เยอรมนี 2006 : พ่ายศึกลูกหนัง สมหวังเกมเศรษฐกิจ

ถึงแม้ทีมชาติเยอรมนีต้องพบกับความผิดหวัง โดยไม่สามารถพาความฝันของขาวเยอรมันทั้งประเทศไปให้ถึงดวงดาวในศึกฟุตบอลโลก 2006 ก็ตาม แต่ในฐานะเจ้าภาพการแข่งขันมหกรรมฟุตบอลโลก เยอรมนีได้แสดงความเข้มแข็งอย่างสมศักดิ์ศรีโดยผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ซึ่งเป็นเพียงการพ่ายแพ้ในเกมกีฬา แต่ศึกลูกหนังครั้งนี้ก็ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีที่ย่ำแย่มาเป็นเวลา 6 ปี ได้ผงาดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัวประมาณ 2% ในปีนี้ นับเป็นอัตราเติบโตสูงสุดในรอบ 6 ปี เยอรมนีจัดเป็นประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่ง โดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป และมีมูลค่า GDP สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น การที่เยอรมนีมีเศรษฐกิจเข้มแข็งในปีนี้ จะช่วยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรสกุลเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Euro Area มีแนวโน้มกระเตื้องดีขึ้นด้วย คาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Euro Area จะขยายตัวเฉลี่ยราว 2% ในปีนี้ เทียบกับอัตราเติบโต 1.5% ในปี 2548

การที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ได้กระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชนของเยอรมันใช้จ่ายเงินเพื่อการลงทุนสำหรับปรับปรุงและจัดเตรียมสถานที่ต่างๆ ไว้รองรับการแข่งขันครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ ในขณะเดียวกัน เกมฟาดแข้งที่แฟนฟุตบอลต่างรอคอยมา 4 ปี ยังได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลงใหลในกีฬาลูกหนัง พร้อมบรรดาสื่อมวลชนจากนานาประเทศ เดินทางมาเยอรมันเพื่อติดตามข่าวและเชียร์การแข่งขันกันอย่างใกล้ชิด จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การใช้จ่ายในประเทศเยอรมันช่วงเทศกาลฟุตบอลโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีเม็ดเงินหมุนเวียนไปทั่วประเทศ เนื่องจากเยอรมันกำหนดให้เกมการแข่งขันมีขึ้นในสนามฟุตบอลตามเมืองสำคัญๆ รอบประเทศ 12 แห่ง ทำให้ธุรกิจด้านโรงแรมและที่พักอาศัยประเภทต่างๆ คราคร่ำด้วยนักท่องเที่ยว อีกทั้งร้านอาหาร และร้านค้าทั่วไป โดยเฉพาะร้านจำหน่ายของที่ระลึก ตามสถานที่จัดการแข่งขันและสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในเยอรมัน พลุกพล่านด้วยแฟนบอลต่างชาติที่มาเชียร์เกมการแข่งขัน และถือโอกาสมาเที่ยวชมตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไปด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจเยอรมันสดใสในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 1.6% เทียบกับอัตราเพิ่มราว 0.7% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกเหนือจากปัจจัยด้านมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก 2006 แล้ว เศรษฐกิจเยอรมันยังได้รับแรงสนับสนุนจากสาเหตุอื่น ได้แก่

ส่งออกเข้มแข็ง การที่เศรษฐกิจโลกโดยทั่วไปยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย รวมถึงกลุ่มโอเปก ทำให้ความต้องการสินค้าจำพวกเครื่องมือเครื่องจักรและสินค้าทุนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมประเภทนี้ของเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเงินยูโรมีค่าแข็งขึ้นก็ตาม แต่มิได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเยอรมนีในช่วงนี้ คาดการณ์ว่าการส่งออกของเยอรมนีจะขยายตัวเฉลี่ยราว 10% ในปี 2549 เทียบกับอัตราเพิ่ม 6.2% ในปี 2548

ความต้องการภายในประเทศฟื้นตัว ชาวเยอรมันมีแนวโน้มที่จะเร่งจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 เนื่องจากทางการเยอรมนีมีแผนที่จะปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในช่วงต้นปี 2550 จึงคาดว่าจะทำให้ชาวเยอรมันส่วนใหญ่รีบซื้อสินค้าไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกันคาดว่าการลงทุนน่าจะขยายตัวเช่นกัน เนื่องจากทางการเยอรมนีเตรียมจะปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากระดับปัจจุบัน 39% ให้ลดลงต่ำกว่า 30% การปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ จูงใจให้นักลงทุนชาวเยอรมันขยายธุรกิจอยู่ในประเทศ แทนที่จะย้ายออกไปจัดตั้งธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านย่านยุโรปตะวันออก ซึ่งจัดเก็บภาษีดังกล่าวในอัตราที่ต่ำกว่า คาดการณ์ว่าความต้องการภายในประเทศโดยรวมของเยอรมนีจะขยายตัว 1.5% ในปีนี้ เทียบกับอัตรา 0.2% ในปี 2548

