เทรนด์สุขภาพบูมจัด ส่งผลธุรกิจฟิตเนสมูลค่าเกือบหมื่นล้านบาทเฟื่องตาม ผุดกว่า 1,000 แห่งในไทย ทั้งแบรนด์ใหญ่จากต่างประเทศ หรือแบรนด์โลคอลต่างโหมกระหน่ำดึงลูกค้า จับตาเกมรุก “เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ” ที่จะเข้ามาท้าชนเจ้าตลาดอย่างฟิตเนสเฟิรส์ท โลคอลแบรนด์ใหม่อย่าง “เอ็มฟิตเนส” ที่ลุกขึ้นมาปั้นแบรนด์อย่างจริงจัง แนวใหม่อย่างแทรมโพลีนของแบรนด์ “บ๊าวซ์” ที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปีที่แล้ว ก็เตรียมบุกตลาดมากขึ้น
เทรนด์สุขภาพยังคงมาแรง และกระจายไปหลายธุรกิจมากขึ้นทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย หรือฟิตเนสกลับมาบูมขึ้นอีกครั้ง ผู้บริโภคหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น
จะเห็นได้ว่าแต่ก่อนมีแบรนด์ฟิตเนสรายใหญ่เพียงไม่กี่แบรนด์ และบางแบรนด์ก็ล้มหายตายจากไปจากประเทศไทย เพราะปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ทว่าในปัจจุบันมีแบรนด์ฟิตเนสเกิดขึ้นมากมายทั้งแบรนด์อินเตอร์ที่เข้ามาตีตลาดในไทย และแบรนด์โลคอลท้องถิ่นที่ลุกขึ้นมาทำตลาดเอง หรือเหล่าบรรดาเซเลบริตี้ก็หันมาทำฟิตเนสเองด้วยเช่นกัน
4 แบรนด์ใหญ่ครองตลาด 90%
มีการประเมินตลาดฟิตเนสในปีนี้มีมูลค่าราว 9,000 ล้านบาท มีการเติบโต 9-10% จากการสำรวจตลาด พบว่า ในประเทศไทยมีฟิตเนสที่จดทะเบียนราว 1,000 แห่ง แต่เป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศเพียงแค่ 4 แบรนด์ ได้แก่ ฟิตเนส เฟิรส์ท, เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ, ทรูฟิตเนส และวี ฟิตเนส มีสาขารวมกันกว่า 40 สาขา มีมูลค่าการลงทุนมหาศาลคิดเป็น 90% ของมูลค่าตลาด ส่วนสาขาที่เหลือ 900 สาขา เป็นฟิตเนสของผู้เล่นโลคอล
รายงานของ International Health Racquet & Sports Club Association ปี 2558 พบว่าสัดส่วนของประชากรไทยที่ใช้บริการฟิตเนสมีเพียง 0.6% ของประชากร ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับตัวเลขค่าเฉลี่ยของชาติในทวีปเอเชียที่ 8% โดยที่ประเทศสิงคโปร์ที่มี 8% และออสเตรเลีย 13% เทรนด์พฤติกรรมของคนไทยได้หันมาดูแลสุขภาพร่างกาย และรูปร่างของตนเองมากยิ่งขึ้น ส่งให้ธุรกิจฟิตเนสในประเทศไทยยังมีแนวโน้มการเติบโตได้อีกมาก
เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ เปิดแนวรบใหม่
ล่าสุด แบรนด์ “เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ” ได้เข้าท้าชนเจ้าตลาดอย่างฟิตเนสเฟิรส์ท รวมถึงแบรนด์โลคอลแบรนด์ใหม่อย่าง “เอ็มฟิตเนส” ที่ลุกขึ้นมาปั้นแบรนด์อย่างจริงจัง พร้อมขยายสาขา หรือธุรกิจการออกกำลังกายแนวใหม่อย่างแทรมโพลีนของแบรนด์ “บ๊าวซ์” ที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปีที่แล้ว ก็เตรียมบุกตลาดมากขึ้น
ในส่วน “เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ใหญ่ที่เป็นเชนจากต่างประเทศ มีอายุกว่า 20 ปี มีสาขา 10 ประเทศ และได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ 2 ปี ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ ตึกเอ็มไพร์, เอ็มควอเทียร์, เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต และล่าสุดที่สยามดิสคัฟเวอรี่
เมื่อเทียบระหว่างไทยและต่างประเทศ เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ พบว่า สมาชิกแอ็กทีฟรายสัปดาห์ของไทยจะใช้บริการเฉลี่ย 4 ครั้ง/คน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ จะเข้าคลับเฉลี่ย 2 ครั้ง/คน นอกจากนี้พฤติกรรมคนไทยชอบเล่นฟิตเนสกับกลุ่มเพื่อน และมีการเข้าคลาสราว 70% ต่างจากประเทศอื่นที่มีพฤติกรรมต่างคนต่างเล่น จึงมีการแอ็กทีฟน้อยกว่า
เวอร์จิ้น แอ็คทีฟ มองว่าโอกาสในการขยายธุรกิจยังมีอยู่มาก เพราะคนไทยยังเป็นสมาชิกฟิตเนสน้อย จึงตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มให้ครบ 20 สาขาภายใน 6 ปี เน้นทำเลศูนย์การค้า อาคารสำนักงานเป็นหลัก ด้วยงบลงทุนรวม 5,200 ล้านบาท เฉลี่ยลงทุนสาขาละ 300 ล้านบาท ซึ่งสาขาจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
เนื่องจากโจทย์ใหญ่ของเวอร์จิ้น แอ็คทีฟไม่ต้องการจำกัดของการเป็นแค่ “ฟิตเนส” อย่างเดียว แต่ต้องเป็น “ไลฟ์สไตล์แบรนด์” ด้านอื่นๆ ทั้งการออกกำลังกาย ทำงาน พักผ่อน ด้วยการวางโพสิชันในแบบพรีเมียมเพื่อสร้างความแตกต่าง โดยออกแบบคลับ และเสริมบริการต่างๆ มีสระว่ายน้ำ หน้าผาจำลอง รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นเสื้อผ้า ผ้าขนหนู เพื่อต้องการสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ
ด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ปัญญ์ปุริ ผลิตภัณฑ์ชำระร่างกาย และบำรุงผิวสำหรับใช้ในห้องน้ำ และแบรนด์กีฬา Under Armour ในการเป็นโคแบรนด์ทำเสื้อผ้าใส่ในคลับ และมีชอปภายในคลับ
แมทธิว บัคนาลล์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ก่อตั้งเวอร์จิ้น แอ็คทีฟ บอกว่า “เราถือว่าเป็นน้องใหม่ในตลาดฟิตเนสในประเทศไทย เพราะได้ทำตลาดมา 2 ปี โดยหลังจากทำวิจัยแล้วพบว่า คนไทยสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่เป็นสมาชิกฟิตเนสน้อย ทำให้ยังมีโอกาสอีกเยอะ ยิ่งเห็นตัวเลขการเข้าคลับของคนไทยที่มีความถี่มากกว่าประเทศอื่น ทำให้ยิ่งมีการเติบโตสูง
ใน 3 สาขาที่เปิดบริการไปแล้วนั้น มีสมาชิกรวมกว่า 11,400 คน แบ่งเป็นที่ตึกเอ็มไพร์ 4,700 คน เอ็มควอเทียร์ 4,000 คน และเซ็นทรัล เวสต์เกต 2,700 คน ในสาขาใหม่ๆ ที่จะเปิดได้ตั้งเป้าว่าจะต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 3,000 คน
“เอ็ม ฟิตเนส” ฟิตเนสแบรนด์โลคอล เจาะกลุ่มชุมชน
