คนไทยชอบกิน “ฟูด ดิลิเวอรี” ส่งอาหารสนั่นเมือง

ฟูด ดิลิเวอรี เป็นอีกบริการที่กำลังได้รับการจับตา เป็นผลมาจากเติบโตของอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนที่แพร่หลายมากขึ้น ผู้บริโภคใจร้อน ชอบหาข้อมูลบนมือถือซื้อของ ยิ่งพฤติกรรมของคนในเมืองยุคนี้อาศัยอยู่คอนโด หรือในโซนที่มีการจราจรติดขัด ทำให้มองหาบริการที่ช่วยเรื่องความสะดวกสบาย ไม่ต้องออกไปเผชิญรถติดอยู่ข้างนอก ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อได้เวลามากขึ้น

หลักการทำงานของฟูด ดิลิเวอรี จะเรียกผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันบนมือถือ สามารถสั่งอาหารได้ตามต้องการ และมีการคิดค่าบริการเป็นระยะทาง โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ก็คือ ธุรกิจส่งอาหารโดยตรง และธุรกิจบริการส่งสินค้า แต่มีบริการรับซื้ออาหาร ตลาดตรงนี้มีการเติบโตมากขึ้นทุกปี พร้อมกับมีผู้เล่นรายใหม่ๆ มากขึ้นเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธุรกิจดิลิเวอรีอาหารในเมืองไทยมีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ย 15-20% ต่อปี

ปัจจุบันตลาดฟูด ดิลิเวอรีมีผู้เล่นหลักๆ อยู่ 5 ราย ได้แก่ Foodpanda, LINE MAN, UberEATS, Grab Bike และ Ginja แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ธุรกิจส่งอาหารโดยตรง มีรายได้จากการเก็บส่วนแบ่งค่าอาหารเป็นเปอร์เซ็นต์จากทางร้านค้า ได้แก่ Foodpanda, UberEATS และ Ginja อีกรูปแบบหนึ่งคือเป็นธุรกิจบริการส่งสินค้า แต่มีบริการ “ฝากซื้ออาหาร” เน้นรายได้จากค่าขนส่ง ได้แก่ LINE MAN และ Grab Bike

นอกจากนี้ ความแตกต่างของแต่ละราย ยังอยู่ที่พาร์ตเนอร์ร้านอาหาร ช่วงเวลาที่ให้บริการ พื้นที่ให้บริการ และราคาค่าจัดส่ง

รายที่ลงมาเล่นตลาดนี้อันดับแรกๆ ก็มีพาร์ตเนอร์เยอะหน่อย อย่างฟู้ดแพนด้าที่ปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์กว่า 1,000 ร้านค้า ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าใหญ่ๆ อย่างเชนร้านอาหารไปจนถึงร้านอาหารชื่อดังในแต่ละพื้นที่ มีจุดแข็งด้วยพื้นที่ให้บริการเยอะทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ เชียงใหม่ ปทุมธานี สมุทรปราการ พัทยา สามารถสั่งอาหารได้หลายช่องทางทั้งแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และโทรศัพท์ แต่ข้อจำกัดอยู่ที่ช่วงเวลาที่ให้บริการอยู่แค่ 10.00-23.00 น. เป็นเวลาเปิด-ปิดของร้านอาหารทั่วไป

สำหรับผู้เล่นที่เข้ามาภายหลังอาจจะเพิ่มร้านค้าข้างทาง หรือสตรีทฟูดเข้ามาเพื่อสร้างความแตกต่างมากขึ้น อย่าง LINE MAN และ UberEATS ส่วน Ginja มีพาร์ตเนอร์ที่เป็นร้านค้าอยู่ไม่มาก ทำให้ยังไม่ค่อยติดตลาดมากเท่าไหร่

LINE MAN จับตลาดรับฝากซื้อ

LINE MAN เป็นอีกหนึ่งในผู้เล่นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดเมื่อปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากบริการเมสเซนเจอร์รับส่งของ จนแตกไลน์ออกมาเป็นบริการฟูด ดิลิเวอรี โดยใช้การผนึกกำลังกับ 2 พันธมิตรทั้ง Wongnai แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารทำในส่วนของคอนเทนต์ และลาล่ามูฟในการใช้มอเตอร์ไซค์ในการขนส่ง

โมเดลธุรกิจของไลน์แมนจะเป็นรูปแบบของการ “ฝากซื้อ” คิดค่าบริการสั่งซื้ออาหารจากค่าโดยสารเป็นระยะทาง เริ่มต้นที่ 55 บาท และคำนวณเพิ่มตามระยะทาง 9 บาท/กม. ปัจจุบันไลน์แมนมียอดผู้ใช้งาน 400,000 คน/เดือน มีร้านอาหารเข้าร่วมเกิน 20,000 ร้านทั่วกรุงเทพฯ

ไลน์แมนรับซื้ออาหารภายในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ได้จำกัดพื้นที่การให้บริการ และไม่จำกัดระยะทาง เพราะคำนวณค่าบริการตามระยะทางอยู่แล้ว แต่จำกัดวงเงินในการฝากซื้อไม่เกิน 1,000 บาท

ไลน์แมนได้อุดจุดอ่อนในตลาดที่รายอื่นไม่มี ด้วยการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ชอบสตรีทฟูดที่เปิดกลางคืน แต่ถ้าใช้บริการช่วงนอกเวลาทำการก็แค่จ่ายค่าบริการเพิ่มเท่านั้น ตั้งแต่ 21.00 น. – 22.59 น. เก็บค่าบริการเพิ่มอีก 50 บาท และตั้งแต่ 23.00 น.- 06.00 น. เก็บค่าบริการเพิ่ม 100 บาท

ก่อลาภ สุวัชรังกูร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด LINE MAN กล่าวว่า ได้มองเห็นโอกาสของตลาดนี้มีการเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เร่งรีบ เน้นความสะดวก รวดเร็ว และคุ้มค่า โดยเฉพาะในด้านอาหารการกิน มีความเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก จากแต่ก่อนนิยมเดินทางออกไปลองร้านดังตามที่ต่างๆ เปลี่ยนเป็นการสั่งอาหารผ่านมือถือ ทางออนไลน์มาทานที่บ้าน เพื่อเลี่ยงปัญหาการจราจร การเสียเวลาเดินทาง ที่จอดรถ หรือการรอคิว เป็นต้น

ก่อลาภ มองภาพรวมในตลาดฟูด ดิลิเวอรีว่า แข่งขันกัน 4 ด้านหลักๆ อันดับแรกคือ “ความเร็ว” คนไทยชอบบริการที่มีความรวดเร็ว ทันใจ อย่างที่สองคือ “ความสะดวกสบาย” การเข้าใช้งานบริการ การอัปเดตสถานะของบริการต้องชัดเจน ง่าย ไม่ซับซ้อน สาม “บริการที่ครอบคลุม” อยากทานร้านไหนต้องได้ทาน คนไทยใจร้อนมากขึ้น พร้อมกับต้องมีส่วนลด และโปรโมชันให้เลือกแต่ละเทศกาลตลอด สุดท้ายเป็นเรื่องของ “ราคา” ที่ต้องสมเหตุสมผล

ไลน์แมน จึงเน้น 4 ด้าน คือ

  1. ความหลากหลายของร้านอาหารที่เป็นพาร์ตเนอร์เกิน 20,000 ร้านทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ระดับภัตตาคารดังไปจนถึงร้านอาหารเด็ดข้างทางที่เป็น “สตรีทฟูด” ที่มักจะไม่มีบริการดิลิเวอรี และไลน์แมนจะให้บริการตลอด 24 ชม.
  2. เชื่อมต่อกับไลน์ ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึง เพราะคนไทยนิยมใช้ไลน์กันอยู่แล้ว รับข้อความแจ้งเตือน รวมถึงดูสถานะต่างๆ ของ LINE MAN ผ่านไลน์
  3. จัดแคมเปญ โปรโมชันร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งคูปองส่วนลด, โปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 ร่วมกับร้านอาหารต่างๆ ตามเทศกาล มีรีวิวแนะนำร้านดังใน LINE MAN Lifestyle สำหรับคนที่ยังตัดสินใจเลือกร้านไม่ได้
  4. รวบรวมบริการดิลิเวอรีหลากหลายรูปแบบมารวมอยู่ในบริการเดียว ไม่ใช่แค่บริการสั่งซื้ออาหารเท่านั้น ยังใช้บริการเมสเซนเจอร์

