TQA 2004: Performance Excellence

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ถือเป็นรางวัลระดับมาตรฐานโลก เนื่องจากมีพื้นฐานด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ซึ่งเป็นต้นแบบของการจัดเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

สำหรับ TQA 2004 นั้นหลังเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าภาพคือ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ก็ได้จับมือกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเป็นระยะ ล่าสุดในเดือนมิถุนายนมีการจัดสัมมนาขึ้นที่โรงแรมเกรนด์ไฮแอทเอราวัณ หัวข้อ Performance Excellence: การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล โดยมี HR จากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Unilever, Aditya Birla Group (Thailand), เครือซิเมนต์ไทย, และ CP 7-11 มาบรรยายและแลกเปลี่ยนความเห็นกับตัวแทนกว่า 200 องค์กรที่มาร่วมฟัง เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานสู่มาตรฐานของรางวัล TQA ต่อไป

ไฉไล โกมารกุล ณ นคร กรรมการอำนวยการ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิง จำกัด กล่าวว่า ภารกิจหลักของ HR ในปัจจุบันประกอบด้วย 6 ด้านคือ

1. HR Organization คือการปรับวิสัยทัศน์งานบริหารทรัพยากรบุคคลให้เข้ากับวิสัยทัศน์ทางธุรกิจขององค์กร จะต้องประสานแผนการบริหารด้านการจ่ายผลตอบแทน การจัดจ้าง การฝึกอบรม รวมถึงด้านแรงงานสัมพันธ์ ให้สอดคล้องกับแผนงานและเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กร

2. Recruitment & Selection การสรรหาและคัดเลือกบุคลากร ซึ่งเริ่มจากการวางแผนกำลังคน และกำหนดแหล่งที่มาว่าจะสรรหาจากภายในหรือภายนอก ซึ่งอาจหมายถึงการโร้ดโชว์ตามสถาบันการศึกษา หรือ outsource ให้บริษัทจัดหาคน ท้ายสุดคือใช้เครื่องมือและกระบวนการคัดเลือกที่มีประสิทธิภาพ

3. Staffing / Empowerment หมายถึงการจัดวางกำลังคนให้เหมาะสมกับงานส่วนต่างๆ กำหนดหน้าที่รับผิดชอบและมีอำนาจตัดสินใจในระดับหนึ่ง ซึ่งต้องสอดประสานกันทั้งระดับผู้บริหาร ระดับกลาง และระดับสายการผลิต รวมถึงแผนกที่เป็นส่วนงานสนับสนุน

4. Performance Management หมายถึงการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ ทั้งในระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการ ให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้นั้นให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตขององค์กร

5. Career Path Planning การวางแผนอาชีพ หมายถึงระบบการพิจารณาเลื่อนขั้น ซึ่งพิจารณาจาก 4 ด้านคือ ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ และผลงาน ซึ่งควรมีรีวิวทั้งรายไตรมาสและและรายปี และสำรองคนใน Talent Pool เพื่อเสริมระดับบริหารได้ทุกเมื่อ

6. Rewarding System ระบบการให้ผลตอบแทน ซึ่งจำเป็นต้องมีการทำเซอร์เวย์ ทั้งในกลุ่มธุรกิจเดียวกันและในกลุ่มธุรกิจที่พบว่ามีการดึงคนไปจากบริษัท ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการสร้างเกณฑ์ผลตอบแทนที่ได้มาตรฐานและไม่สูญเสียทรัพยากรที่ดีให้คู่แข่ง และค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานและดึงคนไว้ได้นานที่สุด

ทางด้าน มณี สุวรรณรัตน์ รองประธานฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ Aditya Birla Group (Thailand) โกวิท หาญณรงค์ ผู้จัดการสำนักงานบุคคล บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยอุตสาหกรรม จำกัด และ กรณิศ ธนสุนทรกิจ รองผู้จัดการทั่วไป สำนักทรัพยากรบุคคล บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกันอภิปรายในประเด็นการทำให้พนักงานได้เรียนรู้ การสร้างแรงจูงใจแก่พนักงาน และการสร้างความพึงพอใจแก่พนักงาน สรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ว่า ในการทำ Training Roadmap สามารถทำได้หลายรูปแบบทั้ง On-job Training, Workshop, Coaching, และ Self Learning ซึ่งการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดเวลาจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตขององค์กรในอนาคต แต่หลังเทรนนิ่งแล้วต้องติดตามให้เกิดการนำไปปฏิบัติจริงด้วย

ส่วนสำคัญที่จะสำรวจความเห็นและสร้างความพึงพอใจให้แก่พนักงานคือการจัดระบบการสื่อสารภายในองค์กร เช่น โครงการเสียงตามสายในโรงงาน และโครงการ OK Do It! ของโรงงานปูนซิเมนต์แก่งคอย การให้รางวัลแก่พนักงานเขียนรายการสิ่งที่ต้องการปรับปรุงเสนอผู้บริหาร ของ Aditya Birla Group โครงการเคาะระฆัง, Godfather, พี่ช่วยน้อง, โครงการเยี่ยมร้าน ที่เซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งในทุกองค์กรเมื่อได้ฟีดแบ็คจากพนักงานแล้ว HR มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลและทำแผนให้สอดคล้องกับนโยบายด้านอื่นๆ ต่อไป

Did you know?

ในปี 2545 องค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ คือ บริษัทไทยอคริลิค ไฟเบอร์ จำกัด ส่วนปี 2546 มีผู้สมัครเข้ารับรางวัลจำนวน 19 ราย องค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ คือ บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ปีนี้มีนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย 7 หมวด คือ
– การนำองค์กร – การวางแผนเชิงกลยุทธ์
– การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด – การวัด การวิเคราะห์ และการจัดความรู้
– การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล – การจัดการกระบวนการ
– ผลลัพธ์ทางธุรกิจ

โดยรางวัลคุณภาพแห่งชาติ จะไม่แบ่งประเภทและไม่จำกัดจำนวนรางวัล องค์กรที่มีผลการตรวจประเมิน 650 คะแนนขึ้นไป จะได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ส่วนองค์กรที่มีคะแนนไม่ถึง 650 แต่สูงกว่า 350 คะแนน จะได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC)