โลกกำลังแห่เข้าขุดทองทำเงินจริงๆ กันในดินแดนออนไลน์ Second Life ทั้งเข้าไปสร้างรถทำเสื้อผ้าออนไลน์ขาย ไปเปิดมหาวิทยาลัย หรือปลูกตึกตกแต่งขาย และคนไทยก็ไม่ยอมตกขบวน เมื่อมีแนวหน้าอย่างเอแบค ที่บุกเปิดวิทยาเขต บริษัทโฆษณา Initiative ที่เข้าสำรวจพื้นที่โฆษณา และผู้กล้ารายย่อยที่เข้าไปเปิดร้านขายอวาตาร์ทำรายได้จากหมื่นเป็นแสนบาทต่อเดือนในปีเดียว อะไรที่ทำตลาดโลกที่สองแห่งนี้ กลายเป็นตลาดใหม่ในโลกอันหอมหวนไปทั่วโลก
“VR world มีหลายรายก็จริง แต่ที่ Second Life ดังที่สุด เพราะมีเรื่องธุรกิจจริง เงินจริง มีกรณีของคนที่ทำเงินจากในนั้นได้จริงๆ” ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานวิทยาลัยศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ตของ ABAC ซึ่งเคยได้ฉายาว่าเป็น “บิดาแห่งอินเทอร์เน็ตไทย” บอกกับทีม POSITIONING
ดร.ศรีศักดิ์ เคยประสบความสำเร็จจากการร่วมก่อตั้ง KSC ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงธุรกิจแห่งแรกของไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ต่อมาได้ขายกิจการให้กลุ่มทุนข้ามชาติไปในมูลค่ามหาศาล มาถึงปีนี้ ดร.ศรีศักดิ์เริ่มมองเห็นโอกาสทั้งธุรกิจการศึกษา และการพัฒนาที่ดินให้เช่าและขายในโลกเสมือนจริงแห่งนี้
รวยค่าเทอม รวยค่าเช่า
“ถ้าเราจะทำชั้นเรียนประวัติศาสตร์ เราสามารถให้ผู้เรียนไปเข้าเฝ้าพระนเรศวรกลางสนามรบได้ หรือจะไปเป็นทหารร่วมรบในกองทัพของจูเลียสซีซาร์ก็ได้” ดร.ศรีศักดิ์ยกตัวอย่างศักยภาพของ Second Life ที่สามารถทำชั้นเรียนออนไลน์ที่สนุกเร้าใจ แต่ได้ผลทางการเรียนสุดแต่จินตนาการของทางผู้สร้าง
แต่ศักยภาพแท้จริงที่ดึงดูดใจ ดร.ศรีศักดิ์ให้ตัดสินใจสร้าง Campus ใน Second Life คือยอดผู้ใช้งาน Second Life ทั่วโลก ที่ ณ วันที่สัมภาษณ์ต้นเดือนสิงหาคมนั้น มีสูงถึงราว 9 ล้านรายแล้ว เติบโตจาก 1 ล้านรายเมื่อเดือนมีนาคม นั่นคือ 9 เท่าในเวลาเพียง 5 เดือน!
