Ford Motor – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 30 Oct 2023 09:58:37 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ค่ายรถตะวันตกเปลี่ยนแผนชะลอการผลิต เมื่อตลาด “รถอีวี” ในสหรัฐฯ ไม่เปรี้ยงอย่างที่คาด https://positioningmag.com/1449677 Mon, 30 Oct 2023 04:05:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1449677 ค่ายรถยนต์ฟากตะวันตกหลายรายเปลี่ยนเป้าหมายการผลิตและยอดขาย “รถอีวี” หลังเสียงสะท้อนจากดีลเลอร์พบว่า ดีมานด์รถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ไม่ได้เปรี้ยงต่อเนื่องอย่างที่คาด สต็อกรถอีวีเหลือเพียบ

สำนักข่าว Business Insider รายงาน ผู้บริหารระดับสูงจากค่ายรถยนต์หลายค่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเติบโตในตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีสภาวะที่น่ากังวล และความผันผวนนี้กำลังทำให้กลยุทธ์การทุ่มลงทุนเพื่อพัฒนา “รถอีวี” ของพวกเขาเกิดความเสี่ยง

ตัวอย่างเช่น General Motors (GM) บริษัทที่เป็นหนึ่งในทัพหน้าเข้าสู่ตลาดรถอีวี โดยส่งรถรุ่น Chevrolet Bolt เข้าสู่ตลาดมาแล้ว 7 ปี และวางเป้าหมายว่าจะเปลี่ยนบริษัทให้หันมาผลิตเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้ามานานแล้ว ก่อนที่คู่แข่งคนอื่นจะขยับตัว อย่างไรก็ตาม ด้วยผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ออกมาล่าสุด ทำให้ GM ต้องผ่อนคันเร่งเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าลง

Marry Barra ซีอีโอของ GM ประกาศว่า บริษัทจำต้องเลื่อนเป้าหมายการผลิตรถอีวี 100,000 คันภายในครึ่งปีหลังปี 2023 และเป้าผลิตรถอีวีอีก 400,000 คันภายในครึ่งปีแรกปี 2024 ออกไปอย่างไม่มีกำหนดก่อน

“เมื่อเรากำลังก้าวไปบนเส้นทางการทรานส์ฟอร์มสู่ยุครถอีวีมากขึ้น เส้นทางก็เริ่มมีสะดุดบ้าง” Barra กล่าว

การปรับเป้าของ GM เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะคาดไม่ถึงสำหรับนักลงทุน แต่ GM ไม่ใช่ค่ายเดียวที่เห็นสัญญาณเตือนในตลาดรถอีวี

ภาพจาก Shutterstock

แม้แต่เจ้าตลาดอย่าง Tesla ของมหาเศรษฐี Elon Musk ก็ยังกล่าวเตือนถึงสถานการณ์ตลาดรถอีวีหลังผลประกอบการรอบล่าสุดออกมา โดยบริษัทมองว่าความกังวลด้านเศรษฐกิจจะทำให้ดีมานด์ความต้องการรถยนต์ลดลง และจะมีผลกระทบแม้แต่กับ Tesla

ขณะที่ Mercedes-Benz ค่ายรถยนต์ที่ที่ผ่านมาลดราคารถอีวีหนักมากเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ค่ายนี้ก็ไม่ได้ปิดบังว่าตลาดกำลังผันผวน

“พื้นที่นี้ (ตลาดรถอีวี) แข่งขันกันรุนแรงมาก” Harald Wilhelm ซีเอฟโอของ Mercedes-Benz กล่าวกับนักลงทุน “ผมจินตนาการแทบไม่ออกเลยว่าตลาดแบบที่เป็นอยู่นี้จะยั่งยืนสำหรับทุกคนได้อย่างไร”

 

“รถอีวี” เริ่มขายออกยากขึ้นในสหรัฐฯ

ไม่ใช่แค่ Mercedes-Benz ที่ต้องลดราคารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ขายออก ค่ายรถอีวีหลายค่ายก็ทำแบบเดียวกัน

