2010 ปีทองของบริการ Location-based

ถ้าจะบอกว่า ปี 2010 นี้ เป็นปีทองของบริการ “Location-based” ก็คงไม่ผิดนัก และอาจเรียกได้ว่า บริการ Location-based เป็นพระเอกของโลก Social Media ได้ด้วยซ้ำไป

การขยับตัวทั้ง “องคาพยพ” เพื่อสนับสนุนให้บริการประเภทนี้ ช่วยเพิ่มน้ำหนักและความสำคัญของ “Location-based” ให้แจ้งเกิดขึ้นมาในโลกออนไลน์ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ไม่ว่าจะเป็นมือถือ Smart Phone เกือบทุกรุ่นในปัจจุบัน แทบจะมีระบบระบุพิกัดตำแหน่ง (GPS) มาให้ในตัว ทำให้สามารถระบุตำแหน่งของตัวเองได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

การเติบโตของตัวบริการ “Location-based” เอง โดยเฉพาะบริการที่เป็นที่นิยมอย่าง “Foursquare” ที่ให้ผู้ใช้ ทำการ “Check-in” ณ สถานที่ต่างๆ ที่ผู้ใช้ทั่วโลกช่วยกันสร้างขึ้น แลกกับคะแนน ไอเท็มต่างๆ และ “ลำดับชั้น” หรือ “ยศ” ของผู้ใช้ ช่วยกระตุ้นให้การใช้งานบริการประเภทนี้เพิ่มสูงขึ้น เพราะดูสนุก มีการแข่งขัน เหมือนกับการเล่นเกม

ตัว “App” เอง ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดึงความสามารถของมือถือ และเป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้งานกับตัวบริการ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ อย่าง “Foursquare” หรือ “Gowalla” ได้จากทุกที่ ทุกเวลา

การเชื่อมโยง (Mash-up) ระหว่างบริการ “Location-based” ต่างๆ เหล่านี้ กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ Social Network ช่วยให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับตัวผู้ใช้ตัว Social Network เอง เสมือนมีลูกเล่นด้าน Location เพิ่มขึ้นมาให้กับผู้ใช้

ส่วนตัวบริการ Location-based เอง ก็ได้เกาะและเติบโตไปกับฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ เรียกได้ว่า ได้ประโยชน์แบบ Win-Win ทั้งสองฝ่าย

นอกจากประโยชน์ที่เกิดกับตัวผู้ใช้และผู้ให้บริการ “Location-based” แล้ว บริการลักษณะนี้ยังเกิดประโยชน์กับเจ้าของธุรกิจทั้งใหญ่และเล็ก

หนึ่งในสิ่งที่ลูกค้าไม่ว่าจะของธุรกิจใดก็ตาม ต้องการมากที่สุด คือ “Best Deal” หรือสินค้าที่ตนจะซื้อต้องมีความคุ้มค่าที่สุด (Value for money) โปรโมชั่นลดราคาน่าสนใจที่สุด

โดยธรรมชาติ ลูกค้ามักจะมีความหวั่นไหวต่อราคาสินค้าที่ขึ้นๆ ลงๆ มากน้อยแตกต่างกันไป

ยิ่งกลุ่มลูกค้าที่มีความอ่อนไหวกับราคาสินค้ามากๆ ( Price Sensitivity) ย่อมตอบสนองต่อโปรโมชั่นมาก จะเห็นได้ชัดเจน เมื่อมีการลดราคาสินค้าลงไปถึงจุดๆ หนึ่ง ลูกค้ากลุ่มนี้จะเพิ่มปริมาณการซื้อมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

การหา “Best Deal” จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายลำดับต้นๆ ในการซื้อสินค้าในแต่ละครั้ง

“Location” จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการ “Best Deal” ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่

การเข้ามาของธุรกิจ ยิ่งสร้างประโยชน์ให้กับบริการ “Location-based” ให้สูงมากขึ้นเท่าทวีคูณ

เพราะตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้ใช้ ในการหา “Best Deal”

การมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจตอบแทนและช่วยเพิ่มความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Personal Wealth) โดยการใช้เงินน้อยลงซื้อของชิ้นเดิม

ถ้าไม่มีธุรกิจเข้ามาร่วมวง บริการ “Location-based” ต่างๆ เหล่านี้ อาจจะกลายเป็นเพียงแค่เกมที่เล่นสนุกชั่วคราว ไม่นานผู้ใช้ก็อาจจะเบื่อเพราะไม่รู้ว่าวัตถุประสงค์ในการเล่นจริงๆ ของบริการคืออะไร

ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการตอบโจทย์ทางธุรกิจ จึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ภาพของบริการ “Location-based” สมบูรณ์และชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพราะ ให้ Benefit กับผู้ใช้ชัดเจน

เจ้าของธุรกิจหลายๆ รายยังจดๆ จ้องๆ อยู่วงนอก เฝ้ารอสังเกตุการณ์ว่าบริการลักษณะนี้ จะแจ้งเกิดได้หรือไม่

โอกาสในประเทศไทย ยังถือว่าเพิ่งเริ่มต้นกับก้าวแรก ทุกคนเริ่มต้นเท่ากันหมด คือ ศูนย์

ใครรู้จักก่อน ย่อมมีโอกาสก่อน และสามารถเลือกที่จะเป็น “First Mover” เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจของตน

โลกของบริการ “Location-based” มีอะไรน่าสนใจบ้าง มาดูกันครับ?

Social Shopping Experience & In-store Location
“Shopkick” เป็น “App” บนมือถือที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้การ “Check-in” ของผู้ใช้บริการ “Location-based” ทำได้ง่ายขึ้น

จากเดิมที่ผู้ใช้จะต้องเปิด “App” ขึ้นมาทุกครั้ง เมื่อมาถึงยังสถานที่หรือตำแหน่งที่ต้องการ “Check-in” ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการ “Check-in” ในแต่ละที่

แต่ “Shopkick” จะช่วยให้ผู้ใช้ทำการ “Check-in” ได้อัตโนมัติเมื่อผู้ใช้เดินเข้าไปใกล้เคียงบริเวณร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าใดๆ ที่เป็น Partner กับ “Shopkick”

จากนั้น “Shopkick” ก็จะให้รางวัลกับผู้ใช้ที่ทำการ “Check-in” เป็นสิ่งที่เรียกว่า “Kickbucks” ซึ่งเป็นเหมือนสกุลเงินเฉพาะของ “Shopkick” เอง

เจ้าตัว “Kickbucks” นี่เอง ที่ผู้ใช้สามารถนำมาแลก iTunes Gift Card , Voucher ร้านอาหารต่างๆ , กระเป๋า Coach , LCDTV , Gift Card ของร้าน Best Buy, ตั๋วหนัง, ส่วนลดในการซื้อสินค้าต่างๆ หรือแม้แต่ Facebook Credit ที่สามารถนำไปซื้อสินค้าต่างๆ บน Facebook เช่น ไอเท็มในเกม FarmVille ได้อีก

นอกจากการ “Check-in” แล้ว ผู้ใช้ “Shopkick” ยังสามารถได้ “Kickbucks” จากการ แวะเข้าไปดูสินค้ายังร้านค้าต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็น Partner กับทาง “Shopkick”

เมื่อเดินดูสินค้าในร้านแล้ว ถ้าเราใช้มือถือทำการ Scan ตัว Barcode ของสินค้าในร้าน ทาง “Shopkick” ก็จะให้ “Kickbucks” เราเพิ่มอีก

เทคโนโลยีที่ “Shopkick” ใช้ในการระบุตำแหน่งร้านค้า เป็นเทคโนโลยีที่พิเศษกว่าบริการ “Location-based” อื่นๆ คือ ความแม่นยำในการ “Check-in” โดยไม่ต้องใช้ GPS

ร้านค้าที่เป็น Partner กับ “Shopkick” หน้าร้านจะมีการติดตั้งลำโพงตัวเล็กๆ ที่คอยส่งเสียงในคลื่นความถี่ที่หูของคนเราไม่สามารถได้ยิน

จากนั้น ไมโครโฟนของโทรศัพท์ผู้ใช้จะรับเสียงจากลำโพงนั้นมาถอดรหัส โดยจะมี “รหัสร้านค้า” อยู่ในเสียงที่ส่งมาด้วย ทำให้สามารถระบุตำแหน่ง สถานที่ได้อย่างแม่นยำ และไม่สามารถโกงตำแหน่งผู้ใช้ อย่างที่ “Foursquare” ทำได้ เพราะผู้ใช้จะต้องมายืนอยู่หน้าร้านจริงๆ

