อุบัติเหตุการเมืองพม่า : ผลกระทบเศรษฐกิจไทย

การเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพม่าอย่างกะทันหัน ทำให้นานาชาติจับตามองทิศทางการเมืองภายในประเทศพม่าอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับพม่า ได้พัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ อย่างราบรื่นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่าครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับพม่าอันเนื่องมาจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศพม่า ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สรุปได้ดังนี้

ผลกระทบต่อประเทศไทย

1. การค้าไทย-พม่า

การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในพม่า ส่งผลกระทบทันทีในช่วงแรกต่อการค้าระหว่างไทยกับพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าตามแนวชายแดนไทย–พม่า เนื่องจากสถานการณ์ในพม่าค่อนข้างคลุมเครือในวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวพม่าที่ติดต่อค้าขายกันโดยอาศัยจุดผ่านแดนระหว่าง 2 ประเทศ ไม่มั่นใจว่าเกิดเหตุการณ์อะไรในพม่า ส่งผลให้การขนส่งสินค้าผ่านชายแดนไทย–พม่า บริเวณจุดผ่านแดนแม่สายจังหวัดเชียงรายของไทยกับเมืองท่าขี้เหล็กของพม่า ชะงักงันชั่วคราวเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ผลัดเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีของพม่า แต่สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็วในวันต่อมา คาราวานขนส่งสินค้าผ่านทางจุดแดนแม่สาย–ท่าขี้เหล็ก เริ่มเปิดเส้นทางเดินรถบรรทุกขนส่งสินค้าระหว่างกันแล้ว หลังจากที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่ามิได้ก่อให้เกิดความรุนแรงใดๆ และไม่ได้มีการปิดพรมแดนประเทศ ขณะนี้คาดว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ของพม่าไม่น่าปรับเปลี่ยนแนวทางในการบริหารเศรษฐกิจอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ จึงยังไม่มีผลกระทบต่อการค้าไทย-พม่าในระยะนี้

สำหรับการค้าชายแดนระหว่างไทยกับพม่าผ่านทางจุดผ่านแดนสำคัญอื่นๆ ปรากฏว่าสถานการณ์ดำเนินไปเป็นปกติเช่นกัน ได้แก่ จุดผ่านแดนแม่สอด (จังหวัดตากของไทย) – เมียวดี (พม่า) และจุดผ่านแดนระนอง (ไทย) – เกาะสอง (พม่า)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าผลกระทบด้านการค้าระหว่างไทยกับพม่าจากเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองภายในของประเทศเพื่อนบ้านไทย จะเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของพม่ายังคงดำเนินนโยบายบริหารประเทศในฐานะพันธมิตรเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆต่อไป รวมทั้งกับประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้นำพม่าเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ของพม่าน่าจะสานต่อความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่าที่เริ่มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นนับตั้งแต่กลางปี 2544 เป็นต้นมา ให้คืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เพราะสถานการณ์การค้าของพม่ากับไทยที่กำลังเฟื่องฟูจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจพม่าฟื้นตัวจากภาวะถดถอยในปีที่ผ่านมา โดยในปี 2546 เศรษฐกิจพม่าหดตัวประมาณ 1.0% คาดว่าในปี 2547 จะกระเตื้องดีขึ้น มีอัตราขยายตัวราว 0.5% การที่ไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของพม่าและรัฐบาลไทยมีนโยบายเป็นมิตรกับพม่ามาโดยตลอด จึงคาดว่าเหตุการณ์ภายในพม่าครั้งนี้ ไม่น่ามีผลกระทบต่อการค้าระหว่างกันมากนัก

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับพม่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1. การค้าชายแดนไทย – พม่า

