ทุกคนรู้ แบรนด์รู้ ‘ซีรีส์วาย แมสแล้ว’ แต่จะใช้ทำ ‘Marketing’ อย่างไรให้ปังเหมือนซีรีส์

ถ้าพูดถึงกระแสคอนเทนต์ที่มาแรงแซงหน้าทุกอย่างในตอนนี้คงหนีไม่พ้น ‘ซีรีส์วาย’ แม้จะดูเป็นกระแสใหม่ ๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคอนเทนต์ประเภทนี้มีมาเป็นสิบปีแล้ว ส่วนกระแสคู่จิ้นก็ไม่ได้มีแค่ในซีรีส์ แต่เหล่าสาววายสามารถจับคู่มาจิ้นได้หมด อย่างสมาชิกวงบอยแบนด์เกาหลีก็ถูกจับคู่มาจิ้นกันบ่อย ๆ แต่อะไรที่ทำให้กระแสถึงมาปังเอาตอนนี้ และแบรนด์เองจะใช้ประโยชน์จากกระแสนี้ได้อย่างไร คุณ กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย จะมาไขข้อข้องใจให้ฟัง

กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย

เติบโต 4 เท่าในปีเดียว

จุดเริ่มต้นของซีรีส์วายในตอนแรกนั้นอาจมาจากคู่รองที่เป็นชาย-ชาย แต่ในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมาความนิยมดังกล่าวเริ่มแพร่หลายมากขึ้น จากการที่มีช่องทีวีดิจิทัลและแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์เพิ่มขึ้นมากมาย ประกอบกับนิยายหรือการ์ตูนวายที่แพร่หลายมาในกลุ่มแฟนคลับนักอ่านทีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คอนเทนต์ซีรีส์วายกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘ความแมส’ หรือความนิยมกระแสหลักจนมาถึงทุกวันนี้

ในปี 2016 ยอดวิวของซีรีส์วายคิดเป็น 2% ของยอดวิวทั้งหมด แต่ในปี 2018 เติบโตเป็น 5% และปัจจุบันมียอดวิวถึง 20% จากจำนวนยอดวิว 6,000 ล้านวิว หรือเติบโตถึง 4 เท่า โดยปัจจุบัน LINE TV มีคอนเทนต์วายมากที่สุดในไทยถึง 33 เรื่อง โดย 29 เรื่องร่วมกับพาร์ตเนอร์ อีก 4 เรื่องออริจินอล

“แค่ซีรีส์วาย 3 เรื่อง ได้แก่ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series, En of Love และ Why R U The Series ก็สามารถเพิ่มยอดการรับชมถึง 20% ยิ่งช่วงล็อกดาวน์เติบโต 45% มียอดวิวกว่า 350 ล้านวิว”

ฐานผู้ชมขยาย 365% แม้อายุ 65 ปีก็โดนตก

ความเข้าใจแรกของผู้ดูซีรีส์วายจะต้องเป็น LGBT แต่ความจริงแล้วกลุ่มผู้ชมหลักเป็นผู้หญิงอายุ 18-25 ปี รองลงมาเป็น 25-34 ปี แต่ในช่วงล็อกดาวน์นี้ ผู้ชมอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอัตราเติบโตสูงสุด โดยคาดว่าเป็นผลมาจากการรับชมผ่าน ‘จอทีวี’ ของวัยรุ่นมากขึ้น ส่งผลให้ดูคอนเทนต์กับครอบครัว จากเดิมที่วัยรุ่นจะชมผ่านสมาร์ทโฟน

“เมื่อก่อนวัยรุ่นดู แต่จะดูผ่านมือถือ เพราะไม่อยากให้คนที่บ้านรู้ แต่ตอนนี้คนอยู่บ้านมากขึ้น มีการรับชมผ่านทีวี ดังนั้นจึงเปลี่ยนจากดูคนเดียวเป็นดูกับครอบครัว เพราะเขาคิดว่ามันเปิดกว้างแล้ว และชวนผู้ใหญ่ดูและผู้ใหญ่ชอบ แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่คอนเทนต์ที่ต้องแอบดู แต่เป็นกระแสหลักแล้ว”

ชอบดูวน ดูซ้ำ และชอบเปย์

อีกพฤติกรรมที่สำคัญ คือ การดูคอนเทนต์ไม่ใช่ดูจบแล้วจบ แต่เป็นการดูแล้วดูอีก ส่งผลให้การรับชมในวันธรรมดาเพิ่มขึ้น 32% และผู้ชมใช้เวลาดูในหมวดนี้มากขึ้น 34% เนื่องจากการดูแบบออนไลน์ทำให้มีเอ็นเกจเมนต์ มีการแชร์ ส่งผลให้สามารถดึงคนดูกลุ่มใหม่ ๆ ให้มารับชม ให้มาเข้าคอมมูนิตี้ ดังนั้นซีรีส์วายยังสามารถเติบโตได้อีกนาน