และด้วยการเติบโตก้าวกระโดดของยอดผู้ใช้ทั่วโลก ทำให้การเข้าไปครั้งนี้ของเอแบคไม่ใช่แค่การทดลองทางเทคนิค แต่เป็นการไปโปรโมตหลักสูตรเรียนทางไกล หรือ E-leaning ของมหาวิทยาลัยไปสู่กลุ่มเป้าหมายทั่วโลก ซึ่งเดิมทางเอแบคก็มีฐานลูกค้าเป็นนักศึกษาจากทั่วโลกอยู่ไม่น้อย โดยปริญญาโทและเอกใน elearning.au.edu มีนักศึกษาเรียนทางไกลชาวต่างชาติอยู่ถึงราวเกือบครึ่งของผู้เรียนทั้งหมด 330 ราย
ฉะนั้นตัวเลข 8 ล้านคนทั่วโลกใน Second Life จึงดึงดูดใจเอแบคให้เข้าไปร่วมขบวนกับหลายมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วโลกที่เข้าไปเปิด Campus ก่อนนี้แล้ว
เอแบคลงทุนซื้อเกาะ และใช้ชื่อว่า Charming Island (“charm” มาจาก “จามรมาน” นามสกุลของ ดร.ศรีศักดิ์) มาด้วยราคา 1 แสนบาทไทย สำหรับเนื้อที่ 40 ไร่ และค่าดูแลอีกปีละราว 5 หมื่นบาท
“ที่ต้องซื้อทั้งเกาะ เพราะจะได้ดัดแปลงได้มาก” ดร.ศรีศักดิ์ขยายความคำว่า “ดัดแปลง” ว่าในโลก Second Life นั้นหมายถึงการสร้างอาคารทรงโรมันเหมือนที่เอแบคบางนา และห้องเรียนกับบรรยากาศในฉากเกมที่ต้องสวยงามพิถีพิถันไปถึงการตกแต่งภายใน
ทั้งหมดนี้สุดแต่จินตนาการ ความสามารถ และเงินที่จ่ายไป เพราะ 1 รูปลักษณ์ของสิ่งของต่างที่ถูกนำไปประดับประดา เช่นเก้าอี้ 1 ตัวจะต้องเสียค่าส่ง 10 Linden Dollar หรือราว 1.30 บาท ซึ่งเงินทั้งหมดจะต้องถูกแลกเป็นสกุลเงิน “Lindon Dollar” เงินตราแห่งโลก Second Life เสียก่อน (อัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ 266-277 L$ ต่อ 1 USD$) แต่หลังจากนั้นก็สามารถ Copy เก้าอี้ตัวนั้นออกมาเป็นร้อยพันตัวได้
หลังจากลงทุนซื้อเกาะไป ดร.ศรีศักดิ์และทีมงานก็ได้สร้างตึกเรียนที่โออ่าคลาสสิกตามแบบที่วิทยาเขตบางนา และยังมีบ้านพักหรูและห้องเรียนที่ถึงวันนี้ก็ยังตกแต่งอยู่ไม่สิ้นสุดจนกว่า ดร.ศรีศักดิ์จะพอใจในความละเอียดสวยงามเสียก่อน
นอกจากนั้นก็ต้องเตรียมการนำหลักสูตรไปสอนในโลก Second Life ให้น่าสนใจ อีกทั้งให้เหล่าอาจารย์ผู้สอนฝึกเข้าไปใช้งานให้ชำนาญพร้อมสอนและนำชั้นเรียนหลุดโลกแห่งนี้
ในวิทยาเขตโลกเสมือนนี้ นักศึกษาจะใช้เป็นที่เข้ามาดูและฟังเลกเชอร์ เรียนรู้ในแบบ Interactive พบปะสังสรรค์พูดคุยกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน หรือจะเหาะออกไปหาเกมเล่น ไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอบรมพนักงานทั่วโลกของ IBM หรือ General Motor หรือเดินเข้าชมอีเวนต์งานกิจกรรมทางการตลาดของสินค้าบริการแบรนด์ดังอื่นๆ เปิดโลกทัศน์
ส่วนบุคคลภายนอกจากทั่วโลกสามารถ “เหาะ” ลงไปนั่งเรียนและคุยกับชาวเอแบคที่เกาะ “Charming Island” การเปิดกว้างแบบนี้ช่วยโปรโมตมหาวิทยาลัยไปทั่วโลกด้วยด้วยในตัว
“สมัยทำ E -learning ใหม่ๆ ผมต้องใช้เวลา 3 ปีต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลรับรองวิทยฐานะ และให้คนไทยยอมรับปริญญาจากการเรียนออนไลน์จริงๆ และกับ Second Life ที่เป็นของใหม่นี่ก็เช่นกัน คงต้องหา Success Story ของผู้ที่เรียนจบแล้วประสบความสำเร็จ หรือหาคนดังๆ ที่น่าสนใจมาเรียน” ดร.ศรีศักดิ์เผยกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะบูมวิทยาเขต Second Life ในไทยให้ได้
“Success Story” แรงบันดาลใจของ ดร.ศรีศักดิ์ที่มีต่อ Second Life มาจากกรณีของหญิงชาวจีน Anshe Chung ที่ทำเงินล้านเหรียญสหรัฐแรกในชีวิตได้ในเวลาแค่ปี 2004 ถึง 2006 เพียงสองปี
รายได้จากการแบ่งตึกให้เช่า การขายตึกและที่ดินแบบได้กำไร จึงเป็นรายได้อีกส่วนที่ ดร.ศรีศักดิ์คาดหวังอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับตำนานความสำเร็จที่ Anshe Chung ทำได้มาแล้ว
เรื่องราวเร้าใจจากการเป็นคนแรกๆ ที่เข้าไปซื้อที่ดินในโลก Second Life มาพัฒนาเป็นตึกเป็น Complex แล้วขายกับให้เช่า โด่งดังจนเว็บไซต์ Second Life.com เอามาชูให้เด่น และเกิดเป็น anshechung.com มาสร้างกระแสได้ทั่วโลก
ตำนานความสำเร็จของ Anshe Chung เกิดขึ้นได้เพราะบริษัทดังๆ ระดับโลกอย่าง IBM จนถึงมหาวิทยาลัยอย่างเอแบคนั้นไม่ได้ไปเปิด “สาขาเสมือน” กันฟรีๆ แต่ต้องจ่ายเงินจริงๆ “ซื้อที่ดิน” จากบริษัท Linden Research Inc. เจ้าของระบบเกม Second Life หรือซื้อต่อจากผู้เล่นรายอื่นที่เข้าไปพัฒนาที่ไว้ก่อนแล้วนั่นเอง
สื่อใหม่ ! โฆษณาในเกม
Initiative Media บริษัทวางแผนสื่อชื่อดังในวงการโฆษณาของไทย ก็เป็นผู้ประกอบการอีกรายของไทย ที่ให้พนักงานหลายคนบ้างก็เดิน บ้างก็เหาะท่องไปในโลก Second Life ราวกับนั่งอยู่ในร้านเกม
วรรณี รัตนพล ประธานของ Initiative เล่าให้ POSITIONING ฟังว่า โลกใหม่อย่าง Second Life นั้น กำลังอยู่ในความสนใจของ Inititative ว่าอาจจะเป็นสื่อโฆษณาตัวใหม่ที่เอาไปเสนอขายให้ลูกค้าได้ไม่แพ้เว็บไซต์ในเร็วๆ นี้
“ย้อนกลับไปสมัยที่ประเทศไทยมีทีวีภาคกลางวันใหม่ๆ หรือต่อมาที่เริ่มมีเคเบิลทีวีช่วงแรกๆ จนถึงล่าสุดที่เว็บอย่าง Youtube ดังขึ้นมา เราก็ต้องมานั่งดู ต้องสำรวจว่ามันเป็นอย่างไร ความนิยมยอดคนดูถึงขั้นหรือยัง แล้วพอถึงจุดหนึ่งที่สื่อพวกนี้เป็นที่ยอมรับแพร่หลาย เราจึงจะนำไปเสนอขายให้ลูกค้า” วรรณีเล่าเปรียบเทียบ
“เราถึงต้องให้พนักงานด้าน Planner และ Buyer ของเรามานั่งเล่น Second Life จริงๆ พวกเขาจะได้เข้าใจและประเมินศักยภาพของมันถูก ซึ่งตอนนี้เราสนใจมาก แต่ติดอยู่จุดเดียวคือ คนจะเข้าไปเล่นแบบจริงจังได้ต้องเสียเงินค่าสมาชิก ซึ่งตรงนี้ก็ต้องดูต่อไปว่าในไทยจะฮิตได้อย่างที่อเมริกาหรือไม่?” วรรณีย้ำว่าแม้จะสนใจเพียงใด แต่ Initiative ก็ยังขออยู่ในสถานะ “ผู้สังเกตการณ์” บนโลก SL ใบนี้ต่อไปก่อน
นอกจากนี้สถานที่ที่มีคนเดินหรือ “เหาะ” ผ่านกันมากๆ นั้นก็มีศักยภาพในการไปแปะป้ายโฆษณาไม่แพ้ย่านการค้าบนโลกแห่งความจริง และในเมื่อเป็นป้ายโฆษณาดิจิตอล จะขยับวูบวาบแปลกประหลาดอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องยาก จะท้าทายก็แต่สมองและจินตนาการของครีเอทีฟเท่านั้น
ที่สำคัญป้ายในเกม Second Life นั้นน่าสนใจสำหรับสินค้าระดับ Global ยิ่งกว่า ในแง่ว่าคนที่เดินผ่านนั้น มาจากหลายชาติทั่วโลก นอกจากนี้ ในโลก Second Life นั้นมีอีเวนต์กิจกรรมทางการตลาดของหลายๆ แบรนด์สินค้าในสหรัฐฯ ไปจัดกันทั่วไป
รายย่อยก็รวยได้ !