? ส่งออกชายแดนสดใส การค้าชายแดนระหว่างไทยกับพม่าสดใสอย่างมากในรอบปีนี้ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าชายแดนไทยไปพม่าเพิ่มขึ้น 65.6% เป็นมูลค่า 12,642 ล้านบาทในช่วง 8 เดือนแรก 2547 คาดว่าการส่งออกชายแดนไทยไปพม่าตลอดปีนี้จะทำสถิติสูงสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าไม่กระทบต่อการค้าชายแดนกับไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ การส่งออกชายแดนไทยไปพม่าในช่วง 8 เดือนแรก 2547 ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องจากปี 2546 ซึ่งการส่งออกชายแดนไทยไปพม่าพุ่งขึ้นถึง 90.8% ในปีที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งเนื่องจากไทยกับพม่ามีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกัน ไม่มีความขัดแย้งรุนแรงจนถึงขั้นปิดชายแดนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ประชาชนชาวไทยและชาวพม่าติดต่อค้าขายชายแดนได้เป็นปกติและคล่องตัว ส่งผลให้การส่งออกชายแดนไทยไปพม่ากระเตื้องขึ้นรวดเร็วนับตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยทะลุระดับ 10,000 ล้านบาทอีกครั้งหนึ่ง

คาดการณ์ว่าการส่งออกชายแดนระหว่างไทยกับพม่ามีแนวโน้มแจ่มใสยิ่งขึ้น หากทางการไทยและพม่าเปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำแม่สายแห่งที่ 2 ซึ่งจะเป็นเส้นทางคมนาคมอีกช่องทางหนึ่งที่เชื่อมการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงรายของไทยกับเมืองท่าขี้เหล็กของพม่า ขณะนี้การก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รวมทั้งเส้นทางถนนในฝั่งไทยรวมทั้งทางฝั่งพม่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมิได้เปิดใช้เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคบางส่วนยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ประกอบกับทางการไทยต้องจัดตั้งด่านศุลกากรบริเวณจุดผ่านแดนแห่งใหม่นี้อีกแห่งหนึ่งด้วย สะพานข้ามแม่น้ำแม่สายแห่งที่ 2 เป็นเส้นทางเลี่ยงเมืองซึ่งจะช่วยให้การคมนาคมขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับพม่าคล่องตัวยิ่งขึ้น รวมทั้งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนไปยังจีนตอนใต้ด้วย

สินค้าส่งออกชายแดนไทยไปพม่าที่ขยายตัวในอัตราสูงในช่วง 8 เดือนแรก 2547 ได้แก่ สินค้าประเภทอุตสาหกรรมเกษตร ยานพาหนะ-อุปกรณ์และส่วนประกอบ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น ทั้งนี้ จังหวัดชายแดนของไทยที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่า และเป็นช่องทางส่งออกสินค้าชายแดนจากไทยไปยังพม่า ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ จุดผ่านแดนแม่สอด จังหวัดตาก รองลงมา ได้แก่ จุดผ่านแดนระนอง และจุดผ่านแดนแม่สาย จังหวัดเชียงราย

? นำเข้าชายแดนชะลอ ทางด้านการนำเข้าชายแดนจากพม่าชะลอตัวลงเล็กน้อยอยู่ในระดับ 29,516 ล้านบาทในช่วง 8 เดือนแรก 2547 ลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับมูลค่านำเข้า 30,007 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2546 สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าผ่านชายแดนจากพม่า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของมูลค่านำเข้าชายแดนจากพม่าทั้งหมดของไทย โดยยอดนำเข้าก๊าซธรรมชาติมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท/เดือน เนื่องจากประเทศไทยมีสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งขุดเจาะในพม่าเพื่อนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้านับตั้งแต่กลางปี 2544 เป็นต้นมา โดยนำเข้าผ่านทางชายแดนด้านจังหวัดกาญจนบุรี ส่งผลให้ยอดนำเข้าชายแดนจากพม่าอยู่ในระดับสูงถึง 45,718 ล้านบาทในปี 2546 ประมาณการว่ามูลค่านำเข้าสินค้าชายแดนจากพม่าในปีนี้จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

