Pops – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 30 Nov 2021 08:59:13 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ย้อนรอย 2 ปีมี ‘วิดีโอสตรีมมิ่ง’ กี่รายต้องโบกมือลาไป และใครที่ยังอยู่รอด https://positioningmag.com/1364461 Mon, 29 Nov 2021 12:57:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1364461 แม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะทำให้ตลาด ‘วิดีโอสตรีมมิ่ง’ จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่ใช่กับทุกแพลตฟอร์ม เนื่องจากการมาของผู้เล่น ‘หน้าใหม่’ แถมเป็น ‘ขาใหญ่ทุนหนา’ จนกลายเป็นตลาดที่แข่งขันสูง ผู้เล่นในระดับภูมิภาคอาจจะไม่มีกำลังต่อสู้มากพอที่จะผลิตคอนเทนต์มาดึงผู้ใช้ ดังนั้น มาย้อนดูกันว่าตลอด 2 ปีมีใครหายไป และใครที่ยังอยู่บ้าง

HOOQ

สำหรับ ‘HOOQ’ (ฮุค) เกิดจากการก่อตั้งโดย Singtel จากสิงคโปร์ ร่วมด้วย Sony Pictures และ Warner Bros. นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือกับ Hotstar ของ Disney และ Grab กับ VideoMax ของอินโดนีเซีย โดยได้เริ่มดำเนินกิจการในปี 2015

โดย HOOQ ให้บริการความบันเทิงหลายรูปแบบ มีทั้งหนัง และซีรีส์จากฮอลลีวูด รวมถึงรายการทิ้งถิ่นเพื่อหวังดึงดูดลูกค้าท้องถิ่น นอกจากนั้นก็ยังมีการผลิตเนื้อหาของตัวเองด้วย ซึ่งในช่วงนั้น Netflix เจ้าตลาดในฝั่งตะวันตกยังไม่ได้บุกตลาดเอเชียมากนัก จึงเป็นโอกาสของ HOOQ ที่จะทำตลาด และขายฐานลูกค้า ทำให้ตลอด 5 ปี ที่ผ่านมาสามารถหารายได้ถึง 80 ล้านเหรียญฯ

อย่างไรก็ตาม แม้รายได้ของ HOOQ จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ค่าใช้จ่ายที่สูงมากก็ทำให้ HOOQ ขาดทุนมาตลอด โดยคาดว่าในปี 2019 ขาดทุนสะสมสูงถึง 220 ล้านเหรียญฯ ทำให้ในเดือนเมษายน 2563 HOOQ ก็ได้ประกาศผ่าน Facebook Official ว่าจะปิดให้บริการในวันที่ 30 เมษายน 2020 ปิดตำนานแพลตฟอร์มที่ให้บริการมาตลอด 5 ปี

Photo : Shutterstock

iflix

เป็นแพลตฟอร์มจากสตาร์ทอัพสัญชาติมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยสามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 348 ล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถขยายบริการในกว่า 24 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแถบตะวันออกกลาง แม้ว่าจะมีการขยายบริการไปในหลายประเทศ แต่จำนวนผู้ใช้กลับมีไม่ถึง 25 ล้านราย

จนมีข่าวว่าในปี 2018 iflix (ไอฟลิกซ์) มีเงินสดในบัญชีเพียงแค่ 12.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ iFlix ต้องการระดมทุนและเตรียม IPO จนมาช่วงต้นปี 2020 ได้มีข่าวว่าบริษัทที่อยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ลดพนักงานประมาณ 50 คนออก ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นผลพวงมาจากปัญหาทางการเงินที่กระท่อนกระเเท่นมากว่า 2 ปี

ในที่สุด iflix ก็ได้โดนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตของจีนอย่าง Tencent ซื้อกิจการไป พร้อมให้เหตุผลว่าเพื่อขยายการเข้าถึง WeTV แพลตฟอร์มสตรีมของตัวเองในภูมิภาค อีกทั้ง Tencent จะได้รับเนื้อหาเทคโนโลยีและทรัพยากรของ iFlix และขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่สำคัญของการเติบโต

LINE TV

รายล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ ก็คือ LINE TV (ไลน์ทีวี) แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจาก LINE แพลตฟอร์มแชทอันดับ 1 ของไทย ซึ่งเปิดตัวให้บริการตั้งแต่ปี 2014 โดยเปิดให้ผู้ใช้ดูฟรี ไม่มีค่าสมาชิก ในช่วงปี 2020 LINE TV มียอดรับชมรวม 1 แสนล้านนาที มีผู้บริโภคกว่า 40 ล้านรายที่เข้าถึงแพลตฟอร์ม

โดยจุดเด่นของ LINE TV อยู่ที่คอนเทนต์ไทย โดยเฉพาะละครรีรัน และซีรีส์วาย ที่มีกว่า 40 เรื่อง อาทิ เพราะเราคู่กัน, Why R U The Series และ En of Love นอกจากนี้ยังมีการ์ตูนและอนิเมะกว่า 100 เรื่อง

อีกจุดแตกต่างของ LINE TV ในการหารายได้นั้นจะแตกต่างออกไปจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่จะเก็บค่าสมาชิก (subscription) หรือทั้ง ดูฟรีและสมัครเป็น VIP แต่รายได้ของ LINE TV มาจาก ค่าโฆษณา เป็นหลัก ดังนั้น ผู้ชมจะได้รับชมคอนเทนต์ฟรี แต่ต้องดูโฆษณาจนจบ และไม่สามารถกดข้ามได้เลย

แม้ปี 2020 LINE TV จะถือเป็นปีทองที่มีการเติบโต แต่ล่าสุด LINE TV ก็ได้ประกาศผ่านเพจ Official ว่าจะให้บริการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี้เท่านั้น โดยอธิบายเพียงว่า ต้องปิดบริการเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การดำเนินการทางธุรกิจของ LINE ประเทศไทย

มีหลายคนมองว่า เนื่องจาก LINE TV ต้องซื้อคอนเทนต์จากพาร์ตเนอร์ และราคาของคอนเทนต์ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ LINE TV มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันที่สูงมากขึ้นจากการมาของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ

คู่แข่งระดับโลก

หากพูดถึงผู้เล่นระดับโลกที่อยู่ในไทย แน่นอนก็มี Netflix (เน็ตฟลิกซ์) ที่ยังคงรุกตลาดไทยต่อเนื่อง มีการออกออริจินอลคอนเทนต์ของไทยอย่างน้อยปีละ 2-3 เรื่อง และอีกค่ายที่เพิ่งมาปีนี้ก็คือ Disney+ Hotstar (ดีสนีย์พลัส ฮอทสตาร์) ที่มีแฟรนไชส์คอนเทนต์สุดแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น Marvel, Star Wars, Pixar ฯลฯ และที่สำคัญคือ คอนเทนต์ส่วนใหญ่มี พากย์ไทย อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมี HBO Go แพลตฟอร์มจาก WarnerMedia โดยภาพยนตร์และซีรีส์เด่น ๆ ก็คือ DC Comics อย่าง Justice League หรือซีรีส์ชื่อดังอย่าง Games of Thrones หรือ Westworld ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย แม้จะยังไม่เห็นการทำตลาดอย่างจริงจัง แต่ก็ถือว่าเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่ชอบดูหนังดูซีรีส์

ทั้งนี้ 3 แพลตฟอร์มดังกล่าวให้บริการแบบ subscription หรือสมัครสมาชิกรายเดือน ไม่มีดูฟรี

คู่แข่งจากเอเชีย

ด้านแพลตฟอร์มที่เน้นคอนเทนต์จากเอเชียเป็นหลักจะมี 3 แพลตฟอร์ม โดย 2 รายมาจากจีน ได้แก่ WeTv (วีทีวี) ที่มีบริษัทแม่อย่าง Tencent โดยจะเน้นที่ซีรีส์จีนเป็นหลัก ต่อมา Iqiyi (อ้ายฉีอี้) สตรีมมิ่งตัว Top ในเครือ Baidu ส่วนอีกรายคือ Viu (วิว) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากฮ่องกง โดยมีจุดแข็งที่ซีรีส์เกาหลี ปัจจุบันขึ้นแท่นเบอร์ 2 ของภูมิภาค เป็นรองแค่ Disney+

โดยทั้ง 3 แพลตฟอร์มนอกจากจะเน้นคอนเทนต์เอเชียเหมือนกันแล้ว โมเดลรายได้ก็เหมือนกันคือ สามารถดูฟรีมีโฆษณาและสมัครเป็น VIP

คู่แข่งโอเปอเรเตอร์

สำหรับโอเปอเรเตอร์ของไทยมีอยู่ 2 ค่ายที่โดดเข้ามาทำแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง โดย เอไอเอส (AIS) ก็มี (เอไอเอส เพลย์) ดูฟรีไม่จำกัดค่าย ไม่ว่าจะเป็นทีวีสด ละครย้อนหลัง ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน คอนเสิร์ต รวมถึงออริจินอลซีรีส์ นอกจากนี้ เอไอเอสยังเป็นพันธมิตรกับ Disney+ Hotstar อีกด้วย

เช่นเดียวกับ True ID (ทรู ไอดี) เป็นแพลตฟอร์มจาก ทรู ที่สามารถดูได้ไม่จำกัด แต่จะมีจุดเด่นที่คอนเทนต์กีฬา ‘พรีเมียร์ลีก’ นอกจากนี้ ยังมีระบบ เช่าหนังใหม่ อีกด้วย

คู่แข่งสัญชาติไทย

สำหรับแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งของไทยมีอยู่ 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Mono Max (โมโน แม็กซ์) และ Doonee (ดูนี่) โดยทั้ง 2 แพลตฟอร์มจะมีคอนเทนต์ที่โดดเด่นคล้าย ๆ กัน อาทิ ภาพยนตร์และซีรีส์ Hollywood โดยเฉพาะพวกซีรีส์สืบสวนสอบสวน และรายการดัง ๆ จากฝั่งอเมริกา แน่นอนว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะพากย์ไทยด้วย

คู่แข่งการ์ตูน

ต้องยอมรับว่าคอนเทนต์การ์ตูนในไทยกำลังมาแรงมาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกระแสของ ดาบพิฆาตอสูร แม้ว่าแพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะมีคอนเทนต์การ์ตูนให้ชม แต่ก็มีแพลตฟอร์มที่เน้นคอนเทนต์การ์ตูนโดยเฉพาะเช่นกัน ได้แก่ Bilibil (บิลิบิลิ), Flixer (ฟลิกเซอร์) และ POPS (พ็อพส์)

 

จะเห็นว่าแค่ช่วงเวลาไม่กี่ปีตลาดสตรีมมิ่งก็มีผู้เล่นจำนวนมากตบเท้ามาให้บริการ และแต่ละแพลตฟอร์มก็มี ทุนหนากันทั้งนั้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่หลายแพลตฟอร์มจะแบกต้นทุนไม่ไหว และสุดท้ายก็ถอยทัพกลับ ก่อนที่จะเจ็บตัวไปมากกว่านี้ จากนี้ไม่รู้ว่าจะมีใครที่ต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน และจะมีใครกล้าลงมาเล่นในตลาดนี้อีกหรือไม่

]]>
1364461
อัปเดต 13 แพลตฟอร์ม ‘ดูหนัง-ซีรีส์’ สตรีมมิ่งแบบถูกลิขสิทธิ์! https://positioningmag.com/1331833 Wed, 12 May 2021 13:45:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331833 ประเทศไทยต้องมาเผชิญกับการระบาดของไวรัส COVID-19 อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นระลอกที่ 3 ซึ่งรุนแรงกว่า 2 ครั้งก่อนหน้า ดังนั้น หลายคนก็หลีกเลี่ยงที่จะออกนอกบ้านเพื่อป้องกันตัวเอง ดังนั้น Positioning จะมาอัปเดตเหล่าแพลตฟอร์ม ‘วิดีโอสตรีมมิ่ง’ กันอีกครั้ง เผื่อใครอยากลองหาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพราะแพลตฟอร์มเดิมอาจจะไม่มีคอนเทนต์อะไรที่น่าดูแล้ว ดังนั้น ไปดูกันว่ามีแพลตฟอร์มไหนบ้าง

Netflix (เน็ตฟลิกซ์)

