PropTech – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 04 Feb 2022 11:36:12 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 รู้จัก “RentSpree” สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ไปบุกธุรกิจ “เช่าบ้าน” ในอเมริกา! https://positioningmag.com/1372866 Fri, 04 Feb 2022 09:46:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1372866 RentSpree (เรนท์สพรี) มีผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่เป็นคนไทยและมีบุคลากรส่วนใหญ่ที่เมืองไทย แต่ไปให้บริการในสหรัฐฯ โดยเป็นแพลตฟอร์มเพื่อแก้ปัญหาการ “เช่าบ้าน” ช่วยให้ขั้นตอนการหาบ้านเช่าง่ายขึ้น ปัจจุบันระดมทุนไปถึงรอบ Series A สำเร็จ พร้อมเป้าหมายไปสู่ “ยูนิคอร์น” ภายในปี 2567

ชื่อของ RentSpree อาจไม่คุ้นหูคนไทยมากนัก เพราะบริการของแพลตฟอร์มไม่ได้เปิดตลาดในไทย แต่ไปเปิดที่สหรัฐอเมริกา แม้ว่าผู้ก่อตั้งเกือบทั้งหมดจะเป็นคนไทย และปัจจุบันมีบุคลากรส่วนใหญ่อยู่ในไทยนี่เอง

“เอกบุตร สิริศุภางค์” COO และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เรนท์สพรี จำกัด อธิบายถึงแพลตฟอร์มนี้ก่อนว่า เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อผู้ที่ต้องการเช่าบ้านกับผู้ให้เช่า/นายหน้า โดยกุญแจสำคัญของแพลตฟอร์มคือมาแก้จุดบอดของการ “เช่าบ้าน” ในสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องส่งเอกสารจำนวนมาก และมีขั้นตอนหนึ่งต่างจากในไทยนั่นคือการ “ตรวจสอบประวัติ” (screening) ผู้ขอเช่าบ้าน

“เอกบุตร สิริศุภางค์” COO และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เรนท์สพรี จำกัด

หากเป็นขั้นตอนเช่าดั้งเดิม ผู้เช่าบ้านต้องส่งเอกสารให้เจ้าของบ้านหรือนายหน้าแยกกันแต่ละหลัง ทำให้ต้องทำเอกสารซ้ำๆ และในขั้นตอนตรวจสอบประวัติ ผู้เช่าบ้านต้องออกค่าใช้จ่ายเองประมาณ 30 เหรียญสหรัฐ (เกือบ 1,000 บาท) เพื่อให้นายหน้าหรือเจ้าของบ้านนำไปเดินเรื่องตรวจสอบประวัติอาชญากรรม เครดิตสกอร์ด้านการเงิน และตรวจว่ามีประวัติถูกฟ้องขับไล่จากบ้านเช่าหรือไม่

การหาบ้านเช่าในสหรัฐฯ จึงเป็นเรื่องยุ่งยาก และมีโอกาสได้บ้านแค่ 33% แปลว่าผู้เช่าบ้านจะต้องทำเอกสารและเสียเงินซ้ำหลายครั้งกว่าจะได้เช่าบ้านสักหลัง ฝั่งนายหน้าเองก็ไม่ค่อยชื่นชอบลูกค้าหาบ้านเช่า เพราะค่าคอมมิชชั่นต่ำกว่าลูกค้าซื้อบ้าน แม้จะต้องทำเอกสารมากไม่ต่างกัน

จุดนี้เอง ทำให้ RentSpree ลุกขึ้นมาเป็นตัวกลางในการแก้ความยุ่งยากทั้งหมด โดยการเป็น ตัวกลางเก็บข้อมูลเอกสารลูกค้าที่หาเช่าบ้าน พร้อมกับตรวจสอบประวัติให้ด้วย นายหน้าไม่ต้องเป็นผู้ดูแลเอกสารและไม่ต้องวิ่งไปตรวจสอบประวัติ ส่วนลูกค้าก็ไม่ต้องส่งเอกสารซ้ำๆ และแพลตฟอร์มยังปกปิดเอกสารสำคัญบางส่วนไว้ให้ด้วย ทำให้ข้อมูลลูกค้าปลอดภัยมากกว่า

เอกบุตรกล่าวว่า หลังจากแพลตฟอร์มก่อตั้งเมื่อปี 2559 ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าแล้ว 750,000 ราย (แบ่งเป็นกลุ่มเจ้าของบ้าน/นายหน้า 130,000 ราย และผู้เช่าบ้าน 620,000 ราย) ให้บริการทั่วทุกรัฐในสหรัฐอเมริกา โดยมีรัฐหลักที่มีลูกค้ามากที่สุดคือ แคลิฟอร์เนีย, ฟลอริดา และเท็กซัส

ปี 2564 บริษัททำรายได้ไป 300 ล้านบาท และระดมทุนรอบล่าสุดรอบ Series A ได้รับเงินลงทุนสะสมแล้ว 8.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 250 ล้านบาท) ซึ่งทำให้ทีมจะขยายออกไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

ตั้งโดยคนไทย ฝ่าฟันจนสำเร็จในสหรัฐฯ

ด้านเส้นทางการก่อตั้งบริษัท เกิดจากเอกบุตรไปเรียนต่อ MBA ในสหรัฐฯ และมีไอเดียก่อตั้งธุรกิจนี้ขึ้น จึงรวบรวมทีมผู้ร่วมก่อตั้ง (เป็นคนไทย 6 คน และต่างชาติ 1 คน) ตั้งสตาร์ทอัพขึ้นเมื่อปี 2016 เปลี่ยนห้องนั่งเล่นเป็นที่ทำงาน พร้อมระดมทุนขั้นแรกจากเพื่อนและครอบครัวได้มาทั้งหมด 150,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.95 ล้านบาท)

ในช่วง 3-4 ปีแรก เอกบุตรยอมรับว่าธุรกิจยังไม่สำเร็จ และไม่สามารถระดมทุนได้เลย เข้าร่วมแข่งขันสตาร์ทอัพก็ไม่ชนะในเวทีใดๆ ทำให้จนถึงปี 2562 บริษัทต้องกลับมาปรับโมเดลธุรกิจใหม่

เมื่อกลับมาทบทวนอีกครั้งทำให้เห็นว่า แผนการตลาดช่วงแรกที่เน้นโปรโมตแบบ B2C เน้นตรงไปที่ลูกค้าหาเช่าบ้านนั้นไม่ตรงจุด เพราะต้อง ‘burn’ เงินมหาศาลเพื่อจะดึงลูกค้าได้จำนวนมากๆ และไม่ยั่งยืน

สุดท้ายจึงปรับโมเดลใหม่ เข้าหาพาร์ทเนอร์บริษัทนายหน้าเพื่อแนะนำ RentSpree ในฐานะ “เครื่องมือ” ที่นายหน้าสามารถใช้ลดความยุ่งยากด้านเอกสารและการสอบประวัติ โดยการทำรายได้ของแพลตฟอร์มจะมาจาก “30 เหรียญสหรัฐ” ที่ลูกค้าเช่าบ้านต้องจ่ายอยู่แล้ว ไม่ตัดส่วนแบ่งค่าคอมมิชชั่นกับนายหน้า ทำให้นายหน้ายินดีที่จะแนะนำลูกค้าเช่าบ้านให้เข้ามาใช้งาน กลายเป็นโมเดล B2B2C ที่ประสบความสำเร็จ

ในปีต่อมาบริษัทจึงเริ่มระดมทุนรอบ Seed Stage สำเร็จ และตามมาด้วยรอบ Series A เมื่อปี 2564 ส่งให้บริษัทขยายจากรัฐแคลิฟอร์เนียไปให้บริการได้ทั่วประเทศ และมีส่วนแบ่งตลาด 6% จากจำนวนนายหน้าที่มีในสหรัฐฯ

เอกบุตรระบุว่า ปัจจุบันบริษัทแบ่งทีมเป็นทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดูแลระบบหลังบ้าน ไอที อยู่ในไทย 85 คน และมีทีมพัฒนาธุรกิจ ดูแลการตลาด อยู่ที่สหรัฐฯ 40 คน รวมทั้งหมด 125 คน พร้อมขยายทีมต่อเนื่องรองรับการเติบโตทั้งในไทยและสหรัฐฯ

