ผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุน…สะท้อนมุมมองอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไป

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสการออกหุ้นกู้จากภาคเอกชนในมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี ขณะเดียวกัน ก็ยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์การออมอื่นๆ ออกสู่ตลาดอีก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากปริมาณการออกตราสารทางการเงินดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นแล้ว โครงสร้างของอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขของตราสารทางการเงินดังกล่าวยังแตกต่างจากเดิม อันน่าจะสะท้อนมุมมอง หรือการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

ปริมาณการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น
ปริมาณการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2551 โดยการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากจำนวน 300 ล้านบาทในเดือนมกราคม 2551 มาที่ 2.6-3.5 หมื่นล้านบาทในเดือนมีนาคม-เมษายน ขณะที่สำหรับเดือนพฤษภาคมนั้น คาดว่าจะมีปริมาณการออกหุ้นกู้อีกอย่างน้อยประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 คาดว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน (รวบรวมเบื้องต้น) จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นชัดเจนจากค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีก่อนหน้าที่ 4.7 หมื่นล้านบาท หรือหากเทียบกับมูลค่าหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ออกสำหรับทั้งปี 2550 นั้น จะคิดเป็น 51%

แม้ว่าสาเหตุของมูลค่าการออกหุ้นกู้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากต้นปี 2551 ดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัจจัยด้านฤดูกาลที่ในทุกช่วงต้นปี การออกหุ้นกู้ภาคเอกชนมักจะชะลอตัวลง แต่เมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีก่อนหน้านั้น ก็ยังเพิ่มขึ้นชัดเจน ทำให้คาดว่าน่าจะมีสาเหตุอีกส่วนหนึ่ง จากความต้องการระดมทุนตามความจำเป็นเฉพาะรายของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในประเทศดีขึ้น ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการขยายการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้นด้วย

ขณะที่สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยที่เป็นผู้ออกหุ้นกู้รายใหญ่นับตั้งแต่ต้นปี 2551 นั้น คงจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ตลอดจนการเสริมความแข็งแกร่งของเงินกองทุนขั้นที่สอง ก่อนการบังคับใช้มาตรฐานเงินกองทุนใหม่ตามหลักเกณฑ์ Basel II ในช่วงสิ้นปี 2551 ที่อาจส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวมบ้างเล็กน้อย ตลอดจนการบังคับใช้เกณฑ์การกำกับดูแลแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) ภายในปีนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ทางเลือกในการออกหุ้นกู้อาจเป็นทางออกเฉพาะธนาคารเท่านั้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่งที่เหลือ ยังมีระดับเงินกองทุนที่ สามารถรองรับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎเกณฑ์ใหม่ต่างๆ ของทางการและการขยายธุรกิจ โดยที่ยังไม่ต้องหาเงินทุนเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น (อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากที่สูงกว่าเงินให้สินเชื่อ หลังจากที่มีการแข่งขันระดมเงินฝากด้วยการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงตั้งแต่ต้นปี) ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการขยายสินเชื่อในปีนี้

นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้มีการออกหุ้นกู้จากภาคเอกชนมากขึ้นในระยะนี้ อาจเป็นเพราะการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เนื่องจาก ตามปกติแล้ว ผู้ออกหุ้นกู้ย่อมที่จะต้องการระดมทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด ดังนั้น จึงมักจะเลือกออกหุ้นกู้ในจังหวะที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงใกล้ถึงจุดต่ำสุด หรือถึงจุดต่ำสุดแล้ว เพื่อล็อคต้นทุนที่ต่ำที่สุดไว้ตราบเท่าอายุของหุ้นกู้ (ในกรณีที่ผู้ออกหุ้นกู้เลือกอัตราดอกเบี้ยคงที่) มากกว่าจะเลือกออกหุ้นกู้ในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศกำลังอยู่ในวัฏจักรขาขึ้น เนื่องจากจะต้องจ่ายต้นทุนที่แพงขึ้น และยังต้องแข่งกับผลิตภัณฑ์การออมประเภทอื่นๆ จากธนาคารพาณิชย์ที่มักจะเริ่มแข่งกันเสนออัตราผลตอบแทน/อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้ลงทุนจะต้องการลงทุนในตราสารประเภทอายุสั้นๆ ทำให้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ออกหุ้นกู้ที่ต้องการระดมทุนในระยะยาว นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการระดมทุน อาจลังเลในการออกหุ้นกู้ในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ย ‘เพิ่งเข้าสู่’ วัฏจักรขาลง เนื่องจากคงอยากรอให้อัตราดอกเบี้ยลดลงไปอีก เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายมากขึ้น

ดังนั้น มูลค่าการออกหุ้นกู้ที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาดังกล่าว จึงน่าจะสะท้อนมุมมองของตลาดต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความโน้มเอียงเข้าหาการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจจะกำลังจะเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 (ประกาศในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2551) พุ่งขึ้นจาก 4.3% ในเดือนมกราคม มาที่ 5.4% ก่อนที่จะมาแตะระดับ 5.3% ในเดือนมีนาคม และ 6.2% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่าสองปี

ทั้งนี้ แม้ว่า ธปท.ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดทิศทางนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ จะไม่ได้แสดงความกังวลชัดเจนต่อปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นดังกล่าว แต่ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2551 ธปท. ก็ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสำหรับทั้งปี 2551 และ 2552 ขึ้นจากเดิม (คาดการณ์ไว้ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อเมื่อเดือนมกราคม 2551) เช่นเดียวกับการปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากเดิมที่ 4.5-6.0% มาที่ 4.8-6.0% ซึ่งในเชิงนัยต่อนโยบายการเงินนั้น น่าจะมีความโน้มเอียงไปทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นเช่นกัน

ภายใต้การคาดการณ์เกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ผนวกกับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ และความจำเป็นเชิงธุรกิจ โดยเฉพาะในกรณีของธนาคารพาณิชย์ไทย จึงน่าจะส่งผลให้ภาคเอกชนไทยออกหุ้นกู้ในปริมาณที่สูงขึ้นกว่าปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการเบื้องต้นล่าสุดของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยที่คาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนสูงถึง 2.5-3 แสนล้านบาทในปี 2551 เทียบกับจำนวน 1.85 แสนล้านบาทในปี 2550

อัตราดอกเบี้ยที่นำเสนอมีความแตกต่างจากเดิม
นอกจากมูลค่าการออกหุ้นกู้ที่เติบโตขึ้นแล้ว ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าเงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่ออกสู่ตลาด ตลอดจนผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษของธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะหลัง ก็แตกต่างไปจากปกติที่มักจะใช้อัตราคงที่ (Fixed Interest Rate) เป็นหลัก

ยกตัวอย่างเช่น มีการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตามอายุของหุ้นกู้ โดยให้อัตราผลตอบแทนคงที่ในช่วง 1-2 ปีแรก ก่อนที่จะเพิ่มอัตราผลตอบแทนในลักษณะขั้นบันไดในช่วงอายุที่เหลือของหุ้นกู้ นอกจากนี้ ก็ยังเตรียมที่จะมีการออกหุ้นกู้ที่นำเสนออัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น อัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 6 เดือนด้วย ขณะที่สำหรับผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น ได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำระยะยาวประเภทอายุ 1, 2 และ 3 ปีที่ให้อัตราดอกเบี้ยอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไป โดยบวกส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.25% ต่อปี ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำแบบพิเศษอื่นๆ ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ เนื่องจาก “อัตราผลตอบแทน” ของหุ้นกู้ หรือผลิตภัณฑ์เงินฝาก ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะกำหนดความสำเร็จของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นๆ ให้กับนักลงทุน ดังนั้น เพื่อให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ภายใต้การบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุดนั้น นอกจากผู้ออกหุ้นกู้/ผลิตภัณฑ์เงินฝากจะต้องคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เพื่อไม่ให้นำเสนออัตราดอกเบี้ยแพงกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังจะต้องประเมินถึงความต้องการของนักลงทุน ณ ขณะนั้นๆ ซึ่งมีการคาดการณ์ถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ตนสมควรจะได้รับในอนาคตเช่นกัน นั่นหมายความว่า การปรับโครงสร้างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้จากอัตราดอกเบี้ยคงที่ มาสู่การเริ่มนำเสนออัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการถือครองหุ้นกู้ หรืออัตราผลตอบแทนลอยตัว ตลอดจนการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำที่ให้อัตราดอกเบี้ยกึ่งลอยตัวดังกล่าว จึงน่าจะสะท้อนถึงการประมวลข้อมูลเกี่ยวกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตทั้งของผู้ออกหุ้นกู้/ผลิตภัณฑ์เงินฝาก ตลอดจนผู้ลงทุน ซึ่งบ่งชี้ถึงการคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจะกำลังเข้าสู่จังหวะขาขึ้นในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะสนับสนุนมุมมองอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอย่างต่อเนื่องหรือไม่

โดยสรุปแล้ว จากการตั้งข้อสังเกตต่อผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุน อาทิ หุ้นกู้ของภาคเอกชน ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จะพบว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ได้เพิ่มสูงขึ้นชัดเจน ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้ไม่ต่ำกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นชัดเจนจากค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีก่อนหน้าที่ 4.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ รูปแบบการนำเสนออัตราผลตอบแทนยังเปลี่ยนแปลงไปด้วย อาทิ เริ่มมีการนำเสนอหุ้นกู้ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้นในลักษณะขั้นบันไดตามระยะเวลาการถือครองหุ้นกู้ และมีการเตรียมนำเสนอหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ขณะที่สำหรับผลิตภัณฑ์เงินฝากนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยก็เริ่มออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำระยะยาวที่ให้อัตราดอกเบี้ยกึ่งลอยตัว นั่นคือ มีอัตราดอกเบี้ยที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไป บวกด้วยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนด

ข้อเท็จจริงจากทั้งมูลค่าการออกหุ้นกู้ที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับรูปแบบการนำเสนออัตราผลตอบแทนที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ได้แสดงนัยที่สำคัญต่อการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่แตกต่างไปจากเดิมของทั้งผู้ระดมทุนและนักลงทุน ซึ่งโน้มเอียงไปสู่มุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจเตรียมที่จะเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น แม้ว่าตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป ยังคงได้แก่ แนวโน้มเงินเฟ้อ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าจะสนับสนุนมุมมองอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไปได้ต่อเนื่องหรือไม่ เพียงใด 