น Positioning จะพาไปรู้จักแพลตฟอร์มที่ให้บริการส่งอาหารในไทยกันว่ามีใครกันบ้าง

Grab Food

ถือเป็นผู้เล่นเบอร์ต้น ๆ ของตลาดเลยทีเดียวสำหรับ Grab ที่ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ตั้งแต่ปี 2018 โดยค่าจัดส่งเริ่มต้นที่ 10 บาท พร้อมให้บริการใน 35 เมือง 33 จังหวัด ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดกว่า 14 ล้านดาวน์โหลด มีพาร์ตเนอร์ผู้ขับกว่า 100,000 ราย มีร้านอาหารในระบบกว่า 80,000 ร้าน แค่ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมามีผู้ใช้แกร็บฟู้ดรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และยอดออเดอร์เติบโตถึง 30% เลยทีเดียว ซึ่งในปีนี้ทาง Grab ก็จัดหนักออกแคมเปญ “Free Your Hunger เลิกกินตามใคร กดสั่งตามใจ” แคมเปญใหญ่สุดของปีนี้ โดยได้ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับชื่อดัง มาช่วยสร้างหนังสั้นที่แสดงโดย BNK48 ปัจจุบันโกยยอดวิวไปกว่า 10 ล้านวิวเลยทีเดียว

LINE MAN

จากแพลตฟอร์ม Chat ที่มีจุดแข็งเป็นผู้ใช้งาน LINE กว่า 46 ล้านราย ดังนั้น LINE จึงต้องการต่อยอดจำนวนผู้ใช้อันมหาศาลด้วยการผุด ‘LINE MAN’ ที่ให้บริการเรียกแท็กซี่, สั่งซื้ออาหาร, ซื้อของใช้ในบ้าน หรือแม้แต่เรียกมารับพัสดุ โดยมีพาร์ตเนอร์อย่าง ‘Lalamove’ ที่ช่วยขนส่งสินค้า ซึ่งในส่วนของบริการส่งอาหาร LINE MAN ให้บริการใน 13 จังหวัด ครอบคลุมร้านอาหาร 200,000 ร้าน โดยมีค่าจัดส่งเริ่มต้นที่ 10 บาทเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ทาง LINE MAN เพิ่งได้เงินลงทุนจากบริษัท BRV Capital Management (BRV) ถึง 3,300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการควบรวมกิจการ ‘Wongnai’ สตาร์ทอัพสัญชาติไทยเจ้าของแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารและข้อมูลด้านไลฟ์สไตล์ ที่มีฐานข้อมูลร้านอาหารกว่า 400,000 ร้านทั่วไทย และมีผู้ใช้กว่า 10 ล้านรายต่อเดือน ส่งผลให้ LINE MAN มีข้อมูลทั้งร้านค้าและผู้ใช้ในมือมากมายเลยทีเดียว พร้อมเตรียมขยายพื้นที่ให้บริการเป็น 20 จังหวัดในสิ้นปีนี้

Gojek

Gojek หรือชื่อเดิม ‘GET’ น้องใหม่ในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เพิ่งให้บริการไปเมื่อปี 2019 แต่สามารถโกยยอดดาวน์โหลดได้ถึง 13 ล้านครั้ง ส่งอาหารกว่า 20 ล้านออเดอร์ มีพาร์ตเนอร์ผู้ขับกว่า 50,000 ราย และพาร์ตเนอร์ร้านอาหารกว่า 30,000 ร้าน แม้จะรีแบรนด์ใหม่ (เพื่อใช้ชื่อเดิม) ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าจะรุกตลาดให้หนักขึ้น โดยไม่ใช่แค่อัดโปรโมชันมอบส่วนลดสูงสุด 2,500 บาท และมีแฟลชดีลทุกวัน แต่ยังระบุว่าเตรียมขยายพื้นที่ให้บริการไปต่างจังหวัดเร็ว ๆ นี้ จากปัจจุบันที่ให้บริการแค่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกด้วย ส่วนค่าบริการเริ่มต้นที่ 10 บาทเหมือนเจ้าใหญ่รายอื่น ๆ

Food Panda

ทำตลาดในไทยมาตั้งแต่ปี 2012 สำหรับ Food Panda บริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติเยอรมนีที่ปัจจุบันให้บริการครอบคลุมถึง 72 จังหวัด และจะครบ 77 จังหวัดในสิ้นปีนี้ ส่วนร้านค้าพาร์ตเนอร์มีราว 20,000 ร้าน พาร์ตเนอร์ผู้ขับในปัจจุบันมีกว่า 90,000 ราย ขณะที่ค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 40 บาท และล่าสุดมีบริการใหม่ ‘แพนด้า มาร์ท’ ขายสินค้าอุปโภคบริโภค มี 7 แห่ง สิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 30 สาขา

Skootar

สตาร์ทอัพสัญชาติไทยแท้ที่เริ่มต้นมาจากการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้เชื่อมโยงระหว่าง SME บริษัท ห้างร้าน กับเครือข่ายแมสเซ็นเจอร์ ที่ให้บริการรับส่งเอกสาร เก็บเช็ค วางบิล หรือส่งของอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนจะขยายมาสู่บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ โดยปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์คนขับอยู่ประมาณ 8,000 คนทั่วกรุงเทพฯ โดยเริ่มต้นที่ราคา 45 บาท ฟังดูอาจจะรู้สึกว่าราคาสูงกว่าเจ้าอื่น แต่ Skootar ไม่ได้มีการเก็บค่าคอมมิชชันจากร้านอาหาร พูดง่าย ๆ ลูกค้าจ่ายเท่าไหร่ร้านได้เท่านั้น

Hungry Hub

น้องใหม่ที่ถือกำเนิดในช่วง COVID-19 ที่ออกมาเพราะต้องการช่วยเหลือร้านอาหาร โดยมีคอนเซ็ปต์เป็นเเพลตฟอร์มรวมเเหล่งบุฟเฟต์ ดังนั้น ในแต่ละมื้อที่สั่งจะไม่ใช่ชุดยิบย่อย แต่เป็นชุดใหญ่ไฟกะพริบแบบ ‘Set Menu’ กินกันจุก ๆ สำหรับ 2-4 คน โดยราคาเริ่มต้นที่ 399 บาท Net และในส่วนของค่าส่งนั้น ‘ฟรี’ ในระยะทางไม่เกิน 3 กิโลเมตรแรก (กิโลเมตรต่อไปเพิ่มแค่ 10 บาท/กม.) โดยทาง Hungry Hub จะเก็บค่าคอมมิชชันที่ 10.7% เท่านั้น และไม่ต้องห่วงว่าเป็นน้องใหม่แล้วผู้ขับจะไม่ได้คุณภาพ เพราะเป็นพาร์ตเนอร์กับ Lalamove ที่ LINE MAN เลือกใช้

Fresh!

เเอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่น้องใหม่ที่มีทีมปั้นเป็นคนไทยทั้งหมด ซึ่งตอนนี้เริ่มทยอยรับสมัครร้านค้าเเละไรเดอร์ทั่วประเทศเเล้วในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ชูจุดเด่น ‘ไม่เก็บค่า GP’ จากร้านค้า โดยมีค่าส่งเริ่มต้นที่ 10 บาท และหากสั่งออเดอร์เกิน 100 บาท มีโปรโมชันส่งฟรี

Robinhood

Robinhood แพลตฟอร์มน้องใหม่ภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) โดยมีเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดในฝั่งของผู้บริโภคว่าภายในแอปฯ มีร้านค้าให้เลือกมากน้อยแค่ไหน และค่าส่งจะเริ่มเท่าไหร่ แต่ทางแอปฯ ได้ประกาศว่าไม่มีค่าธรรมเนียม GP ที่จะเก็บกับร้านอาหาร แปลว่าร้านสามารถใช้บริการฟรี และมีการเคลียร์เงินเข้าบัญชีภายใน 1 ชั่วโมง เพื่อให้ร้านอาหารมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ส่วนการส่งอาหารใช้ความร่วมมือกับ Skootar  

Eatable

เเพลตฟอร์มทางฝั่ง KBank ที่วางตัวเป็นแพลตฟอร์มตัวช่วยจัดการร้านอาหาร ไม่ต้องโหลดแอปฯ ไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถจัดการระบบหลังบ้านแบบเรียลไทม์ผ่านทางออนไลน์ ส่วนลูกค้าสามารถเลือกอาหาร สั่ง จ่ายแบบไร้การสัมผัส และที่เเถมมาก็คือ ฟังก์ชันฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่กำลังจะเปิดตัวเเบบเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมพัฒนาต่อยอดให้นักท่องเที่ยวจีนสั่งอาหารในไทยได้ปลายปีนี้

กังนัมแซ่บ เดลิเวอรี่

มาถึงฝั่งที่เรียกได้ว่า ‘บ้านขั้นสุด’ ของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่กันบ้าง โดยไม่ต้องสั่งผ่านแอปฯ ใด ๆ ทั้งสิ้น อย่าง กังนัมแซ่บ เดลิเวอรี่ ถือเป็นอีกหนึ่งบริการซื้ออาหารจากร้านต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ภายใต้สโลแกนว่าสั่งได้ทุกร้าน สั่งได้ทุกอย่างตลอด 24 ชั่วโมง จะมีหรือไม่มีในเมนูก็สั่งได้ โดยรูปแบบการสั่งซื้อคือ โทรมาสั่งอาหาร จากนั้นจะประเมินราคาค่าบริการให้ลูกค้าก่อน โดยคิดจากระยะทางของร้านอาหารที่สั่งกับจุดหมายปลายทางที่ต้องไปส่ง โดยเริ่มต้นที่ 60 บาท บวกกับจำนวนสินค้าที่สั่ง 20 บาทต่อชิ้นต่อร้าน เรียกได้ว่าไม่ต้องเข้าแอปฯ อยากได้ร้านไหนบอกพิกัดเดี๋ยวจัดให้ถึงที่

OrderMaNow

สำหรับ OrderMaNow ก็คล้าย ๆ กับกังนัมแซ่บ โดยสามารถรับออเดอร์ทุกทาง Facebook, IG, LINE, Twitter แตะลิงก์เดียวสั่งออเดอร์ในร้านได้ทันที ไม่ต้องลงเเอปฯ ไม่ต้อง Login

นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดอีกเพียบ ได้แก่ Om Ordering เเพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่จากจังหวัด เชียงใหม่ ที่สามารถสั่งได้ทั้งสินค้า อาหาร และบริการ Street Food Delivery สตาร์ทอัพไซส์เล็กที่ขอปักธงเมืองรอง โดยเน้นร้านอาหารดังประจำถิ่น เริ่มให้บริการส่งอาหารในพื้นที่กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และท่าเรือ-ท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และ FoodMan Delivery อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่เน้นลุยเมืองรอง โดยเริ่มต้นจากแถวภาคเหนือก่อน โดยปัจจุบันให้บริการใน 7 จังหวัด ได้แก่ น่าน, เชียงราย, ลำปาง, อุตรดิตถ์, ตาก, ระยอง และสระบุรี

จากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่วงที่มี COVID-19 ระบาด แต่จะเลือกใช้ใครก็ลองดูตามความต้องการได้เลย แต่จะเริ่มเห็นว่าผู้เล่นรายใหญ่เริ่มขยายบริการเข้าสู่ตลาดต่างจังหวัดเเล้ว จากนี้ ผู้เล่นท้องถิ่น อาจต้องทำการบ้านให้หนักขึ้น เพราะถ้าต้องสู้เรื่องราคาและโปรโมชันคงไม่ไหวเเน่นอน

]]>
1298224
HUAWEI CLOUD เพิ่มขีดความสามารถของแพลตฟอร์มการสั่งอาหารแบบใหม่ของ KBTG ปูทางสู่นวัตกรรมที่ชาญฉลาดในอนาคต https://positioningmag.com/1297875 Mon, 21 Sep 2020 10:00:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1297875

ในวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน เวลา 15.00 น. HUAWEI CLOUD ประเทศไทย จะจัด Cloud Diary Special Session ซึ่งเป็นการสัมมนาออนไลน์ฟรีผ่านการสตรีมสดบนหน้า Facebook (@HuaweiCloudTH)

หัวข้อนี้มีชื่อว่า“ KBTG x HUAWEI CLOUD: Eatable by KBank Food Ordering Platform in the New Normal” โดยมีวิทยากรพิเศษคือ คุณเจนวิทย์ จันทรโชติ (โอ๊ต) หัวหน้าฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีของกลุ่มเทคโนโลยีธุรกิจ ธนาคารกสิกรไทย (KASIKORN Business-Technology Group) จะมาบรรยายเกี่ยวกับแพลตฟอร์มการสั่งอาหารแบบใหม่ “Eatable” ซึ่งรองรับทางเลือกในการสั่งอาหารทุกประเภท ตั้งแต่การสั่งเพื่อจัดส่งไปรับประทานที่บ้านหรือในร้านอาหาร

ทั้งนี้เพื่อปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าในยุค New Normal ร้านอาหารในปัจจุบันต้องปรับตัวเพื่อเสนอทางเลือกการสั่งอาหารสำหรับการจัดส่งไปรับประทานที่บ้านหรือในร้านอาหาร Eatable เป็นแพลตฟอร์มที่มีความโดดเด่นตรงที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน แต่สามารถใช้งานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ส่วนตัวได้ ด้วยการสแกน QR Code เพียงครั้งเดียวหรือคลิกลิงก์จากแชท และ Eatable ยังสามารถช่วยให้ผู้ใช้งานดูเมนูอาหารได้โดยไร้การสัมผัส ด้วย QR Code และสามารถสั่งอาหารล่วงหน้าสำหรับการรับประทานอาหารที่บ้านหรือในร้านอาหารได้อีกด้วย

ตั้งแต่เริ่มแนวคิดจนถึงการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ใช้ระยะเวลาเพียง 3 เดือน เพื่อเปิดตัว Eatable แพลตฟอร์ม ที่มีคุณสมบัติหลากหลาย ในขณะเดียวกันก็สามารถมั่นใจได้ว่า แพลตฟอร์มนี้มีมาตรฐานความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการใช้งาน ซึ่งใน Cloud Diary ครั้งนี้ คุณเจนวิทย์จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ด้วย Microservice Architecture และ Public Cloud

ผู้ที่สนใจจะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดใหม่ ๆ และการออกแบบ Eatable แพลตฟอร์มได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า สามารถเข้าไปที่ Facebook @HuaweiCloudTH เพื่อเข้าร่วมการสัมมนา Cloud Diary Special Session, KBTG x HUAWEI CLOUD: Eatable by KBank Food Ordering Platform in the New Normal

* Cloud Diary เป็นบริการสัมมนาทางเว็บเพื่อการศึกษาที่นำเสนอโดย HUAWEI CLOUD ประเทศไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การแบ่งปันความรู้ในหัวข้อที่น่าสนใจในด้านเทคโนโลยี Cloud Diary มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ชมสามารถเพิ่มพูนทักษะดิจิทัลโดยผ่านการสอนรายละเอียดและการอภิปราย ตลอดจนการแสดงให้เห็นถึงวิธีการใช้ Cloud เพื่อการปรับใช้นวัตกรรมสำหรับการบริการต่าง ๆ

]]>
1297875
เปิดเกม KBank vs SCB เเข่งธุรกิจอาหาร เมื่อแบงก์จะไปอยู่ทุกที่ เเละเป็น “มากกว่า” ธนาคาร https://positioningmag.com/1286885 Wed, 08 Jul 2020 08:44:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1286885 สมัยก่อนเมื่อพูดถึงธนาคาร หรือเเบงก์เรามักจะนึกถึงเเค่การทำธุรกรรมทางการเงิน สินเชื่อเเละประกัน เเต่ในยุคดิจิทัล ธนาคารได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา เป็นอีกหนึ่งเเอปพลิเคชันจำเป็นที่ต้องมีไว้ติดมือถือ

ธนาคารในไทย เป็นธุรกิจที่ถูกดิสรัปต์อย่างรุนเเรง เเต่ก็ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเเละมีประสิทธิภาพ พัฒนาไปสู่ดิจิทัล
เเบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบ มีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาสม่ำเสมอ มากไปกว่านั้น ยังเป็นเหมือนผู้นำที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่ของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ด้วยความพร้อมจากการเป็นทุนใหญ่มีทรัพยากรมากทั้งบุคลากรเเละข้อมูลผู้ใช้

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นการฟาดฟันกันระหว่าง 2 ธนาคารใหญ่เเบงก์เขียวเเละเเบงก์ม่วงอย่างกสิกรไทย (KBank) เเละไทยพาณิชย์ (SCB) ที่เเข่งขันเอาใจลูกค้าเเละตอบสนองความต้องการใหม่ๆ พยายามที่จะเป็นมากกว่าเเบงก์ทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำ ด้วยเป้าหมายว่าต่อไปแบงก์จะอยู่ทุกที่ ยกเว้นที่แบงก์นั่นเอง

KBank เเละ SCB เป็นคู่เเข่งสมน้ำสมเนื้อมาก ด้วยฐานผู้ใช้ K Plus ที่ 13 ล้านราย (ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ 15 ล้านราย)  ส่วน SCB Easy มีผู้ใช้ 11 ล้านราย (ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ 13 ล้านราย)

ด้านรายได้รวม (อ้างอิงจากงบการเงิน 9 เดือน ปี 2562) KBank อยู่ที่ 139,376 ล้านบาท SCB อยู่ที่ 131,890 ล้านบาท

ทั้ง 2 ธนาคารได้ตั้งบริษัทลูกที่จะมาปั้นสตาร์ทอัพในเมืองไทยโดยเฉพาะ อย่าง KASIKORN Business- Technology Group หรือ KBTG ที่ได้ กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล มานำทัพเป็นหัวเรือใหญ่ ฟาก SCB ส่ง
SCB 10X 
มาลงสนามนำทัพโดย ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ 

  • KBank เป็นผู้ให้บริการ Grab Pay ในแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี่ Grab ทาง SCB ก็เป็นผู้ให้บริการ Get Pay ผ่านเเอปฯ คู่เเข่งอย่าง Get เช่นกัน
  • KBank มีระบบ Face Pay สแกนใบหน้าเพื่อชำระเงิน ทาง SCB ก็มี Palm Vein การชำระเงินด้วยฝ่ามือ เช่นกัน
  • KBank เปิดตัวขุนทองเป็นแชทบอทเหรัญญิกช่วยคิดการแชร์ค่าอาหารบน LINE ทาง SCB ก็มีปาร์ตี้หาร (PartyHaan)” เช่นกัน

ล่าสุดการฉีกเเนวธนาคาร มาลงทุนในศึก “ฟู้ดเดลิเวอรี่ด้วยการเปิดตัว Robinhood ของ SCB ก็สั่นสะเทือนวงการไม่น้อย เมื่อกำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ด้วยประเด็นจี้จุด Pain Point อย่างการไม่คิด GP ไม่คิดค่าสมัคร โอนเงินไวใน 1 ชั่วโมง ท้าทายคู่เเข่งระดับโลกอย่าง Grab, LINE Man, GET เเละ Food Panda โดยพร้อมจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้

ส่วน KBank ตามมาติดๆ เเละได้ใจผู้ประกอบการไปเต็มๆ เปิดตัว “Eatable” (อีทเทเบิล) แพลตฟอร์มตัวช่วยจัดการร้านอาหารไม่ต้องโหลดแอป ไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถจัดการระบบหลังบ้านแบบเรียลไทม์ผ่านทางออนไลน์ ส่วนลูกค้าสามารถเลือกอาหาร สั่ง และจ่ายแบบไร้การสัมผัส ที่กำลังจะเปิดตัวเเบบเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมพัฒนาต่อยอดให้นักท่องเที่ยวจีนสั่งอาหารในไทยได้ปลายปีนี้

การได้เห็นแบงก์แข่งขัน เปิดตัวเทคโนโลยีออกมารัว เเบบนี้ เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเเละสร้างเเรงกระเพื่อมให้วงการธนาคารไม่น้อย

SCB vs KBank ทุ่มลงทุนธุรกิจ “อาหาร” 

ถ้าการเข้ามาในตลาดนี้ของ SCB ทำให้เจ้าอื่นๆ ตื่นตัวเเละทุ่มโปรโมชั่นเพื่อเเข่งขันกันมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นผลประโยชน์ของผู้บริโภค

Robinhood เกิดขึ้นจากไอเดียของ อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของ SCB ตอนที่เขาต้องกักตัวในช่วงการระบาดของ COVID-19 ต้องทำงานจากที่บ้าน ทำให้ต้องสั่งอาหารออนไลน์บ่อยครั้ง และมองเห็นโอกาสว่าธนาคารมีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำได้ จึงต่อยอดด้วยการระดมทีมกว่า 80 คนพัฒนาแอปฯ นี้ขึ้น ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือนก่อนเปิดตัว

เเนวคิดหลักของ Robinhood เป็นไปตามเเบบฉบับของสตาร์ทอัพ คือมุ่งเเก้ Pain Point ในวงการฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งประเด็นการเก็บค่าธรรมเนียม หรือ GP ที่สูงถึง 30-35% ที่ทำให้บางร้านอาหารเเทบไม่มีกำไร หรือผู้บริโภคที่ต้องเเบกรับค่าอาหารที่ “เเพงขึ้น” จากปกติ ดังนั้น Robinhood จึงคว้าโอกาสชูจุดขายว่า ไม่เก็บค่า GP รวมถึงปัญหา “เงินหมุน” ของทั้งร้านค้าเเละคนขับ จึงเป็นที่มาของการที่จะเคลียร์เงินเข้าบัญชีให้ได้ใน 1 ชั่วโมง

ทาง SCB ยืนยันว่าเป็นหนึ่งใน CSR ของบริษัทที่ จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม GP ทั้งในช่วงนี้และต่อไป เเละถ้าหากในอนาคตมีคนใช้จำนวนมาก แนวทางการหารายได้จะเป็นไปในทาง “เสนอสินเชื่อ” ให้ผู้ประกอบการมากกว่าที่จะหันมาหักค่า GP

เเอปพลิเคชัน Robinhood กำลังจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปเเบบในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้

ถ้าจะพูดกันว่าเป็นการเผาเงินเล่น ก็คงเป็นการเผาเงินที่คุ้มค่ามากเราลงทุนปีละร้อยล้าน จะมองว่าเยอะก็เยอะ จะว่าน้อยก็น้อย เเต่เมื่อเทียบกับกำไรของธนาคารที่ได้ปีละ 4 หมื่นล้านเเล้ว ถือว่าน้อยมาก งบในส่วน CSR ของบริษัทเยอะกว่านี้อีก

คำกล่าวของ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ผู้บริหาร SCB ที่จะมาเป็นหัวเรือใหญ่ของ Robinhood ผ่านการดำเนินงานภายใต้ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (บริษัทลูกของ scb 10x) โดยเขาจะนั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านเพย์เมนต์อย่าง “สีหนาท ล่ำซำ” ที่จะมานำทัพบุกเบิกบริษัท ในตำเเหน่งกรรมการผู้จัดการ ซึ่งกำลังจะปั้นทีมใหม่ให้ได้ราว 40-50 คน ใช้งบลงทุนราว 100 ล้านบาทต่อปี

