ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา นักปั้นบริการเสริมจาก i-mode ถึง Orange

เลือดใหม่ Orange ที่มีประสบการณ์ ทำงานเกี่ยวกับ Mobile Content Business ในญี่ปุ่นมาถึง 4 ปี ด้วยการนำข้อมูลมานำเสนอบนมือถือ แล้วขายผ่านให้กับ NTT Dokomo และ Operator ในญี่ปุ่นอีก 2 ราย เมื่อเขาได้มาร่วมงานกับ Orange ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ของเขาจึงถูกนำมาผสมผสานให้เข้ากับผู้บริโภคคนไทย จนเกิดเป็นบริการทางด้าน non-voice ของ Orange ขึ้นมา ในชื่อ Photo World, Game World และ Financial World

ปุณณมาศ เปิดเผยว่า บริการที่เกิดขึ้นเป็นส่วนผสมมาจากทั้ง 2 ประเทศ โดยการนำหลักการความคิดของ i-mode ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในญี่ปุ่นนำมาปรับให้เข้ากับผู้บริโภคขาวไทย โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 15-30 ปี ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ Orange ซึ่งหลักคิดของ i-mode คือ อย่าไปคิดว่า mobile data คือ mobile internet มันเป็นคนละเรื่องกัน

ลักษณะการใช้ข้อมูลใน i-mode จะไม่เหมือนกับการใช้อินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์ fixed line แต่จะเป็นการใช้ข้อมูลที่ไม่ลึกมากกว่า เป็นการสื่อสารระหว่างเพื่อน ต้องใช้ง่าย ไม่ขายเทคโนโลยี เป็นหลักการเดียวกับบริการ i-mode ที่นำเสนอขายในรูปแบบของ mobile internet

วิธีการขายของ Orange จะไม่พูดว่า Orange ขาย wap service แต่จะพูดว่านี่คือ photo world หรือ game world แทน เพื่อให้ลูกค้าจับต้องได้ง่ายๆ

15 บริการที่เริ่มต้นคิดขึ้นมา เมื่อเทียบกับ i-mode ที่เริ่มต้นที่ 60 บริการ ถือว่าน้อยมาก เพื่อให้ลูกค้าจับต้องได้จริง ไม่สับสน ในขณะเดียวกันก็ต้องสอนลูกค้าไปด้วยในตัว จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มบริการใหม่ ๆ เข้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากปล่อยบริการออกไปเลยทีเดียวเป็นจำนวนมาก ลูกค้าก็จะเกิดความสับสนไม่รู้ว่าจะใช้บริการไหนดี แตกต่างกันอย่างไร จึงทำให้ไม่อยากเข้ามาเล่น

พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย การทำตลาดในเมืองไทยต้องจับกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน และต้องเข้าใจจริง ๆ ว่า segment ไหนที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา เพราะถ้ายิ่งจับกลุ่มเป้าหมายมาก ก็ต้องใช้เงินทุนสูง และสุดท้ายอาจจะไม่เก่งเลยสักอย่างเดียว นั่นจึงทำให้แบรนด์ Orange มีกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจน คือกลุ่มวัยรุ่น และผู้เริ่มต้นทำงาน ที่มีอายุอยู่ในช่วง 15-30 ปี และแบรนด์ Orange ก็ค่อนข้างรุกตลาดกลุ่มนี้ได้ดี

โดยส่วนตัวเขาเชื่อว่ามือถือจะเป็นสิ่งที่ฉลาดที่สุด และใกล้ตัวมนุษย์มากที่สุด เป็นเหมือนเลขาส่วนตัวที่คอยเตือนนัดหมาย หรืออำนวยความสะดวกให้กับชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ทำให้มีเวลาเพื่อจะไปทำสิ่งอื่น ๆ มากขึ้น เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ตัวเรามีเวลาหรือทำสิ่งอื่น ๆ เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง เช่น ดูหนัง ท่องเที่ยว ฟังเพลง หรือมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น

“ถ้าให้เลือกระหว่างลืมโทรศัพท์มือถือ กับกระเป๋าเงิน ผมเลือกที่จะลืมกระเป๋าเงิน และถ้าให้เลือกระหว่างให้เพื่อนยืมเงิน กับยืมโทรศัพท์มือถือ ผมเลือกที่จะให้เพื่อนยืมเงิน โทรศัพท์มีความสำคัญมาก ซึ่งไม่ใช่แค่ไว้สำหรับติดต่องานอย่างเดียว แต่สำคัญสำหรับตัวเราเองที่มีความผูกพันกับมันมาก”

นอกจากโทรศัพท์มือถือที่แล้ว “เวลา“ สำคัญไม่แพ้กัน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะรวย จน เชื้อชาติไหนได้เท่ากันหมดก็คือ “เวลา” ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า เงินทอง ถ้าหายไป ก็กลับคืนมาได้ แต่เวลาถ้าหายไปแล้วไม่เคยกลับคืนมา และเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง จึงค่อนข้างที่จะบริหารเวลาให้ดีที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีบางอย่างเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็น mobile technology, computer notebook, PDA หรืออุปกรณ์อื่นเพื่อช่วยให้บริหารเวลาได้ดีขึ้น

ส่วนการจัดการเงินในกระเป๋า เขาเลือกที่จะใช้อย่างพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือยมาก วางสัดส่วนการใช้เงินเอาไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องดูด้วยว่าอนาคตข้างหน้าอีก 5-10 ปี ตัวเองต้องการจะทำอะไร เมื่อถึงจุดนั้นต้องมีเงินเท่าไร แต่ละเดือนเขาจะเก็บเงินครึ่งหนึ่งไว้สำหรับอนาคต ให้ทางบ้าน 20% ใช้ไปกับการกิน เที่ยว 15% และอีก 15% ใช้ไปกับการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบ อีกทั้งยังทำให้เกิดความคิดใหม่ ๆ จากอุปกรณ์เหล่านี้

ปุณณมาศ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า”ถ้าจะเปรียบบริการของ Orange ก็เป็นเหมือนกับเครื่อง Macintosh ของ Apple ที่ทำน้อยแต่ทำให้มันดีจริง ๆ ให้คนจับต้องได้ เราไม่พยายามที่จะเป็นทุกอย่างให้กับทุกคน แต่จะเป็นบางอย่างที่สำคัญมาก ๆ ให้กับคนที่พิเศษของเรา นั่นก็คือ ลูกค้า Orange”

Profile

Name : ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา
Born : 7 กุมภาพันธ์ 2517
Education :
มัธยมปลาย วิทยาลัยอัสสัมชัญ
ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
Career Hightlights :
– หัวหน้าฝ่ายบริการข้อมูลมัลติมีเดีย บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด
– วิศวกร บริษัท AT&T wireless ประเทศสหรัฐอเมริกา
– วิศวกรและฝ่ายสนับสนุนทางด้านเทคนิค บริษัท Ericsson International ประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น
– รองประธานฝ่ายข้อมูล และแอพพลิเคชั่นไร้สาย บริษัท iJapan Inc ประเทศญี่ปุ่น (บริษัทจัดทำเว็บท่าเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นญี่ปุ่น)
– ผู้ก่อตั้ง และ CEO บริษัท Arriya Solution Inc. ประเทศญี่ปุ่น (บริษัทให้บริการโซลูชั่นโทรศัพท์มือถือ โดยเน้นตลาด business to business)
Family : สถานภาพโสด, เป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัว มีพี่สาว 2 คน