? ยอดขาดดุลการค้าชายแดนกับพม่ามีแนวโน้มกระเตื้อง การนำเข้าก๊าซธรรมชาติผ่านทางชายแดนจากพม่าที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงในแต่ละปี ส่งผลให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าชายแดนกับพม่านับตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งเป็นปีแรกที่ไทยเริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่า ยอดขาดดุลการค้าชายแดนระหว่างไทยกับพม่าอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 30,000 ล้านบาท/ปี เทียบกับในช่วงก่อนหน้านี้ ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าชายแดนกับพม่าเฉลี่ยประมาณ 5,000 ล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าชายแดนไทยไปพม่าที่ขยายตัวในอัตราสูงในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าชายแดนของไทยกับพม่าลดลง 24.6% อยู่ในระดับ 16,874 ล้านบาทในช่วงเดียวกัน ประมาณว่ายอดขาดดุลดังกล่าวตลอดปีนี้มีแนวโน้มลดลงอยู่ในระดับราว 25,000 ล้านบาท

2. การค้าทั่วไปไทย – พม่า

ทางด้านสถานการณ์การค้าทั่วไประหว่างไทยกับพม่าในขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า เนื่องจากเป็นการติดต่อค้าขายที่ทำสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างกันไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของพม่าปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารเศรษฐกิจประเทศ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วไประหว่างไทยกับพม่าในระยะยาว ทั้งนี้ ทางการไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ภายในประเทศพม่าอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อปรับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางการค้ากับเพื่อนบ้านแห่งนี้ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวรวดเร็วในช่วงนี้

? ส่งออกทั่วไปเพิ่ม 46.9% การส่งออกสินค้าไทยไปพม่าในรูปแบบการค้าทั่วไปในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2546 โดยมีอัตราเพิ่ม 46.9% มูลค่า 416 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับอัตราเติบโต 35.2% มูลค่าส่งออก 439 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2546 นับว่าการส่งออกสินค้าไทยไปพม่าฟื้นตัวรวดเร็วในช่วง 2 ปีนี้ หลังจากที่ยอดส่งออกสินค้าไทยไปพม่าซบเซาลงในช่วงระหว่างปี 2544-2545 คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าทั่วไปของไทยไปพม่ามีแนวโน้มแตะระดับ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตลอดทั้งปีนี้ หากสถานการณ์การค้าทั่วไประหว่างไทยกับพม่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ไม่ผันผวนมากนัก

สินค้าที่พม่านำเข้าจากไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภค-บริโภคจำเป็นและของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เครื่องดื่ม นมและผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เภสัชภัณฑ์ รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องสำอางและสบู่ รวมทั้งสินค้าจำพวก เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ปูนซิเมนต์ รถจักรยานยนต์ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ-โทรทัศน์ เป็นต้น

พม่าจัดเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ไทยส่งสินค้าออกไปขายมากเป็นอันดับ 7 รองจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกัมพูชา

? นำเข้าฟื้นตัว ไทยนำเข้าสินค้าจากพม่าในรูปแบบการค้าปกติกระเตื้องขึ้นรวดเร็วเช่นกันในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ โดยมีอัตราเพิ่ม 57.9% มูลค่านำเข้า 783 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากพม่าเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในปีนี้ ได้แก่ สินแร่โลหะ แร่ดิบ เหล็ก-เหล็กกล้า เครื่องเพชรพลอย-อัญมณี-เงินแท่ง-ทองคำ ผัก-ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก-ผลไม้ เมล็ดน้ำมันพืช ปลาหมึกสดแช่เย็น ปลาป่นและสัตว์อื่นๆป่น เสื้อผ้า-รองเท้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด แก้วและผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

สินค้าที่ไทยนำเข้าจากพม่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวกวัตถุดิบสำหรับนำมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป หากเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองในพม่าส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับพม่าให้สะดุดลง จะส่งผลเสียเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจไทยที่พึ่งพาวัตถุดิบจากพม่าเป็นหลัก โดยเฉพาะกิจการทำเครื่องประดับพลอยและอัญมณี ประเทศไทยจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากที่อื่นๆ เพื่อประกันความเสี่ยงอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ไม่แน่นอนภายในประเทศเพื่อนบ้าน

