เมื่อคนอ่านกลายเป็นบรรณารักษ์

แต่ไหนแต่ไรมาเมื่อเข้าห้องสมุดหาข้อมูล ก็จะต้องตรงไปที่บัตรรายการไม่ว่าจะในตู้หรือในคอมพิวเตอร์ ซึ่งบัตรรายการทั้งหมดก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์จะจัดทำปรับปรุง แต่จากนี้ไปห้องสมุดยุคใหม่ “Library 2.0” อาจต้องอาศัยผู้อ่านมาช่วยกันให้หมวดหมู่ และช่วยกันแนะนำหนังสือให้กันและกันแทนที่จะอาศัยแค่บรรณารักษ์ไม่กี่คน

กลางเดือนมิถุนายน 2550 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบฯ TCDC จัดสัมมนาเรื่อง Library 2.0 เปิดพรมแดนความรู้ใหม่ให้คนทำงานด้านห้องสมุด ศูนย์ข้อมูล และผู้สนใจได้ลงทะเบียนเข้าฟัง งานนี้ริเริ่มและร่วมบรรยายโดย ทรงพันธุ์ เจิมประยงค์ อดีต Information Scientist แห่ง TCDC ที่บุกเบิกระบบข้อมูลห้องสมุดที่นั่นมาแต่ปัจจุบันลาออกมาศึกษาปริญญาเอก

“ที่มาของแนวคิดห้องสมุด 2.0 ก็คือกลุ่มเทคโนโลยี Web 2.0 แนวคิดเรื่องนี้ที่สำคัญๆ ก็เช่น User-Generated Content คือเนื้อหาและข้อมูลถูกทำและกำหนดจากฝ่ายผู้ใช้” เป็นคำอธิบายจากเจ้าของโปรเจกต์งานสัมมนานี้ เขาเปรียบกับ Tag Cloud ในเว็บยุคใหม่ ที่จะมีกรอบสี่เหลี่ยมที่บรรจุคำต่างๆ ที่ผู้เขียนบล็อกนิยามเนื้อหาตัวเองไว้ หรือเป็นคำที่ผู้ใช้ค้นหามา

ด้วยแนวคิดนี้ ห้องสมุดก็สามารถมี Tag ได้เช่นกัน นั่นคือผู้อ่านสามารถใส่ Tag หรือคำนิยามสั้นๆ ว่าหนังสือที่ตัวเองอ่านนั้นเกี่ยวกับคำว่าอะไรบ้าง แล้วคำ Tag และคำค้นหาจากทุกคนก็จะถูกประมวลแสดงผล ตัวใหญ่ก็หมายถึงมีการ Tag และการค้นมาก ตัวเล็กก็มีน้อย

หนังสือเล่มต่างๆ ก็จะถูกหาเจอง่ายขึ้น เพราะมีทั้งหมวดหมู่ คำอธิบายเสริมจากบรรดาผู้อ่าน และยังดูได้ว่าเล่มไหนถูกใช้บ่อยกว่า ถูกนิยามไว้มากกว่า และได้รู้ว่าคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ มักจะอ่านเล่มไหนต่อไปอีก เป็นต้น

“นอกจากนี้ การรวมพลคนรักหนังสือ สร้างชุมชนของคนที่สนใจหนังสือคอเดียวกัน เล่มเดียวกัน ก็ทำได้ในห้องสมุดยุคใหม่นี้” ทรงพันธุ์ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์อีกข้อของแนวทาง Library 2.0 และยังขยายต่อไปอย่างน่าตื่นเต้นว่า “อีกแนวที่เริ่มมีการใช้กันแล้วคือทำห้องสมุดออนไลน์ให้ดูเหมือนเกมออนไลน์ Virtual Reality อย่างเช่น Second Life ที่ทำให้คนสามารถเข้าไปค้นหนังสือและข้อมูล หาเพื่อน พูดคุย คล้ายๆ ในเกมออนไลน์ 3 มิติ”

ด้วยแนวคิดนี้ ดูเหมือนว่าเหล่าบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่อาจจะกังวลว่าบรรดาผู้อ่านจะทำระบบ “เละ” หรือไม่ ?

“สำคัญอยู่ที่ว่าบุคลากรห้องสมุดต้องเปิดใจมากขึ้น ว่าต่อไปผู้ใช้ไม่ได้เป็นเพียงผู้เข้าถึงข้อมูลเท่านั้น แต่เขาจะกลายเป็นผู้ผลิตข้อมูล ความรู้ นั่นหมายถึง เราจะต้องให้กุญแจแห่งการควบคุม ที่เราเคยถือครองอยู่ออกไป” ทรงพันธุ์ตอบข้อกังวลสงสัยนี้

เขายังมองว่ายิ่งมีผู้ใช้มากและผู้ใช้มีความรู้ความสนใจที่แท้จริง ระบบสืบค้นของห้องสมุดนั้นจะยิ่งดีขึ้น และทรงพันธุ์เสนอไอเดียว่า “ห้องสมุดไหนยังไม่พร้อม อาจจะเริ่มทำ โดยไปขอเชื่อมโยงระบบรวมกับห้องสมุดอื่นๆ ก่อน ข้อมูลต่างๆ จะได้มาจากฐานผู้ใช้ที่มากกว่า เชื่อถือได้มากขึ้น”

“สำหรับคนที่สนใจศึกษาละเอียดแนวคิดนี้ที่ต่างประเทศจะเรียกกันหลายคำ เช่น Social Networking, The Wisdom of Crowd, Collective Intelligence, Citizen Journalism และ Open Content เป็นต้น” ทรงพันธุ์แจกแจงชื่อแนวคิดให้ผู้อ่านที่สนใจไปเสิร์ชดูได้