และด้วยอีโคซิสเต็มส์ที่ LINE TV มี จึงได้ต่อยอดซีรีส์สู่ ‘Line Sticker’ และ ‘LINE Melody’ ซึ่งยอดขายสติกเกอร์ของซีรีส์วายนั้น ขายดีกว่าค่าเฉลี่ย 10 เท่า โดยสามารถขึ้นอันดับ 1 ใน 15 นาที ส่วนยอดขาย LINE Melody ในหมวด Melody The Series ที่นำบทพูดตัวละครมาทำเป็นเสียงรอสายก็เติบโตถึง 400%

5 ปัจจัยดันให้ซีรีส์วายกลายเป็นกระแส

หากพิจารณาจากทุกองค์ประกอบที่กล่าวมาจะพบว่า ซีรีส์วายยอดฮิตเป็นปรากฏการณ์ในหลาย ๆ เรื่อง มีองค์ประกอบร่วมกันอยู่ประมาณ 5 ข้อ ได้แก่

1.นักแสดงหน้าตาดี มีเคมีที่เข้ากัน และการเซอร์วิสของนักแสดงที่เซอร์วิสให้เหล่าแฟนคลับ

2.บรรยากาศที่เข้าถึงผู้ชม บรรยากาศของซีรีส์ที่มีความคล้ายคลึงกับชีวิตจริงของผู้ชม โดยเฉพาะบรรยากาศของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

3.โครงเรื่องที่เติมเต็มจินตนาการของผู้หญิง

4.จุดกระแสด้วยออนไลน์ การสร้าง Virtual Community ถือเป็นตัวจุดกระแสและสร้างกระแสได้ดี เพราะแฟนคลับไม่ได้แค่ต้องการสนุกกับคอนเทนต์ แต่ต้องการมีส่วนร่วม เพราะดูคนเดียวเขาไม่สนุก แต่ต้องดูกับคอมมูนิตี้ มีการคอมเมนต์ มีการสร้างกระแสบนโลกออนไลน์ ดังนั้นจะเห็นว่าแฮชแท็กจะขึ้นอันดับหนึ่งได้ง่าย ๆ

5.อย่าให้กระแสจบไปพร้อมคอนเทนต์ มีการทำกิจกรรมออนไลน์-ออฟไลน์ โดยเสริมความแข็งแรงด้วยกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งสามารถต่อยอดไปต่างประเทศได้ด้วย เช่น จัดการแฟนมีท เป็นต้น

“ด้วยอีโคซิสเต็มส์ LINE ที่จะสร้างประสบการณ์การเข้าชม โดยสามารถใช้ได้เพื่อส่งเสริมการตลาดให้การรับชมได้แบบ 360 องศามากขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำแคมเปญทั้งการไลฟ์กิจกรรมผ่าน LINE TV โดยการไลฟ์สดมีอัตราการเติบโตถึง 600% เมื่อเทียบกับการไลฟ์งานกิจกรรมอื่น ๆ มีเอ็นเกจเมนต์เพิ่มขึ้น 1,400%”

 

แบรนด์รู้ แต่ไม่กล้าใช้ทำ Marketing

จากพฤติกรรมและตัวเลขการเติบโต คงถึงเวลาที่นักการตลาดต้องเริ่มกลับมามองแล้วว่าจะจับเทรนด์ตรงนี้อย่างไร ต้องมาดูว่าสินค้าของแบรนด์สามารถเข้าไปอยู่ในคอนเทนต์ที่คนกลุ่มนี้ดูได้หรือเปล่า อย่างตอนนี้มีทั้งพวก FMCG เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลความงาม, ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ที่ลงมาทำตลาดแล้ว ขณะที่สินค้าประเภท Tech & Gadget ก็เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสำหรับการลงโฆษณาในคอนเทนต์ประเภทนี้

แม้ปัจจุบัน ซีรีส์วายถือเป็น top 10 คอนเทนต์สร้างรายได้จากโฆษณาได้สูงสุดใน LINE TV แต่ก็ยังไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่เปิดรับ ยังมีลูกค้าที่ยังกังวล รู้ว่ามีกระแส แต่กลัวกระทบกับแบรนด์ ดังนั้น นี่คือ การบ้านของ LINE ที่จะต้องทำให้แบรนด์และเอเจนซี่เข้าใจว่า ซีรีส์วายในปัจจุบันภาพเป็นบวก นอกจากนี้ LINE TV ก็มีแผนจะเพิ่มคอนเทนต์วายให้มากขึ้น โดยปีนี้เตรียมปล่อยออริจินอลซีรีส์อีก 1 เรื่อง และมีการพูดคุยกับเกาหลี จีน และญี่ปุ่น ในการนำคอนเทนต์วายในประเทศนั้น ๆ มาลงใน LINE TV

“ไลน์เองที่มีรายได้จาก Advertising base ดังนั้นการบ้าน คือ ทำอย่างไรให้เจ้าของแบรนด์และนักการตลาดเข้าใจพฤติกรรมซีรีส์วายมากขึ้น ทำยังไงให้รู้ว่าซีรีส์วายเป็นกระแสบวก คนยอมรับ มีความรู้สึกเกี่ยวพัน มีรอยัลตี้กับคอนเทนต์ นักแสดง เนื้อเรื่อง และแบรนด์สินค้า เราต้องแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่จุดเล็ก ๆ แต่เป็นกระแสหลัก และเป็นภาพบวก”