สมรภูมิเดือด แอลซีดีทีวี

บรรดาผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ซัมซุง โซนี่ แอลจี ต่างลั่นกองรบ เปิดฉากการบุกตลาด “แอลซีดีทีวี” กันอย่างเต็มพิกัด ทั้งความหลากหลายของจำนวนรุ่น กลไกด้านราคา กิจกรรมการตลาด รวมถึงปรับรูปโฉมของร้านจำหน่าย ชนิดที่ต้องสะท้อนแบรนด์กันแบบถึงกึ๋น

ค่ายซัมซุง ชูคอนเซ็ปต์ของการเป็น “Lifestyle Communication” ไม่เน้นนำเสนอเรื่องเทคโนโลยี แต่มุ่งนำเสนอภาพลักษณ์แบบ Emotional สร้างอารมณ์ในการซื้อ โดยชู LCD TV เป็นเสมือนรูปแบบหนึ่งของ ”งานศิลปะ”

สุพจน์ ลีนานุรักษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดหมวดภาพและเสียง กล่าวว่า ซัมซุงลงทุนเปลี่ยนโฉมหน้าร้านใหม่ให้เป็น “Lifestyle Display” โดยจำลองบรรยากาศเสมือนจริง ใช้ “สี” 3 สี มาเป็นตัวสะท้อนความหมาย เพื่อสื่อถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

“สีเขียว” แทนความมีชีวิตชีวาของ “คนรุ่นใหม่” เป็นสัญลักษณ์ของตระกูล S 8 ส่วน “สีแดง” สะท้อนความมีรสนิยมของตระกูล Bordeaux Plus ในขณะที่ ”สีน้ำเงิน” เป็นสีแห่งความ ”หรูเรียบ” สื่อถึงสินค้าในตระกูล Full HD M8

“ราคา” ของ Samsung LCD TV ปรับลงมามากถึง 40% ด้วยต้นทุนของชิ้นส่วนที่ถูกลง จากการสั่งซื้อในปริมาณมาก ส่วนในปีนี้ราคายังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทว่าไม่หวือหวาเหมือนที่ผ่านมา คืออยู่ในอัตราประมาณ 5% ต่อไตรมาส

สิ้นปี 2550 นี้ Samsung ยังคง ”ตั้งเป้าเป็นที่ 1” ด้วย ยอดขาย 100,000 เครื่อง สัดส่วนการถือครอง 40% โดยครึ่งปีแรกสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ใกล้เคียงที่ตัวเลข 50,000 เครื่อง ด้วยกลยุทธ์ “First mover” หรือการเป็นเจ้าแรกในตลาดที่สร้างความเคลื่อนไหวใหม่ๆ โดยใช้ผลิตภัณฑ์เป็นศูนย์กลาง อาทิ การออก “Auto Wall Mount“

สำหรับรุ่นที่เน้นการทำตลาดมากที่สุด เพื่อเป็นหัวหอกของ Samsung LCD TV ในปีนี้คือ “Bodeaux Plus” โดยจะโฟกัสไปที่ขนาด 32 นิ้ว 60% และขนาด 40 นิ้วขึ้นไป 40%

ไตรมาส 4 Samsung มีแผนที่จะนำ Bluray Player มาจำหน่าย เพื่อตอบสนองเทรนด์การใช้งาน LCD TV และวางแผน launch จอLCD ขนาด 70 นิ้ว ซึ่งเป็น LCD TVขนาดใหญ่ที่สุดของ Samsung

ยอดขายในเชิงยูนิตของSamsung
CRT TV 75%
LCD TV 22.5%
Plasma TV 2.5%

แม้ ส่วนแบ่งการตลาดของ LCD TV ในปี 2549 จะมีเพียงแค่ 8% แต่ “พานาโซนิค” เชื่อว่า ในปี 2550 พวกเขาจะขึ้นเป็นเบอร์ 3 ที่มีสัดส่วนการตลาด 20% ซึ่งหมายถึงการเพิ่มยอดขาย LCD 3 เท่าในสิ้นปี 2550 และขยับเป็น 25%ในปี 2551

แต่ด้วยการแข่งขันจอแอลซีดีที่สูงมากในปีนี้ พานาโซนิคจึงงัดคัมภีร์ “แยกกันรบ” ด้วยการนำ “พลาสม่าทีวี” เข้ามาทำตลาด เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

ในขณะที่ LCD TV พานาโซนิคใช้นโยบาย ”ลดราคา” ทั้งในแง่ของ “Product” และ “Process” โดยในปี 2549 ได้ปรับลดลง 12-13% ในขณะปีนี้ตั้งเป้าไว้ไม่เกิน 15%

และใช้กิจกรรมทางการตลาด ทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์และความถี่ อาทิ แคมเปญพิเศษงบ 100 ล้านอย่าง “One night castle” ที่ยืมไอเดียประวัติศาสตร์การสร้างปราสาทภายในคืนเดียวของท่านโชกุน เพื่อปล่อยสินค้าหมวด AV ออกสู่ตลาด 14 รุ่น (LCD TV 4 รุ่น) และเปลี่ยนโฉม Display หน้าร้านใหม่พร้อมกันในคืนเดียว โดยมีการจัดบรรยากาศให้สอดคล้องกับแคมเปญบริเวณ J-Avenue และหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ส่วนค่าย Sony พยายามสื่อสารกับตลาด ด้วยคุณสมบัติของ “สีที่จัดจ้านกว่า” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของ Bravia
ปีที่ผ่านมาตลาดทีวีของโซนี่ไทยไม่ดีนัก เติบโตเพียง 4% แต่มาได้พระเอกขี่ม้าขาวอย่าง LCD TV เป็นหัวหอก ช่วยดันยอดรายได้รวมของบริษัทไว้ไม่ให้ติดลบ

ปีนี้ Sony จึงวางแผนเพิ่มยอดขายไปที่ LCD TV อย่างต่อเนื่องหวังให้เป็น ”ฮีโร่รีเทิร์น” ดันการเติบโตของบริษัทให้เป็นไปตามเป้าที่ 12%

โซนี่งัดกระบวนยุทธ์แบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า “Waza & Hen” หรือการอาศัย “เทคนิค” และ ”การเปลี่ยนแปลง” มาเป็นทัพหน้า ร่วมกับ “ดีไซน์และสีสัน” เพื่อสะท้อนแนวคิดความเป็น ”ตัวฉัน” ของผู้บริโภค โดยใช้นโยบายการตลาดเพื่อสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมและช่องทางการตลาดที่หลากหลาย อาทิ เกมเรียลลิตี้ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของ Bravia และการสร้าง Community ภายใต้โปรแกรม My Sony ซึ่งคาดว่า ณ สิ้นปี ตัวเลขของฐานสมาชิกจะสูงถึง 500,000 ราย

ในส่วนของงานขาย โซนี่ลงมือจัดหน้าร้าน ใช้คอนเซ็ปต์ใหม่อย่าง “Bravia Theatre” ซึ่งโซนี่ต้องการโชว์ทั้งประสิทธิภาพของหลอดภาพ และศักยภาพของ ”เสียง” ควบคู่กันไป

โซนี่ถึงกับตั้งเป้ากลับมาเป็นผู้นำตลาดด้วยสัดส่วน 35% และเป็นผู้นำเทรนด์ (Trend Setter) โดยเน้นภาพลักษณ์ทันสมัยของแบรนด์ โดยใช้รุ่น “S Series” เป็นหัวหอกในการเจาะ ”ลูกค้ากลุ่มใหม่” ที่เด็กลง มีอายุ 25-30 ปี ให้มากขึ้น จากเดิมลูกค้ากลุ่มหลักที่เดิมมีอายุ 30 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ โซนี่มีแผนนำเทคโนโลยีใหม่ “OLED” ซึ่งเหนือกว่า LCD ด้วยขนาดบางเพียง 3 มม. ออกสู่ตลาด ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าไทยจะเป็นตลาดลำดับที่3 หลังวางจำหน่ายในญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกปลายปีนี้

ส่วนแบ่งการตลาด LCD TV ปี 2549

Samsung 35% Sony 20% Philips 12% Panasonic 8% Others 25%