ชื่อแรกที่ใคร ๆ นึกถึงคงหนีไม่พ้น ‘Netflix’ แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของโลก ซึ่งในแต่ละช่วงก็จะมีซีรีส์หรือคอนเทนต์ใหม่ ๆ มาปลุกกระแสให้พูดถึงในไทยได้ตลอด ก่อนหน้านี้ก็มีซีรีส์เกาหลีอย่าง ‘Vincenzo’ และล่าสุดที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโซเชียลฯ ก็คือ ‘เด็กใหม่ ซีซั่น 2’ ซึ่งเป็นการกลับมาของ ‘แนนโน๊ะ’ ซึ่งปัจจุบันได้ก้าวขึ้นสู่ Top 10 คอนเทนต์ยอดนิยมใน 7 ประเทศแถบเอเชียเลยทีเดียว

ปัจจุบัน แพ็กเกจของ Netflix มี 4 แบบ ได้แก่ แพ็กเกจมือถือ 99 บาทต่อเดือน, แพ็กเกจพื้นฐาน 279 บาทต่อเดือน, แพ็กเกจมาตรฐาน 349 บาทต่อเดือน, แพ็กเกจพรีเมียม 419 บาทต่อเดือน ผู้สมัครใหม่ดูฟรี 30 วันแรก

HBO Go (เอชบีโอ โก)

แพลตฟอร์มจากบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ‘AT&T’ ประกาศควบรวมกิจการ Warner Media โดยเพิ่งให้บริการในไทยไปหมาย ๆ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยมีคอนเทนต์เด่น ๆ อย่าง ‘Justice league snyder cut’ ที่ลงฉายในแพลตฟอร์มวันแรกก็ทำเอาแพลตฟอร์มล่มเลยทีเดียว ซึ่งใครที่เป็นแฟนหนังของค่าย Warner Bros และแฟน DC Coomic ก็เตรียมตัวสมัครได้เลย เพราะมีหนังและซีรีส์ใหม่ ๆ จากทางค่ายให้ดูเพียบ โดยมีค่าบริการที่ 149 บาท/เดือน และสำหรับใครที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน 3BB ก็จ่ายเพิ่มแค่ 39 บาท โดยดูฟรีได้ 7 วันหลังสมัคร

Viu (วิว)

แพลตฟอร์มที่เน้นด้านคอนเทนต์เอเชียเป็นหลัก ไม่ว่าจะจากเกาหลี, ญี่ปุ่น รวมถึงละครย้อนหลังของไทย อาทิ ช่อง One31 และ GMM25 โดยจุดเด่นของ Viu อีกสิ่งที่ถูกอกถูกใจชาวไทยก็คือ ภาคเสียง ‘ภาษาถิ่น’ หากสังเกตจะเห็นว่าหลายแพลตฟอร์มจะเริ่มมีคอนเทนต์พากย์ไทย แต่สำหรับ Viu และมี ‘เสียงภาษาอีสาน’ หรือ ‘เสียงภาษาเหนือ’ เรียกได้ว่าเอาใจคนท้องถิ่นไปเลย

สำหรับใครที่เป็นสาย ‘ดูฟรี’ Viu ก็จัดให้ แต่ต้องดูโฆษณาและได้แค่ความคมชัดภาพแบบ SD แต่ถ้าอยากดูแบบ Full HD ไม่มีโฆษณาก็มีค่าสมาชิกที่ 119 บาท/เดือน 3 เดือน 315 บาท และรายปี 1,199 บาท

WeTV (วีทีวี)

แพลตฟอร์ม ‘WeTV’ ซึ่งมีเจ้าของคือ ‘เทนเซ็นต์’ บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน โดย WeTV มีจุดเด่นด้านซีรีส์จากจีนและเอเชีย โดยเฉพาะภาพยนตร์กำลังภายใน นอกจากนี้ยังร่วมกับผู้ผลิตไทยผลิต ‘ซีรีส์วาย’ ภายใต้โปรเจกต์ “ปฏิบัติการณ์หัวใจ ‘วาย’”

โดยรูปแบบการใช้บริการมีทั้งดูฟรี (มีโฆษณา) และพรีเมียม (WeTV VIP) โดยราคาสมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติ รายเดือน ชำระครั้งแรกที่ 59 บาท, สมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติ ราย 3 เดือน ชำระครั้งแรกที่ 159 บาท และสมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติราย 1 ปี ชำระครั้งแรกที่ 599 บาท

‘iQIYI’ (อ้ายฉีอี้)

‘iQIYI’ (อ้ายฉีอี้) สตรีมมิ่งตัว Top ในเครือ Baidu ที่ได้ฉายาว่า ‘Netflix เมืองจีน’ ที่เพิ่งเหยียบเท้าเข้ามาในไทยอีกราย โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งคู่มี Position เดียวกันกับ WeTV คือ เน้นคอนเทนต์ ‘เอเชียน’ โดย iQIYI เป็นเบอร์ 1 ในตลาดจีน มีผู้ชมต่อเดือนสูงกว่า 600 ล้านคน มีผู้ใช้งานแบบสมาชิกหรือ VIP ทะลุ 100 ล้านคน โดยคอนเทนต์แม่เหล็กของ iQIYI นอกจากซีรีส์จีนแล้วก็มีรายการวาไรตี้อย่าง Youth With You ที่ได้ ‘ลิซ่า’ วง Blackpink มาทำหน้าที่เป็นเมนเทอร์ และอีกส่วนที่เป็นที่พูดถึงมากก็คือ ‘การ์ตูนญี่ปุ่น’

หน้าแรกเว็บไซต์ iq.com อีกหนึ่งช่องทางรับชมของ iQIYI

LINE TV (ไลน์ทีวี)

แพลตฟอร์มที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดี โดย LINE TV ได้นิยามตัวเองว่า ‘King of Thai Content’ เพราะปัจจุบันมีทั้งละคร ซีรีส์ ซิทคอม ภาพยนตร์ การ์ตูน รายการวาไรตี้ รวมถึง Original Content รวมมากกว่า 1,000 รายการ จากพันธมิตรกว่า 250 ราย ขณะที่ในกลุ่ม ‘ซีรีส์วาย’ ที่กำลังได้รับความนิยม LINE TV ก็ถือว่ามีจำนวนคอนเทนต์มากสุดในไทยถึง 33 เรื่อง อีกจุดเด่นก็คือ ดูฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

AIS Play (เอไอเอส เพลย์)

แพลตฟอร์มคอนเทนต์จากโอเปอเรเตอร์ของไทยที่ให้ดูฟรีไม่จำกัดค่าย ไม่ว่าจะเป็นทีวีสด ละครย้อนหลัง ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน คอนเสิร์ต รวมถึงออริจินอลซีรีส์ แต่สำหรับใครที่ไม่จุใจก็สามารถสมัครบริการแบบพรีเมียม โดยจะสามารถดู 31 ช่องรายการ พร้อมหนังและการ์ตูนออนดีมานด์ รวมถึงดูคอนเทนต์ของ ‘Viu’ และ ‘bein sport’ ได้ด้วย

True ID (ทรู ไอดี)

เป็นแพลตฟอร์มจากโอเปอเรเตอร์และสามารถดูได้ไม่จำกัดค่ายเช่นกัน แต่ True ID จะมีจุดเด่นที่แตกต่างจาก AIS Play ตรงที่ มีกีฬา ‘พรีเมียร์ลีก’ ให้ชม แน่นอนว่าดูฟรีเฉพาะบางคู่ และสามารถเช่าหนังพรีเมียมได้ในราคา 149 บาท หรือจะใช้ True Point เพื่อเเลกชมก็ได้ โดยหนังใหม่ใน True ID นั้นมาเร็วมาก แต่หนังฟรีก็มี รวมถึงออริจินอลคอนเทนต์ด้วย

Doonee (ดูนี่)

แพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่ให้ดูฟรี 30 วันเมื่อสมัคร แถมราคาเเพ็กเกจก็หลากหลาย ทั้งรายวัน 9 บาท รายเดือน 150 บาท และรายปี 1,500 บาท โดยคอนเทนต์ที่โดดเด่นจะเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ Hollywood โดยเฉพาะพวกซีรีส์สืบสวนสอบสวน และรายการดัง ๆ จากฝั่งอเมริกา อย่าง hell kitchen, Master Chef และด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มคนไทย แน่นอนว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะพากย์ไทยด้วย

MONOMAX (โมโนแมกซ์)

คงไม่ต้องบอกสรรพคุณ ใครที่เป็นแฟนหนังและซีรีส์ในช่อง Mono29 ก็ตามไปดูต่อกันผ่านแพลตฟอร์มได้ ล่าสุดก็มีภาพยนตร์เรื่อง ‘007’ มาลงให้ชมครบทุกภาคด้วย แฟน ๆ ก็ตามรอได้เลย ใครสนใจก็สมัครดูได้ ให้ดูฟรี 30 วันเช่นกัน ใครติดใจก็สมัครต่อได้ในแพ็กเกจ 250 บาท/เดือน และ 2,500 บาท/ปี

Bilibil (บิลิบิลิ)

ในปีที่ผ่านมา กระแสของ ‘อนิเมะ’ หรือการ์ตูนญี่ปุ่นมาแรงมากในฝั่งบ้านเรา โดยเฉพาะ ‘Demon Slayer’ หรือ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ นอกจากนี้ก็มี My Hero Academia, Attack on Titan หรือ Jujutsu Kaisen ที่กำลังโด่งดังไม่แพ้กัน ทำให้หลายแพลตฟอร์มก็จะมีการ์ตูนเรื่องเหล่านี้อยู่เกือบทุกแพลตฟอร์ม และสำหรับ ‘Bilibili’ ก็จะเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติจีนที่เน้นไปทางอนิเมะแบบเต็มตัว ใครที่เป็นแฟนมังงะการ์ตูนญี่ปุ่นก็โหลดมาดูได้เลย

สำหรับ Bilibili เปิดให้ดูฟรีหรือสมัคร VIP ที่จะสามารถเนื้อหาพิเศษและดูตอนใหม่ ๆ ได้ก่อนในความละเอียด 1080P โดย 1 เดือนราคา 125 บาท 3 เดือน 350 บาท และ 1 ปี 1,200 บาท

Flixer (ฟลิกเซอร์)

แพลตฟอร์มที่เน้นไปที่ ‘การ์ตูน’ เช่นกัน แต่จะไม่ได้เน้นที่อนิเมะ แต่จะเป็นการ์ตูนไลฟ์แอคชั่น อาทิ มาส์กไรเดอร์ ขบวนการเซ็นไท อุลตร้าแมน กันดั้ม โดยบริษัท ฟลิกเซอร์ จำกัด ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มมีพาร์ตเนอร์รายใหญ่เป็น บริษัทดรีม เอกซ์เพรส หรือ DEX ที่เป็นผู้นำด้านลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากญี่ปุ่นในไทยมานานกว่า 18 ปี โดย Flixer สามารถดูฟรีและแบบพรีเมียมในราคา 79 บาท

POPS (พ็อพส์)

แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจาก POPS Worldwide (ประเทศไทย) ที่เปิดตัวในเวียดนามปีที่ผ่านมา และเตรียมขยายให้ครอบคลุมทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย POPS จะคล้าย ๆ Flixer ที่เน้นคอนเทนต์การ์ตูน รวมไปถึงซีรีส์เกาหลี และมีออริจินัลคอนเทนต์ที่มีพันธมิตรเป็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ อย่าง บี้-เดอะสกา, ต่อ-ตอปิโด หรือทีมอีสปอร์ตระดับท็อปของไทยอย่าง เบคอน ไทม์ โดยสามารถดูฟรี

ทั้งนี้ มีอีกเเพลตฟอร์มที่หลายคนตั้งตารออย่าง Disney + ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเข้าไทยเมื่อไหร่ แม้ว่าจะมีหน้าเว็บไซต์ภาษาไทยรองรับแล้ว รวมถึงมีราคาค่าสมาชิกที่หลุดมาคือ 219 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าระหว่าง COVID-19 ระลอก 3 กับ Disney + อะไรจะได้เห็นก่อนกัน

]]>
1331833
ฉากต่อไป “ทีวี ธันเดอร์” ยุคเจน 2 ต้องเด็กลง! ขอปรับภาพเกมโชว์ จับตลาด “ซีรีส์วาย” https://positioningmag.com/1297387 Thu, 17 Sep 2020 14:26:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1297387 อานิสงส์คนอยู่บ้านเเละต้อง Work from Home ในช่วงวิกฤต COVID-19 ทำให้ตลาดคอนเทนต์เติบโตขึ้นอย่างน่าจับตามอง

เมื่อผู้คนอยู่หน้าจอกันมากขึ้น เสพสื่อหลากหลาย ผ่านทั้งช่องทีวีดั้งเดิม แพลตฟอร์ม OTT ต่างชาติ เเละโซเชียลมีเดีย การเเข่งขันของรายการทีวี วาไรตี้ เเละตลาดใหญ่อย่างซีรีส์ดุเดือดมากขึ้น ผลักดันให้เหล่าผู้ผลิตต้องคิดหาของใหม่เร่งทำผลงานให้เข้าตาเเละเข้าใจผู้ชมยุค New Normal

ที่ผ่านมา เราคงคุ้นเคยกับชื่อของทีวี ธันเดอร์ ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่คร่ำหวอดมายาวนานในวงการบันเทิงไทยเกือบ 3 ทศวรรษ มีรายการในตำนานอย่างมาสเตอร์คีย์ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากทั้งปัญหาเล็กใหญ่ ครั้งนี้ถึงกับยอมรับว่าการมาของ COVID-19 เป็นวิกฤตที่หนักหนาที่สุด

ท่ามกลางความท้าทายนี้ทีวี ธันเดอร์มองทิศทางต่อไปที่จะปรับภาพลักษณ์จากผู้ผลิตรายการเกมโชว์ วาไรตี้ ละคร ส่งลงตามช่องทีวี หันไปเน้นผลิตซีรีส์ ป้อนให้ OTT มากขึ้น โดยเฉพาะตลาด “ซีรีส์วาย” ที่กำลังเนื้อหอมพร้อมๆ กับการปั้นนักเเสดง ให้มีเเฟนคลับต่างชาติที่มีกำลังซื้อหนา อย่างจีน รัสเซีย ฟิลิปปินส์เเละมาเลเซีย

จับกระเเสใหม่ ปั้น “ซีรีส์วาย” บุกเเพลตฟอร์ม OTT

ณฐกฤต วรรณภิญโญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) ทายาทรุ่นสองที่เข้ามาสืบทอดธุรกิจ เล่าให้ Positioning ฟังว่า ในไตรมาส 4 ของปีนี้ทีวี ธันเดอร์รับรู้รายได้ Black log 150 ล้านบาท จากการผลิตคอนเทนต์ป้อนแพลตฟอร์มต่างๆ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการ “ผลิตซีรีส์”

เดิมทีภาพลักษณ์ของทีวี ธันเดอร์ จะถูกมองว่าเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ประเภทรายการโทรทัศน์ป้อนทีวีสถานีต่างๆ อย่าง ช่อง 3 , ช่อง 8 , PPTV , ไทยรัฐทีวีเเละ True4U เเต่เมื่อมีกระเเสความนิยมการดูวาไรตี้เเละซีรีส์ผ่านเเพลตฟอร์ม OTT ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็น “โอกาสทอง” ที่จะขยายไปเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดนี้

โดยบริษัทเริ่มความสำคัญต่อช่องทาง OTT ตั้งแต่ 3 ปีก่อน เริ่มจาก AIS play และ LINE TV ปัจจุบันได้ขยายไปในหลายแพลตฟอร์มอย่าง WeTV, NetFlix, POPS และ Viu ยิ่งในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เร่งให้ OTT ในไทยเติบโตได้เร็วขึ้น “ผลงานของคนไทย” จึงเป็นที่ต้องการของตลาดนี้มากขึ้น

“ทีวีธันเดอร์เป็นเบอร์แรกๆ ที่กลุ่ม OTT ต่างชาติเข้ามาเจรจาพูดคุยให้ผลิตคอนเทนต์ให้ โดยเฉพาะประเภทซีรีส์” ณฐกฤต กล่าว

ณฐกฤต วรรณภิญโญ เเละ ภัทรภร วรรณภิญโญ สองผู้บริหารทีวี ธันเดอร์

ทีวี ธันเดอร์ จึงปรับรับด้วยการตั้งทีมงานใหม่ที่โฟกัสกลุ่มซีรีส์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเทรนด์ซีรีส์วายที่กำลังเติบโตดังนั้นในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า บริษัทจะเน้นผลิตคอนเทนต์ซีรีส์ให้เเพลตฟอร์ม OTT เป็นหลัก เช่น Manner of Death พฤติการณ์ที่ตาย ซึ่งเป็นซีรีส์สายวายที่จะทำป้อนให้กับทาง WeTV

“เรามองว่ากลุ่มผู้ชมซีรีส์สายวายมีการเติบโตขึ้น ไม่จำกัดเเค่กลุ่มผู้หญิง เเต่มีกลุ่มผู้ชายเเละหลากหลายช่วงวัย ด้วยความที่ตลาดนี้เริ่มมีผู้เล่นเข้ามาเยอะ ผู้ผลิตหลายเจ้าหันมาจับกระเเสนี้ เราจึงพยายามจะทำคอนเทนต์ให้เเตกต่าง อาจจะทำเป็นซีรีส์วายที่ไม่เน้นความโรเเมนติกจ๋ามาก เเต่หันไปเน้นพล็อตเรื่องที่ซับซ้อน เป็นเรื่องราวการสืบสวน สอบสวน” 

ก่อนหน้านี้ ทีวี ธันเดอร์ เคยประสบความสำเร็จจากซีรีส์วายที่ฉายบน LINE TV อย่าง “Together With Me อกหักมารักกับผม” เกิดกระเเสคู่จิ้น “แม็กซ์-ตุลย์” หรือ แม็กซ์-ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์ เเละตุลย์-ภากร ธนศรีวนิชชัย สองนักเเสดงนำที่ตอนนี้มีเเฟนคลับกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในจีน รัสเซีย ฟิลิปปินส์เเละมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นเเนวทางให้ บริษัทบุกเเผน “ปั้นนักเเสดงหน้าใหม่” ออกมาอีกในช่วงต่อไป

“แม็กซ์-ตุลย์” จากซีรีส์ Together With Me อกหักมารักกับผม

“ภาพรวมของการลงทุนการผลิตคอนเทนต์จากนี้ไปจนถึงปีหน้า อาจจะต้องใช้มากขึ้นราว 20% ถือว่าเป็นปีที่กลับมาลงทุนสูงอีกครั้ง จากปกติที่มีการลงทุนราว 300 ล้านบาทต่อปี” 