? ไทยขาดดุลการค้ากับพม่าพุ่ง การนำเข้าสินค้าทั่วไปจากพม่าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าของไทยกับพม่าสูงขึ้นตามไปด้วย โดยมียอดขาดดุล 368 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 8 เดือนแรก 2547 เพิ่มขึ้น 72.6% เมื่อเทียบกับยอดขาดดุล 213 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกันของปี 2546 ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับพม่ามาโดยตลอด เนื่องจากไทยพึ่งพาสินค้าประเภททรัพยากรธรรมชาติจากพม่า โดยเฉพาะไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ สินแร่โลหะ ถ่านหิน เพชร-พลอย-อัญมณี และสัตว์น้ำ

2. ด้านการลงทุนไทย-พม่า

สถานการณ์อึมครึมทางการเมืองภายในประเทศพม่าขณะนี้ เป็นประเด็นที่ต่างประเทศให้ความสนใจ แต่คงไม่ใช่เหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลจนเกินไป เนื่องจากพม่าจัดเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติทั่วไปรู้จักกันดี รวมถึงนักธุรกิจและนักลงทุนของไทยด้วย ซึ่งต่างตระหนักดีว่าประเทศพม่ายังคงมีจุดอ่อนด้านเสถียรภาพทางการเมืองทั้งภายในประเทศและกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศตะวันตก ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าพม่าจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการลงทุนไม่ด้อยกว่าประเทศอื่นๆในอินโดจีนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ หรือแรงงานราคาถูก แต่ปรากฏว่าพม่าไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านแต่ประการใด

สำหรับนักธุรกิจไทยเคยให้ความสนใจเจาะแหล่งลงทุนในพม่าอย่างคึกคักในช่วงปี 2534-2540 โดยมีเม็ดเงินลงทุนสุทธิในพม่าเป็นมูลค่าเฉลี่ยสูงกว่า 200 ล้านบาท/ปี เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นเฟื่องฟูสุดขีด ประกอบกับประเทศอินโดจีนและพม่าได้ประกาศเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้นักลงทุนไทยออกไปแสวงโชคในประเทศอินโดจีนและพม่าเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ของไทยแตกในปี 2540 การลงทุนของไทยในต่างประเทศลดลง ซึ่งรวมถึงการลงทุนของไทยในพม่าด้วย โดยมีมูลค่าการลงทุนรายปีในพม่าไม่สม่ำเสมอนับจากปี 2541 เป็นต้นมา ประกอบกับรัฐบาลทหารพม่าได้กักตัวนาง ออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่าอีกระลอกในช่วงปี 2543-2545 และกลางปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ทำให้บรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศในพม่าเงียบลง ถึงแม้กลุ่มอาเซียนจะไม่ก้าวก่ายกิจกรรมภายในพม่า แต่เศรษฐกิจอาเซียนในช่วงนั้นยังเพิ่งฟื้นจากพิษไข้วิกฤตเอเชียและเศรษฐกิจโลกซบเซาจากเหตุการณ์วิปโยคถล่มสหรัฐฯเดือนกันยายน 2544 ทำให้ไทยและอาเซียนอื่นๆชะลอการลงทุนในพม่า

ดังนั้น เหตุการณ์ปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีพม่าในครั้งนี้ จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนของไทยในพม่ามากนัก เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนของไทยในพม่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำอยู่แล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง 2546 เป็นต้นมา หลังจากที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า และงดเงินช่วยเหลือพม่า ทำให้ภาวะเศรษฐกิจพม่าอ่อนกำลังลง มีผลให้นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ให้ความระมัดระวังต่อการลงทุนในพม่าด้วย ทั้งนี้ไม่ปรากฏตัวเลขยอดเงินลงทุนสุทธิของไทยในพม่านับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างทางการไทย-พม่าในยุครัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือพม่าในรูปเงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของไทยเป็นวงเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของพม่า และให้เอกชนบางส่วนกู้ไปลงทุนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น เช่น โรงงานน้ำตาล โรงผลิตรองเท้ายาง เป็นต้น เพื่อป้อนตลาดในพม่าเอง ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่ทั้งไทยและพม่าต้องการให้ประชาชนชาวพม่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงคาดว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่พม่าไม่น่าที่จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายใดๆที่จะส่งผลบั่นทอนความเจริญของประเทศ