ช่วยให้สามารถนับจำนวนคนที่เข้าร้านได้อย่างแม่นยำ

ความพิเศษนอกเหนือจาก “Check-in” ตัว “Shopkick” เอง ยังดึง Catalog ของสินค้าในร้านนั้นๆ มายังตัวมือถือของผู้ใช้ เพื่อนำเสนอโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษของร้านได้อีกด้วย

“Best Buy” ร้านค้าปลีกเครื่องไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นอีก 1 รายที่ได้นำ “Shopkick” มาใช้ กับร้าน “Best Buy” กว่า 257 สาขาทั่วสหรัฐฯ

ผู้ใช้ “Shopkick” สามารถนำคะแนนที่ได้จากการ “Check-in” (แค่เดินเข้าร้าน) ไปแลกกับ “Best Buy Certificate” เพื่อแลกของ หรือจะไปที่จุดขาย (Point of Sales) เพื่อนำคะแนนแลกส่วนลดได้ทันที

สรุป Social Shopping Experience ของ “Shopkick”
1.Check-in เพียงแค่เดินผ่านหน้าร้านหรืออยู่ในบริเวณร้านแล้ว Check-in
2.Walk-in เดินเข้าไปดูสินค้าในร้านค้าต่างๆ
3.Scan ใช้มือถือ Scan สินค้าที่ขายอยู่ในร้าน เพื่อให้ทางระบบ “Shopkick” เก็บข้อมูลสินค้าจากร้านค้า Partner
4.Redeem เมื่อสะสม “Kickbucks” ได้ถึงจำนวนที่กำหนด สามารถนำไปแลก Voucher ส่วนลดต่างๆ หรือของกำนัลที่ร้านค้า Partner กำหนดมา

เมื่อยักษ์ขยับ กับ Facebook “Places” และ “Deals”
เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ลงมาเล่นเกม “Location-based” ในสนามเดียวกับ Foursquare เป็นที่จับตามองของคนออนไลน์ทั่วโลก เพราะเมื่อเว็บอันดับหนึ่งของโลก ที่มีจำนวนผู้ใช้กว่า 600 ล้านคน ขยับตัว ย่อมสร้างความสั่นสะเทือนให้กับตลาดบริการด้านนี้

ด้วยความได้เปรียบของ Facebook ที่มีผู้ใช้กว่า 600 ล้านคนทั่วโลก เปรียบเป็นประเทศ ก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย

การทำธุรกิจกับประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก ย่อมเป็นที่หมายปองขององค์กรธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่

เทียบกับประชากร 5 ล้านของ Foursquare เรียกได้ว่า เป็นมวยคนละรุ่น กระดูกคนละเบอร์ เลยทีเดียว เพราะประชากรของ Foursquare เทียบได้ระดับ “เมือง” เท่านั้น

งานนี้เล่นเอาเจ้าของ Foursquare หนาวๆ ร้อนๆ อาจจะถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับไปหลายคืน

นอกจาก Facebook จะออกบริการ “Places” ที่เป็นบริการ “Check-in” คู่แข่ง Foursquare โดยตรงแล้ว

ยังออกบริการที่เสริมทีเด็ดให้กับ “Places” อย่าง “Deals” ที่เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญและสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับบริการ “Location-based” ของตน

“Facebook Deals” เป็นศูนย์รวมสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ คล้ายกับสิทธิพิเศษที่มีในการใช้งานบัตรเครดิต

และมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อเนื่องกลายเป็น “ศูนย์รวมสิทธิพิเศษ” ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก ในอนาคตอันใกล้

“Facebook Deals” มีอยู่ 4 รูปแบบ ให้เลือก
1.Individual Deals เป็นส่วนลดและสิทธิพิเศษสำหรับผู้ใช้แต่ละคน
2.Friend Deals เป็นส่วนลดและสิทธิพิเศษของผู้ใช้และกลุ่มเพื่อน เวลาใช้สิทธิ์ต้องใช้ด้วยกันหลายคน
3.Loyalty Deals เป็นส่วนลดและสิทธิ์พิเศษ สำหรับผู้ใช้เมื่อทำการซื้อสินค้าเป็นประจำ
4.Charity Deals เป็นการรับบริจาคจากผู้ใช้

สิทธิพิเศษ การใช้โปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ ของ “Facebook Deals” ครอบคลุมทั้งพฤติกรรม Individual Buying และ Group Buying , Loyal Buying ของลูกค้าผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ Facebook ยังออกแบบให้ “Deals” สามารถสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีการทำ Business Partnership ที่ยุ่งยากแบบในอดีต

องค์กร ธุรกิจ ร้านค้า ไม่จำเป็นต้องติดต่อโดยตรงกับ Facebook เพื่อเสนอสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับลูกค้าของตน แต่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ง่ายๆ ผ่านเครื่องมือที่ Facebook เตรียมไว้ให้ เมื่อสร้าง “Deals” เสร็จเพียงแค่รอทาง Facebook ทำการตรวจสอบ โดยใช้เวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง

เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจรากหญ้า SME ต่างๆ เข้ามาใช้ประโยชน์จากบริการ “Location-based” กับธุรกิจของตนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพราะใครๆ ก็เข้ามาสร้าง “Deals” ได้

ขั้นตอนการโปรโมต “Deals” ก็ทำง่ายๆ ผ่านกลไกของ Facebook เอง ทั้งการแชร์ผ่าน Facebook Fan Page (Share with Connections) , การซื้อ Facebook Ads และการแชร์ผ่าน “Facebook Places” ช่วยให้ “Deals” ถูกโปรโมตแบบ Viral ได้ไม่ยาก

    ปัจจุบัน “Facebook Places” มี Partner รายใหญ่หลายๆ ราย เช่น

  • ยีนส์ GAP ที่แจกกางเกงยีนส์ถึง 10,000 ตัว
  • ห้างสรรพสินค้า JC Penney ที่มอบส่วนลด $10 เมื่อซื้อสินค้าทุกๆ $50
  • McDonald ที่มอบเงินบริจาค $1 ต่อผู้ใช้ 1 คนให้กับมูลนิธิ Ronald McDonald
  • ทีมอเมริกันฟุตบอล San Francisco 49ers ให้สิทธิ์แฟน 200 คนแรกได้ซื้อตั๋วในราคา $49
  • ร้านกาแฟ Starbucks มอบเงินบริจาค $1 ต่อผู้ใช้ 1 คน
  • และอื่นๆ อีกมากมาย

จากทั้ง 2 กรณี จะเห็นได้ว่า ความน่าสนใจของบริการ “Location-based” อยู่ที่
1.Benefits & Deals เพื่อสร้างคุณค่าสูงสุดให้เกิดกับผู้ใช้ ทั้งคุณค่าทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งส่วนบุคคล และตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ ด้วยการนำเสนอโปรโมชั่นที่น่าสนใจให้กับกลุ่มผู้ใช้
2.Business Partnership การเข้าร่วมขอองแบรนด์ดังจะช่วยให้เกิด Benefits & Deal ที่น่าสนใจและดึงดูดให้ผู้ใช้ เข้ามามีประสบการณ์ร่วมกับบริการลักษณะนี้มากขึ้น ส่วนธุรกิจก็จะได้ผลตอบแทนเป็นยอดขายที่สูงขึ้น สามารถ Track ความนิยมในตัวสินค้าแต่ละชนิด การติดตามพฤติกรรมการซื้อลูกค้าของตัวเอง และถ้ามี SME และธุรกิจท้องถิ่นเข้าร่วมมากขึ้น จะทำให้ความน่าสนใจมากขึ้น เพราะฐานผู้ใช้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก
3.Deal Tracking สำหรับธุรกิจร้านค้า ใช้เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิ์ เช่น การให้โปรโมชั่นเฉพาะ 100 คนแรกของวัน จะต้องตรวจสอบได้ว่า ใช้ไปแล้วกี่คนในวันนั้น เพื่อป้องกันการโกงจากผู้ใช้
4.Collective Reward เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสะสมและสร้างกระบวนการซื้อซ้ำ (Re-purchase) การกระตุ้นให้ลูกค้ามาเยี่ยมร้านค้าซ้ำ (Re-visit) เพื่อสร้าง Loyalty ให้เกิดกับลูกค้า