อ่านเพิ่มเติมเจาะลึกทุกมุมของ Robinhood ไขข้อสงสัยปมค่าส่ง โมเดลธุรกิจเเละเเผนสู้ศึกฟู้ดเดลิเวอรี่

ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในประเด็นการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารเข้าสู่มาตรฐานใหม่ คาดว่า ธุรกิจร้านอาหารในปีนี้จะมีมูลค่าราว 3.8 แสนล้านบาท หดตัวเกือบ 10% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากลูกค้ามีความระมัดระวังตัวในการออกไปทานอาหารนอกบ้าน จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไป ใช้บริการเดลิเวอรี่ในการสั่งอาหารมาทานที่บ้านหรือที่ทำงานแทนมากขึ้น ร้านอาหารยุคใหม่จะต้องผสมผสานการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าทั้งที่ทานที่ร้านและเดลิเวอรี่ไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านช่วงแพร่ระบาดหนักมาแล้ว แต่ร้านอาหารก็ยังฟื้นตัวช้ากว่าปีที่ผ่านมาถึง 70% ถือเป็นภาคธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายของเหล่าร้านอาหาร ที่ต้องมีการ
ทรานส์ฟอร์เมชั่นไปสู่การเป็นร้านอาหารยุค New Normal แบบครบวงจรที่ตอบรับลูกค้าทั้งการทานที่ร้านและเดลิเวอรี่

นี่จึงเป็นที่มาของ “Eatable” (อีทเทเบิล) แพลตฟอร์มให้ใช้ “ฟรี” ที่จะมาเป็นตัวช่วยจัดการร้านอาหาร พัฒนาโดย KBTG บริษัทลูกของธนาคารกสิกรไทย

“Eatable” แพลตฟอร์มฟรีช่วยร้านอาหาร กำลังเปิดให้บริการเต็มรูปเเบบในเดือนตุลาคมนี้

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน KBTG ยืนว่า Eatable เป็นแพลตฟอร์มฟรี ช่วยจัดการร้านอาหารที่มีทั้งส่วนบริการในร้าน รับออเดอร์ เรียกพนักงานหรือรับชำระเงิน เเละมีบริการจัดส่งเดลิเวอรี่ โดยจะเน้นไปที่ประสบการณ์การทานอาหารที่ร้านไม่ได้เน้นไปที่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่โดยตรง ซึ่งมีการเเข่งขันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม : KBank มาเเล้ว! เปิดตัว “Eatable” แพลตฟอร์มฟรีช่วยร้านอาหาร ระบบสั่งทานที่ร้าน-ส่งเดลิเวอรี่

ไม่หวังกำไร…เเล้วต่อยอดรายได้อย่างไร ? 

การลงทุนใน Robinhood ของ SCB จะเน้นต่อยอดไปที่สินเชื่อเเละสร้างความหลากหลาย

บริษัทใหญ่ของโลกที่ให้บริการทั้ง E-Marketplace , Ride Hailing เเละเดลิเวอรี่ สุดท้ายก็จะวนมาสู่บริการทางการเงิน เป็นคำถามว่าแล้ว SCB ที่เป็นธนาคารให้บริการทางการเงินอยู่แล้ว โดนดิสรัปต์มาโดยตลอด แล้วทำไมธนาคารจะก้าวข้ามไปทำบริการอื่นๆ ไม่ได้

สีหนาท ล่ำซำ เอ็มดีของ Robinhood กล่าวถึงการลงทุนในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ของธนาคาร และบอกว่าข้อได้เปรียบของการเป็นธนาคารในตลาดนี้ คือฐานลูกค้าเเละความเสถียรของระบบเพย์เมนต์ รวมถึงข้อเสนอเรื่องสินเชื่อที่ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

การลงทุนใน Eatable ของ KBank เน้นสร้าง Ecosystem เพื่อดึงลูกค้าให้อยู่ด้วยนานๆเเละต่อยอดไปบริการอื่น

เเม้ผู้บริหาร KBTG จะไม่เปิดเผยถึงงบประมาณในการลงทุน แต่บอกว่าเยอะทั้งในส่วนปฏิบัติการและการประสานงาน แต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะ ถ้าลูกค้าแฮปปี้ เขาก็จะอยู่กับเรานาน” เเละต่อยอดไปให้บริการเเละผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคารได้ 

เบื้องต้นไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะมีร้านค้าใช้ Eatable จำนวนเท่าใด แต่หวังว่าจะดึงดูดให้ร้านอาหารมาเข้าร่วมให้มากที่สุด เพราะถือเป็นการลดต้นทุนด้านเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและร้านอาหารที่มีทุนน้อย ให้สามารถเปลี่ยนแปลง และปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลได้ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมวงการร้านอาหารไทยเลยทีเดียว

อีกด้านหนึ่ง การพัฒนาไคไท่เตี่ยนไช่” (Kai Tai Dian Cai) บริการสั่งอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวจีนผ่านแอปวีแชท (WeChat) ก็เป็นการต่อยอดการลงทุนฟินเทคในจีนของกสิกรไทย โดยก่อนหน้านี้ KBTG ได้เปิดตัว 2 บริษัท KX และ Kai Tai Tech ในเซินเจิ้น เพื่อดึงศักยภาพการทำงานรูปแบบสตาร์ทอัพ เเละสร้างการเติบโตให้ธนาคารไทย

สร้าง Engagement ใกล้ชิดกว่าเเบงก์เดิม ๆ 

เห็นได้ชัดว่าทั้ง SCB เเละ KBank ประกาศว่าจะเน้นการให้บริการด้านธุรกิจอาหาร โดยไม่หวังรายได้ “โดยตรง” กลับคืนมา เพราะจุดประสงค์ไม่ใช่การหารายได้ เเต่การสร้าง Engagement กับลูกค้าเเบบที่ไม่เคยมีธนาคารไหนทำมาก่อนซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่

โมเดลธุรกิจที่นอกเหนือจากการเสนอสินเชื่อเเละการเก็บข้อมูลเเล้ว อีกหนึ่งผลพลอยได้ คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างร้านอาหารกับพนักงานสาขา

โดย SCB วางนโยบายใหม่ว่า พนักงานธนาคารจะต้องออกไปเจอร้านค้าที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ไปพูดคุย ทำความรู้จักเเละให้คำเเนะนำได้ เป็นการ Re-Skill และปรับการทำงานของสาขา SCB ใหม่ จึงเกิดเป็นการเทรนนิ่งพนักงานกว่า 800 คนทั่วประเทศขึ้น

จึงมาถึงยุคที่พนักงานธนาคารต้องปรับตัว ให้ถ่ายรูปสวย เพื่อเป็นผู้ช่วยให้กับร้านอาหาร เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มากกว่าการฝากถอนซึ่งความสนิทสนมเหล่านี้ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะต่อยอดไปสู่บริการอื่นๆ ของธนาคารได้ง่ายขึ้น

Photo : Shutterstock

ส่วน SCB เมื่อเข้าไปเป็นระบบหลังบ้านของร้านอาหารเเล้ว ก็ถือเป็นความใกล้ชิดเเบบสุดๆ เลยก็ว่าได้ เป็นการสร้างความเชื่อใจในระยะยาว เมื่อธุรกิจต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน ต้องการขยายสาขาหรือพัฒนาศักยภาพธุรกิจก็ต้องคิดถึงธนาคารที่ใกล้ตัวที่สุดอยู่เเล้ว

นอกจากนี้ ด้วยประโยชน์ของข้อมูล (Data) ซึ่งได้กลายมาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาธุรกิจยุคดิจิทัล เพื่อนำมาวางทิศทางกลยุทธ์การตลาด เเละคาดการณ์ว่าลูกค้าจะมีความต้องการอะไรทั้งในตอนนี้เเละอนาคตธนาคารจึงสามารถออกบริการใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ตรงจุด นำไปสู่รายได้ทางอ้อม ที่คุ้มยิ่งกว่าต่างจากสมัยก่อนที่ธนาคารมักจะเสนอบริการแบบเดิมๆ ที่ไม่อาจรู้ได้ว่าลูกค้าอยากได้หรือไม่

ในช่วงนี้ธนาคารต่างๆ กำลังพัฒนาระบบวิเคราะห์สถานะทางการเงิน เพื่อรุกหนักด้านสินเชื่อออนไลน์ ให้สามารถยื่นกู้ผ่านแอปฯ ได้ทันทีก็เป็นอีกตัวอย่างที่อธิบายการต่อยอดธุรกิจนี้ได้ดี

นอกจากการเเข่งขันในประเทศเเล้ว ธนาคารใหญ่ในไทยกำลังหาบ่อเงินเเห่งใหม่ ด้วยการเข้าไปเจาะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เป็นตลาดเติบโตใหม่ เป็นโอกาสทองที่จะเข้าไปปูทางสร้างดิจิทัลเเบงกิ้งให้เข้าถึงประชากรจำนวนมาก ในยามที่คู่เเข่งยังไม่เยอะ

อ่านเพิ่มเติม : ธนาคารไทย ตามหา “ขุมทรัพย์ใหม่” เเย่งลงทุนอาเซียน ส่ง “ดิจิทัลเเบงกิ้ง” เข้าถึงท้องถิ่น

KBank เเละ SCB เลือกเจาะเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยกันดีอย่างเมียนมาโดยธนาคารกสิกรไทย ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการโดยธนาคารกลางของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในการเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 35% ของ ธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ (A bank) ส่วน SCB ได้รับอนุมัติจัดตั้งธนาคารลูกอย่างเป็นทางการ โดยตั้งเป้า 5 ปี ยอดสินเชื่อแตะ 7 พันล้านบาท เจาะลูกค้าทุกกลุ่มทั้งรายใหญ่ SMEs เเละรายย่อย

การงัดกลยุธ์เด็ดๆ มาประชันกันในศึกดิจิทัลเเบงกิ้งของเหล่าธนาคารยักษ์ใหญ่ในไทย เป็นประเด็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เมื่อเเบงก์กำลังจะไปอยู่ทุกที่ เเละเป็นมากกว่าผู้ให้บริการทางการเงิน ส่วนใครจะก้าวไปไกลเเละเร็วกว่านั้น ล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนเทคโนโลยีของไทยทั้งสิ้น เเละหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์ก็คือ เราๆ ชาวผู้บริโภคนั่นเอง…

 

]]>
1286885
KBank มาเเล้ว! เปิดตัว “Eatable” แพลตฟอร์มฟรีช่วยร้านอาหาร ระบบสั่งทานที่ร้าน-ส่งเดลิเวอรี่ https://positioningmag.com/1285636 Mon, 29 Jun 2020 12:35:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285636 ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับ “ธุรกิจร้านอาหาร” ทั้งเรื่องรายได้ การดำเนินการ พนักงานและการปรับปรุงร้านใหม่ รวมไปถึงการที่ร้านค้าต้องหันมาพึ่งพาบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตามบรรยากาศการสังสรรค์ “ทานอาหารนอกบ้าน” ยังคงเป็นเสน่ห์สำคัญของร้านอาหาร

สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายของเหล่าร้านอาหาร ที่ต้องมีการ “ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ไปสู่การเป็นร้านอาหารยุค New Normal แบบ “ครบวงจร” ที่ตอบรับลูกค้าทั้งการทานที่ร้านและเดลิเวอรี่