ทั้งนี้ ปัจจุบันทีวี ธันเดอร์ ทำคอนเทนต์ป้อนเเพลตฟอร์ม OTT ในสัดส่วน 50% เท่าๆ กับช่องทางทีวี ซึ่งเเผนต่อไปจะขยายทำส่ง OTT มากขึ้น ตามความนิยมของตลาดคนดู

โดยล่าสุด บริษัทมีการผลิตคอนเทนต์ทั้งหมด 5 รายการ ซีรีส์เเละละคร 7 เรื่อง ยกตัวอย่าง เช่น มาสเตอร์คีย์ , Take Me Out Thailand , ใครเบอร์หนึ่ง Who is No. 1 , Show Me The Money thailand ซีซั่น 2 , ละคร หลวงตามหาชน , ละคร คุณแจ๋วกะเพราไก่คุณชายไข่ดาว , ซีรีส์ เสน่หาสตอรี่ , ซีรีส์ Manner of Death พฤติการณ์ที่ตาย , Take Me Out Reality , ราคาพารวย the Price is Right Thailand เเละ Take Guy Out Thailand

ตลาดทีวีไทย วาไรตี้…ยังขายได้ 

เเม้ทิศทางของทีวี ธันเดอร์ จะมุ่งไปเน้นการทำซีรีส์ป้อน OTT เเต่ก็ยังย้ำว่า “จะไม่ทิ้งทีวี” เพราะมีฐานผู้ชมเหนียวเเน่นมายาวนาน รายการวาไรตี้เเละรายการบันเทิงในตลาดทีวีไทยก็ยังได้รับความนิยมต่อเนื่องเเละเพิ่มขึ้น โดยในปีหน้ากำลังเจรจากับทางช่องต่างๆ อยู่ คาดว่าจะมีออกมาอย่างน้อย 2 รายการ

โดยคอนเทนต์ฮีโร่ของทีวี ธันเดอร์ ได้เเก่ Take Me Out Thailand , Show Me The Money thailand เเละ ซีรีส์ที่เพิ่งเปิดตัวไปอย่าง Manner of Death พฤติการณ์ที่ตาย

ณฐกฤต เล่าเกร็ดเล็กๆ ให้ฟังว่า ปกติเเลัวอายุของรายการทีวีที่มีกระเเสดีมากๆ จะอยู่ราว 3-4 ปี เพื่อไม่ให้คอนเทนต์ซ้ำเเละคนดูยังไม่เบื่อเกินไป เเต่ Take Me Out Thailand อยู่มาเเล้ว 7 ปีก็ถือว่ามาไกลกว่าที่คิดไว้มาก “อนาคตของ Take Me Out Thailand ก็คงไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก เเต่เราจะไปเน้นที่การรักษาคุณภาพ รักษาระดับที่เคยทำไว้ให้ดีเท่าเดิมมากกว่า” 

Photo : facebook /takemeoutthailand

เเม้ตลาดคอนเทนต์จะเติบโตขึ้น แต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่มาก ผู้บริหารทีวี ธันเดอร์มองว่า สิ่งที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้อง ตามให้ทัน คือ “รสนิยมของผู้ชม” ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีความหลากหลาย ทำให้ต้องทำการบ้านกันเยอะขึ้น อีกทั้งการทำคอนเทนต์ส่งลงช่องทางต่างๆ ก็จะทำการตลาดที่ไม่เหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนดูทีวี ส่วนใหญ่จะอายุ 35 ปีขึ้นไป ชอบดูอะไรที่คุ้นเคย เข้าใจง่าย ไม่ชอบดูอะไรที่ซับซ้อนมาก ส่วนกลุ่มผู้ชมผ่านแพลตฟอร์ม OTT ส่วนใหญ่จะอายุต่ำกว่า 25 ปี ต้องการความเเปลกใหม่ ไม่ซ้ำซาก ไม่ยืดยาว มีความเปิดกว้างกว่า 

“ละครผ่านทีวีจะเน้นเป็นบทประพันธ์นักเขียนรุ่นเก่า เเต่ซีรีส์ผ่าน OTT จะเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่ทำผลงานโด่งดังในโลกโซเชียล ซึ่งทีวี ธันเดอร์ กำลังมองหาบทซีรีส์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น ซึ่งตอนนี้เราก็มีทีมงานคอยเสาะหานักเขียนใหม่ๆ บทใหม่ๆ ตามเเพลตฟอร์มต่างๆ อยู่ตลอด” 

หารายได้จาก “โซเชียล” ฝ่าพิษ COVID-19 

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่าปีนี้ถือเป็นวิกฤตที่หนักที่สุดของวงการนี้ โดยผู้บริหารรุ่นก่อตั้งอย่าง “ภัทรภร วรรณภิญโญ” ซีอีโอของทีวี ธันเดอร์ เปิดเผยว่า ตั้งเเต่เดือนมี.ค.ช่วงนั้นแทบไม่ได้ออกไปถ่ายทำรายการหรือซีรีส์ เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ ทำให้รายได้รวมในครึ่งปีนี้ติดลบ 20% เป็นปีแรก ขณะที่ตลาดรวมติดลบไป 30%

“คาดว่ารายได้ในปีนี้ไม่ได้โตไปกว่าปีก่อน และคิดว่าจะลดลงราว 10%” 

สัดส่วนรายได้ของบริษัท หลักๆ มาจากการรับจ้างผลิตคอนเทนต์ 60% โฆษณา 35% เเละอื่นๆ 5% โดยในส่วนอื่นๆ นี้ เเบ่งเป็นการจัดอีเวนต์ การทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งให้เเบรนด์ต่างๆ รวมถึงรายได้ที่เกิดจากช่องทางโซเชียลมีเดียของทั้งบริษัท

โดยทีวี ธันเดอร์ มีช่องทางออนไลน์ของตัวเองที่สามารถนำมาต่อยอดทำรายได้ เพื่อพยุงรายได้ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการพีอาร์นักเเสดง การรับเเอดโฆษณา รายได้ค่าวิดีโอจากเเพลตฟอร์ม อย่าง Youtube เเละ Facebook ซึ่งปัจจุบันช่องทาง Youtube มีตัวเลขผู้ติดตามอยู่ที่ 5.79 ล้านคน ทาง Facebook ของเพจ TV Thunder มีผู้ติดตาม 2.2 ล้านคน Twitter 4,600 คน ยอดผู้ติดตามใน Instagram 92,000 คน และเพจรายการ Take Me Out Thailand มีผู้ติดตามมากที่สุดในเครือที่ 7.8 ล้านคน

“เรามีการหารายได้อื่นๆ พยายามจะเป็น One Stop Service ทั้งผลิตคอนเทนต์ให้ โปรโมตทำมาร์เก็ตติ้งให้ได้ จัดอีเวนต์ได้ มีฐานโซเชียลที่เเข็งเเกร่ง” 

ภัทรภร ทิ้งทายว่า สิ่งที่ทำให้ทีวี ธันเดอร์ ยังอยู่ได้มาเกือบ 3 ทศวรรษ ผ่านมรสุมมามากมายทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง การปฎิวัติ น้ำท่วมใหญ่เเละตอนนี้คือ COVID-19 นั้นก็คือ “การปรับตัวอยู่เสมอ” การที่ตลาดคอนเทนต์โตในช่วงนี้ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี เเละเชื่อว่าธุรกิจจะผ่านวิกฤตไปได้

]]> 1297387 Update ตั้งแต่ ‘HOOQ’ ไป แพลตฟอร์มไหนยังอยู่ และอีกกี่รายที่กำลังจะมา https://positioningmag.com/1276822 Tue, 05 May 2020 06:36:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1276822 ถือว่าใจหายอยู่สำหรับ ‘HOOQ’ แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งที่ทำตลาดมากว่า 5 ปีได้เลิกกิจการไปด้วยเหตุ ‘สู้ต้นทุนไม่ไหว’ ดังนั้นเราจะมา Update กันว่ายังมีผู้ให้บริการที่ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ และมีผู้เล่นอีกกี่รายที่เตรียมบุกตลาดไทย บอกได้คำเดียวเลยว่าตลาดนี้ไม่ใช่ Blue Ocean อีกต่อไปแล้ว

Netflix (เน็ตฟลิกซ์)

แพลตฟอร์มยอดฮิตของไทยและของผู้ใช้ทั่วโลก ที่เริ่มต้นมาจากธุรกิจให้เช่า DVD ผ่านทางเว็บไซต์ และแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวด้วยระบบ Movie Recommendation ช่วยแนะนำภาพยนตร์เรื่องใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า และพัฒนามาเป็น Online Streaming ในปี 2007 และต่อยอดจนมี Original Content ของตัวเองและเติบโตจนให้บริการกว่า 190 ประเทศ มีผู้ใช้กว่า 160 ล้านราย และคาดว่าปีนี้อาจทะลุ 190 ล้านราย

Viu (วิว)

หนึ่งในบริการดูหนังและซีรีส์ที่เติบโตเร็วสุดของเอเชีย ที่เริ่มให้บริการเมื่อปี 2017 โดยกลุ่มบริษัท PCCW Media (พีซีซีดับเบิลยู มีเดีย) พร้อมได้พันธมิตรเป็น 3 ช่องทีวีจากเกาหลี ได้แก่ SBS, KBS และ MBC ทำให้มีจุดเด่นด้านคอนเทนต์เกาหลีและเอเชีย ทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์และรายการวาไรตี้ แถมมาพร้อมกับโมเดล ‘ฟรีเมียม’ ให้ ดูฟรี ไม่เสียเงิน แต่มีโฆษณาและได้แค่ความคมชัดภาพแบบ SD แต่ถ้าอยากดูแบบ Full HD ไม่มีโฆษณา สามารถสมาชิกได้ในราคา 119 บาท/เดือน โดยปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการกว่า 41.4 ล้านคน มียอดเข้าชมกว่า 5.7 พันล้านครั้ง จากการให้บริการใน 6 ประเทศ

WETV (วีทีวี)

หลังจากที่ยักษ์ใหญ่อย่าง ‘เทนเซ็นต์’ ได้ให้บริการแพลตฟอร์ม Tencent Video ในประเทศจีน จนปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 200 ล้านคน/วัน มีออริจินอลคอนเทนต์กว่า 80 เรื่อง ก็มาถึงช่วงขยายการเติบโต โดยเปิดตัว แพลตฟอร์ม ‘WeTV’ ในไทยประเทศแรกต่อจากจีน โดย WeTV มีจุดเด่นด้านซีรีส์จากจีนและเอเชีย ที่น่าจะถูกใจคอภาพยนตร์กำลังภายใน และสาว (วาย) อย่าง ‘ปรมาจารย์ลัทธิมาร’ ซึ่งรูปแบบการใช้บริการมีทั้งดูฟรีและพรีเมียม ถ้าอยากดูชัด ดูเร็ว และไม่มีโฆษณาคั่นก็จัดเลย เดือนละ 59 บาท

iFlix (ไอฟลิกซ์)

ไอฟลิกซ์เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2014 โดยเน้นเจาะตลาดเกิดใหม่เป็นหลักหรือประเทศที่กำลังพัฒนา โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 28 ประเทศ นอกจากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วยังมี ประเทศอื่น ๆ อาทิ เนปาล, บังกลาเทศ, ซิมบับเว, แทนซาเนีย  โมร็อกโก และยูกันดา มีสมาชิกรวมกว่า 15 ล้านคน ในส่วนของคอนเทนต์จะเน้นความหลากหลายทั้งฝรั่ง จีน เกาหลี การ์ตูน มีหมด แถมบางคอนเทนต์ยังอัพเดตเร็วมาก ฉายจาก US ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็มีซับไทยแล้ว ขณะที่รูปแบบการให้บริการก็มีทั้งฟรี iflixFREE และรูปแบบบริการแบบจ่ายค่าบริการสมาชิก ดูได้ไม่อั้นบน iflixVIP ในราคา 100 บาท/เดือน

LINE TV (ไลน์ทีวี)

แอปซีรีส์, ละครย้อนหลังและรายการวาไรตี้ยอดฮิตของคนไทย แถมมีออริจินอลซีรีส์ของตัวเองด้วย และที่ดีงามที่สุดคือ ดูฟรี แต่มีโฆษณานะ

ออริจินอล คอนเทนต์ ของ LINE TV ในปี 2563

AIS Play (เอไอเอส เพลย์)

แพลตฟอร์มคอนเทนต์จากโอเปอเรเตอร์ของไทยที่ให้ดูฟรีไม่จำกัดค่าย โดย AIS มี Netflix และ Viu เป็นพันธมิตร และมีคอนเทนต์ครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทีวีสด ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน คอนเสิร์ต รวมถึงออริจินอลซีรีส์ ‘คลับสะพานฟาย’ ที่พึ่งเปิดตัวปีนี้ แต่สำหรับใครที่อยากจะดู 10 ช่องพรีเมียม มีค่าบริการที่ 119 บาท/เดือน

True ID (ทรู ไอดี)

เป็นแพลตฟอร์มจากโอเปอเรเตอร์และสามารถดูได้ไม่จำกัดค่ายเช่นกัน แต่ True ID จะมีจุดเด่นที่แตกต่างจาก AIS Play ตรงที่ มีกีฬา ‘พรีเมียร์ลีก’ ให้ชม แน่นอนว่าดูฟรีเฉพาะบางคู่ และสามารถเช่าหนังพรีเมียมได้ในราคา 149 บาท โดยหนังใหม่ใน True ID นั้นมาเร็วมาก แต่หนังฟรีก็มี รวมถึงออริจินอลคอนเทนต์ด้วย เช่น ‘Voice สัมผัสเสียงมรณะ’

Doonee (ดูนี่)

แพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่ให้ดูฟรี 30 วันเมื่อสมัคร แถมราคาเเพ็กเกจก็หลากหลาย ทั้งรายวัน 9 บาท รายเดือน 150 บาท และรายปี 1,500 บาท โดยคอนเทนต์ที่โดดเด่นจะเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ Hollywood โดยเฉพาะพวกซีรีส์สืบสวนสอบสวน และรายการดัง ๆ จากฝั่งอเมริกา อย่าง hell kitchen, Master Chef และด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มคนไทย แน่นอนว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะพากย์ไทยด้วย

MONOMAX (โมโนแมกซ์)

คงไม่ต้องบอกสรรพคุณ ใครที่เป็นแฟนหนังและซีรีส์ในช่อง Mono29 ก็ตามไปดูต่อกันผ่านแพลตฟอร์มได้ ล่าสุดเตรียมเอาซีรีส์ “WESTWORLD Season 3” (เวสต์เวิลด์ ซีซั่น 3) มาลงด้วย แฟน ๆ ก็ตามรอได้เลย ใครสนใจก็สมัครดูได้ ให้ดูฟรี 30 วันเช่นกัน ใครติดใจก็สมัครต่อได้ในแพ็กเกจ 250 บาท/เดือน และ 2,500 บาท/ปี

Flixer (ฟลิกเซอร์)

แพลตฟอร์มที่มีจุดยืนชัดเจน ว่ารวบรวมคอนเทนต์จากญี่ปุ่น โดยเฉพาะ ‘การ์ตูน’ ไม่ว่าจะเป็นฮีโร่ มาส์กไรเดอร์ ขบวนการเซ็นไท อุลตร้าแมน กันดั้ม อีกทั้งยังมีรายการแนวพาเที่ยว พาชิม บันเทิงวาไรตี้สนุก ๆ มากมาย โดยบริษัท ฟลิกเซอร์ จำกัด ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มมีพาร์ตเนอร์รายใหญ่เป็น บริษัทดรีม เอกซ์เพรส หรือ DEX ที่เป็นผู้นำด้านลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากญี่ปุ่นในไทยมานานกว่า 18 ปี โดย Flixer สามารถดูฟรีและแบบพรีเมียมในราคา 89 บาท

POPS (พ็อพส์)

แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจาก POPS Worldwide (ประเทศไทย) ที่เปิดตัวในเวียดนามปีที่ผ่านมา และเตรียมขยายให้ครอบคลุมทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย POPS จะคล้าย ๆ Flixer ที่เน้นคอนเทนต์การ์ตูน แต่เป็นฝั่งซูเปอร์ฮีโร่อเมริกัน อาทิ ไอรอนแมน (Ironman) วูล์ฟเวอรีน (Wolverine) เอ็กซ์เมน (X-MEN) เบลด (BLADE) และออริจินัลคอนเทนต์ที่มีพันธมิตรเป็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ อย่าง บี้-เดอะสกา, ต่อ-ตอปิโด หรือทีมอีสปอร์ตระดับท็อปของไทยอย่าง เบคอน ไทม์ โดยสามารถดูฟรี

รายนามยักษ์ใหญ่ที่กำลังเข้ามา

จากลิสต์รายชื่อ ดูเหมือนจะมีแค่ ‘Netflix’ รายเดียวที่เป็นรายใหญ่ระดับโลก ที่เหลือเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคและผู้ให้บริการในไทย ขณะเดียวกัน ผู้เล่นรายใหญ่ที่ยังไม่มาไทยก็กำลังเดินหน้าทำตลาดอื่น ๆ ในโลก อาทิ Disney + ของ Disney เจ้าของแฟรนไชส์พันล้านอย่าง Marvel และ Star wars, Amazon Prime Video โดย Amazon,  Apple TV+ จาก Apple,  HBO Max เจ้าของซีรีส์สุดฮิตอย่าง Game of throne และ Hulu นอกจากนี้ยังมีรายที่ยังไม่เปิดตัวอย่าง Peacock โดย NBCUniversal และไม่ใช่แค่ฝั่งยุโรป แต่เอเชียก็ยังมีผู้เล่นรายใหญ่ ๆ อีกนอกจาก ‘เทนเซ็นต์’ ที่เปิดตัว WeTV ในไทย อาทิ iQiyi (อ้ายฉีอี้) ฉายา Netflix ของจีน โดยมีเจ้าของคือ Baidu และ YouKu โดย Alibaba

ขนาดยังมาไม่ครบ ก็ทำเอาผู้เล่นระดับภูมิภาคไปแล้ว ถ้าวันที่ผู้เล่นเหล่านี้ทำตลาดครบทุกประเทศ ผู้เล่นที่เล็กกว่าจะใช้แผนไหนเพื่อสร้างรายได้ให้อยู่รอด คงต้องรอดูกันยาว ๆ

#Netflix #Viu #HOOQ #WETV #LINETV #iFlix #Doonee #MONOMAX #Flixer #Pops #TrueID #AISPlay #Disney+ #AmazonPrimeVideo #AppleTV+ #HBOMax #Hulu  #Peacock #iQiyi #YouKu #Positioningmag

]]>
1276822