เงินเฟ้อพื้นฐานเข้าสู่ช่วงขาขึ้น แต่ยังไม่กดดันนโยบายการเงินในระยะสั้น

ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงค่อนข้างแรงในช่วงเดือนที่ผ่านมา จากผลของความตื่นตระหนกในตลาดเงินตลาดทุนโลกต่อวิกฤตหนี้สินและการขาดดุลการคลังของกรีซ โปรตุเกสและสเปน ได้ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศของไทยปรับตัวลดลง ซึ่งทิศทางดังกล่าวมีส่วนช่วยลดแรงกดดันในการเข้าอุดหนุนราคาน้ำมันของรัฐบาล จากที่ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2553 ราคาน้ำมันดีเซลพุ่งขึ้นไปชนเพดานที่รัฐบาลพยายามที่จะตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร (แตะระดับ 29.98 บาทต่อลิตร) ซึ่งหากราคาดีเซลทะลุระดับดังกล่าว ก็อาจมีผลต่อเนื่องให้มีการปรับขึ้นราคาค่าขนส่งและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ตามมา

อาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงในระยะนี้มีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อของไทยลงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพฤษภาคมขยับสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีกในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 แต่ในระยะสั้นนี้ ระดับเงินเฟ้อพื้นฐานดังกล่าวอาจยังไม่ถึงกับสร้างแรงกดดันต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยมากนัก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีประเด็นข้อสังเกตที่สำคัญจากตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนล่าสุด ดังนี้

เงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2553 ปรับเพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าอาหารสดแพงขึ้น อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2553 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) จากร้อยละ 3.0 ในเดือนเมษายน ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ระดับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 (Month-on-Month) โดยแม้ว่าราคาน้ำมันในประเทศในเดือนพฤษภาคมปรับลดลงมากเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน แต่ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำพวกผักสด เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพฤษภาคมเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 (YoY) จากร้อยละ 0.5 ในเดือนเมษายน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานเปรียบที่ต่ำของเดือนพฤษภาคมปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเริ่มต้นใช้มาตรการเรียนฟรี 15 ปี ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การเรียนในตะกร้าเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างมาก

ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในระยะนี้มีส่วนช่วยผ่อนคลายแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะเดือนถัดๆ ไปลงบ้าง แต่ไม่ได้เปลี่ยนทิศทางที่เคยมองว่าเงินเฟ้อในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 อาจชะลอลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.3 จากร้อยละ 3.8 ในไตรมาสที่ 1/2553 ซึ่งอาจมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.5 อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ถ้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงดำเนินต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกยังคงมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นกว่าระดับในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ?มีประเด็นเชิงนโยบายของรัฐบาลที่ต้องจับตา ได้แก่ การตัดสินใจของรัฐบาลต่อมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ที่กำลังจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2553 นี้ รวมทั้งมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ในการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ตรึงราคาสินค้าไปจนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งทั้งสองมาตรการนี้จะมีผลค่อนข้างมากต่อจังหวะความเร่งของทิศทางเงินเฟ้อในเดือนถัดๆ ไป โดยภาพรวมในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของทั้งปีอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 จากที่ลดลงร้อยละ 0.9 ในปี 2552

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงขาขึ้น แต่ภาวะราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากปัญหาทางการเมือง น่าจะส่งผลให้การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าที่จำเป็นสำหรับการอุปโภคบริโภคในระยะเดือนที่เหลือของปี มีอัตราเร่งที่ช้าลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จึงทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสำหรับปี 2553 เป็นร้อยละ 1.0-1.5 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.5-2.0 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในครึ่งหลังของปี 2553 จะอยู่ระหว่างร้อยละ 1.6-2.1 จากประมาณร้อยละ 0.7 ในครึ่งปีแรก ทั้งนี้ กรอบบนของประมาณการเงินเฟ้อดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานคำนึงถึงผลในกรณีที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและการอุดหนุนราคาพลังงานบางส่วนแล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ช้าลงนี้ มีส่วนช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ทำให้ธปท. สามารถยืดระยะเวลาของการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรน โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งก็จะสอดคล้องกับความจำเป็นที่นโยบายการเศรษฐกิจของทางการในขณะนี้อาจยังต้องมีเป้าหมายช่วยประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากเศรษฐกิจในภาพรวมและภาคธุรกิจหลายสาขาเผชิญผลกระทบจากสถานการณ์รุนแรงทางการเมือง ที่จะส่งผลให้มูลค่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2553 ที่ปรับฤดูกาล อาจหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter) สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นแม้คาดว่าจะสามารถรักษาระดับไม่เกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 ได้ตลอดช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ทิศทางของเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มขึ้นไปยืนอยู่เหนือระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันนับตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 3/2553 และด้วยช่วงห่างที่กว้างมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น อาจส่งผลทำให้ ในที่สุดแล้ว ธปท. คงต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเวลาที่เหมาะสมภายในครึ่งหลังของปีนี้ โดยพิจารณาปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อควบคู่ไปกับผลของการเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นระยะวิกฤตของผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองไปได้ก่อน

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้ทิศทางเงินเฟ้อในระยะนี้จะได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทำให้ช่วงจังหวะของการเร่งตัวของเงินเฟ้ออาจไม่เร็วเท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ได้แก่ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะมีผลต่อภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยเฉพาะน้ำมัน และทิศทางราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้าต่างๆ ที่จะมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2553 อยู่ระหว่างร้อยละ 3.0-4.0 แต่ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0-1.5 จากเดิมที่ร้อยละ 1.5-2.0 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงและภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอลงจากผลกระทบทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่น่าจะยังคงเร่งตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี คงจะมีผลทำให้ในที่สุดแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องกลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น แต่อาจรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมเมื่อผลกระทบของปัญหาทางการเมืองต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ ค่อยๆ บรรเทาลง