เป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการลงทุนของไทยที่มีอยู่เดิมในพม่า อาทิ โครงการเลี้ยงกุ้งและทำอาหารสัตว์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ การลงทุนทำเหมืองของกลุ่มอิตัล-ไทย การสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมถึงการลงทุนด้านโทรคมนาคมสื่อสารของกลุ่มกลุ่มชิน คอร์ป ฯลฯ ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภายในของพม่าครั้งนี้ เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคชาวพม่าโดยตรง หรือมิฉะนั้น ก็เป็นโครงการที่นำผลผลิตส่งออกกลับมายังประเทศไทย ซึ่งช่วยสร้างเม็ดเงินรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศให้แก่พม่า

แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยที่ลงทุนด้านท่องเที่ยวและโรงแรมในพม่า อาจได้รับผลกระทบอยู่บ้างในระยะสั้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจชะลอการเดินทางเยือนพม่าชั่วขณะ จนกว่าสถานการณ์ต่างๆเริ่มชัดเจน บรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติจึงจะหวนกลับมากันใหม่ เท่าที่ผ่านมา พม่าเป็นประเทศที่วนเวียนอยู่ในกระแสความแปรปรวนทางการเมืองภายในประเทศมาเป็นระยะๆ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเพียงอีกหนหนึ่งเท่านั้น และก็ไม่ได้มีความรุนแรงใดๆเกิดขึ้น ทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศและนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะชาติเอเชียด้วยกัน จะกลับมาหาพม่าใหม่เมื่อทุกอย่างคลี่คลายเป็นปกติ

ประเทศไทยและประเทศเอเชียอื่นๆ ได้พยายามหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาความตึงเครียดภายในพม่าอย่างนุ่มนวลมาโดยตลอด เพื่อความสงบสุขร่มเย็นร่วมกันของประชาชนพม่าและของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้คาดว่าการปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีพม่าครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้ไทยและประเทศเอเชียอื่นๆ เปลี่ยนแปลงนโยบายการช่วยเหลือให้พม่าเกิดความปรองดองภายในประเทศอย่างสันติ เพื่อปูทางให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยในพม่าในที่สุด

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ของพม่าน่าจะกระชับความสัมพันธ์อันดีกับไทยและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆต่อไป เนื่องจากมีความร่วมมือในโครงการต่างๆจำนวนมากในช่วงที่ผ่านๆมา ซึ่งล้วนจะช่วยให้พม่ามีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น อาทิ โครงการพัฒนาการเกษตรร่วม โครงการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนพืชเสพติด โครงการส่งแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายกลับถิ่น โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศ เป็นต้น

3. ด้านการท่องเที่ยวไทย – พม่า

การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่มักได้รับผลกระทบทันทีต่อเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า จะส่งผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากการผลัดเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพม่าครั้งนี้ มิได้มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งนักท่องเที่ยวไทย คงจะต้องจับตามองสถานการณ์การเมืองภายในพม่าให้ชัดเจนก่อนที่จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในพม่าอีกครั้ง หากทิศทางการเมืองในพม่ามิได้พลิกผันไปจากเดิมมากนัก ก็คาดว่านักท่องเที่ยวไทยจะคลายความวิตกกังวลและหวนกลับไปท่องเที่ยวในพม่าเช่นเคย