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ดีลเลอร์รถกลับพบว่ารถอีวีเริ่มจะใช้เวลาขายออกนานขึ้น มีรถสต็อกเหลือในมือดีลเลอร์มากขึ้น เมื่อเทียบกับรถสันดาปปกติ

เหตุเพราะวัฏจักรผู้บริโภคขณะนี้ได้เลยจากกลุ่ม Early-Adopters เข้าสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไปที่มีการเปรียบเทียบหลายด้าน ทั้งด้านราคา โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับรถอีวี และไลฟ์สไตล์ของตนเองที่อาจจะไม่เหมาะกับรถอีวี

Ford Mustang Mach-E รถเอสยูวีไฟฟ้า

หลายเดือนก่อนหน้านี้ ดีลเลอร์เริ่มส่งเสียงบอกผู้ผลิตแล้วว่าความต้องการในตลาดเริ่มจะชะลอลง ซึ่งทางผู้ผลิตเองก็ดูจะรับฟังความเป็นจริง

Ford เป็นเจ้าแรกที่รีบปรับเปลี่ยนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023 โดยขยายกรอบระยะเวลาที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทให้ครบ 600,000 คันภายใน 1 ปีออกไป และล้มเลิกเป้าการผลิตรถอีวี 2 ล้านคันภายในปี 2026 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ด้าน Honda ก็ล้มแผนความร่วมมือกับ GM ที่จะผลิตรถอีวีตลาดแมสในราคาต่ำกว่า 30,000 เหรียญสหรัฐต่อคันออกไปก่อน โดย Toshihiro Mibe ซีอีโอ Honda มองว่าสภาพแวดล้อมในตลาดรถอีวีนั้นผันผวนจนยากเกินกว่าจะวัดได้

“หลังจากศึกษาเรื่องนี้มานาน 1 ปี เราตัดสินใจกันว่าโครงการนี้จะเป็นไปได้ยากในเชิงธุรกิจ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจึงหยุดโครงการพัฒนารถอีวีในราคาเข้าถึงได้ไปก่อน” Mibe กล่าวในการสัมภาษณ์กับ Bloomberg เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

แต่สำหรับบางคน การชะลอตัวของตลาดรถอีวีก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

“ในที่สุดคนก็เริ่มเห็นความเป็นจริง” Akio Toyoda ประธานกรรมการ Toyota Motor กล่าวในงาน Japan Mobility Show ตามการรายงานของ Wall Street Journal โดยค่ายรถญี่ปุ่น Toyota ถือเป็นหนึ่งในค่ายรถที่แสดงออกถึงความกังวลและไม่ค่อยเห็นด้วยมาตลอดต่อการเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่ค่ายรถอื่นๆ กำลังมุ่งหน้าไป

Source

]]>
1449677
จากศัตรูสู่มิตร! “Ford” เซ็นดีล “Tesla” เข้าถึงสิทธิใช้งานสถานีชาร์จ “Supercharger” ทั่วสหรัฐฯ https://positioningmag.com/1431988 Fri, 26 May 2023 11:23:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1431988 เจ้าของรถยนต์ในเครือ Ford Motor กำลังจะได้สิทธิใช้งานสถานีชาร์จ Supercharger กว่า 12,000 แห่งทั่วสหรัฐฯ หลังจากบริษัทเซ็นดีลกับ Tesla เจ้าของสถานีชาร์จเป็นที่เรียบร้อย โดยจะเริ่มให้ใช้งานได้ตั้งแต่ปี 2024

การแข่งขันระหว่างคู่แข่งสำคัญในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าสหรัฐฯ อย่าง Ford Motor กับ Tesla มาถึงจุดที่ต้องยอมจับมือกันบ้างแล้ว เนื่องจากสถานีชาร์จที่ยังไม่เพียงพอ กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้บริโภคยังไม่ตอบรับกระแสรถยนต์ไฟฟ้ามากเท่าที่ควร

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 บริษัท Tesla จึงออกมาประกาศว่า บริษัทจะเปิดลิขสิทธิ์การออกแบบหัวชาร์จของบริษัทเพื่อให้แบรนด์รถยนต์อื่นๆ สามารถนำไปใช้งานในการออกแบบรถยนต์ของตนเองได้

ความสำคัญของนโยบายนี้ก็คือ ปัจจุบัน Tesla เป็นเจ้าของหัวชาร์จ Supercharger กว่า 17,700 หัวชาร์จทั่วสหรัฐฯ คิดเป็น 60% ของหัวชาร์จแบบชาร์จเร็ว (fast charger) ในประเทศ หัวชาร์จลักษณะนี้สามารถเติมไฟให้รถยนต์วิ่งได้ไกลอีกหลายร้อยไมล์ภายในเวลาชาร์จไม่เกิน 1 ชั่วโมง

นโยบายของ Tesla นำมาสู่การจับมือกันกับ Ford และหลังจากนี้ Tesla จะพัฒนาอแดปเตอร์ขึ้นมาเพื่อให้หัวชาร์จ Supercharger ใช้งานกับรถอีวีของ Ford ได้

ขณะที่รถอีวีรุ่นใหม่ของ Ford ในอนาคต จะออกแบบหัวชาร์จให้สอดคล้องกับสถานีชาร์จของ Tesla จะได้ไม่ต้องใช้อแดปเตอร์ให้ยุ่งยากอีกต่อไป คาดว่าหัวชาร์จแบบใหม่ของ Ford ที่ใช้งานกับสถานีชาร์จ Tesla ได้โดยตรงจะเริ่มใช้งานราวปี 2025

Ford Mustang Mach-E รถเอสยูวีไฟฟ้า

“แนวคิดนี้เกิดจากเราไม่ต้องการให้เครือข่าย Supercharger กลายเป็นเหมือนพวกสวนประดับบนกำแพง เราอยากให้มันเป็นอะไรที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนสู่โลกรถยนต์ไฟฟ้าและการขนส่งที่ยั่งยืนในสังคมทั่วไป” อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla กล่าวระหว่างเปิดห้องสนทนากับ จิม ฟาร์ลีย์ ซีอีโอของ Ford Motor ใน Twitter Spaces

“เราชอบโลเคชั่นของ Supercharger เราชอบความเสถียร ซอฟต์แวร์ของคุณ และความสะดวกในการใช้งาน” ฟาร์ลีย์กล่าวในการสนทนาดังกล่าว “Tesla วิ่งเป็นพายุทะลุสถานีรถไฟเหมือนกับชินคันเซนที่วิ่งได้เร็ว 300 กม.ต่อชม. และเรากำลังเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง”

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2023 ฟาร์ลีย์เป็นผู้ประกาศความร่วมมือในครั้งนี้ และบอกด้วยว่าในแง่โครงสร้างพื้นฐานแล้ว เขาเชื่อว่ายังมีช่องว่างให้บริษัทยานยนต์หันมาทำงานร่วมกันได้ “ซึ่งเป็นเรื่องผิดธรรมชาติของพวกเรามากๆ”

“ผมคิดว่าเราต้องเริ่มต้นได้แล้ว ผมหมายความว่า…ผมคิดว่าก้าวแรกคือเราต้องทำงานร่วมกันในแบบที่เราไม่เคยทำมาก่อน เป็นไปได้ว่าเราจะทำงานกับทั้งแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าใหม่ๆ และบริษัทเก่าแก่ด้วยเช่นกัน” ฟาร์ลีย์กล่าว

ตัวอย่างหนึ่งที่ควรจะหันมาทำงานร่วมกัน คือ ฟาร์ลีย์เห็นว่ามันเป็น “เรื่องพิลึกสุดๆ” ที่อุตสาหกรรมนี้มีหัวปลั๊กชาร์จสารพัดแบบ “เราตกลงกันเรื่องปลั๊กที่จะใช้ยังไม่ได้เลย”

Ford จึงกลายเป็นผู้นำคนแรกๆ ที่ยื่นมือออกไปเป็นพันธมิตรกับ Tesla หรือแม้แต่ Nio จากจีน

อีลอน มัสก์ เองก็ดูเป็นพันธมิตรกับ Ford เช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ มัสก์เพิ่งจะพูดปกป้อง Ford หลังบริษัทนี้มีผลประกอบการขาดทุนในกลุ่มธุรกิจรถยนต์อีวี โดยมัสก์บอกว่าการทำกำไรในไลน์ธุรกิจรถยนต์แบบใหม่ๆ นั้นยากเย็นเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเป็นธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสูงขนาดนี้

Source

]]>
1431988
ยุคแห่งเป็นกลางทางเพศ! “ฟอร์ด” เรียกตำแหน่งประธานว่า “chair” แทน chairman https://positioningmag.com/1342212 Wed, 14 Jul 2021 05:16:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1342212 กลายเป็นข่าวที่หลายคนให้ความสนใจสำหรับบริษัทผู้รถยนต์อายุ 118 ปีอย่าง Ford Motor ที่ส่งเอกสารแจ้งหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลสหรัฐฯว่าได้เปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่งประธานบริษัทจาก chairman มาเหลือแค่ chair อย่างเป็นทางการ

ความน่าสนใจคือ Ford ไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่ลงมือเปลี่ยนแปลงภาษาหรือชื่อเรียกในองค์กรให้ไม่ระบุเพศ เพราะก่อนหน้า Ford แบรนด์ใหญ่อย่าง General Motors ก็ยกเลิกตำแหน่ง chairman แล้วใช้คำว่า chair เรียกประธานเจ้าหน้าที่บริหารหญิง “Mary Barra” ตั้งแต่พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผู้ชายมักผูกขาดตำแหน่งผู้บริหารมาตลอด

สำหรับ Ford ขณะนี้ Bill Ford จึงมีตำแหน่งทางการในชื่อ Executive chair ไม่ใช่ Executive chairman โดยที่ยังรับบทเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทที่ปู่ทวดก่อตั้งขึ้นเช่นเดิม จุดนี้รายงานระบุว่าคณะบอร์ดบริหาร Ford ได้ลงมติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 64 ไฟเขียวให้แก้ไขข้อบังคับเพิ่มอีกหลายรายการแบบมีผลบังคับใช้ทันที เพื่อให้ Ford เป็นองค์กรที่ใช้ภาษาที่เป็นกลางทางเพศอย่างเต็มตัว

เพื่อความชัดเจน

Marisa Bradley โฆษกของ Ford อธิบายว่าเพราะตำแหน่งหน้าที่งานของบริษัทนั้นไม่ได้ผูกขาดทางเพศ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งเหล่านี้จะช่วยจำกัดความคลุมเครือ และขับเคลื่อนวัฒนธรรมที่ครอบคลุมและเท่าเทียมที่บริษัทมุ่งมั่น 

คำอธิบายนี้ตรงกับธนาคารเบอร์ 1 ของสหรัฐฯอย่าง JPMorgan Chase & Co. ที่ประกาศช่วงกลางเดือนมีนาคม 64 เช่นกันว่าได้ตัดคำว่า man จนเหลือแต่ chair รวมถึงการแทนคำสรรพนามเฉพาะเพศ เช่นเขาและของเขามาใช้คำที่ไม่เจาะจงเพศว่าเป็นหญิงหรือชาย

การเปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งที่เกิดขึ้นช่วยให้องค์กรสามารถลดแรงกดดันจากสังคมได้ ขณะเดียวกันก็ได้ใจนักลงทุนเพราะเป็นการแสดงจุดยืนว่าองค์กรเปิดกว้างและกำลังกระจายตำแหน่งงานให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย เช่น พนักงานดับเพลิง ตำรวจ พนักงานเสิร์ฟ รวมถึงบุรุษไปรษณีย์ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนชื่อจาก fireman, policeman, stewardess, mailman และ waitress มาเป็น firefighter, police officer, flight attendant, mail carrier และ server เช่นกัน