กลยุทธ์ต่อไปของไลน์แมน ต้องผลักดันบริการอื่นๆ เช่น บริการเมสเซนเจอร์ สั่งของสะดวกซื้อ บริการส่งพัสดุ จะมีขยายฐานผู้ใช้ใหม่ๆ ในส่วนบริการเดิมที่เป็นฟูด ดิลิเวอรีที่ติดตลาดแล้ว จะมีการปรับคอนเทนต์ และระบบให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

ทางด้าน Wongnai แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหาร ที่เข้ามาอยู่ในธุรกิจฟูด ดิลิเวอรีผ่านการเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกับทางไลน์แมน

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด กล่าวว่า ตลาดฟูด ดิลิเวอรีเพิ่งเกิดได้ไม่กี่ปี ก่อนหน้านี้ตลาดจะแคบ มีกลุ่มคนที่ใช้จำกัด ส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะ เพราะส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารใหญ่ๆ และมีค่าบริการแพงอยู่ ในขณะที่คนทั่วไปยังคุ้นเคยกับการสั่งฟาสต์ฟูดกันอยู่ แต่เมื่อมีผู้เล่นมาทำบริการมากขึ้นช่วยทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น เปิดกว้างขึ้น ร้านอาหารมากขึ้น ค่าบริการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อย่างฟู้ดแพนด้าที่เป็นรายเก่าอยู่ในตลาดมานานจะมีร้านอาหารเยอะ ส่วนอูเบอร์อีทส์ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ก็เริ่มมีร้านอาหารที่เป็นพาร์ตเนอร์หลายร้อยร้าน แต่ทั้งคู่จะเน้นร้านอาหารระดับกลางขึ้นไป

สำหรับวงใน มาเป็นพาร์ตเนอร์กับทางไลน์แมนในเรื่องการทำคอนเทนต์ และติดต่อร้านอาหาร เพราะเป็นจุดแข็งของวงในอยู่แล้ว ส่วนไลน์แมนจะทำเรื่องระบบ และได้ลาล่ามูฟเข้ามาเรื่องมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ขนส่ง  พันธมิตรทั้ง 3 จะมีการแบ่งสัดส่วนรายได้กัน

โมเดลธุรกิจของทางไลน์แมนจะเป็นแบบเปิด ให้ร้านอาหารร้านไหนก็ได้เข้าร่วม เน้นร้านค้าที่เป็นสตรีทฟูด หรือที่รู้จักกันดี อย่าง เจ๊โอว เจ๊กี ข้าวมันไก่ประตูน้ำ เป็นการสร้าง Use Case ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคได้สั่งอาหารร้านไหนก็ได้ ไม่ต้องจำกัดแค่ร้านใหญ่ๆ หรือฟาสต์ฟูด ซึ่งสร้างจุดเด่นให้ตัวเอง และสร้างความแตกต่างให้ตลาดด้วย

การร่วมมือกับทางไลน์แมนเป็นการเพิ่มบริการใหม่ๆ ให้กับวงใน จากเดิมที่มีการหารายได้ทางเดียวคือจากโฆษณา แต่ครั้งนี้ได้ต่อยอดในการขยับบริการไปออฟไลน์ เพิ่มช่องทางการหารายได้ ในอนาคตวงในก็จะมีการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์มากขึ้น

ยอดมองว่า ตลาดฟูด ดิลิเวอรีจะมีโอกาสเติบได้อีกถึง 10 เท่า และเชื่อว่าในอนาคตตลาดฟูดดิลิเวอรีจะขยายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย

UberEATS บริการเป็นเวลา

สำหรับ UberEATS  เปิดให้บริการในไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง ปัจจุบันได้เปิดให้บริการใน 57 เมือง จาก 20 ประเทศ โดยกรุงเทพฯ เป็นเมืองลำดับที่ 5 ในเอเชีย ต่อจากสิงคโปร์ โตเกียว ฮ่องกง และไทเป

หลักการทำงานของ UberEATS ก็คือให้ผู้บริโภคสั่งอาหารจากร้านอาหารที่เป็นพันธมิตรร่วมกัน ปัจจุบันมีกว่า 100 ร้านค้า โดยที่โมเดลการหารายได้ของ UberEATS ก็เป็นการแบ่งเปอร์เซ็นต์จากทางร้านค้า ส่วนมอเตอร์ไซค์ที่เป็นผู้ส่งก็เป็นพันธมิตรเช่นเดียวกับคนขับอูเบอร์ ก็คือไม่ใช่พนักงานของบริษัท โดยที่แอปพลิเคชัน UberEATS กับ Uber จะแยกออกจากกัน

การเปิดตัวใช้งานในกรุงเทพฯ มีพื้นที่การให้บริการในการจัดส่งจำกัดอยู่ในเมืองก่อน เช่น สาทร, สีลม, ปทุมวัน, เพลินจิต, นานา, อโศก, พร้อมพงษ์, ทองหล่อ, เอกมัย, เยาวราช หลังจากนั้นมีการเพิ่มพื้นที่การให้บริการอีก ได้แก่ อารีย์, ดินแดง, รัชดา, พระราม9, คลองเตย, ห้วยขวาง, ลาดพร้าว, พระราม3, พระโขนง, เจริญกรุง, พระนคร, พระราม 4, จตุจักร และรัชโยธิน ในอนาคตจะมีขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีก แต่ก็ยังเป็นข้อจำกัดที่ยังให้บริการไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และช่วงเวลาเปิดให้บริการอยู่ที่ 10.00 – 22.00 น.

โมเดลแตกต่าง

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) มองว่า ผู้ให้บริการแต่ละรายจะมีโมเดลแตกต่างกัน อย่างฟู้ดแพนด้าจะหักเปอร์เซ็นต์จากค่าอาหาร 30% จะไปคล้ายๆ กับเอ็นโซโก้ในสมัยก่อน ข้อดีคือ ไม่ต้องลงทุนบริการจัดส่ง ไม่ต้องบริการลูกค้า เพิ่มโอกาสการขายได้ ดังนั้นร้านค้าที่เข้าร่วมอาจจะเป็นร้านที่ลูกค้าไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ แต่อาจไม่ใช่ทางเลือกของร้านที่ขายดีอยู่แล้ว ที่ต้องโดนหักถึง 30% แตกต่างจากจากไลน์แมนที่จะไม่หักเปอร์เซ็นต์ร้านค้า จะมีรายได้จากค่าขนส่งล้วนๆ จึงต้องมีบริการหลายประเภท คือ ฝากซื้อ ส่งพัสดุ ไม่ใช่แค่ส่งอาหารอย่างเดียว

ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ให้ความคิดเห็นว่า กระแสของ Food Delivery เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตาด้วยรูปแบบธุรกิจสตาร์ทอัป โดยสร้าง Touch Point  คือตัวแอปพลิเคชันเพื่อแก้ปัญหาให้กับลูกค้าที่ต้องการทางเลือกอื่นๆ นอกจากแบรนด์อาหารเจ้าหลักประเภทฟาสต์ฟูดที่มีบริการส่งถึงบ้านแต่ลูกค้าอาจจะรู้สึกจำเจ และยังเพิ่มโอกาสทางการขายให้กับบรรดาร้านค้ารายย่อยที่มีอาหารดีอาหารเด่นผ่านบริการส่ง ซึ่งร้านรายย่อยอาจต้องลงทุนมากสำหรับการจัดระบบในส่วนนี้ เมื่อฝั่งลูกค้าที่อยากรับประทานอาหารที่หลากหลายมาพบกับบรรดาร้านอาหารที่มีหลากหลายประเภท และมีกลไกของคนที่ทำหน้าที่ส่งอาหารซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานสำคัญของธุรกิจ