แพทย์ รามา ฯ เผย สมาคมโรคเบาหวานอเมริกา พบแนวทางการรักษาให้ยาโรคเบาหวานใหม่

แพทย์รามาเผย พบแนวทางการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในการให้ยาใหม่ เพื่อลดอาการแทรกซ้อน ทั้งการสูญเสียการมองเห็น ไตวาย และต้องตัดนิ้วเท้า และขาทิ้ง พร้อมเผยคนไทยควรป้องกันโรคเบาหวานมากยิ่งขึ้น หลังตรวจพบคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงถึง 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 7 % ของประชากรไทย โดยเฉลี่ยผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอายุเฉลี่ยประมาณ 6 – 22 ปี และอีก 10 ปีข้างหน้าประชากรทั่วโลกจะเป็นโรคเบาหวานเพิ่มเป็น 300 ล้านคน

ผศ.นพ.พงษ์อมร บุนนาค ผู้เชี่ยวชาญเบาหวานต่อมไร้ท่อ ภาคอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ทางสมาคมโรคเบาหวานอเมริกา (American Diabetes Association) และสมาคมยุโรปเพื่อการศึกษาโรคเบาหวาน (European Association for the Study of Diabetes) ค้นพบแนวทางการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยการใช้ยา metformin เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถควบคุมระดับฮีโมโกลบิน A1C ได้ตามเป้าหมาย คือ 7 เปอร์เซ็น เพื่อลดอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน อาทิ การสูญเสียการมองเห็น ไตวาย และต้องตัดนิ้วเท้า หรือขา หากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย ต้องรีบทำการรักษาสเต็ปที่ 2 ต่อทันที โดยการรักษาขั้นที่ 2 มี 2 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 คือการรักษาด้วยอินซูลินพื้นฐาน (Basal Insulin) หรือ ยาเม็ด sulfonylurea ร่วมไปกับการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ทางเลือกที่ 2 คือการใช้ยา pionglitazone หรือ GLP-1 agonogist ร่วมกับการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต และการใช้ยา metformin

ผศ.นพ.พงษ์อมร กล่าวต่อ ในปัจจุบันแพทย์ตรวจพบคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงถึง 3 ล้านคน คิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต่อปี นอกจากนี้ยังพบว่า ประชากรทั่วโลกคาดว่าจะป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจาก 250 ล้านคน เป็น 300 ล้านคน ในช่วงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยในทวีปเอเชียมีอัตราเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าในยุโรป และอเมริกา ซึ่งประเทศที่ตรวจพบผู้ป่วยโรคเบาหวานมากที่สุด คือ จีน และ อินเดีย สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ก็แตกต่างจากในอดีต เนื่องจากวิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไป แต่ปัจจัยหลัก คือ พันธุกรรม อายุ น้ำหนักตัว การออกกำลังกาย อาหาร และ ปริมาณน้ำตาลในเลือด

ซึ่งในปัจจุบัน พบว่า มีเด็ก และวัยรุ่น ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 สูงกว่าในอดีต เฉลี่ยอายุประมาณ 6-22 ปี แต่ยังไม่ทราบตัวเลขที่แน่นอน เนื่องจากไม่มีการสำรวจที่แน่ชัด เนื่องจากการสุ่มตรวจเลือดของบุคคลเหล่านี้ทำได้ยากกว่าผู้สูงอายุจากการสำรวจภาวะสุขภาพแห่งปีขององค์การอนามัยโลก พบว่า อีก 5 ปีข้างหน้า จะมีอัตราผู้ป่วยโลกเบาหวานสูงถึง 23 ล้านคน ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กและวัยรุ่นป่วยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น คือ การรับประทานอาหารที่ผิดวิธี น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น การออกกำลังการน้อย และพันธุกรรม

ผศ.นพ.พงษ์อมร กล่าวปิดท้าย คนไทยต้องหันมาให้ความใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่เป็นภัยเงียบคุกคามชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นประชาชนที่มีกลุ่มเสี่ยง อาทิ พ่อแม่เป็นเบาหวาน ต้องตรวจเช็คน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง และต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดไม่ให้เกิน 126 มิลลิกรัม สำหรับผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงควรตรวจปริมาณน้ำตาลในเลือดอย่างน้อย 3 ปี ต่อ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการในทันที