วิชา พูลวรลักษณ์ Big Man…Big Theatre !

แวดวงธุรกิจบันเทิง น้อยคนนักที่ไม่รู้จัก “วิชา พูลวรลักษณ์” นักบริหารธุรกิจโรงภาพยนตร์ชื่อดังที่หลายคนคุ้นเคยมาเป็นอย่างดี ในนามเครือ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ในฐานะผู้บุกเบิก สร้างเมืองหนังขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ในรูปแบบ Stand Alone Complex ที่เขย่าธุรกิจโรงหนังไทยให้สั่นสะเทือนมาแล้ว

วิชา จัดเป็นนักบริหารที่กล้าได้ กล้าเสีย และมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปูทางให้เขาไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
เห็นได้จากการที่เขาตัดสินใจนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพลิกภาพบริการในโรงภาพยนตร์เมืองไทย ไม่ว่า ระบบจองตั๋วโทรเบอร์เดียวทุกสาขา จองตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ต หรือขายบัตรชมภาพยนตร์ผ่านตู้เอทีเอ็ม ที่ช่วยลดคิวคนดูที่ต้องแย่งกันไปเพื่อซื้อตั๋ว มาจากการตีโจทย์การตลาด เพื่ออุดช่องทางระบบ Service แบบเดิมๆ และที่ฮือฮามาก เมื่อเขาตัดสินใจสร้างโรงภาพยนตร์ไอแม็กซ์ จอยักษ์ 3 มิติ แห่งแรกในเมืองไทย

จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การที่เขาสามารถนำ “บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สำเร็จ ถือเป็นหุ้นโรงภาพยนตร์รายแรกรายเดียวในตลาดหลักทรัพย์ฯ

วิชา ในฐานะประธานกรรมการบริหารบริษัทฯ บอกกับ POSITIONING ว่า “การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯของเมเจอร์ ถือเป็น 1 ใน 3ของจุดเปลี่ยนสำคัญๆ ที่ใหญ่มาก

“มันเป็นธุรกิจ และเปลี่ยน Lifestyle คนไทย เพราะมันเริ่มจากที่เราสร้าง Business Model ขึ้นมาที่ไม่มีใครทำ ในรูปแบบ Entertainment Complex Stand Alone ของโรงภาพยนตร์เป็นหลัก เพราะก่อนเปิดไม่มีใครเชื่อว่ามันจะสำเร็จได้ ”

โมเดลครั้งนั้น วิชาบอกถึงที่มาว่า มาจากประสบการณ์ล้วนๆ อีกทั้งตัวโมเดลเองมีความโดดเด่นในแง่ความเป็น Niche ในตัว สามารถตอบโจทย์คอนซูเมอร์ได้ และในที่สุดกระแสตอบรับคนดูในช่วงนั้นดีเกินคาด และขยายผลส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมภาพยนตร์

ความสำเร็จนี้ ทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้น “ ผมมีกำลังใจขึ้นมาเยอะ เพราะมันพิสูจน์ว่า วิธีคิดที่เราทำมันเวิร์ค จากนั้นมาผมก็เดินหน้า มีก้าวที่ 2 , 3 และ 4 จนกระทั่ง เป็นเมเจอร์ในวันนี้…”

“… ทุกวันนี้ คนดูหนังเป็นเรื่องสนุก คนดูมีทั้งครอบครัว หนุ่มสาว และเห็นได้ชัดจากปริมาณตั๋วหนังต่อปี ล่าสุดในปีที่แล้ว ทำสถิติสูง 35 ล้านใบ จากอดีตเมื่อกว่า 10 ปี แค่ราวๆ 3 ล้านใบต่อปี” จำนวนที่นั่งในโรงภาพยนตร์เองก็มีไม่น้อยกว่า 7 หมื่นที่นั่ง แต่ละโรงจะฉายภาพยนตร์เฉลี่ยวันละ 6 รอบ หากคิดเป็นรายได้ก็ราว 4 แสนบาทต่อวัน

เขายังสร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์ ให้กับวงการจนกลายเป็น Talk of the town เมื่อเขาตัดสินใจควบรวมกิจการกับคู่แข่งตลอดกาล “ค่ายอีจีวี” ส่งผลให้ค่ายเมเจอร์กลายเป็นผู้นำตลาด จากการผูกขาดตลาด

Key Factor ปัจจัยความสำเร็จธุรกิจสำหรับวิชา เปรียบได้กับต้นไม้ที่เติบโตไปทีละก้าว

“ทำแต่ละก้าวได้ค่อนข้างดี …ผมมีหลักในการทำงานอยู่ว่า ไม่ว่าทำอะไร ผมจะทุ่มเท (Work Hard) กับมันค่อนข้างมาก
จึงไม่แปลกที่ดอกผลแห่งความทุ่มเทและทำงานอย่างหนัก ทำให้วันนี้ วิชาค่อนข้างเบาใจ เมื่อพูดถึง อาณาจักรธุรกิจเมเจอร์ในวันนี้ และอนาคตข้างหน้า

“วันนี้ไม่ต้องมีผมเมเจอร์ก็เติบโตได้ เพราะเราวางรากฐานไว้ค่อนข้างดีมาก เราไม่ใช่ Family Business โลกธุรกิจวันนี้เป็นแบบ Globalization”

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานแบบมืออาชีพมากยิ่งขึ้น โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เขาได้ถ่ายเทบทบาทการบริหาร ว่าจ้างนักบริหารชาวต่างชาติเข้ามาทำงานดูแลรับผิดชอบงานในส่วนงานต่างๆ ที่เขาเคยดูแลอย่างใกล้ชิดมากก่อน

โครงสร้างรายที่สำคัญของเมเจอร์ ไม่ได้อยู่แค่โรงหนัง แต่ครอบคลุมธุรกิจล้อมรอบโรงหนัง ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจบันเทิง ที่สามารถเกื้อกูลต่อธุรกิจโรงหนังโดยตรง อันเป็นที่มาของโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า Total Entertainment Lifestyle Company

“กลุ่มเมเจอร์ ไม่ได้มองแค่ธุรกิจโรงภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจบันเทิง ไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โบว์ลิ่ง ไอแม็กซ์ แคลิฟฟอร์เนียร์ ว้าว รวมไปถึงธุรกิจ ช่องทางจำหน่ายตั๋ว หรืออะไรก็ได้ที่เป็น Lifestyle Trendy ”

ในฐานะนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ และจัดว่า “ มีอิทธิพล”ต่อวงการบันเทิงไม่น้อย วิชายอมรับแต่เพียงว่า เขาเป็นเพียงผู้มีส่วน Drive อุตสาหกรรมให้เติบโตขึ้นค่อนข้างมากเท่านั้น เขาอธิบายเหตุผลให้ฟังว่า

“การทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ ถ้าหากมีจำนวนโรงมาก หนังก็มีโอกาสทำเงินได้มากขึ้น คนดูจะมี Lifestyle และ Convenience มากขึ้น และมองในเชิงภาพรวมอุตสาหกรรม มันคือ “โอกาส” ที่เติบโตอีกมาก ซึ่งผมเชื่อว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ดูหนัง

…ผมทำงานมีเป้าหมายเป็น Growth Company บริษัทที่มีการเติบโต และเมื่อบริษัทเติบโตได้ อุตสาหกรรมก็เติบโต ที่สำคัญทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นต่อไปอีก” วิชากล่าวทิ้งท้ายในที่สุด

Profile

Name : วิชา พูลวรลักษณ์
Birth Date : 18 มกราคม 2506
Education :
– ปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์
– ปริญญาโท MBA Finance จาก Sandiago University, USA