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกจะมีส่วนช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจเยอรมันสดใสขึ้น และประชาชนชาวเยอรมันจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่หลังจากเกมกีฬาขวัญใจชาวโลกปิดฉากลงในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้แล้ว รัฐบาลเยอรมันยังคงต้องเผชิญกับภาระทางเศรษฐกิจของประเทศที่ท้าทายการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ปัญหาเหล่านี้จะบั่นทอนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมันต้องสะดุดลง ได้แก่

ปัญหาการว่างงาน คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานของเยอรมนีจะทรงตัวอยู่ในระดับ 11.2% ในปี 2549 เทียบกับอัตรา 11.7% ในปี 2548 โดยประมาณว่าจะมีคนว่างงานประมาณ 4.7 ล้านคนในปีนี้ การว่างงานของเยอรมนีเป็นปัญหาหมักหมมมานาน โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งแทบไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับตำแหน่งงานใดๆ เลย นอกจากนี้ คนว่างงานอีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จึงไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ชาวเยอรมนีที่ตกงานเป็นเวลานานกว่า 1 ปี มีสัดส่วนประมาณ 40% ของจำนวนคนว่างงานทั้งหมด เนื่องจากการพัฒนาประเทศของเยอรมนีที่เจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ตลาดแรงงานเยอรมนีต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถสูง ส่งผลให้คนว่างงานประเภทแรงงานไร้ฝีมือยังคงตกงานซ้ำซาก และเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของเยอรมนี

วิกฤตน้ำมันแพง เยอรมนีเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบในประเทศมีปริมาณน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ เยอรมนีจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 80% ของความต้องการใช้น้ำมันดิบทั้งหมด การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้น กระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในระดับประมาณ 2% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางการเยอรมนีน่าจะสามารถรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อมิให้สูงขึ้นรวดเร็วนักในช่วงวิกฤตน้ำมันแพง เพราะขณะนี้ยังไม่มีการเรียกร้องขอเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานจากคนงานเยอรมัน ซึ่งจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าสูงขึ้น

การที่เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศแกนนำเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร กำลังมีภาวะเศรษฐกิจแจ่มใส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าน่าจะส่งผลดีแก่เศรษฐกิจไทยบางประการ ดังนี้

1. การค้าไทย – เยอรมนี
เยอรมนีเป็นประเทศที่ไทยส่งสินค้าออกไปขายมากเป็นอันดับ 15 ในบรรดาคู่ค้าทั้งหมดของไทย และจัดเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) รองจากอังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ การส่งออกสินค้าไทยไปยังเยอรมนีอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจในช่วงต้นปีนี้ โดยการส่งออกสินค้าไทยไปเยอรมนีขยายตัว 17.2% เป็นมูลค่า 922 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรก 2549 นับเป็นอัตราเติบโตที่สูงกว่าอัตราขยายตัวของการส่งออกโดยรวมไปยังกลุ่ม EU ซึ่งอยู่ในระดับเฉลี่ยราว 12% ในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าสำคัญหลายรายการที่ไทยส่งออกไปเยอรมนีฟื้นตัวรวดเร็วและขยายตัวในอัตราสูงในช่วงต้นปี 2549 ได้แก่ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบินพุ่งขึ้น 186% รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้น 144% เครื่องวิดีโอ-เครื่องเสียงอุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัว 132% ยางพารา 73% แผงวงจรไฟฟ้า 67% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 64% ไก่แปรรูป 57% อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด 38% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 35% เป็นต้น

ขณะที่ประเทศไทยนำเข้าสินค้าจากเยอรมนีลดลง โดยมีอัตราติดลบ 0.5% เป็นมูลค่า 1,366 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เนื่องจากความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของไทยที่อ่อนกำลังลงในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเยอรมนีที่ไทยนำเข้าลดลง ได้แก่ สินค้าประเภทเครื่องมือ-เครื่องจักร สินค้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ที่สำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 จากเยอรมนี ลดลง 4% ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ -40% ผลิตภัณฑ์โลหะ -46% พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช -19% เป็นต้น
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไทยยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าเยอรมนีเป็นมูลค่า 437 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยอดขาดดุลลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548

2.ลงทุนไทย – เยอรมนี
นักลงทุนชาวเยอรมันนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนจากต่างประเทศของไทย โดยเยอรมนีเป็นนักลงทุนชั้นนำในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย รองจากเนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ การที่เศรษฐกิจเยอรมนีในปีนี้มีแนวโน้มสดใสที่สุดในรอบ 6 ปี จึงคาดว่าน่าจะมีนักลงทุนเยอรมันสนใจขยับขยายการลงทุนมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ถ้าสถานการณ์การเมืองภายในประเทศของไทยคลี่คลายชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะในช่วงต้นปีที่ผ่านมาการลงทุนของเยอรมนีในไทยชะลอลง โครงการลงทุนของเยอรมนีที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ของไทย มีมูลค่าลดลงถึง 91% เป็นมูลค่าเงินลงทุน 115 ล้านบาทในช่วง 5 เดือนแรก 2549 เทียบกับมูลค่าเงินลงทุน 1,282 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2548

นอกเหนือจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยที่อาจทำให้นักลงทุนเยอรมันบางส่วนยังลังเลและเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อน ยังมีสาเหตุอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของเยอรมนีหลายโครงการได้รับอนุมัติการลงทุนไปเรียบร้อยแล้วในปีที่ผ่านมา คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาทในปี 2548 โดยเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 1,000-2,000 ล้านบาท/โครงการ จำนวน 3 โครงการ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของเยอรมนีที่ได้รับอนุมัติการลงทุน ได้แก่ โครงการผลิตขวดแก้ว โครงการผลิตโปแตสเซียม โครงการก่อสร้างรีสอร์ทขนาด 330 ห้อง โครงการผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องสุขภัณฑ์ โครงการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจเยอรมนีเริ่มฉายแววแจ่มใส ประกอบกับค่าเงินยูโรเข้มแข็ง ก็น่าจะทำให้นักลงทุนเยอรมันขนาดกลางและขนาดย่อมหันมาสนใจฐานการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น หากปัจจัยภายในประเทศของไทยทั้งการเมืองและเศรษฐกิจมั่นคง

3. ท่องเที่ยวไทย – เยอรมนี
ชาวเยอรมันจัดเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่ในกลุ่ม EU ที่เดินทางมาเที่ยวไทย มีจำนวนประมาณ 350,000-400,000 คน/ปี นับตั้งแต่ย่างเข้าสหัสวรรษใหม่ 2000 สำหรับในปีนี้คาดว่าการเดินทางมาเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวเยอรมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากมหกรรมฟุตบอลโลก 2006 สิ้นสุดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากค่าเงินยูโรที่เข้มแข็ง ประกอบกับเศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัวดีขึ้น จะจูงใจให้ชาวเยอรมันเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศแถบเอเชียและประเทศไทยในช่วงปลายปีนี้ เพื่อหลบเลี่ยงอากาศหนาวเย็นในประเทศของตนเอง คนเยอรมันนับเป็นชาว EU ที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากอังกฤษ ทั้งนี้นักท่องเที่ยวเยอรมันทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ไทยไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบปี 2548

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ปรากฏว่ามีแฟนบอลชาวไทยบางกลุ่มสนใจเดินทางไปท่องเที่ยวเยอรมนีเพื่อชมการแข่งขันมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกถึงขอบสนามที่เยอรมนี พร้อมทั้งท่องเที่ยวประเทศเยอรมนีด้วย จึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปเที่ยวชมประเทศเยอรมันในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปทัศนาจรประเทศเยอรมันมีจำนวนประมาณ 62,000 คนในปี 2548 เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 54,419 คนในปี 2547 และประมาณว่านักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปเยอรมนีใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวราว 2,730 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม การที่เงินยูโรมีค่าแข็งขึ้นในช่วงนี้ นับเป็นปัจจัยที่จะอาจบั่นทอนการเดินทางไปยังเยอรมนีและประเทศ EU อื่นๆ ที่ใช้เงินตราสกุลเดียวกัน จึงอาจทำให้นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปเยอรมนีมิได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วนักในปี 2549

ถึงแม้การที่เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มเข้มแข็งในปีนี้ จะส่งผลดีต่อไทยบางส่วนก็ตาม แต่ก็มีข้อพึงระวัง โดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดเยอรมนี เนื่องจากสินค้าส่งออกไทยบางรายการได้ส่งสัญญาณไม่ดีนัก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปเยอรมนี ลดลง 32% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ติดลบ 17% เป็นต้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเนื่องมาจากการที่เยอรมนี ซึ่งเป็นสมาชิก EU ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ทางการค้าเช่นเดียวกับ EU ในการกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้าที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ กฎระเบียบเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical and Electronic Equipment: WEEE) ระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารที่เป็นอันตรายบางประเภท (The Restriction of the use of certain Hazardous Substances: RoHS) ในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ระเบียบควบคุมเคมีภัณฑ์ (Registration, Evaluation and Authorisation of Chemical Products: REACH) เป็นต้น

ดังนั้น การสร้างความเชื่อถือของสินค้าไทยในกลุ่มผู้บริโภคชาวเยอรมัน รวมทั้งผู้บริโภคของกลุ่ม EU โดยรวม ผู้ส่งออกไทยต้องให้ความสำคัญในประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจังและเร่งปรับคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับระเบียบกฎเกณฑ์ของกลุ่ม EU โดยเร็ว ทั้งนี้ กลุ่ม EU เป็นภูมิภาคที่ไทยส่งสินค้าออกไปขายมากเป็นอันดับ 3 รองจากอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ผู้ส่งออกไทยจึงควรรักษาส่วนแบ่งตลาดเยอรมนีและตลาด EU ด้วยการส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดแห่งนี้

นอกจากนี้ สถานการณ์อึมครึมทางการเมืองของไทยในขณะนี้ อาจส่งผลเสียต่อบรรยากาศการลงทุนของต่างชาติในประเทศไทย ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรประสานความร่วมมือกันเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างเสถียรภาพทางการเมืองของไทยให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ทิศทางการเมืองของไทยชัดเจนขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยเฉลิมฉลองวันมหามงคลการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีอย่างปลื้มปิติ แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของคนไทย และความสงบร่มเย็นของประเทศ นับเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อไป