กรณีของ General Motors โฆษก David Barnas ของ GM กล่าวว่าการเปลี่ยนมาใช้ chair แทน chairman ที่เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนั้นไม่ได้มีการส่งเอกสารไปยังคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์หรือ SEC แต่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงภายในและมีการอัปเดตตำแหน่งใหม่บนเว็บไซต์ของบริษัท ในภาพรวม GM มั่นใจว่าการปรับตำแหน่ง Mary Barra จากchairman และ CEO” มาเป็น “chair and CEO” จะเป็นเพียงหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงมากมายที่จะพาให้ General Motors ก้าวสู่การเป็นบริษัทที่ “inclusive” หรือมีความหลากหลายครอบคลุมมากที่สุดในโลก

ที่ผ่านมา Mary Barra ซีอีโอของ General Motors มีตำแหน่งทางการว่า CEO and chairman นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งในปี 2015 แต่สื่ออย่าง New York Times เลือกที่จะรายงานตำแหน่งในข่าวว่าประธานหญิงหรือ chairwoman แทน จุดนี้ทำให้เกิดมุมมองว่าชื่อตำแหน่งอย่าง chair นั้นถือเป็นแฟชั่นในวงการสื่อที่เกิดใส่ใจเรื่องความเป็นกลางทางเพศมากขึ้นในยุคนี้ แต่โฆษกของ GM ยอมรับว่าทีมผู้บริหารบริษัทต่างให้ความสำคัญและผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลง

ไม่แค่ในองค์กร

การเปลี่ยนชื่อตำแหน่งโดยตัดคำว่า man ออกนั้นเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมานานหลายปีในสังคม หลายวิทยาลัยไม่เพียงแนะนำคำทางเลือกให้ใช้คำว่า chair หรือ chairperson แทน chairman แต่ยังมีการเปลี่ยนคำเรียกชาวประมง “seaman” มาเป็น “seafarer” แม้แต่คำว่าคุณพ่อหรือ “father” ก็ให้เปลี่ยนเป็น “parent” หรือผู้ปกครอง รวมถึงคำว่า “daughter” หรือบุตรสาวก็ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “child” หรือเยาวชนแทน

องค์กรอย่าง LinkedIn ก็เปลี่ยนนโยบายเช่นกัน โดยเมื่อต้นปีนี้ ทำเนียบขาวได้เพิ่มคำสรรพนามที่เป็นกลางทางเพศ ซึ่งผู้คนสามารถเลือกใช้ได้เมื่อติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้น LinkedIn ซึ่งเป็นเว็บไซต์เครือข่ายคนทำงานจึงประกาศแผนให้ผู้ใช้เพิ่มคำสรรพนามเพศที่ต้องการลงในบัญชีสำหรับใช้ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สวีเดน แคนาดา และไอร์แลนด์ แทนที่เป็น he หรือ she ซึ่งแปลตรงตัวว่าเขาหรือเธอ ก็สามารถเลือกใช้คำว่า they แทนได้ในกรณีที่ไม่ต้องการระบุเพศ เป็นอีกการเปลี่ยนแปลงในสังคม LinkedIn ที่มีสมาชิก 738 ล้านคนใน 200 ประเทศทั่วโลก

ในขณะที่ตำแหน่ง chair หรือ chairperson เป็นประเด็นในวงการค่ายรถ เจ้าพ่อเทคโนโลโลยีอย่าง Elon Musk กลับเปลี่ยนชื่อตำแหน่งในมุมที่ต่างออกไป แทนที่จะใช้ตำแหน่ง Chief Executive Officer แต่ Musk ตั้งชื่อตำเเหน่งให้ตัวเองเป็น Technoking of Tesla ตั้งแต่มีนาคม 64 ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนตำแหน่ง Chief Financial Officer เป็น Master of Coin โดยในทางปฏิบัติ ก็จะยังทำงานในหน้าที่เดิม แถมยังบังเอิญเป็นการใช้คำที่เป็นกลางทางเพศก่อนใครด้วย

ที่มา

]]>
1342212