สำหรับนักเล่นทั่วไปที่ไม่ได้เปิดร้าน การหาเงินโดยไม่ต้องโอนเงินจริงเข้าไปนั้น ก็ต้องทำงานรับจ้าง เช่นไป “เต้นอะโกโก้” กึ่งเปลือยโชว์ทุก 10 นาที ได้ 4 ลินเดนดอลลาร์ หรือไปสมัครเล่นเกมตอบคำถามในนั้นซึ่งถ้าตอบถูกก็ได้เงินไป แต่ตอบได้เพียงวันละ 2 คำถาม
หลายเกาะที่ต้องการจ้างคนไปแค่ยืนเช็ดถูพื้นอยู่กับที่ หรือแม้แต่นั่งเฉยๆ ผู้เล่นกดถูพื้นค้างไว้ข้ามวันข้ามคืนไม่ต้องเฝ้าหน้าจอก็ยังได้ค่าแรงจริง เพราะเจ้าของเกาะต้องการให้เกาะที่ตัวเองลงทุนซื้อนั้นมีตัวเลขประชากรมากๆ ช่วยให้ขายโฆษณาได้ ยิ่งถ้ามากติดอันดับต้นๆใน Second Life ก็จะยิ่งโดดเด่นดึงคนเข้าไปเพิ่มได้อีก
การหารายได้อีกทางคือการรับทำงานกับบริษัทใหญ่ที่มาเปิดบริษัทใน Second Life เช่น Paramouth Pictures เข้าไปโปรโมตหนังเรื่อง 300, Diehard 4.0 และ Transformer ก็ต้องการ “นักสร้าง” ไปช่วยงานจัดกิจกรรมใน Second Life เพื่อโปรโมตหนังและให้ค่าตอบแทนชั่วโมงละประมาณ 2,500บาท
ทั้งนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM, BMW, Benz และมหาวิทยาลัยอีกมากมายต่างก็จัดกิจกรรมทางการตลาดและโฆษณาทั้งสิ้น คนที่จะช่วยบริษัทเหล่านี้จัดงานได้ก็ต้องเป็นเหล่านักเล่น Second Life นี้เอง
แต่ก็เหมือนชีวิตจริง ที่แค่การรับจ้างไปวันๆ นั้นคงไม่มีทางรวย
ยังมีหนุ่มพ่อค้าบน Second Life ผู้ใช้ชื่ออวตาร์ว่า “Hydrogen Excelsior” ใน Second Life ซึ่งกำลังเรียนปีสุดท้ายอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (Communication Design) ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เผยว่าในนั้น เขาอยู่กลุ่ม Thai Society และกลุ่ม 6ixth Sense หารายได้ด้วยการเปิดร้านขาย “อวตาร์เท่ๆ” และอีกหลายอย่าง ณ ร้าน Sense บนเกาะ Sense มาเกือบปี ทุกวันนี้ขายได้มากขึ้นหลายเท่าตัว
“จากแรกๆ ที่ทำได้แค่เดือนละ 2-3 หมื่น แต่มันก็เติบโตเรื่อยๆ มูลค่าของรายได้ก็มากตามจำนวนสินค้าที่เราผลิตออกมาขาย” คนไทยเจ้าของร้าน Sense ยอมเผยตัวเลข
“มันได้ใช้ Skill จริงๆ คิดจริงๆ คุณเรียนอะไรมาก็ใช้ความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้กับชีวิตที่สองนี้ ดึงตัวเงินจากต่างชาติมาเข้าบ้านเรา คุณขายของคุณได้เงินเป็นสกุล L$ (Linden Dollar) แต่คุณสามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน L$ ไปเป็น US$ ได้เลยแบบถูกกฎหมาย ตอนนี้ต่างชาติเค้าเอาจริงเอาจังกับการแข่งขันทำธุรกิจใน Second Life มากๆ”
“สมมติเราสร้างของมาชิ้นหนึ่ง เอาเป็นรถนะ คุณออกแบบสร้าง 3D Object ขึ้นมา คุณก็สามารถก๊อบปี้ขายต่อได้ ไม่มีที่สิ้นสุด คือขาย Software จับต้องไม่ได้ ไม่มีตัวตน ไม่มีบุบสลาย ไม่ต้องมีค่าส่ง ไม่ต้องรับประกัน ขายแล้วขายอีกไปเรื่อยๆ ต้นทุนการผลิตไม่มี เพียงแค่ใช้เวลาสร้างมัน กับจ่ายค่าเน็ต ค่าไฟที่ใช้ในตอนผลิต จากนั้นก็ปล่อยให้มันเรียกเงินมาเข้ากระเป๋าคุณแบบไม่รู้จบ”
“แต่การกระทำทุกอย่างใน Second Life เรื่องจริงนะครับ ใช้เงินจริง การดีไซน์ก็ของจริง จากคนจริง มีลิขสิทธิ์จริงๆ ถ้าทำซ้ำหรือลอกเลียนแบบก็มีสิทธิเข้าคุกจริงๆ ได้เลย นี่ไม่ใช่เกมนะ มันคือสังคมเสมือนรูปแบบใหม่”
“คนไทยมีฝีมือครับ เพียงแต่ไม่ค่อยมีโอกาส ตอนนี้โอกาสมีแล้วนะครับ รีบกอบโกยเงินจากต่างชาติกันเถอะ มีคนไทยที่เพิ่งเข้ามาหัดเยอะครับ ผมกำลังพยามรวบรวมไว้บนเกาะของผมอยู่ จะเปิดหมู่บ้านคนไทยบนนี้เลย”
“แต่ก่อนผมเล่นแต่เกมออนไลน์ ติดเกมมากๆ ชีวิตติดอยู่กับการอัพเลเวล ตีมอนสเตอร์ แต่หลังจากชะตาชีวิตพลิกให้ได้มาพบกับ Second Life ก็ไม่เคยแตะเกมออนไลน์อีกเลย” แหล่งข่าวเจ้าของร้าน Sense สรุป
ธุรกิจไทยรายย่อยอีกกลุ่มที่บุกเบิกเข้าไปเล่นกับโลก Second Life ก็คือเหล่า Graphic House ที่ไปรับตกแต่งสำนักงานเสมือน ร้านค้าเสมือน กันหลายรายแล้ว และบางบริษัทก็เป็นบริษัทรับตกแต่งภายในหรือ Interior Design ในโลกแห่งความเป็นจริงอยู่แล้ว แต่ยังแตกไลน์ไปลองขุดทองกับ Second Life ซึ่งผลพลอยได้ก็คือการโปรโมตธุรกิจในโลกจริงของตัวเองไปด้วยในตัว
“รับตกแต่งตึก ห้อง สวน รถ และสร้างสิ่งต่างๆ ใน Second Life ของท่าน ด้วยทีมงานที่เชี่ยวชาญ ติดต่อเรา โทร … www….” เป็นป้ายภาษาไทยที่นักเล่น Second Life หยิบยกมาคุยถึงกันในเว็บบอร์ด pantip.com อย่างฮือฮา
ย้อนไปช่วงแรกๆ ที่ Anshe Chung เข้าทำมาหากินใน Second Life เธอก็เริ่มด้วยการรับออกแบบตกแต่งสิ่งต่างๆ ในโลกเสมือนนี้เช่นกัน และรายได้ทุกเม็ดในนั้นเธอก็นำไปซื้อที่ดินเกาะแก่งต่างๆเก็บไว้จนมีทุกวันนี้ ซึ่งหากนักขุดทองรายย่อยชาวไทยจะหวังเดินตามรอยเธอบ้างก็ไม่ผิดกติกา
จาก E-learning, การค้าขายให้เช่าที่ดิน, ความเป็นสื่อโฆษณา และโอกาสการค้าใหม่ๆ ของรายย่อย เหล่า “นักขุดทองไซเบอร์” ต่างเข้าไปสำรวจบุกเบิกใน Second Life หวังจะร่ำรวยใน “Real Life” ซึ่งคำตอบจะเป็นอย่างไรคงต้องจับตากันแบบ Real Time
Linden Lab “ผู้สร้างโลก”
แม้ “Linden Lab” บริษัทในซานฟรานซิสโก ที่มีพนักงาน 110 คน เป็นผู้ริเริ่มสร้างเกม Second Life แต่ดินแดนนี้ที่มีร้านค้า ชายหาด สนามกอล์ฟ บาร์ ตึกสูง เมืองโบราณในประวัติศาสตร์ ล้วนมาจากการสร้างสรรค์ขึ้นเองของผู้ใช้ทั้งสิ้น
ย้อนไปเมื่อ Second Life เปิดตัวในปี 2003 ข้างในยังไม่มีสถานที่ให้ไป ไม่มีคน ผู้เกี่ยวข้องต่างพยายามเสนอให้สร้างเกมขึ้นเพื่อโชว์ศักยภาพ Second Life ว่าทำอะไรได้บ้าง แต่ Philip Rosedale ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Linden Lab ซึ่งขณะนี้อายุ 38 ปี ก็ยังเชื่อมั่นในการปล่อยให้ผู้ใช้มาสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นเองจะดีที่สุดและประหยัดที่สุดด้วย
ระยะแรกผู้สนับสนุนเงินทุนให้แก่บริษัท Linden ก็เช่น Mitch Kapor ผู้คิดค้น Lotus 1-2-3, Jeff Bezos CEO และผู้ก่อตั้ง Amazon และ Pierre Omidyar ผู้ก่อตั้ง eBay ซึ่งใน 5 เดือนแรกที่ Second Life ทำท่าเหมือนจะไปไม่รอด มีคนแวะเข้าไปเพียงราว 1,000 คน และเงินทุนก็ร่อยหรอลงจน Kapor คิดจะถอนตัว แต่ด้วยความประทับใจในเมือง ป่า เกม คลับ และร่างสมมติที่หลากหลาย ทำให้ Kapor กลับเปลี่ยนใจลงทุนเพิ่มเป็นตัวเลข 7 หลักใน Linden ต่อไป
ด้วยนโยบายเน้นให้ผู้เล่นได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้เป็นผู้ประกอบการ ได้มีสิทธิ์เป็นเจ้าของContent และการออกแบบที่พวกเขาสร้างขึ้นใน Second Life ได้ จึงกระตุ้นให้บรรดาผู้เล่นมีแรงขับดันจะสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ขึ้นอย่างรวดเร็ว
เงิน Linden Dollar ในเกมก็ยังแลกเป็นเงินจริงได้ ผู้อาศัยใน Second Life จึงสามารถสร้าง เป็นเจ้าของ หรือขายอะไรๆ ในโลกดิจิตอลได้ ทำให้ Second Life กลายเป็นเศรษฐกิจจริงขึ้นมา
จากนั้น Linden ก็เน้นสร้างรายได้จากการขายที่ดินใน Second Life โดยขายเกาะส่วนตัวไปแล้ว 3,500 เกาะ ผู้ซื้อที่ดินใน Second Life ยังสามารถแบ่งขายหรือแบ่งเช่าที่ดินของตนใน Second Life เพื่อหากำไรได้ด้วย ซึ่งหนึ่งในเจ้าของที่ดินรายใหญ่สุดในโลกสมมติออนไลน์แห่งนี้ ก็คือ IBM ซึ่งเป็นเจ้าของเกาะทั้งหมด 24 แห่ง
โลก Second Life มีพื้นที่ 150 ตารางไมล์ แต่ขยายได้เรื่อยๆ ตามประชากร โดยข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บในเครื่องเซิร์ฟเวอร์ 1,750 เครื่อง บนออฟฟิศของ Linden และนับตั้งแต่ Linden ปรับโมเดลธุรกิจใหม่โดยเน้นที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ทำให้ผู้ใช้และรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ทุกเดือน และมี GDP ถึงประมาณ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี
ปัจจุบันในโลก Second Life มีประชากรทั้งหมดราว 9 ล้านคน มีคนที่เข้าไปเล่นภายใน 60 วันหลังสุดราว 1.65 ล้านคน มีคนที่เล่นอยู่ ณ ขณะหนึ่งๆ ราว 26,000 คน และมียอดเงินที่หมุนเวียนใน 24 ชั่วโมงล่าสุดราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะนี้มีบริษัท 65 แห่งใน Second Life ที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าในโลกจริง เช่น IBM, Nike, Sony BMG, Toyota, Sun และบริษัทอื่นอีกหลายแห่งต่างก็มีธุรกิจอยู่ใน Second Life เช่น IBM สร้างร้านแสดงสินค้าและศูนย์ฝึกอบรมพนักงานทั่วโลกไว้ พนักงานของ IBM มากกว่า 3,000 คน ต่างก็มีร่างสมมติของตัวเองอยู่ใน Second Life และพนักงาน IBM 300 คนทำงานประจำวันอยู่ใน Second Life
ส่วนเครื่องครัว Sears ก็เปิดหน้าร้านช่วยให้ลูกค้าสร้างครัวจำลองแบบเหมือนของจริงได้ ซึ่งนอกจากจะใช้แต่งบ้านใน Second Life แล้ว ยังทำให้ลูกค้าเห็นภาพของครัวที่ต้องการได้ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าจริง
ธนาคารจากเนเธอร์แลนด์ ABN Amro ก็เพิ่งเปิดสำนักงานใน Second Life เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการของธนาคารในโลกจริง รวมทั้งเปิดรับสมัครงานในโลกสมมติ แต่รับเข้าทำงานจริงๆ ด้วย
บริษัทใหญ่ๆ เช่น IBM มองว่า Second Life นั้นไม่ใช่แค่เกม แต่สามารถเป็นได้ถึง Internet ยุคใหม่ เป็นอินเทอร์เน็ต 3 มิติ สร้างมาตรฐานใหม่ที่ดึงดูดใจกว่าอินเทอร์เน็ตแบบเดิมๆ และมีความเป็นชุมชนมากกว่า และมากกว่านั้นคือเป็น “โลกแห่งที่สอง” ที่ทำธุรกิจได้สารพัดอย่างแทบไม่ต่างกับในโลกจริง
Linden หวังจะเป็นผู้ควบคุมมาตรฐานของโลกเสมือนจริงทั้งหลาย เหมือนกับมาตรฐาน HTTP และ HTML และ Linden จะสามารถครองตำแหน่งผู้ให้บริการที่ขาดไม่ได้ของโลกเสมือนจริง โลกเสมือนจริงรายอื่นๆ จะต้องมาเชื่อมต่อและทำธุรกิจร่วมกับ Second Life ซึ่งจะทำให้ Linden เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้นานในฐานะเจ้าของโลกเสมือนจริงรายใหญ่ที่สุด
Anshe Chung เศรษฐีโลก VR คนแรกของโลก
Anshe Chung หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Ailin Graef เป็นคนธรรมดาๆ ที่เริ่มเข้าสู่ Second Life ในเดือนมิถุนายน 2004 จากนั้นเริ่มทำธุรกิจในนั้นด้วยการขายและรับจ้างสร้างตัวอวาตาร์หรือแอนิเมชั่นตามสั่ง แล้วนำรายได้ทั้งหมดทยอยซื้อที่ดินใน Second Life มาพัฒนาทั้งสร้างตึกขาย ให้เช่าจัดงาน การเรียนการสอน และบริการอื่นๆ จนก่อตั้งเป็นบริษัท Dreamland ในโลกแห่งความจริง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่บริษัท Linden เจ้าของ Second Life นำไปพูดถึงอยู่เสมอ
พฤศจิกายน 2006 เธอประกาศตนว่าเป็นมนุษย์โลกเสมือน (Online Personality) คนแรกในโลกที่ทำเงินจากโลกเสมือนล้วนๆ ได้ถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เธอโด่งดังจนได้ขึ้นปก Business Week และ Fortune และในเดือนพฤษภาคม 2007 เธอเข้าซื้อธุรกิจบริการธนาคารออนไลน์พร้อมใบอนุญาต “Virtual Banking Licenses” จากบริษัท Entropia Universe
ปัจจุบันบริษัทของ Chung มีพนักงานถึง 60 คน ทั้งโปรแกรมเมอร์และนักออกแบบ
อยากเล่นบ้าง ทำอย่างไร ?
หลังจากลองศึกษาคร่าวๆ ใน www.thaisecondlife.net แล้ว ก็เข้าไปสมัครที่ www.secondlife.com/joinเพื่อดาวน์โหลดตัวโปรแกรมเกมมาลงที่เครื่อง จากนั้นก็ Login เข้าสู่เกม ซึ่งหากเข้าผ่าน thaisecondlife.net thaisecondlife.net ขณะนี้มีโปรโมชั่นให้ลองเล่นฟรีได้ (สมาชิกเต็มขั้น Premium เสีย 9.95 US$ ต่อเดือน)
เมื่อเริ่มเล่น เราจะถูกส่งไป “เรียน” การมีชีวิตอยู่ในนี้ ณ เกาะ Oriental Island โดยจะต้องสอบผ่าน 4 อย่างเหมือนเด็กเกิดใหม่ที่ต้องหัดพูดหัดเดินและใช้ชีวิตในสังคมนี้
คอร์สติวเป็นภาษาอังกฤษ 4 อย่างนี้ได้แก่การเคลื่อนที่ (เดิน วิ่ง ขับรถ และเหาะ) การค้นหา (สถานที่หรือบุคคล) การสื่อสาร (การพูดคุยไม่ว่าภาษาอังกฤษหรือไทย และแสดงท่าทาง) และการปรับแต่งร่างกาย (รูปร่าง เสื้อผ้า และการซื้อขาย) เมื่อผ่านหมดเราจึงจะสามารถเดินทางไกล (Teleport) ไปยังเกาะ Help Island และ Home Area และที่อื่นๆ ได้ตามใจภายหลัง
ผ่านทักษะพื้นฐานไปแล้ว ทักษะอื่นๆ ผู้เล่นจะต้องเรียนรู้เอง เช่นการหาเงิน การหาและสะสมของฟรี การทำงานเช่นเต้นแลกเงินค่าจ้าง การสร้างวัตถุต่างๆ แบบสามมิติ การส่งรูปภาพการออกแบบขึ้นไปใช้ในนั้น ไปจนถึงการซื้อที่ดินและบ้าน
Web Link
secondlife.comครบถ้วนทุกคำแนะนำและภาพตัวอย่าง
thaisecondlife.netเว็บเพื่อคนไทยที่เล่นหรือสนใจ Second Life
forums.thaisecondlife.net/index.php?topic=18ขั้นตอนการสมัคร Second Life โดยละเอียดเป็นภาษาไทย