 

เป้าหมายขยายให้ครบลูปการ “เช่าบ้าน”

เมื่อลงหลักปักฐานได้แล้ว เอกบุตรกล่าวว่าทีมมีเป้าหมายต่อไปจะขยายการบริการด้านการเช่าบ้านให้ครบลูป โดยเห็นจุดบอดอื่นๆ อีกในการเช่าบ้านที่บริษัทจะพัฒนาต่อบนแพลตฟอร์ม เช่น

  • การค้นหาบ้านเช่า RentSpree จะเป็นแหล่งรวมลิสติ้งบ้านเช่าจากทุกเว็บไซต์ไว้ในที่เดียว ลดความยุ่งยากที่จะต้องเปิดหาทุกเว็บไซต์
  • การชำระเงิน ปกติแล้วลูกค้าเช่าบ้านต้องโอนเงินค่าเช่าให้เจ้าของบ้านทุกเดือน ถ้าชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มนี้ สามารถตั้งหักบัตรเครดิตรายเดือนได้เลย ไม่มีลืมจ่าย ไม่ต้องทวงค่าเช่า
  • การติดต่อระหว่างผู้เช่าและเจ้าของบ้าน ต้องการแจ้งซ่อม ร้องเรียน หรือมีข้อสงสัยสอบถาม สามารถพูดคุยในแพลตฟอร์มนี้ได้โดยตรง

ในมูลค่าตลาดบ้านเช่า 63,000 ล้านเหรียญสหรัฐของอเมริกา (ประมาณ 2.08 ล้านล้านบาท) เอกบุตรกล่าวว่าผู้ให้เช่ามีทั้งรูปแบบบริษัทขนาดใหญ่ และผู้ให้เช่ารายย่อยที่อาจจะมีสินทรัพย์ในมือเพียง 2-3 รายการ กลุ่มรายย่อยนี้เองที่จะเป็นเป้าหมาย เนื่องจากเจ้าของบ้านแบบนี้ไม่ได้มีซอฟต์แวร์ของตนเอง และ RentSpree จะเข้าไปตอบโจทย์

เจนเนอเรชันใหม่ๆ เริ่มเลือกที่จะเช่าบ้านก่อนซื้อบ้าน อาจเช่าบ้านอยู่ 10-15 ปีกว่าจะตัดสินใจซื้อ เพราะคนรุ่นใหม่ย้ายงานบ่อยขึ้น ทำให้การเช่าบ้านตอบโจทย์กว่า และราคาบ้านก็แพงขึ้น ทำให้ต้องเก็บเงินดาวน์นานกว่าจะซื้อได้สักหลัง — “เอกบุตร สิริศุภางค์” COO บริษัท เรนท์สพรี จำกัด

นอกจากนี้ เมื่อแพลตฟอร์มสามารถทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเช่าบ้านได้ครบลูปแล้ว จุดเด่นจะไม่ได้มีแค่การส่งเอกสารและตรวจสอบประวัติ ทำให้ขยายไปประเทศอื่นๆ ต่อได้ เช่น แคนาดา ยุโรป เอเชีย โดยประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในจุดหมายที่วางไว้ว่าจะเข้ามาทำตลาดราวปี 2568

 

หวังขึ้นแท่น “ยูนิคอร์น” ใน 2 ปี

เป้าหมายการเติบโตของ RentSpree ในปี 2565 ต้องการจะทำรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 600 ล้านบาท ขณะที่เป้าระยะยาว ต้องการจะระดมทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าปี 2567 ต้องการระดมทุนสะสมแตะ 85.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,800 ล้านบาท) ซึ่งจะทำให้บริษัทขึ้นแท่นเป็น “ยูนิคอร์น” ตัวใหม่ของเมืองไทย และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่สหรัฐอเมริกา

ด้านการขยายตัวของบริษัท มองว่าจะทยอยเข้าไปบริการในประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น แคนาดา สหภาพยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย คาดว่าจะเริ่มทำตลาดในปี 2568

“เทรนด์ตลาดเช่าบ้านในสหรัฐฯ เติบโตปีละ 3-5% และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นอีก เนื่องจากเจนเนอเรชันใหม่ๆ เริ่มเลือกที่จะเช่าบ้านก่อนซื้อบ้าน อาจเช่าบ้านอยู่ 10-15 ปีกว่าจะตัดสินใจซื้อ” เอกบุตรกล่าวถึงเทรนด์ตลาดเช่าบ้าน “เพราะคนรุ่นใหม่ย้ายงานบ่อยขึ้น ทำให้การเช่าบ้านตอบโจทย์กว่า และราคาบ้านก็แพงขึ้น ทำให้ต้องเก็บเงินดาวน์นานกว่าจะซื้อได้สักหลัง เทรนด์เหล่านี้ไม่ใช่แค่ที่สหรัฐฯ แต่ในไทยก็เริ่มเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน”

]]>
1372866
TOSSAKAN จาก “สกาย ไอซีที” พลิกโฉมธุรกิจ “รักษาความปลอดภัย” ด้วย AI จดจำใบหน้า https://positioningmag.com/1372187 Fri, 28 Jan 2022 11:35:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1372187 มาตรการ “รักษาความปลอดภัย” ในอาคารต่างๆ แม้จะมีกล้องวงจรปิดครบทุกมุมแล้วแต่ก็อาจจะยังมีช่องโหว่ที่ “มนุษย์” เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถมองเห็นได้ทันทุกมุมกล้อง ทำให้แพลตฟอร์ม TOSSAKAN ในเครือ “สกาย ไอซีที” ต้องการเข้ามาอุดช่องโหว่ตรงนี้ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI ตรวจจับใบหน้า และแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุได้ทันท่วงที

ภาพจากกล้องวงจรปิดจะไม่ใช่แค่หลักฐานมัดตัวคนร้ายอีกต่อไป แต่กลายเป็นระบบอัจฉริยะแจ้งเตือนได้ทันต่อสถานการณ์ จากการพัฒนาของทีม ‘Tech Transform’ ในเครือ บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) บริษัทที่กำลัง ‘เปลี่ยน’ ตนเองจากคู่ค้าของภาครัฐ มาสู่การทำงานกับภาคเอกชน เพื่อให้บริษัทเติบโตได้ยั่งยืนยิ่งขึ้น

Positioning มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ขยล ตันติชาติวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บมจ.สกาย ไอซีที ถึงการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์บริษัทครั้งนี้ โดยขยลเล่าถึงธุรกิจพื้นฐานของสกาย ไอซีทีก่อนว่า ธุรกิจดั้งเดิมของบริษัททำงานบริการด้านไอทีอยู่แล้ว โดยเป็น System Integration (SI) คือเป็นผู้รวบรวมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใดๆ ก็ได้ที่มีอยู่ในตลาด นำมาทำงานร่วมกันเพื่อให้ออกมาเป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีที่สุด

“ขยล ตันติชาติวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บมจ.สกาย ไอซีที

คู่ค้าสำคัญที่บริษัทให้บริการ เช่น ท่าอากาศยานไทย (AOT), กรมศุลกากร, ตำรวจปราบปรามยาเสพติด, กรุงเทพมหานคร ฯลฯ โดยบริษัทสามารถหาโซลูชันให้ได้หลากหลายตั้งแต่การติดตั้งระบบโทรคมนาคม จนถึงการบริการภาคพื้น (Ground Services) ในสนามบิน แต่หนึ่งในสิ่งที่สกาย ไอซีเชี่ยวชาญคือด้านบริการรักษาความปลอดภัย

ยกตัวอย่างเช่น กล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานครนั้นมีการประมูลฮาร์ดแวร์เข้ามาติดตั้งเป็นเขตๆ ไป ทำให้แต่ละเขตใช้กล้องวงจรปิดคนละยี่ห้อ สกาย ไอซีทีจึงมีหน้าที่จัดตั้ง Command Center เพื่อบูรณาการข้อมูลไว้ด้วยกัน และจุดนี้เองที่ทำให้บริษัทเริ่มมีการนำ AI มาใช้ตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีก่อน และมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลภายในบริษัท

เมื่อเร็วๆ นี้ สกาย ไอซีทีมีการปรับกลยุทธ์ภายในบริษัทเพื่อจะเติบโตต่อ แม้ว่ารายได้เมื่อปี 2563 จะทำได้ 3,542 ล้านบาท และมีแบ็กล็อกรายได้จากงานภาครัฐอีก 10 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท แต่บริษัทต้องการจัดสมดุลพอร์ต รับงานภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยขยลกล่าวว่า ปี 2565 นี้บริษัทตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้จากเอกชนราว 10-15%

การขยายไปภาคเอกชนของบริษัทมาพร้อมการตั้งทีม Tech Transform โดยให้ชื่อทีมงานว่า ‘Nebula’ แตกทีมออกไป 40-50 คน มีเป้าหมายพัฒนาบริการใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีภายในของบริษัทเอง ซึ่งล่าสุดมีแพลตฟอร์มหัวหอกจากทีมนี้ที่เริ่มบุกตลาดก่อนแล้วคือ TOSSAKAN ต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านรักษาความปลอดภัยมาสู่ตัวอาคารของภาคเอกชน

 

TOSSAKAN ยักษ์ AI จดจำใบหน้า

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีแต่กล้อง ไม่มีระบบตรวจจับ ก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ทำให้สกาย ไอซีทีลงทุน 500 ล้านบาทเพื่อนำเทคโนโลยีตั้งต้นจากบริษัท 2 แห่งมาใช้พัฒนาต่อ โดยแห่งหนึ่งเป็นบริษัทจีนที่ให้บริการด้าน Facial Recognition และอีกบริษัทเป็นบริษัทไทยที่ทำงานด้าน e-KYC ระบบยืนยันตัวตนคู่กับบัตรประชาชน

การนำเทคโนโลยีทั้งสองแบบมารวมกัน ทำให้ระบบของ TOSSAKAN ปัจจุบันให้บริการได้ 3 ด้าน ได้แก่

1.ระบบ AI จดจำใบหน้าในกล้องวงจรปิด พร้อมแจ้งเตือนผู้บุกรุก

แพลตฟอร์มสามารถตรวจจับใบหน้าได้ หากพบใบหน้าที่ไม่ตรงกับฐานข้อมูล ระบบจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) เพื่อเข้าตรวจสอบได้ทันท่วงที และสกาย ไอซีทีเองมี ศูนย์สั่งการอัจฉริยะด้านความปลอดภัย (Security Operation Center: SOC) ช่วยเสริมทัพลูกค้าได้ 24 ชั่วโมงในการสอดส่องเหตุการณ์และติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

2.ระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าและแลกบัตร Visitor

หากติดตั้งระบบสแกนใบหน้าเพื่อขึ้นสู่อาคารแล้ว ในกรณีที่มีผู้มาติดต่อ (Visitor) ที่อาคาร สามารถให้ Visitor เสียบบัตรประชาชนที่ Kiosk และสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน จากนั้นไม่ต้องแลกเป็นบัตรใดๆ แต่ใช้ใบหน้าที่ลงทะเบียนแล้วขึ้นสู่อาคารได้เลย โดยเมื่อใช้คู่กับระบบรักษาความปลอดภัย AI จะตรวจจับได้ด้วยว่า Visitor รายนั้นออกนอกพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้หรือไม่

3.ระบบสแกนแผ่นป้ายทะเบียนรถ

คล้ายคลึงกับระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า AI ของแพลตฟอร์มเรียนรู้การอ่านแผ่นป้ายทะเบียนรถได้แล้ว และใช้ในการสแกนยานพาหนะเข้าสู่พื้นที่ กรณีที่เป็นรถยนต์ของ Visitor ก็สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าไว้ได้เพื่อให้รถของผู้มาติดต่อผ่านเข้าออกได้ชั่วคราว

TOSSAKAN

จะเห็นได้ว่าบริการของ TOSSAKAN อยู่ในสถานะกึ่ง SecurityTech และ PropTech เพราะมีฟังก์ชันที่ช่วยสร้างความสะดวกสบายขึ้นสำหรับผู้ใช้พื้นที่อสังหาริมทรัพย์ด้วย

ขยลกล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทที่จะรุกการบริการอสังหาฯ มองพื้นที่บริการทั้งหมด 7 ประเภท คือ อาคารสำนักงาน, โรงงาน, ศูนย์การค้า, โรงแรม, โรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย และ คอนโดมิเนียม-หมู่บ้านจัดสรร

ปัจจุบันมี 10 บริษัทที่นำร่องนำแพลตฟอร์มไปใช้งานแล้ว (บางบริษัทใช้งานมากกว่า 1 แห่ง) ส่วนใหญ่เป็นอาคารสำนักงานและโรงงาน รวมถึงมีคอนโดฯ ที่ดีลสัญญาจ้างไว้เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทวางสัญญาเป็นระบบค่าสมาชิก (Subscription Base)

 

เฟสต่อไป…สอน AI ให้อัจฉริยะยิ่งขึ้น

แม้ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีตั้งต้นเข้ามาจากบริษัทอื่น แต่ทีม TOSSAKAN มีงานที่ต้องทำต่อก่อนจะออกเป็นโปรดักส์พร้อมใช้แบบนี้ โดยขยลกล่าวว่า เนื่องจากเป็นดาต้าจากจีน ทำให้ AI ต้องมาเรียนรู้ใหม่กับ ‘ใบหน้าคนไทย’ และกรณีป้ายทะเบียนรถ ก็ต้องเรียนรู้ใหม่เป็นป้ายทะเบียนภาษาไทย

TOSSAKAN
ศูนย์สั่งการอัจฉริยะด้านความปลอดภัย (Security Operation Center: SOC)

“เรามีโปรโตไทป์เพื่อทดลองใช้มาแล้วมากกว่า 20 รอบกว่าจะเปิดตัวใช้ได้จริง” ขยลกล่าว “ปัจจุบันเรามีความแม่นยำมากกว่า 95%”

การเปิดตัวนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะต่อไปทีมงานจะพัฒนาฟังก์ชันให้ดีขึ้นอีก อย่างการพัฒนา e-KYC สแกนบัตรประชาชนได้แม่นยำขึ้น หรือพัฒนาระบบ Gesture Recognition และ Object Recognition ทำให้การค้นหาบุคคลในฐานข้อมูลของกล้องวงจรปิดง่ายขึ้น เช่น ค้นหา ‘ผู้ชายสวมเสื้อสีดำ’ ระบบจะดึงภาพออกมาได้อัตโนมัติ

นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันที่ไปต่อได้กับธุรกิจ PropTech คือการติดตั้งเซ็นเซอร์ IoT ตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำ ไฟฟ้า หรือการปล่อยมลพิษของอาคาร/โรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าของอาคารสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ หากตรวจสอบได้อัตโนมัติจะทำให้การบำรุงรักษาดีขึ้นและประหยัดพลังงานที่สูญเปล่าไปได้มาก

สกาย ไอซีที

“เราเชื่อว่าเราเป็นเจ้าแรกในไทยที่บริการได้ครบวงจรแบบนี้ คือมีทั้งการติดตั้ง CCTV มีระบบ AI ในการบริหาร และมีห้อง SOC บริการ 24 ชั่วโมงให้ด้วย” ขยลกล่าว

TOSSAKAN ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่เปิดตัวกับตลาด แต่ทีม Nebula ของสกาย ไอซีทียังมีทีมงานส่วนอื่นอีกที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ เช่น ทีม Voyager ดูแลด้าน TravelTech เริ่มงานแรกกับการพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับ AOT, ทีม Orion พัฒนาเทคโนโลยีสายพานกระเป๋าอัจฉริยะ ลดการใช้คน ทำให้เป็นระบบอัตโนมัติ, ทีม Interstellar พัฒนาเทคโนโลยีบริหารจัดการดาต้า

น่าสนใจว่าก้าวต่อไปของสกาย ไอซีทีในการสร้าง Tech Transform ในองค์กร และการแตกพอร์ตโฟลิโอไปสู่งานภาคเอกชนจะเป็นอย่างไร!

]]>
1372187