พืชสวนไทย : สร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในตลาดโลก

งานราชพฤกษ์ 2549 มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 โดยงานจะมีไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 งานนี้นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และยังเป็นการปูทางให้นานาประเทศรู้จักพืชสวนของไทยมากยิ่งขึ้น นับเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายการส่งออกพืชสวนและผลิตภัณฑ์จากพืชสวนต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นงานที่ไทยได้มีโอกาสในการแสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านพืชสวน ซึ่งไทยนั้นไม่ได้น้อยหน้าประเทศใดในโลก และเป็นโอกาสในการที่ไทยจะได้เรียนรู้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ๆทางด้านพืชสวนอีกด้วย

พืชสวนประกอบด้วยไม้ผล ถั่ว ผัก เครื่องเทศและสมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งเป็นพืชที่ให้อาหารปากท้องและอาหารตาอาหารใจ สามารถปลูกได้ทั่วไปทุกภาค มีความสำคัญกับชีวิตประจำวันมาเป็นเวลาอันยาวนาน และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกพืชสวนของไทยเท่ากับ 1,817.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (69,771.35 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 โดยในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกพืชสวนของไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกในปี 2544 เท่ากับ 1,280.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(56,941.58 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเป็น 2,020.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(81,3763.25 ล้านบาท)ในปี 2548 โดยมูลค่าการส่งออกพืชสวนทุกประเภททั้งไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล พืชผัก และของปรุงแต่งจากพืชผักและผลไม้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการในการขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ทั้งทางด้านการผลิตและการตลาด รวมทั้งการมุ่งเจาะขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าพืชสวนของไทยเป็นที่ยอมรับในคุณภาพและมาตรฐานการผลิต นอกจากนี้พืชสวนของไทยที่มีแนวโน้มว่าจะมีอนาคตไกลคือ พืชสมุนไพร ซึ่งปัจจุบันมีการหันมาปลูกเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้อนให้กับโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งสินค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยนั้นจัดว่าเป็นสินค้าที่มีอนาคตทางการตลาดและคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าพืชสวนของโลกที่ในปี 2548 เท่ากับ 124,262.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกพืชสวนของไทยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.6 ของมูลค่าการค้าพืชสวนของโลก แต่ปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับต้นๆของผู้ส่งออกสินค้าพืชสวนเขตร้อน ไม่ว่าจะเป็น กล้วยไม้ตัดดอก ข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง รวมทั้งผลไม้เมืองร้อนของไทยก็เป็นที่รู้จักและชื่นชอบในรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง และส้มโอ

สถานการณ์การผลิตและการตลาดพืชสวนสำคัญของไทยนั้นมีดังนี้
-ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ดอกไม้ประดับเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ไม้ดอกไม้ประดับแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการส่งออก เช่น กล้วยไม้ ปทุมมา เป็นต้น กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับที่มีศักยภาพเป็นพวกที่มีความต้องการใช้ในประเทศ และบางส่วนสามารถส่งออก แม้ยังมีมูลค่าไม่มากนักแต่มีแนวโน้มว่ามีการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น กุหลาบ บัวหลวง ไม้หัวเมืองร้อน(กระเจียว ไม้ใบ บอนสี ว่านสี่ทิศ) เป็นต้น และกลุ่มเพื่อใช้ภายในประเทศ ได้แก่ เยอบีร่า หน้าวัว แกลดิโอลัส เบญจมาศ มะลิ ซ่อนกลิ่นไทย ลิลลี่ ดาวเรือง และวงศ์ขิง (ดาหลาและขิงแดง)

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกไม้ดอกและไม้ประดับของไทยเท่ากับ 68.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(2,637.48 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ซึ่งในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกไม้ดอกและไม้ประดับของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมูลค่า 46.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2544 เป็น 88.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 หรือโดยเฉลี่ยมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกร้อยละ 17.7 ต่อปี แม้ว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าไม้ดอกไม้ประดับในตลาดโลกซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 13,011.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วมูลค่าการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.7 เท่านั้น แต่ไทยนั้นมีมูลค่าการส่งออกไม้ดอกเมืองร้อน โดยเฉพาะกล้วยไม้เป็นอันดับหนึ่งของโลก และมูลค่าการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยนั้นเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย

ไม้ดอกไม้ประดับของไทยนั้นยังมีโอกาสในการขยายตลาดในต่างประเทศได้อีกมาก รัฐบาลจึงมีการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาทั้งด้านการผลิตและการตลาดไม้ดอกไม้ประดับตั้งแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 โดยดำเนินการวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตของไม้ดอกไม้ประดับโดยเน้นการวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีลักษณะแปลกใหม่ ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี อายุการใช้งานนาน ทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลง และทนทานต่อการขนส่ง เพื่อจะเป็นการช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการผลิตและการตลาดของไม้ดอกไม้ประดับของไทย ปัญหาและข้อจำกัดได้แก่ ปัญหาการผลิต เช่น ขาดพันธุ์ดีที่ตลาดต้องการและขาดต้นพันธุ์ในการผลิต ระบบการผลิตเป็นแบบดั้งเดิมทำให้ผลผลิตไม่ได้ปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ข้อมูลความรู้ทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตเชิงพาณิชย์ยังมีน้อย ขาดระบบข้อมูลข่าวที่มีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่และเกษตรกรยังขาดความรู้และความชำนาญในการผลิต ส่วนปัญหาด้านการตลาด เช่น คุณภาพของผลผลิตส่วนใหญ่ยังต่ำและมีอายุการใช้งานสั้น ขาดระบบข้อมูลความต้องการของตลาด ปริมาณผลผลิตไม่สม่ำเสมอ และราคาของผลผลิตไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงเร็ว เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับของไทยยังต้องมีการพัฒนาทางด้านการผลิตและการตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในปัจจุบันไทยยังครองอันดับหนึ่งของโลกในการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเมืองร้อน แต่การส่งออกก็ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยประเทศคู่แข่งทั้งรายเก่าและรายใหม่เจาะขยายตลาดส่งออกเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากไทย ผู้ประกอบการของไทยต้องอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การคิดค้นพันธุ์ใหม่ๆ ทั้งในด้านสีสันและรูปทรง รวมทั้งการเน้นการขยายประเภทการส่งออกไม้ดอกและไม้ประดับเมืองร้อนประเภทอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้มีความหลากหลาย เน้นการตอบสนองความต้องการของตลาดให้มากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาในด้านการขนส่ง ทำให้ผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยคงต้องหันมาเพิ่มการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อก้าวหนีคู่แข่ง และการหันมาให้ความสำคัญกับการขนส่งมากขึ้น เนื่องจากการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศเท่านั้น ซึ่งมีเนื้อที่ค่อนข้างจำกัด และไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิเพื่อรักษาความสดของไม้ดอกและไม้ประดับ ทำให้การขนส่งยังเป็นข้อเสียเปรียบสำหรับสินค้ากล้วยไม้มาเป็นเวลานาน และยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการขยายตลาดส่งออกอีกด้วย ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพัฒนาการขนส่งเพื่อรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกต่อไป

-ไม้ผล ไม้ผลของไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตไม้ผลเมืองร้อน โดยเริ่มมีการผลิตไม้ผลเมืองหนาวบ้าง แต่การผลิตยังไม่มากนัก ผลผลิตไม้ผลส่วนใหญ่ใช้บริโภคในประเทศ อย่างไรก็ตามชื่อเสียงของผลไม้เมืองร้อนของไทยนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศโดยเฉพาะเอกลักษณ์ในด้านรสชาติ ทำให้ไทยมีโอกาสสูงมากในการขยายตลาดส่งออก ตั้งแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 8 มีการกำหนดไม้ผลหลัก 7 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ส้มโอ สับปะรด ลำไย มังคุด มะม่วง และส้มเขียวหวาน เป็นสินค้าพืชสวนที่มีศักยภาพในการพัฒนาและมีลู่ทางการตลาด

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกไม้ผลของไทยเท่ากับ 281.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 10,817.06 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกไม้ผลของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 204.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2544 เป็น 308.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 โดยมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 10.2 ต่อปี ปัจจัยหนุนสำคัญในการขยายการส่งออกคือ การเปิดเขตการค้าเสรีกับจีน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

แม้ว่าไม้ผลของไทยจะมีศักยภาพในการพัฒนาและส่งออก แต่ในกระบวนการผลิตก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องแก้ไข กล่าวคือ ปัญหาด้านการผลิต เช่น ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ ปริมาณผลผลิตไม่สม่ำเสมอไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เทคโนโลยีการผลิตยังไม่ถูกต้องและเหมาะสม ขาดพันธุ์ดี ผลผลิตมีมากช่วงกลางฤดูการผลิตและมีการแข่งขันด้านการตลาดกับสินค้าชนิดอื่น ขาดอุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมเสริม และวิธีการปฏิบัติและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวไม่เหมาะสม ปัญหาด้านการตลาด เช่น ระบบตลาด และไม่มีการวิจัยและวางแผนการตลาดที่เหมาะสม ดังนั้นเพื่อที่จะผลิตผลิตผลที่มีปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด จึงได้วิจัยและพัฒนาพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน เช่น เงาะ ทุเรียน และมังคุด เป็นต้น เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาด และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่หรือแหล่งปลูก นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยคือ การเปิดเขตการค้าเสรีกับจีน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าไม้ผลเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ในปี 2546 ซึ่งเป็นปีแรกที่ไทยเปิดเขตการค้าเสรีกับจีนโดยสินค้าผักและผลไม้เป็นสินค้านำร่อง มูลค่าการนำเข้าไม้ผลในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 102.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเทียบกับปี 2545 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.4 หลังจากนั้นมูลค่าการนำเข้าไม้ผลก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็น 113.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 ในปี 2548 เพิ่มเป็น 132.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 100.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 3,843.22 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7

-พืชผัก การผลิตและการตลาดพืชผักในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพืชผักเพื่อการส่งออกได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว พริก และ ขิง เป็นต้น กลุ่มพืชผักผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ ได้แก่ มันฝรั่ง กระเทียม หอมหัวใหญ่ แตงกวา และพืชผักอื่นๆ ฯลฯ และกลุ่มพืชผักที่มีศักยภาพในอนาคต ได้แก่ ไผ่ (หน่อไม้) มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว เป็นต้น ปัจจุบันนอกจากกลุ่มผักส่งออกสำคัญแล้ว พืชผักเมืองร้อนของไทยโดยเฉพาะผักกินใบมีการขยายการส่งออกตามการขยายตัวของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ซึ่งทางสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดนำเข้าเข้มงวดตรวจสอบเชื้อจุลินทรีย์ทั้งเชื้อซัลโมเนลลา และเชื้ออีโคไลปนเปื้อนในสินค้าผักสดส่งออก โดยสหภาพยุโรปยอมรับและเชื่อมั่นในสินค้าพืชผักนำเข้าจากไทยมากขึ้น หลังจากรัฐบาลและผู้ส่งออกของไทยมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น แต่ขณะนี้อียูแจ้งเตือนมายังกระทรวงเกษตรฯขอให้ฝ่ายไทยตรวจสอบสินค้าพืชผักที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปให้มากขึ้น เนื่องจากตรวจพบว่าทั้งปริมาณและชนิดสินค้าที่ส่งออก ไม่ตรงกับที่แจ้งในใบรายการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ได้ตรวจพบกรณีดังกล่าวมากกว่า 10 ครั้ง ทั้งนี้สินค้าที่พบว่ามีการซุกซ่อนไปในตู้คอนเทนเนอร์ส่วนใหญ่เป็นผักบริโภคสด เช่น ใบกระเพรา ใบมะกรูด ใบโหระพา และใบแมงลัก โดยผู้ส่งออกบางรายลักลอบบรรจุสินค้าดังกล่าวสอดไส้ลงในกล่องบรรจุสินค้าซึ่งอยู่นอกเหนือและไม่มีระบุในใบรายการนำเข้า นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องระวังและต้องรักษาภาพลักษณ์ รวมทั้งความเชื่อมั่นของตลาดสหภาพยุโรป ทั้งนี้เพื่อรักษาตลาดส่งออกพืชผักที่สำคัญนี้ไว้

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกพืชผักของไทยเท่ากับ 492.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 18,889.72 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกพืชผักของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 379.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2544 เป็น 513.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 โดยมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 7.1 ต่อปี ปัจจัยหนุนสำคัญในการขยายการส่งออกคือ การเปิดเขตการค้าเสรีกับจีนที่ทำให้การส่งออกมันอัดเม็ดและมันเส้นเพิ่มขึ้นอย่างมากและการส่งออกไปจีนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 80.0 ของการส่งออกมันอัดเม็ดและมันเส้นของไทย

สินค้าพืชผักเมืองร้อนของไทยมีโอกาสอีกมากในการขยายตลาดต่างประเทศ ดังนั้นรัฐบาลกำหนดว่าตั้งแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 7 ไทยปรับโครงสร้างการผลิตโดยสนับสนุนให้เกษตรกรกระจายการผลิตจากสินค้าเกษตรดั้งเดิมไปสู่สินค้าชนิดอื่นๆที่มีลู่ทางการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งสินค้าพืชผักก็เป็นหนึ่งในสินค้าเป้าหมายเพื่อเพิ่มและขยายการผลิตโดยเฉพาะการผลิตทั้งเพื่อส่งออกในรูปของผักสด และเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปส่งออกในรูปของผักแห้งและผักบรรจุกระป๋อง

ปัจจุบันการผลิตก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคได้แก่ ปัญหาด้านการผลิต เช่น ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตผัก ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากขาดแคลนพันธุ์ที่เหมาะสม แรงงานและปัจจัยการผลิตต่างๆ หายาก และราคาแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง และไม่มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และปัญหาด้านการตลาด เช่น ผักมีราคาต่ำและไม่แน่นอน ผลผลิตผักบางชนิดยังไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงและคุณภาพไม่ตรงตามความต้องการของตลาด สิ่งอำนวยความสะดวกในการตลาดไม่เพียงพอ จึงจำเป็นที่จะต้องวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ เน้นเพิ่มคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานของตลาด มีความต้านทานต่อโรคและแมลง มีความทนทานต่อการเน่าเสียระหว่างขนส่งและการเก็บรักษา รวมทั้งวิจัยและพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้พอเพียงต่อความต้องการใช้ภายในประเทศและการส่งออก ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 8 มีการกำหนดแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาด้านการผลิต เช่น คุณภาพของผลผลิตต่ำ และมีปริมาณไม่สม่ำเสมอไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากฤดูกาล พันธุ์ที่ใช้ในแหล่งปลูกไม่เหมาะสม ปัญหาเรื่องโรคและแมลง การใช้ปัจจัยการผลิตไม่เหมาะสม และการจัดการด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวยังไม่เหมาะสม นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตสูง และผักหลายชนิดยังมีสารพิษตกค้างอยู่ในปริมาณที่สูง และแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านการตลาด เช่น ราคาผักไม่มีเสถียรภาพ ผลผลิตผักหลายชนิดไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงและสิ่งอำนวยความสะดวกในการตลาดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในสินค้าส่งออก ดังนั้นเพื่อให้ได้สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกทั้งในรูปผักสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ จึงได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการภายในประเทศ สามารถขยายตลาดส่งออกและทดแทนการนำเข้าได้ นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยคือ การเปิดเขตการค้าเสรีกับจีน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าพืชผักเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ในปี 2546 ซึ่งเป็นปีแรกที่ไทยเปิดเขตการค้าเสรีกับจีนโดยสินค้าผักและผลไม้เป็นสินค้านำร่อง มูลค่าการนำเข้าพืชผักในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 41.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเทียบกับปี 2545 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.9 หลังจากนั้นมูลค่าการนำเข้าไม้ผลก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็น 66.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 ในปี 2548 เพิ่มเป็น 72.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 64.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 2,485.08 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.3

-ของปรุงแต่งจากพืชผักและผลไม้ ปัจจุบันไทยนั้นครองตลาดในอันดับหนึ่งของโลกสำหรับสินค้าพืชสวนในกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง สับปะรดและน้ำสับปะรดกระป๋อง เนื่องจากสินค้าเหล่านี้นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานสูง ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบคู่แข่งทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งวัตถุดิบ และแรงงานที่มีฝีมือ ทำให้การส่งออกของปรุงแต่งจากพืชผักและผลไม้ของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกของปรุงแต่งจากพืชผักและผลไม้ของไทยเท่ากับ 975.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (37,427.09 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกพืชผักของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 649.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2544 เป็น 1,109.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 โดยมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 14.2 ต่อปี แม้ว่าสินค้าในหมวดนี้จะมีโอกาสในการขยายตลาดได้อีกมาก แต่ปัจจัยที่ต้องระวังคือ การแข่งขันในการส่งออกที่เริ่มรุนแรงขึ้น และการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้า เช่น การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การงดการนำเข้าโดยอ้างถึงการตรวจพบสารตกค้างหรือมาตรฐานการผลิตที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงสากล โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็ก เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ทั้งรัฐบาลและผู้ประกอบการของไทยต้องเร่งแก้ไขเพื่อขจัดอุปสรรคในการส่งออก และรักษาความเชื่อมั่นในสินค้าของปรุงแต่งจากพืชผักและผลไม้ที่ผลิตในไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการขยายตลาดส่งออกต่อไป

งานราชพฤกษ์ 2549 มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯนับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่สำหรับวงการพืชสวนของไทย และเป็นการเปิดตัวสินค้าพืชสวนของไทยให้เป็นที่รู้จักของนานาประเทศดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่ดียิ่งสำหรับผู้ส่งออกพืชสวนของไทยที่จะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนนวัตกรรมใหม่ๆของพืชสวนจากนานาประเทศที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดที่จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการพืชสวนในการปรับนวัตกรรมใหม่ๆนี้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงสินค้าพืชสวนของไทย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของสินค้าพืชสวนของไทยและปูทางในการขยายตลาดส่งออกสินค้าพืชสวนของไทยในอนาคต