สำหรับเอ็ม ฟิตเนส แบรนด์ฟิตเนสของคนไทย วางแผนลงทุนเปิด 10 สาขา ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่เปิดมาแล้ว 2 ปี มี 3 สาขา ได้แก่ มหาชัย, พระราม 2 และตากสิน แต่ละสาขาค่อนข้างอยู่นอกตัวเมือง เพราะเป็นกลยุทธ์หลักของแบรนด์ ด้วยความที่เป็นแบรนด์เล็ก จึงนำแบรนด์เข้าไปหาผู้บริโภคตามชุมชนต่างๆ รูปแบบฟิตเนสจึงเป็นแบบสแตนอโลนติดริมถนน และเลือกโลเคชันที่มีชุมชน โดยที่จะมีการดีไซน์ให้เข้าแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป แต่ละยิมจะมีพื้นที่เฉลี่ย 400-1,200 ตารางเมตร
วิสุทธิ์ สุระเฉลิมกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม ฟิตเนส จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์หลักคือเลือกเอายิมเข้าไปใกล้กับกลุ่มคน ใกล้ที่พักอาศัย และที่ทำงาน มีต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำ ทำให้โลเคชันเป็นการตลาดไปในตัว เลือกติดริมถนนใหญ่ ลูกค้าสามารถนั่งรถผ่านแล้วเห็นได้ง่าย ทำให้คนได้เห็น มีป้ายเด่นชัด ให้เห็นบรรยากาศ และให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ต้องเดินทางไกลต่างจากแบรนด์อื่นที่ต้องเข้าไปอยู่ในชอปปิ้งมอลล์ และในปัจจุบันกระแสรักสุขภาพ หรือข่าวดาราก็มีส่วนช่วยทำพีอาร์ให้ ทำให้ฟิตเนสเป็นที่สนใจของผู้คน คนรุ่นใหม่เข้าใจฟิตเนสแล้ว เป็นโอกาสและจุดแข็งทำให้ตลาดเติบโต
โดยที่ 3 สาขาของเอ็มฟิตเนสมีหลักการเลือกสถานที่แตกต่างกัน สาขามหาชัย ริมถนนเอกชัย-บางบอน วิสุทธิ์บอกว่าตอนนั้นยังไม่มีฟิตเนสละแวกนั้น คนจะเล่นฟิตเนสต้องขับรถออกไป เลยยกฟิตเนสเข้าไปใกล้เขา สาขาถนนพระราม 2 ตอนนั้นก็ยังไม่มีฟิตเนสที่เห็นเด่นชัด เลยทำเป็นรายแรกที่ติดถนนใหญ่ และสาขาตากสิน แยกมไหสวรรค์ เลือกที่ตั้งให้อยู่ตรงข้ามกับชุมชน
ภายในสิ้นปีนี้ตั้งเป้ามีรายได้รวม 20 ล้านบาท และไปถึง 100 ล้านบาท ให้ได้ภายในในปี 2018 มีแผนขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 10 สาขา ภายใน 5 ปี ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบการลงทุนเองทั้งหมด และการร่วมลงทุนกับนักลงทุนที่สนใจ โดยการลงทุนแต่ละสาขาใช้เงินลงทุนประมาณ 9 -25 ล้านบาท และตั้งเป้ามีฐานสมาชิกได้กว่า 5,000 ราย
“บ๊าวซ์” ปลุกกระแสแทรมโพลีนในไทย
แม้จะไม่ใช่ตลาดฟิตเนสโดยตรง แต่บ๊าวซ์ก็ได้รับอานิสงส์จากกระแสการออกกำลังกายในประเทศไทยเช่นกัน หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคำว่าแทรมโพลีน เพราะค่อนข้างใหม่สำหรับในประเทศไทย เป็นการออกกำลังกายแนวใหม่ แต่หลังจากที่ “บ๊าวซ์” ได้ทำตลาดมาแล้วเกือบ 1 ปีเต็ม การบุกตลาดอย่างต่อเนื่องคงเป็นคำตอบอย่างดีสำหรับผลตอบรับในประเทศไทย
“บ๊าวซ์ ประเทศไทย” เริ่มเปิดสาขาแรกเมื่อปลายปี 2558 ที่ห้างเดอะสตรีท รัชดาฯ ด้วยพื้นที่ 5,600 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนพร้อมค่าไลเซนส์รวม 300 ล้านบาท วางจุดยืนเป็นแทรมโพลีนพาร์คระดับพรีเมียม ซึ่งจัดอยู่ในธุรกิจสปอร์ตเทนเมนต์ เป็นการออกกำลังกายเพื่อความสนุกสนาน ถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ในประเทศไทย ยังไม่มีมูลค่าตลาดที่ชัดเจน ตลาดนี้ไม่ได้เป็นคู่แข่งของฟิตเนสโดยตรง เพราะจุดประสงค์ในการเล่นแตกต่างกัน แต่จะเป็นการเสริมตลาดซึ่งกันและกันจากการออกกำลังกาย
เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ การเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยจึงเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงเรียนนานาชาติ เพราะจะมีความคุ้นเคยและรู้จักกับแทรมโพลีนอยู่แล้ว ซึ่งลูกค้ากลุ่มหลักของบ๊าวซ์เป็นกลุ่มเด็กราว 80%
จากนั้นจึง “สร้างกระแส” โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดีย และเซเลบริตี้ เพื่อให้คนที่ไม่เคยรู้จัก ได้รู้จักบ๊าวซ์ และแทรมโพลีนมากขึ้น ประกอบกับการเลือกโลเคชันที่อยู่ในศูนย์การค้า เพราะพฤติกรรมคนไทยมักใช้เวลาว่างในการเดินศูนย์การค้า และเดินทางสะดวกด้วย
“มาร์ค จอบบลิงค์” ประธานบริษัท เบ๊าซ์อิงค์ (ไทยแลนด์) จำกัด บอกว่า การที่ บ๊าวซ์ ได้รับความนิยมขึ้นมาก็เป็นเพราะคนไทยสนใจสุขภาพมากขึ้น และหันมาเล่นกีฬาแบบเอ็กซ์ตรีมมากขึ้น รวมถึงในยุคดิจิทัลที่เด็กๆ อาจจะติดเกมหรือเชียลมีเดีย ทำให้พ่อแม่ต้องหากิจกรรมอื่นๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ
จากสาขาแรกที่เดอะสตรีทสามารถทำรายได้ 13-15 ล้านบาทต่อเดือน ในไตรมาสแรกของปี 2559 มีรายได้แล้ว 40 ล้านบาท ทำให้บ๊าวซ์ต้องรีบรุกตลาดมากขึ้นในขณะที่เหล็กยังร้อน เล็งที่จะเปิดอีก 2 สาขาในปีนี้ที่ ดิ เอ็มควอเทียร์ในเดือนกันยายน และเซ็นทรัลบางนาในเดือนธันวาคม พร้อมโซนกิจกรรมใหม่ด้วยงบลงทุนรวม 250 ล้านบาท
สาขาดิเอ็มควอเทียร์มีพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 80 ล้านบาท และที่เซ็นทรัลบางนาพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุน 150 ล้านบาท และเปิดโซนกิจกรรมสนาม “เอ็กซ์พาร์ค” ที่สาขาเดอะสตรีทเพิ่มเติม เพื่อเป็นโซนสำหรับดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ คือกลุ่มวัยรุ่น และเพื่อให้ลูกค้าได้ใช้เวลาอยู่ในบ๊าวซ์นานขึ้น ใช้งบลงทุน 20 ล้านบาท
จากนั้นในปี 2560 หรือปีหน้าค่อยขยายไปยังต่างจังหวัด สาขาแรกที่ได้เห็นจะเป็นที่เซ็นทรัลโคราช พื้นที่ 2,000 ตารางมเตร เปิดในช่วงเดือนกันยายน และมองทำเลต่อไปก็คือราชพฤกษ์ เจริญนคร และขอนแก่น กำลังอยู่ในช่วงกำลังพูดคุยกันอยู่
บ๊าวซ์ตั้งเป้ารายได้รวมในปีหน้า 400 ล้านบาท แบ่งเป็นสาขาเดอะสตรีท 200 ล้านบาท เอ็มควอเทียร์ 100 ล้านบาท และเซ็นทรัลบางนา 100 ล้านบาท และต้องมีการเติบโตเฉลี่ย 20% ในทุกปี