นี่เป็นที่มาของ “Eatable” (อีทเทเบิล) แพลตฟอร์มตัวช่วยจัดการ “ร้านอาหาร” ที่พัฒนาโดย KBTG บริษัทลูกของธนาคารกสิกรไทย (KBank) โดยผู้ประกอบการไม่ต้องโหลดแอป ไม่มีค่าธรรมเนียม และสามารถจัดการระบบหลังบ้านแบบเรียลไทม์ผ่านทางออนไลน์ ส่วนลูกค้าสามารถเลือกอาหาร สั่ง และจ่ายแบบไร้การสัมผัส ที่กำลังจะเปิดตัวเเบบเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมพัฒนาต่อยอดให้นักท่องเที่ยวจีนสั่งอาหารในไทยได้ปลายปีนี้

ผู้บริหาร KBTG ยืนว่า Eatable เป็นแพลตฟอร์มจัดการร้านอาหารที่มีทั้งส่วนบริการในร้าน รับออเดอร์ เรียกพนักงานหรือรับชำระเงิน เเละมีบริการจัดส่งเดลิเวอรี่ โดยจะเน้นไปที่ “ประสบการณ์การทานอาหารที่ร้าน” ไม่ได้เน้นไปที่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่โดยตรง ซึ่งมีการเเข่งขันอย่างดุเดือดในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ มีธนาคารใหญ่อีกเจ้าอย่างไทยพาณิชย์ (SCB) กระโจนข้ามฟากธุรกิจเเบงก์มาลงทุนในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ เปิดตัวเเอป “Robinhood” ท้าชน Grab, LINE Man, GET เเละ Food Panda โดยตรงเเละชูจุดเด่นไม่เก็บค่า GP

อ่านเพิ่มเติม : เจาะลึกทุกมุมของ Robinhood ไขข้อสงสัยปมค่าส่ง โมเดลธุรกิจเเละเเผนสู้ศึก “ฟู้ดเดลิเวอรี่” 

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เล่าถึงที่มาของ Eatable ว่า ทางทีมมีโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเกี่ยวกับร้านอาหารมากนานเเล้ว เตรียมที่จะเปิดตัวมาตั้งเเต่เดือนเมษายน แต่ต้องประสบปัญหาที่ไม่คาดฝันอย่าง COVID-19 เสียก่อน จึงต้องมีการ “รื้อ” เเพลตฟอร์มนี้ทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนทิศทางใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ เป็นการสร้างอีโคซีสเต็ม ต่อยอดจาก “เทคโนโลยีแบบไร้สัมผัส” ที่ KBank เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา 

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในประเด็นการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารเข้าสู่มาตรฐานใหม่ คาดว่า ธุรกิจร้านอาหารในปีนี้จะมีมูลค่าราว 3.8 แสนล้านบาท หดตัวเกือบ 10% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากลูกค้ามีความระมัดระวังตัวในการออกไปทานอาหารนอกบ้าน จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไป ใช้บริการเดลิเวอรี่ในการสั่งอาหารมาทานที่บ้านหรือที่ทำงานแทนมากขึ้น ร้านอาหารยุคใหม่จะต้องผสมผสานการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าทั้งที่ทานที่ร้านและเดลิเวอรี่ไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านช่วงแพร่ระบาดหนักมาแล้ว แต่ร้านอาหารก็ยังฟื้นตัวช้ากว่าปีที่ผ่านมาถึง 70% ถือเป็นภาคธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก

Eatable ไม่ใช่ธุรกิจหลักของเรา เพราะผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของ KBank คือหัวใจหลักของเรา การช่วยให้พวกเขาอยู่รอด มีรายได้ที่ดี ปรับร้านอาหารไปสู่ดิจิทัลอย่างยั่งยืน จะนำไปสู่การต่อยอดบริการเเละผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร ก็เป็นเป้าหมายของเเพลตฟอร์มนี้เเล้ว” เรืองโรจน์ระบุ

ผู้บริหาร KBTG ไม่เปิดเผยถึงงบประมาณในการลงทุน แต่บอกเพียงว่า “เยอะ” ทั้งในส่วนปฏิบัติการและการประสานงาน แต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะ “ถ้าลูกค้าแฮปปี้ เขาก็จะอยู่กับเรานาน” 

จุดเด่นของ Eatable

  • รองรับลูกค้าที่ทานที่ร้านและให้จัดส่ง (Dinein, DineOut & Delivery)
  • รองรับนักท่องเที่ยว มีให้ใช้หลายภาษาทั้งไทย อังกฤษเเละจีน (อนาคตจะมีการเพิ่มอีกหลายภาษา)
  • ใช้งานได้ทันที ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปฯ ส่งต่อเป็น URL ไปในหลายโซเชียลมีเดียได้
  • ลูกค้าที่มาทานที่ร้าน เลือกสั่งเมนูที่มีภาพอาหารประกอบ ผ่าน QR Ordering ได้ทันที ไม่ต้องรอพนักงานเสิร์ฟมาบริการ ไม่ต้องสัมผัสเมนูเเบบรูปเล่ม ถ้ามาหลายคน ทุกคนกดสั่งเองได้จากมือถือของตัวเอง รวมบิลเป็นโต๊ะเดียวกันได้
  • หากต้องการสั่งกลับบ้าน กดสั่งผ่าน QR Ordering ไม่ต้องผ่านพนักงาน ไม่ต้องเข้าคิวรอ
  • หากต้องการสั่งเดลิเวอร์รี่ถึงบ้าน จะเป็นการสั่งตรงกับร้านอาหาร โดยทางร้านจะเป็นผู้จัดส่งเองก็ได้ หรือทางร้านจะเลือกวิธีจัดส่งที่คุ้มที่สุดโดย Copy ที่อยู่ลูกค้าไปใส่ในแอปเดลิเวอร์รี่ เช่น Grab, Lalamove, Skootar (ราคาขึ้นอยู่กับเเต่ละผู้ให้บริการ) ซึ่ง Eatable จะคำนวณราคารวม (หักส่วนลดเเละโปรโมชั่น)ให้เลือกเรียบร้อย
  • แจ้งเตือนผ่านไลน์ ตั้งให้แจ้งเตือนด้วย LINE NOTIFY ออเดอร์เข้ามาเมื่อไหร่ รู้ทันที
  • กำหนดเวลารับอาหาร ติดตามสถานะออเดอร์
  • ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนข้อมูลร้านค้า เปลี่ยนเมนูอาหาร เปลี่ยนรูปได้ทันที โดยไม่ต้องรออนุมัติ
  • มีบัญชีสำหรับพนักงาน รองรับการเพิ่มบัญชีแก่พนักงานหน้าร้านให้มีคนช่วยดูแลร้านตอนเจ้าของร้านไม่อยู่
  • ไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้บริการ ร้านอาหารนำไปใช้ในร้านได้ฟรี

สำหรับลูกค้าเดลิเวอรี่ สามารถกดลิงก์ที่ร้านอาหารลงไว้ในทุกๆ ช่องทาง แล้วสั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ พร้อมตัวเลือกในการส่งเดลิเวอรี่ที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะให้คนของร้านไปส่งเองหรือให้ร้านอาหารเป็นผู้เลือกผู้ให้บริการจัดส่งเจ้าที่คุ้มค่าที่สุด ซึ่งจะมีระบบที่ช่วยแนะนำส่วนลดค่าจัดส่งที่เหมาะสม สำหรับให้ร้านอาหารใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อมอบส่วนลดค่าบริการจัดส่งแก่ลูกค้าที่สั่งอาหารโดยตรงกับทางร้าน” 

Eatable มีกำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปเเบบในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งตอนนี้มีบริการเปิด Public Beta แล้วที่เว็บไซต์ eatable.kasikornbank.com เพื่อเปิดให้ร้านค้าที่สนใจร่วมลงทะเบียน

ตอนนี้ Eatable ได้เริ่มทดลองใช้กับร้านสุกี้เรือนเพชร และร้าน BEAST&BUTTER และโรงแรมเครือกะตะธานี มีผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ การเลือกผู้ขนส่งที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้สามารถเลือกต้นทุนค่าส่งที่ต่ำลงด้วย ซึ่งเท่าที่ทดสอบแล้ว ต้นทุนค่าส่งอาหารลดลงประมาณ 12.5%

เจ้าของร้าน “สุกี้เรือนเพชร” เปิดเผยว่า เคยได้ใช้เเพลตฟอร์มในรูปเเบบนี้ที่จีน เเต่ตอนนั้นยังไม่มีใครทำเเอปฯ เเบบนี้ในเมืองไทย เเต่พอคิดจะทำระบบด้วยตนเองก็มีค่าใช้จ่ายสูง จึงจัดการร้านในเเบบดั้งเดิมอยู่ จากนั้นพอทาง KBTG มาติดต่อก็เห็นว่าไอเดียตรงกัน จึงนำมาทดลองใช้ในบางสาขา

เบื้องต้นพบว่า ประหยัดกระดาษเเละความผิดพลาดของพนักงานลดลง เนื่องจากเเต่เดิมให้ลูกค้าสั่งโดยการจดเมนูเอง บางครั้งเขียนเเล้วขีดฆ่าหรืออ่านลายมือไม่ออก การสั่งผ่าน QR Ordering แม่นยำกว่า ลดความเสียหายจากการทำออเดอร์ผิด อีกทั้งยังลด “การเดิน” ของพนักงาน ให้พวกเขาไม่เหนื่อยมาก และหันไปโฟกัสกับการดูแลลูกค้าแทน โดยทางลูกค้าก็มีการใช้ Eatable อย่างคล่องเเคล่วเพราะคุ้นชินกับการสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ ในช่วงล็อกดาวน์มาแล้ว 

ขณะท่ีเเผนต่อไปของ Eatable จะพัฒนาให้สามารถเชื่อมเข้าสู่บริการรับชำระเงินแบบออนไลน์ได้ในเดือนกันยายนปีนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งครบจ่ายจบได้ในช่องทางเดียว และสเต็ปต่อไปหลังจากเปิดตัว 3 เดือนแรกจะมีการพัฒนาไปสู่การให้บริการนอกเหนือจากร้านอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นร้านขายของชำ มินิมาร์ทหรือร้านขายของต่างๆ ได้ในอนาคต 

นอกจากนี้จะมีการจะมีการเปิดตัวมินิโปรแกรม “ไคไท่เตี่ยนไช่” (Kai Tai Dian Cai) บริการสั่งอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวจีนผ่านแอปวีแชท (WeChat) ในช่วงปลายปีนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อรองรับการกลับมาเปิดท่องเที่ยวอีกครั้ง “เรายืนยันว่าโปรเเกรม ไคไท่เตี่ยนไช่ จะเปิดให้ร้านค้าได้ลองใช้ 1 เดือน ก่อนที่จะมีการทำ Travel bubble เเน่นอน” 

ทั้งนี้ การพัฒนาไคไท่เตี่ยนไช่ ผ่านวีเเชทเป็นหนึ่งในการต่อยอดการลงทุน “ฟินเทค” ในจีนของกสิกรไทย โดยก่อนหน้านี้ KBTG ได้เปิดตัว 2 บริษัท KX และ Kai Tai Tech ในเซินเจิ้น ดึงศักยภาพการทำงานรูปแบบสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธนาคารไทย

ผู้บริหาร KBTG ปิดท้ายว่า ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะมีร้านค้าใช้ Eatable จำนวนเท่าใด แต่หวังว่าจะดึงดูดให้ร้านอาหารมาเข้าร่วมให้มากที่สุด เพราะถือเป็นการลดต้นทุนด้านเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและร้านอาหารที่มีทุนน้อย ให้สามารถเปลี่ยนแปลงและปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลได้ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมวงการร้านอาหารไทยเลยทีเดียว…

 

 

]]>
1285636