ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น : ผลกระทบการลงทุนไทย

บทนำ

การประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีนและนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2005 ได้ช่วยลดความตึงเครียดระหว่างจีน-ญี่ปุ่นลงบ้างแล้ว แต่ความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างจีนและญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องฟื้นฟูอย่างจริงจัง เนื่องจากในด้านหนึ่งจีนและญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดจนทำให้ต่างฝ่ายต่างเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกันและกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งทั้งสองประเทศกำลังแข่งขันกันที่จะแสดงบทบาทผู้นำทางด้านต่างประเทศและเศรษฐกิจในเอเชีย ซึ่งลักษณะความสัมพันธ์ทั้งสองมิติดังกล่าวจะเอื้อให้ญี่ปุ่นคงฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอาเซียนควบคู่ไปกับการขยายความสัมพันธ์ทางการค้า/การลงทุนกับจีน ซึ่งไทยจะเป็นประเทศอาเซียนในลำดับต้น ๆ ที่ญี่ปุ่นจะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะยาว

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-ญี่ปุ่น

ปัญหาความสัมพันธ์ทางการเมืองจีน-ญี่ปุ่นเกิดขึ้นควบคู่ไปกับพัฒนาการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านการลงทุนและการค้า ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนในจีนอันดับต้น ๆ รองจากชาวจีนโพ้นทะเล (รวมถึงฮ่องกง ไต้หวันและมาเก๊า) และสหรัฐฯ โดยการลงทุนสะสมของญี่ปุ่นในจีนมีมูลค่าถึง 66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากโครงการทั้งหมดกว่า 30,000 โครงการ ส่วนในด้านการค้า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีน โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับจีนสูงสุดด้วยมูลค่าความช่วยเหลือกว่า 20 พันล้านดอลลาร์

การลงทุนของญี่ปุ่นในจีนแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ ได้แก่ 1).ช่วงทศวรรษที่ 1980s เมื่อจีนเปิดประเทศได้ไม่นาน แต่การลงทุนมีปริมาณจำกัดเนื่องจากชาวจีนขาดกำลังซื้อสินค้าที่ผลิตออกมา 2) ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990s เมื่อญี่ปุ่นเริ่มใช้จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกอย่างจริงจัง 3) ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เมื่อญี่ปุ่นขยายการผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดจีนควบคู่กับการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดโลก ซึ่งในช่วงหลังนี้เองที่การลงทุนของญี่ปุ่นในจีนมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 10 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2002 และ 2003 ญี่ปุ่นเป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนอันดับสามในจีนรองจากฮ่องกงและหมู่เกาะเวอร์จินส์ ด้วยปริมาณการลงทุน 4,190 ล้านดอลลาร์ และ 5,054 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในจีนเพื่อป้อนสู่ตลาดญี่ปุ่นเอง ซึ่งทำให้การค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นส่วนมากต่างมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ในจีน อาทิ Mitsui มีการลงทุนในจีนถึง 110 โครงการ Matsuchita มีโรงงานในจีนถึง 49 โรงงาน Canon มีโรงงานใหญ่ที่สุดในจีน Honda มีโรงงานในจีน 3 แห่ง Toyota มีการลงทุนในจีนกว่า 10 โครงการ Nissan มีแผนการผลิตรถยนต์ในจีนจำนวน 1.5 ล้านคันในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ร้านค้าปลีกชั้นนำของญี่ปุ่น เช่น Jusco, Ito-Yokado, 7-Eleven และ Lawson ต่างพากันเร่งขยายสาขาในจีน นอกจากการตั้งฐานการผลิตแล้วธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่นยังลงทุนในด้าน R&D ในจีนจำนวนมาก รวมทั้ง outsource การผลิตให้กับผู้ผลิตในจีนด้วย เช่น Sony มี suppliers ในจีนจำนวนมากกว่า 3,000 ราย เป็นต้น การลงทุนดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าไปทำธุรกิจในจีนไม่น้อยกว่า 14,000-16,000 บริษัท โดยที่เซี่ยงไฮ้ที่เดียวมีชาวญี่ปุ่นอาศัยและทำงานไม่น้อยกว่า 40,000 คน

ตารางที่ 1 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในจีน

ประเทศ/แหล่งที่มาของเงินลงทุน 2002 2003 2004 (9 เดือน)
รวม 52,743 53,047 n.a.
ฮ่องกง 17,861 17,700 n.a.
หมู่เกาะเวอร์จินส์ 6,117 5,777 n.a.
ญี่ปุ่น 4,190 5,054 4,200
เกาหลีใต้ 2,721 4,489 5,200
สหรัฐฯ 5,424 4,199 n.a.
ไต้หวัน 3,971 3,377 n.a.
สิงคโปร์ 2,337 2,058 n.a.

มูลค่า ล้านดอลลาร์
ที่มา Chinese Statistical Yearbook (2004) และ People’s Daily

ในทางกลับกัน บริษัทยักษืใหญ่ของจีนจำนวนไม่น้อยพากันไปลงทุนในญี่ปุ่นในรูปของการเข้าซื้อกิจการเพื่อเรียนลัดด้านเทคโนโลยีและขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า เช่น การเข้าซื้อกิจการของ Akiyama (ผู้ผลิต printer) โดย Shanghai Electric Group หรือ การเข้าซื้อแผนกผลิตเตาไมโครเวฟของ Sanyo Electric โดยกลุ่ม Midea จากกวางตุ้ง นอกจากนี้ ยังมีการร่วมทุนจำนวนมาก เช่น กลุ่ม 999 ผู้ผลิตยาและเคมีภัณฑ์จากเซินเจิ้นได้ร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่นในญี่ปุ่นเพื่อขยายตลาดสินค้าของตน นอกจากนี้ธุรกิจสื่อสารและผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน เช่น กลุ่ม เช่น Huawei ได้ร่วมทุนกับ NEC และ Matsushita ในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น

ในด้านการค้า ปัจจุบันจีนและญี่ปุ่นต่างเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกันและกัน โดยญี่ปุ่นเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของจีน แต่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 (รองจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและฮ่องกง) โดยในปี 2004 จีนนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 94.37 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าทั้งหมดร้อยละ 16.8 และจีนส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นมูลค่า 73.51 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 โดยตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนร้อยละ 12.4 ของตลาดส่งออกทั้งหมดของจีน ทั้งนี้ การนำเข้าของจีนจากญี่ปุ่นมีการเติบโตอย่างมากตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990s เป็นต้นมา โดยจีนนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอุตสาหกรรมจำนวนมากจากญี่ปุ่น

สำหรับมุมมองของญี่ปุ่น การส่งออกของญี่ปุ่นไปจีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.6 ของตลาดส่งออกทั้งหมดในปี 1999 เป็นกว่าร้อยละ 13 ในปี 2004 ในทางกลับกันการนำเข้าของญี่ปุ่นจากจีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 ในปี 1999 เป็นราวร้อยละ 20 ในปี 2004 ทำให้ปริมาณการค้ารวมกับจีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 เป็นกว่าร้อยละ 20 ในช่วงเดียวกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะมองด้วยสายตาของจีนหรือญี่ปุ่น การค้าระหว่างสองประเทศต่างมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งพึ่งพากันมากขึ้นเรื่อย ๆ

ตารางที่ 2 การขาดดุลการค้าของจีนที่ค้าขายกับญี่ปุ่น

ปี ส่งออก นำเข้า ดุลการค้า
2003 59,408 74,148 -14,740
2004 73,510 94,370 -20,860
2005 (ม.ค.) 5,960 6,900 -940

หน่วย ล้านดอลลาร์
ที่มา MOFTEC

นอกจากด้านการค้า การท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่าย ปัจจุบันนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเป็นตลาดท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของจีนในเอเชีย ในปี 2003 และ 2004 นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เดินทางไปเยือนจีนมีจำนวน 2.25 ล้านคนและ 3.33 ล้านคนตามลำดับ เทียบกับปริมาณนักท่องเที่ยวจากเอเชียของจีนจำนวน 8.6 ล้านคน และ 7.3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การประท้วงญี่ปุ่นของชาวจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ อาจส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อการท่องเที่ยวของชาวญี่ปุ่นไปยังจีน โดยล่าสุดผู้โดยสารจำนวนเกือบ 20,000 คนได้ยกเลิกเที่ยวบินจากญี่ปุ่นไปจีนกับสายการบิน JAL และ ANA ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย

ตารางที่ 3 จำนวนนักท่องเที่ยวจากเอเชียที่เดินทางไปจีน

ประเทศ 2002 2003 2004
เอเชียรวม 8,643,800 7,265,000 n.a.
ญี่ปุ่น 2,925,600 2,254,800 3,330,000
เกาหลีใต้ 2,124,300 1,945,500 2,840,000
ฟิลิปปินส์ 508,600 457,700 n.a.
มาเลเซีย 592,400 430,100 n.a.
มองโกเลีย 453,100 418,300 n.a.
สิงคโปร์ 497,100 378,100 n.a.
ไทย 386,300 275,400 n.a.
อินโดนีเซีย 274,700 231,800 n.a.

ที่มา China’s Statistical Yearbook (2004)

ปัญหาจีน-ญี่ปุ่นและผลกระทบด้านการลงทุนในไทย

การชุมนุมประท้วงญี่ปุ่นในจีนและปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อธุรกิจของญี่ปุ่นในจีน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นแบรนด์ญี่ปุ่น มีรายงานข่าวว่าร้านค้าปลีกในจีนหลายร้านได้แทนที่สินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นด้วยสินค้าอื่นช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้น แต่ในระยะยาวแล้วทั้งสองประเทศจะไม่ปล่อยให้ปัญหาบานปลายจนนำไปสู่การเผชิญหน้ากันเนื่องจากจีนและญี่ปุ่นมีผลประโยชน์ร่วมกันในด้านการค้าการลงทุน ตลอดจนการสร้างความร่วมมือในกรอบ East Asian Community ความร่วมมือในคาบสมุทรเกาหลีและความร่วมมืออื่น ๆ เช่น การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้นจากปัญหาความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นจะค่อนข้างจำกัด แต่ปัญหาความสัมพันธ์ทางการเมืองและการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ทำให้ญี่ปุ่นกังวลต่อสถานภาพในอนาคตของตนในจีนเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้ การดำเนินธุรกิจของญี่ปุ่นในจีนกำลังประสบปัญหาการแข่งขันมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกและนำเข้าอันดับสองของจีน และจากเกาหลีใต้ซึ่งได้แซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในจีนมากเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อปีที่ผ่านมา เช่น รถยนต์ค่ายญี่ปุ่นกำลังประสบภาวะการแข่งขันที่รุนแรงกับ VW และค่ายรถจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ต้องแข่งขันกับบริษัทท้องถิ่นของจีนเองและจากผู้ผลิตเกาหลีใต้ที่ตั้งฐานการผลิตในจีน ดังนั้น ปัญหาการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นจึงเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงด้านการเมือง/ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวญี่ปุ่นในจีน

ความกังวลข้างต้น กอปรกับความเข้มข้นของการแข่งขันเพื่อสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาคในอนาคตของจีนและญี่ปุ่น อาจส่งผลในระยะยาวให้ญี่ปุ่นยังคงฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอาเซียนควบคู่กับจีนต่อไป โดยในปี 2004 ฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหลัก ๆ ของญี่ปุ่นได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ในอาเซียนและจีนมีขนาดทัดเทียมกันโดยมีจำนวนรวม 1,157 แห่งในอาเซียนและ 1,105 แห่งในจีน โดยญี่ปุ่นมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่าในจีน แต่จีนมีโรงงานด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามากกว่าในอาเซียน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า อุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ของญี่ปุ่นอาจยังคงรักษาฐานการผลิตในอาเซียนในระยะยาวไว้รวมทั้งอาจมีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกแม้ว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในจีนจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปก็ตาม

ตารางที่ 4 ฐานการผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเอเชีย

NIEs (4 ประเทศ) อาเซียน (4 ประเทศ) จีน เอเชียอื่น รวมทั่วโลก
รวมทุกอุตสาหกรรม 644 1,157 1,105 161 4,662
เคมีภัณฑ์ 157 180 170 16 821
เครื่องจักรกล 45 66 81 10 351
เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ 146 267 319 30 1,059
ยานยนต์ 62 210 111 50 754

ที่มา JBIC (July, 2004)

ประเทศที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการคงฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอาเซียนของญี่ปุ่นลำดับต้น ๆ คือประเทศไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย จากรายงานของ Japan Bank for International Cooperation (JBIC) เมื่อปี 2004 พบว่าเป้าหมายการลงทุนในระยะกลางประมาณ 3 ปีข้างหน้าของนักลงทุนญี่ปุ่นพบว่าไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของแหล่งน่าลงทุนที่สุดในโลกสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยการสำรวจในช่วงปี 2001-03 พบว่าจีนครองอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ตามด้วยไทยซึ่งเลื่อนจากอันดับ 3 ในปี 2001 เป็นลำดับ 2 ในปี 2002-03 โดยในปี 2003 นอกจากไทยแล้ว ประเทศอาเซียนที่ญี่ปุ่นสนใจลงทุนคือเวียดนาม (อันดับ 4) และอินโดนีเซีย (อันดับ 6) ทั้งนี้ การสำรวจรายอุตสาหกรรมทั้ง 4 ประเภทหลัก (เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์) ก็สอดคล้องกันโดยไทยครองอันดับ 2 ของเป้าหมายการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมทั้ง 4 ประเภท จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าไทยจะได้รับอานิสงส์อย่างมากจากนโยบายคงฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอาเซียนควบคู่ไปกับจีน

