ทุนเรียนต่อ London School of Economics

ช่วงที่ผ่านมามีการจัดงานสัมมนาครั้งใหญ่ของเหล่าบรรดาศิษย์เก่า London School of Economics (LSE) ขึ้นที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี กรุงเทพฯ ในหัวข้อเรื่อง “เอเชีย : อนาคตของเศรษฐกิจโลก” มีคนไปร่วมงานกว่า 300 คน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งคือศิษย์เก่า LSE ที่มาจากหลากหลายองค์กรด้วยกัน อาทิ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการ WTO นายธานินทร์ กรับวิเชียร องคมนตรี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบุคคลสำคัญอีกจำนวนมาก ทั้งจากในและต่างประเทศ

สาระสำคัญของการจัดสัมมนาครั้งนี้ ส่วนหนึ่งคือการแสดงวิสัยทัศน์ความเป็นสถาบันวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง นำเสนอข้อมูลบทวิเคราะห์สถานการณ์โลกได้อย่างมีสาระสำคัญและบุคคลระดับนโยบายของประเทศยังต้องรับฟัง ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ก็จัดสัมมนาในหัวข้อ After Iraq : the state of the world economy และกาล่าดินเนอร์ ณ Bridgewater House ลอนดอน เพื่อฉลองโอกาสที่ระดมเงินได้ครบ 50 ล้านปอนด์เข้ากองทุน Campaign for LSE

อย่างไรก็ตามวาระซ่อนเร้นของการจัดงานสัมมนาที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ คือการระดมทุนเข้า Campaign for LSE ที่จัดร่วมกับศิษย์เก่า LSE ทั่วโลก ล่าสุดกองทุนสามารถระดมเงินได้ถึง 63 ล้านปอนด์แล้ว (ข้อมูลจาก : http://www.lse.ac.uk/collections/campaignForLSE/newsAndAchievements.htm ณ วันที่ 28 เมษายน 2547) จากเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะหาให้ครบ 100 ล้านปอนด์ เพื่อนำไปใช้ในกิจการด้านต่างๆ ของสถาบันโดยไม่ต้องพึ่งเงินสนับสนุนจากรัฐบาล กองทุนนี้ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้จ่ายในด้านทุนการศึกษา 10 ล้านปอนด์ และสนับสนุนการวิจัยมากถึง 40 ล้านปอนด์

งานใหญ่ครั้งแรกของศิษย์เก่า LSE ในเมืองไทยครั้งนี้ จึงมีผลพวงให้เกิดการก่อตั้งทุนการศึกษา นายบุญมา วงษ์สวรรค์ ขึ้น โดยหน่วยงานที่จัดการให้ทุนคือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ให้รายละเอียดว่า การพิจารณาให้ทุนจะสนับสนุนผู้ที่ได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนจาก LSE แล้ว คณะกรรมการผู้ให้ทุนจะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป ถือเป็นทุนการศึกษาก้อนใหญ่ทีเดียว เพราะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตลอดเวลาของการเรียนจนจบหลักสูตร รวมถึงค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าเดินทาง อีกทั้งเมื่อเรียนจบแล้วผู้ที่ได้รับทุนสามารถเลือกประกอบวิชาชีพได้อย่างอิสระไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น

“บริษัทปูนซิเมนต์ไทยต้องการคืนกำไรสู่สังคม โดยการมีส่วนสนับสนุนให้คนไทยได้ไปเรียนที่ LSE ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการรำลึกถึงท่านบุญมา วงษ์สวรรค์ ศิษย์เก่าของ LSE ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่คนแรกของปูนซิเมนต์ไทย และเป็นกรรมการการบริหารอยู่หลายปีด้วยกัน มีส่วนอย่างสำคัญในการวางรากฐานให้ปูนซิเมนต์ไทยประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน และมีธรรมาภิบาล อีกทั้งในยุคปัจจุบันที่เป็นกระแสโลกาภิวัตน์ เชื่อว่าคนไทยที่มีโอกาสได้ไปเรียน LSE จะสามารถนำความรู้มาทำประโยชน์ให้ประเทศได้อย่างยั่งยืน การคัดเลือกจะพิจารณาให้ทุนปีละ 1 คนเท่านั้น”

นอกจากนั้น ในอนาคตจะมีการตั้งสมาคมศิษย์เก่า LSE ประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลการติดต่อระหว่างศิษย์เก่ากับสถาบัน และเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านวิชาการและสังคม โดยคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้อีกส่วนหนึ่งด้วย

Did you know?

London School for Economics ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2438 มีศิษย์เก่าจากเอเชียประมาณ 5,000 คน มาจากประเทศจีนมากที่สุด ปัจจุบันมีนักศึกษาจาก 150 ประเทศทั่วโลก นักศึกษาจากเอเชียมีจำนวนเป็นสัดส่วน 23% ของนักศึกษาทั้งหมด 8,000 คน ศิษย์เก่าจากประเทศไทยมีประมาณ 600 คน ซึ่ง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปูชนียบุคคลด้านเศรษฐศาสตร์ของไทยก็เป็นศิษย์เก่า LSE เช่นกัน คนไทยรุ่นบุกเบิกที่เดินทางไปเรียน LSE คือ พระยาศรีเสนา (นายศรีเสนา สมบัติศิริ) ที่ไปศึกษาด้านการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2457 จณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีในหน้าที่การต่างประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อจบการศึกษาจาก LSE แล้ว ได้กลับมารับราชการและทำงานการเมืองในตำแหน่งต่างๆ เช่น รัฐมนตรีว่ากระทรวงต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงทำงานอื่นๆ ในตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารออมสิน เลขาธิการมูลนิธิอานันทมหิดล และองคมนตรี จนกระทั่งเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2525