แรงกดดันเงินเฟ้อโลก … ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของหลายประเทศยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสถิติสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่ราคาน้ำมันที่เพิ่งจะพุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ได้ซ้ำเติมความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อดังกล่าว ทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศในปีนี้จะสูงกว่าในปี 2550 ที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวได้สร้างความซับซ้อนต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ทำให้ตลาดตีความว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ในขณะที่ธนาคารกลางของยุโรป (อีซีบี) ก็มีท่าทีกังวัลต่อปัญหาเงินเฟ้อดังกล่าวเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในด้านการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าว อาจส่งผลย้อนกลับมาต่อโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยามที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากวิกฤติสินเชื่อจากปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มเงินเฟ้อดังกล่าว สามารถสรุปได้ ดังนี้

 แนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2551 ทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯเผชิญกับข้อจำกัดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยตลาดเงินได้ปรับลดโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 ในการประชุมในปลายเดือนเมษายนนี้ โดยมองว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงร้อยละ 0.25 เท่านั้น และมีความเป็นไปได้ว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะถึงจุดต่ำสุดที่ระดับร้อยละ 2.00 ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของยุโรป (ECB) อาจจะยังต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.00 ตลอดเกือบทั้งปี 2551 แม้ว่าในปีนี้ เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 ชะลอลงจากร้อยละ 2.6 ในปีก่อนหน้า ส่วนธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) ก็คาดว่าอาจจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.5 แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นถูกคาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 ชะลอลงจากร้อยละ 2.1 ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม ทางการจีนยังคงมีความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อ โดยแม้ว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสแรกของจีนจะชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 10.6 จากร้อยละ 11.2 ในไตรมาสที่สี่ของปีก่อนหน้า แต่ในวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ปรับเพิ่มสัดส่วนการทำสำรองสภาพคล่อง (Reserve Requirement Ratio) อีกร้อยละ 0.50 เป็นร้อยละ 16.0 เพื่อที่จะลดความร้อนแรงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและแรงกดดันเงินเฟ้อ

การที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกเผชิญกับข้อจำกัดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บทบาทการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องตกอยู่ที่นโยบายการคลัง แต่อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลของหลายประเทศมีฐานะทางการคลังขาดดุลค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ทำให้เผชิญข้อจำกัดในการที่จะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในบรรดาประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับภาวะการชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ มีแต่เยอรมนีเท่านั้นที่รัฐบาลมีฐานะการคลังที่สมดุล และพอมีช่องในการที่จะเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศส ล้วนมีงบประมาณขาดดุลเกินร้อยละ 2.4 ของ GDP ทั้งสิ้น

ในขณะที่หลายประเทศเผชิญกับข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่บั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาการชะลอตัวจากวิกฤติสินเชื่อ อาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก โดยล่าสุด IMF ได้ปรับลดประมาณอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2551 นี้ลงเป็นเพียงร้อยละ 0.5 จากการคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 1.5 และปรับลดประมาณอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรลงเป็นร้อยละ 1.4 จากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 1.6 รวมทั้งปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนลงเป็นร้อยละ 9.3 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 10.0 นอกจากนี้ ปัญหาเงินเฟ้อที่ซ้ำเติมการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤติสินเชื่อ ยังอาจส่งผลให้ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯและกลุ่มยูโร ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการที่จะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ โดย IMF คาดว่าในปี 2552 เศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวร้อยละ 0.6 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 0.5 ในปีนี้ ส่วนกลุ่มยูโรจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2551 ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางของยุโรปอาจจำต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในที่สุด โดยจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจเป็นในช่วงปลายไตรมาสสี่ของปี 2551 หรือในไตรมาสแรกของปี 2552

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ทางการไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ปรับตัวขึ้น ทั้งจากปัจจัยด้านอุปทานและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของปี 2551 ขึ้นเป็นร้อยละ 4.0-5.6 จากเดิมที่อยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีค่ากลางของประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้ที่ร้อยละ 4.8 เทียบกับร้อยละ 2.3 ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม แม้การปรับเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็คาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาล รวมทั้งรายได้ในภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ใกล้เคียงกับร้อยละ 4.8 ในปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลไทยในปีงบประมาณ 2551 อาจจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.7 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 ของ GDP จากที่ขาดดุล 1.3 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 ของ GDP ในปีงบประมาณ 2550

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯอาจใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของกลุ่มยูโรอาจจะถูกปรับลดในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ทำให้คาดว่า ในอนาคตอันอาจจะไม่นานนัก เงินดอลลาร์ฯอาจจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้เมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน แต่ยังคงน่าที่จะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน ส่วนแนวโน้มเงินบาทของไทยนั้น แม้ว่าผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.กับอัตราดอกเบี้ยของเฟด ไม่น่าที่จะกว้างขึ้นมากไปกว่าระดับปัจจุบันเท่าใดนัก (โดยปัจจุบันผลต่างดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 1.00 และอาจกว้างขึ้นเป็นร้อยละ 1.25 หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ในปลายเดือนเม.ย.นี้) แต่ก็คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เงินบาทไทยน่าจะยังคงได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดตามปัจจัยด้านฤดูกาลในช่วงไตรมาสที่สามและสี่ของปี หลังจากที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะขาดดุลในไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในระยะหนึ่งปีจากนี้ คาดว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ (อันเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว) น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการแข็งค่าของเงินบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปีหน้ามีแนวโน้มที่จะลดลง ตามการขยายตัวของการนำเข้าและการลงทุนที่นำโดยภาครัฐ

นอกจากนี้ ความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯยังอาจส่งผลให้ราคาทองคำ น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ มีการแกว่งตัว หลังจากในช่วงที่ผ่านมา การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯได้ส่งผลให้เกิดการเข้าเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ จนทำให้ราคาปรับขึ้นมาก เกินกว่าที่จะอธิบายได้โดยปัจจัยฟื้นฐานทางด้านอุปสงค์-อุปทาน ดังจะเห็นได้จากราคาน้ำมันเบรนท์ (Spot Market) ในปีนี้ ที่ได้เพิ่มขึ้นไปแล้วกว่าร้อยละ 18 จากช่วงปลายปี 2550 และกว่าร้อยละ 70 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ว่าความต้องการน้ำมันของโลกจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.0 ในขณะที่การผลิตก็ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าก็ตาม ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ของการปรับฐานของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2552 ชะลอลงจากปี 2551 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2552 อาจลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.0 จากร้อยละ 4.0-5.6 ในปีนี้ ในขณะที่ IMF ก็คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศในกลุ่ม Emerging Asia ซึ่งครอบคลุมทั้งจีน อินเดีย กลุ่ม ASEAN ตลอดจนเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน อาจจะชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 3.9 ในปี 2552 เมื่อเทียบกับร้อยละ 5.5 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในปีหน้าจะปรับลดลงได้มากอย่างที่คาดหรือไม่นั้น ยังคงขึ้นอยู่กับประเด็นด้านอุปทานการผลิตสินค้าในหมวดอาหารและโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ยังอาจถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่งจะพุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จะส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อของโลกเผชิญกับความผันผวนในช่วง 12-18 เดือนนับจากนี้ โดยในช่วงที่เหลือของปี 2551 นี้ หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ อันเป็นผลจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ปรับขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ โดยภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวจะส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในปีนี้ทำได้จำกัด ในขณะที่หลายประเทศอาจต้องหันไปพึ่งการกระตุ้นทางการคลัง โดยในกรณีของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะส่งผลให้ดุลงบประมาณในปี 2551 ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 ของ GDP จากที่ขาดดุล 1.3 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 ของ GDP ในปีงบประมาณ 2550 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2551 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0-5.6 (โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 4.8) เทียบกับร้อยละ 2.3 ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม คาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งรายได้ในภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น น่าจะเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ใกล้เคียงกับร้อยละ 4.8 ในปีก่อนหน้า

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในปี 2551 นี้ แต่สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปก็คือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อาจจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ โดยเฉพาะหากนักลงทุนมองว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดใกล้จะถึงจุดต่ำสุดและเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าที่จะเริ่มมีเสถียรภาพแล้ว โดยการปรับทิศของเงินดอลลาร์ฯอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่ในช่วงที่ผ่านมาล้วนพากันปรับขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ หันมาเผชิญกับการปรับฐานและการขายทำกำไรจากนักลงทุน ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการแกว่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ จนทำให้อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศในปี 2552 อาจชะลอลงจากปี 2551 โดยแนวโน้มเงินเฟ้อดังกล่าวน่าที่จะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งทำให้การดำเนินนโยบายการเงินทำได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าจะสามารถปรับลดลงได้มากน้อยเพียงใดนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับประเด็นด้านอุปทานการผลิตสินค้าในหมวดอาหารและโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ยังอาจถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศทั่วโลก 