ตารางที่ 5 เป้าหมายการลงทุนของญี่ปุ่นระยะกลาง (3 ปีข้างหน้า)

ปี 2003 ปี 2002 ปี 2001
1.จีน 1.จีน 1.จีน
2.ไทย 2.ไทย 2.สหรัฐฯ
3.สหรัฐฯ 3.สหรัฐฯ 3.ไทย
4.เวียดนาม 4.อินโดนีเซีย 4.อินโดนีเซีย
5.อินเดีย 5.เวียดนาม 5.อินเดีย
6.อินโดนีเซีย 6.อินเดีย 6.เวียดนาม
7.เกาหลีใต้ 7.เกาหลีใต้ 7.ไต้หวัน
8.ไต้หวัน 8.ไต้หวัน 8.เกาหลีใต้
9.มาเลเซีย 9.มาเลเซีย 9.มาเลเซีย
10.รัสเซีย 10.บราซิล 10.สิงคโปร์
ที่มา JBIC (July 2004)

ตารางที่ 6 เป้าหมายการลงทุนของญี่ปุ่นระยะกลางเป็นรายอุตสาหกรรม

เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์
1.จีน 1.จีน 1.จีน 1.จีน
2.ไทย 2.ไทย 2.ไทย 2.ไทย
3.สหรัฐฯ 3.สหรัฐฯ 3.สหรัฐฯ 3.สหรัฐฯ
4.เวียดนาม 4.เวียดนาม 4.เวียดนาม 4.อินโดนีเซีย
5.เกาหลีใค้ 5.อินเดีย 5.อินโดนีเซีย 5.อินเดีย
6.อินเดีย 6.เกาหลีใต้ 6.อินเดีย 6.เวียดนาม
7.ไต้หวัน 7.รัสเซีย 7.เกาหลีใต้ 7.เม็กซิโก
8.อินโดนีเซีย 8.ไต้หวัน 8.รัสเซีย 8.บราซิล
9.สิงคโปร์ 9.มาเลเซีย 9.ฮ่องกง 9.ฝรั่งเศส
10.มาเลเซีย 10.อินโดนีเซีย 10.มาเลเซีย 10.สาธารณรัฐเช็ค
ที่มา JBIC (July 2004)

เมื่อพิจารณาตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยจะพบว่าสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนข้างต้นด้วย โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โครงการลงทุนของญี่ปุ่นยังคงเพิ่มขึ้นจากจำนวน 316 โครงการในปี 2003 เป็นจำนวน 340 โครงการในปี 2004 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2005 จำนวนโครงการลงทุนของญี่ปุ่นยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 103 โครงการจากเดิม 85 โครงการในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้ว่ามูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปี 2004 เป็น 101,856 ล้านบาทจาก 106,374 ล้านบาทในปี 2003 (เนื่องจากโครงการลงทุนที่เป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมประเภทโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเข้ามามากขึ้นหลังจากที่โรงงานขนาดใหญ่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา) แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2005 มูลค่าของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 81.96 เป็นมูลค่า 95,817 ล้านบาทเนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมต้นน้ำและอุตสาหกรรมยานยนต์ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามา คาดว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยในปี 2005-06 จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตารางที่ 7 โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นในไทย

2003 2004 2005 (ม.ค.-มี.ค.)
จำนวนโครงการ มูลค่า จำนวนโครงการ มูลค่า จำนวนโครงการ มูลค่า
ต่างประเทศทั้งหมด 668 248,692 749 307,008 222 115,585
ญี่ปุ่น 316 106,374 340 101,856 103 95,817
สัดส่วน 47.31% 42.77% 45.00% 33.18% 46.40% 82.90%
ที่มา BOI

สรุป

ปัญหาความขัดแย้งจีน-ญี่ปุ่นเกิดขึ้นท่ามกลางมิติการแข่งขัน/ขัดแย้งด้านการเมืองและยุทธศาสตร์และมิติของความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน คาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะเป็นระยะสั้นและไม่บานปลายไปสู่ปัญหาการชะงักงันในด้านการค้า/การลงทุน อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องสถานภาพการแข่งขันระยะยาวของญี่ปุ่นในจีนตลอดจนปัจจัยเรื่องความเสี่ยงด้านการเมืองและสวัสดิภาพของชาวญี่ปุ่นในจีนน่าจะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นคงฐานการผลิตที่สำคัญในอาเซียนไว้ควบคู่ไปกับการลงทุนในจีน โดยไทยเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญของการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียน ไทยจึงควรมีกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าเพื่อให้ใช้ไทยเป็นฐานลงทุนหลักสำหรับภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากยิ่งขึ้น