? ไทยเที่ยวพม่าพุ่ง บรรยากาศการท่องเที่ยวไทย-พม่ากำลังแจ่มใสอย่างมาก จึงน่าเสียดายที่มีอุบัติเหตุทางการเมืองภายในพม่า ทำให้การท่องเที่ยวในพม่ามีแนวโน้มเงียบเหงาลงชั่วคราวในขณะนี้ แต่คาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวของพม่าจะกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เนื่องจากพม่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ประกอบกับทางการพม่ารณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวแก่ชาวต่างชาติมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น การออกวีซ่า ฯลฯ ส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของพม่าคึกคักอย่างมากนับตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้

ขณะเดียวกันพม่าเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ รวมทั้งพัฒนาเส้นทางคมนาคมสายใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้เมื่อต้นปี 2547 ซึ่งเชื่อมการเดินทางจากชายแดนไทย ด้านอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงรายของไทย ผ่านเมืองท่าขี้เหล็กของพม่า ไปยังเมืองเชียงตุงและเมืองลาในเขตรัฐฉาน ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของพม่าที่ติดต่อกับจีนตอนใต้ และสามารถเดินทางต่อไปยังเมืองต้าล่อในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนานของจีนได้ด้วย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนมากหลั่งไหลไปยังพม่าในช่วงต้นปีนี้ โดยพุ่งขึ้นถึง 123.7% เป็นจำนวน 9,763 คนในไตรมาสแรก 2547

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปพม่าเพิ่มขึ้นกว่า 20% เป็นจำนวนประมาณ 600,000 คนในปี 2546 ทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่พม่าประมาณ 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ โดยชาวไทยและชาวจีนจัดเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่ของพม่า รองลงมา ได้แก่ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ส่วนนักท่องเที่ยวชาติตะวันตกที่เดินทางไปพม่ามากที่สุด ได้แก่ เยอรมัน อเมริกัน ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี เป็นต้น การที่ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นแหล่งสร้างรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศให้แก่พม่า จึงคาดว่าคณะผู้บริหารพม่าไม่น่าที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการท่องเที่ยวแต่ประการใด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม หากสถานการณ์ต่างๆส่อเค้าอึมครึมไม่ชัดเจน ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของพม่า และอาจทำให้นักธุรกิจไทยที่เข้าไปทำธุรกิจด้านท่องเที่ยวและโรงแรมในพม่าพลอยกระทบกระเทือนด้วย

? พม่าเที่ยวไทยเพิ่ม ทางด้านชาวพม่าที่เดินทางมาประเทศไทย คาดว่าอาจชะลอตัวลงชั่วคราวในช่วงปลายปีนี้ หากประชาชนชาวพม่ายังไม่มั่นใจในเหตุการณ์บ้านเมืองของตนเอง ทั้งๆ ที่ในช่วงครึ่งปีแรก 2547 นักท่องเที่ยวชาวพม่าเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้น 32.9% เป็นจำนวน 22,232 คน นับว่าการท่องเที่ยวระหว่างพม่ากับไทยฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ซบเซาลงในปี 2546 ดังนั้น หากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศพม่ามีทิศทางชัดเจนขึ้น ก็คาดว่าชาวพม่าจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวต่างแดน รวมทั้งเดินทางมาเที่ยวไทยได้ตามปกติต่อไป

แนวโน้มทิศทางการเมืองภายในประเทศพม่า เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านร่วมพรมแดนของไทย และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ต่อความมั่นคงชายแดนไทยในด้านปัญหายาเสพติด การอพยพของแรงงานต่างด้าว รวมถึงปัญหาชนกลุ่มน้อย ที่ผ่านมาไทยกับพม่าได้ร่วมมือแก้ไขปัญหาต่างๆทุเลาเบาบางลงเป็นลำดับ ทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศตามแนวชายแดนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขอีกครั้ง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนผู้บริหารประเทศของพม่าครั้งนี้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยแล้ว ก็คาดว่าความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่าในมิติต่างๆทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของทั้งสองประเทศก็น่าจะใกล้ชิดกันเหมือนเดิม