ทิศทางดอลลาร์มืดมน & แนวโน้มทองคำสุกใส

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงทำสถิติต่ำสุดต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเงินยูโร แตะที่อัตราเฉลี่ย 1.3047 ดอลลาร์/ยูโรในช่วงกลางสัปดาห์ และมีค่าร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ซื้อขายที่อัตราเฉลี่ยราว 104 เยน/ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 เดือน เนื่องจากตลาดเงินพะวงเกี่ยวกับปัญหาขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด ประกอบกับนักวิเคราะห์คาดว่าการประชุมรัฐมนตรีคลังของประเทศแนวหน้า 20 ประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในช่วงสุดสัปดาห์ อาจไม่สามารถช่วยพยุงค่าเงินดอลลาร์ไว้ได้ ทางด้านเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ ได้รับอานิสงส์จากความอ่อนแอของค่าเงินดอลลาร์ ทำให้เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1.84-1.85 ดอลลาร์/ปอนด์ ทั้งๆที่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจอังกฤษไม่ค่อยแจ่มใสนัก ส่วนตลาดทองคำต่างประเทศฟู่ฟ่า เมื่อราคาทองคำวิ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผ่านแนวต้าน 440 ดอลลาร์/ออนซ์ ได้สำเร็จ และมีแนวโน้มที่อาจแตะระดับ 450 ดอลลาร์/ออนซ์

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าทรุดต่ำลงเป็นลำดับ หลังจากตลาดเงินคลายความสนใจเกี่ยวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ แต่หันมาวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐานของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่กำลังเพิ่มขึ้นและอาจปะทุรุนแรงต่อไป ตราบใดที่เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวและประชาชนยังคงจับจ่ายใช้สอยกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารายงานตัวเลขเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าสหรัฐฯในเดือนกันยายนมีจำนวนสูงถึง 63.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะชดเชยยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนกันยายน แต่ตลาดเงินก็ยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์ดังกล่าว โดยเกรงว่าหากเม็ดเงินทุนต่างประเทศชะลอตัวลงเมื่อใด ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และอาจเป็นชนวนให้นักลงทุนต่างประเทศไม่มั่นใจในเศรษฐกิจสหรัฐฯ แห่ถอนเงินทุนออกหรือโยกย้ายเงินทุนออกจากสหรัฐฯ ฉุดให้ค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำลงทันที เป็นอันตรายแก่ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกโดยรวม ด้วยเหตุนี้ ค่าเงินดอลลาร์จึงหวั่นไหวอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านๆมา เป็นเพราะอิทธิพลของปัญหายอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่เงินดอลลาร์มีค่าลดลง หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ เงินยูโรมีค่าเข้มแข็งขึ้นนั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มยูโรต่างออกมาแสดงความคิดเห็นที่ไม่ค่อยสบายใจที่เห็นค่าเงินยูโรสูงขึ้นอย่างมากในขณะนี้ อาทิ นายกรัฐมนตรีเยอรมันหวั่นวิตกว่าความแข็งแกร่งของค่าเงินยูโรจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศ ขณะที่นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กก็ออกมาวิจารณ์ว่าสหรัฐฯควรใช้มาตรการค่าเงินดอลลาร์เข้มแข็งอย่างจริงจัง ส่วนรัฐมนตรีคลังเบลเยียมก็เห็นไปในทิศทางเดียวกับกรรมการผู้จัดการธนาคารกลางยูโรที่ว่าค่าเงินยูโรในระดับสูงถึง 1.30 ดอลลาร์ ถือว่าเป็นอัตราที่ไม่เหมาะสมและอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจกลุ่มยูโร แต่ถึงแม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มยูโรจะคิดเห็นกันอย่างไร ค่าเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนแอ เมื่อเทียบกับเงินยูโรอย่างชัดเจนในช่วงกลางสัปดาห์

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่เขย่าความเชื่อมั่นค่าเงินดอลลาร์ ได้แก่ การที่นักค้าเงินเกรงว่าในที่ประชุมกลุ่ม G20 ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีคลังของประเทศแนวหน้ารวม 20 ประเทศ ที่จะมาหารือกันที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในช่วงสุดสัปดาห์ อาจไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดการค่าเงินดอลลาร์ที่กำลังตกต่ำลง อีกทั้งยังเกรงว่าในที่ประชุมอาจกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะมีผลทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียต่างๆเข้มแข็งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ทันที โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น ความวิตกดังกล่าวทำให้มีการเทขายเงินดอลลาร์อย่างหนักในช่วงวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จนค่าเงินดอลลาร์แกว่งที่อัตรา 1.3047 ดอลลาร์/ยูโร ยิ่งไปกว่านั้น การที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นาย John Snow ออกมาเปรยว่าปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯต้องอาศัยความร่วมมือของกลุ่มประเทศยูโรด้วย จึงเป็นสัญญาณชี้ว่าการประชุม G20 อาจไม่ราบรื่นนักในการแก้ไขปัญหาค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ฟื้นตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ เป็นผลจากตลาดเงินเข้าซื้อเงินดอลลาร์ไว้บ้าง เพื่อรอฟังผลการประชุม G20 เนื่องจากก่อนหน้านั้นได้เทขายเงินดอลลาร์มากจนเกินไป เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินยูโรมีค่าขยับสูงขึ้นชั่วขณะ เมื่อมีรายงานข่าวที่ว่ารัสเชียกำลังพิจารณาเพิ่มสัดส่วนสกุลเงินยูโรในกองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากขึ้น แทนเงินดอลลาร์ เนื่องจากรัสเซียค้าขายกับกลุ่มยูโรเพิ่มขึ้น แต่เงินยูโรกลับมีค่าลดลงในเวลาต่อมา

เงินปอนด์อังกฤษ มีค่าเข้มแข็งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์หล่นลงอย่างมาก ได้ผลักดันให้เงินปอนด์มีค่ามั่นคง เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1.84-1.85 ดอลลาร์/ปอนด์ แต่น่าเสียดาย เงินปอนด์ได้รับผลกระทบบางประการเกี่ยวกับรายงานอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา รวมถึงยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมที่ลดลง และการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตรา GDP อังกฤษปี 2547 และ 2548 เหลือประมาณ 3.3% และ 2.4% ตามลำดับ เทียบกับประมาณการเดิมที่ 3.4% และ 2.6% ล้วนมีส่วนยับยั้งความเข้มแข็งของค่าเงินปอนด์

ตลาดทองคำต่างประเทศยังคงสดใส เมื่อราคาทองคำมีแนวโน้มเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง โดยพุ่งสูงสุดในรอบกว่า 16 ปี ซื้อขายในราคาเฉลี่ยสูงกว่า 440 ดอลลาร์/ออนซ์ และนักค้าทองได้คาดการณ์ว่าราคาทองคำอาจเพิ่มสูงขึ้นอีก และมีสิทธิ์แตะที่ระดับ 450 ดอลลาร์/ออนซ์ หากเงินดอลลาร์มีค่าทรุดต่ำลงอย่างแรง รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางลุกลามต่อไป จนเป็นอันตรายต่อตลาดน้ำมันโลก

อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 เทียบกับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2547 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2949 ดอลลาร์/ยูโร (1.2958 ดอลลาร์/ยูโร) 105.30 เยน (104.25 เยน) และ 1.8470 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.8503 ดอลลาร์/ปอนด์)

ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 เท่ากับ 436.80 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 442.80 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2547