ถอดรหัสบริหารคนแบบ “โชค บูลกุล” สร้างเกษตรกรให้เป็น โมเดลลิ่ง เอเยนซี่

โชคชัยฟาร์ม เมื่อ 10 กว่าปีก่อนกับตอนนี้ นอกจากจะผิดกันด้วยจำนวนผู้คนที่คลาคล่ำอยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด วัว ม้า และสัตว์ทุกตัวในฟาร์มก็ดูคึกคักตามไปด้วย รวมถึงต้นไม้ในพื้นที่ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมให้ชาวเมืองได้แวะเข้าไปฟอกปอดกันได้เต็มที่

10 ปีที่แล้ว โชคพาลูกน้องนับ 100 คน ไปช่วยกันปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนงงว่า จะปลูกไปทำไม เพราะคนกลุ่มนี้เป็นเกษตรกรที่คุ้นเคยกับต้นไม้อยู่แล้ว

10 ปีผ่านไป โชคพาพวกกลับไปดูต้นไม้ที่ปลูกไว้อีกครั้ง พร้อมกับให้ข้อมูลกับพวกเขาว่า ต้นไม้ 1 ต้น ให้ออกซิเจนนับร้อยลูกบาศก์ลิตร เพื่อบอกให้รู้ว่า สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่แค่ได้ประโยชน์ในพื้นที่ฟาร์ม แต่พวกเขายังทำประโยชน์ให้กับสังคมอีกด้วย เรื่องแบบนี้ยิ่งเห็นได้ชัดในภาวะโลกร้อนเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้

วิธีที่โชคเลือกใช้ เป็นหนึ่งในปรัชญาการบริหารฟาร์มโชคชัย ในเรื่องการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง รวมทั้งเป็นการสื่อสารด้วยเทคนิคง่ายๆ จากการปฏิบัติจริง เพียงแค่ต้องอาศัยระยะเวลาเข้าช่วย

เรื่องง่ายๆ แบบนี้ ต้องยกให้กับความช่างคิดของผู้นำอย่าง โชค บูลกุล ประธานกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย

ยังมีเรื่องเล็กๆ อีกหลายเรื่องในฟาร์มแห่งนี้อีกมาก ที่ทำให้ฟาร์มที่เคยเกือบจะเอาตัวไม่รอดในยุควิกฤตปี 2540 กลับมาตั้งตัวได้อีกครั้ง ซึ่งทุกเรื่องราวล้วนเกิดขึ้นจากการหล่อหลอมวัฒนธรรมของคนในองค์กร ให้มีความร่วมมือร่วมใจ เกิดความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ และพร้อมที่จะทุ่มเทให้กับฟาร์ม ด้วยการเห็นคุณค่าของงาน ที่ให้ผลตอบแทนกว้างเกินขอบรั้วของฟาร์ม

ทำเกษตรก็ต้องมีวิชาแมวมอง

ภาพของวิถีเกษตรของฟาร์มโชคชัย เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้ว่า ไม่ใช่ภาพที่เห็นได้จากชีวิตเกษตรกรทั่วไปหรืออาจจะลืมไปชั่วขณะ

“ความแตกต่าง” ของที่นี่จึงเป็น “จุดขาย” ที่ทำให้ฟาร์มโชคชัยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสุดฮิต เช็กได้จากปริมาณรถยนต์ที่จอดหนาตาบริเวณด้านหน้าฟาร์มทุกสุดสัปดาห์

เหตุจูงใจที่ทำให้ทุกคนแวะมาที่นี่ คือเหตุผลเดียว บรรยากาศดี สิ่งแวดล้อมสวยงาม ม้าน่าขี่ วัวนมน่ารีด แม้กระทั่งฟอนหญ้าและคอกวัวก็ยังดูสวยกลมกลืนกับพื้นหญ้าเขียว

“ทุกคนที่ไปเที่ยวฟาร์มโชคชัย มีคนที่เป็นเกษตรกรเพียง 0.09% ส่วนใหญ่เป็นคนทั่วไป เราต้องเข้าใจว่าคนทั่วไปมีประสบการณ์กับวัวกันสักเท่าไร ภาพที่เขาเห็นวัวนมในทีวี มีแต่วัวสวย สะอาด แต่โลกของฟาร์มเกษตรจริงๆ ไม่ใช่แบบนั่น” มุมมองของโชคที่ตีโจทย์ทางการตลาดได้ละเอียดทั้งมุมของลูกค้าและเกษตรกร

เขาต้องสื่อสารความคิดของนักท่องเที่ยว เรียงลำดับภาพให้ลูกน้องเข้าใจ โดยอาศัยทักษะของอาชีพครู ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นผู้นำองค์กร

“ถ้าเรารู้ว่าลูกค้ามีภาพอะไรในใจเราต้องสนองตอบให้ได้ ต้องปรุงแต่ง เกษตรกรจึงต้องเป็น Modeling Agency ด้วย” ความหมายของโชคคือการสอนให้คนเลี้ยงวัว รู้จักคัดสรรวัวนมหุ่นสวย ระดับนางเอกในคอก รักษาความสะอาด มาเป็นตัวโชว์ให้กับนักท่องเที่ยวนั่นเอง

ไม่ใช่แค่วัว ม้า และสัตว์ในฟาร์ม แม้แต่พนักงานทุกคน โชคก็ทำตัวเป็นเจ้าของโมเดลลิ่งที่ดีในการดูแลคนในสังกัด ดูแลรายละเอียดแม้กระทั่งจัดให้มีการอบรมการแต่งหน้า ให้กับพนักงานสาวๆ หรือหากิจกรรมที่จะช่วยให้การทำงานของพนักงานดีขึ้นในด้านอื่นๆ

“เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราจัดให้พนักงาน เพื่อที่ทำให้ทุกคนรู้สึกอยากสวย พัฒนาตัวเองให้สวยได้ ก็จะทำให้เขาเกิดกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาทำงาน”

การพัฒนารายละเอียดในเรื่องเล็กๆ หลายๆ เรื่อง เมื่อรวมกันจะสะท้อนเป็นภาพใหญ่ เหมือนกับปรัชญาหนึ่งของการทำธุรกิจของฟาร์ม ที่บอกว่าให้ชนะในเรื่องเล็กๆ แต่ชนะบ่อยๆ

คนและองค์กรคือส่วนหนึ่งของกันและกัน

โชคเล่าว่า ธุรกิจเกษตรสำหรับคนไทย มักจะถูกมองว่าเชย ไม่ได้เป็นธุรกิจในใจคน ว่าไปแล้วฟาร์มโชคชัยก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในฐานะผู้ทำธุรกิจเกษตรล้วนๆ แต่ความสำเร็จส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้คนให้การยอมรับในเรื่องของความรู้ (Knowledge) ต่างๆ ที่นำมาใช้พัฒนาฟาร์ม จนกลายเป็น “แหล่งท่องเที่ยว” ซึ่งเป็นมูลค่าธุรกิจของฟาร์มโชคชัย

การแปลงสัญญาณยังเป็นปรัชญาหนึ่งของการทำธุรกิจของฟาร์มโชคชัย ขณะที่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม คือโพสิชันนิ่งของฟาร์ม

“องค์กรผมเป็นองค์กรที่พูดง่ายๆ ว่า ต้องทำให้พนักงานเห็นภาพ ไม่อย่างนั้นเขาจะเกิดความสับสน เราทุกคนยอมรับว่าเกษตรที่สร้างความร่ำรวยจากการรีดนมวัวอย่างเดียว จะต้องเป็นคนที่รีดนมได้เกณฑ์ที่สูงมาก แต่จะให้เขารีดได้สูงพอที่จะจูงใจให้คนเข้ามาดูเพื่อเปิดเป็นการท่องเที่ยว จะต้องสื่อสารให้คนในองค์กรเห็นความสำคัญ”

ตัวอย่างก็คือ หากคิดว่าทำไมคนทำธุรกิจบริการ จะต้องแบ่งกำไรให้กับคนรีดนมวัว โดยคิดว่าผลประโยชน์ควรจะเป็นของตัว เป็นการคิดผิด เพราะทุกอย่างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไปหมด จะต้องทำให้คนรีดนมวัวเข้าใจว่าเขาจะเป็นส่วนหนึ่งธุรกิจได้อย่างไร มีคุณค่าแค่ไหน เพราะหากขาดคนดูแลและรีดนมวัวที่ดี ก็ไม่สร้างฟาร์มที่มีประสิทธิภาพพอที่จะดึงคนเข้ามาได้ การท่องเที่ยวก็ไม่เกิด

ดังนั้น นอกจากจะพาองค์กรเดินไปตามเป้าหมาย ในฐานะผู้นำต้องรู้จักมองจากมุมของพนักงานเข้ามาหาตัวเองด้วย

“อย่ามองจากเราแล้วไปที่เขา จะอย่างไรก็ตามต้องมองจากทีมงานขึ้นมา”

มองลูกน้องให้ออกเพื่อเข้าใจ อีกด้านหนึ่งก็ต้องทำหน้าที่ผู้นำ ในการสร้างแรงบันดาลใจ เพราะถ้าไม่มีแรงบันดาลใจจะไม่สามารถจูงใจให้คนมาทำงานด้วยเพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายเดียวกันที่วางไว้ได้

ที่ฟาร์มโชคชัย ซีอีโออย่างโชค จึงเลือกที่จะแสดงความเป็นมิตร สนุกสนาน ซึ่งนอกจากทำให้เข้ากับบรรยากาศของฟาร์มที่ดูสบายๆ แล้ว ยังทำให้ลูกน้องและลูกค้าเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับองค์กรได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

การเชื่อมโยงระหว่างซีอีโอและพนักงาน เป็นกลยุทธ์ของการสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ และการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน หลายครั้งที่โชคไปบรรยายที่ไหน จะมีผู้คอยบันทึกเรื่องราวที่เขานำเรื่องในฟาร์มมาสื่อสารกับโลกภายนอก เพื่อนำกลับไปเล่าผ่านข่าวภายในองค์กรให้พนักงานได้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวเสมอ

นอกจากให้พนักงานรู้ว่าองค์กรของพวกเขาได้ออกสู่สาธารณชนแล้ว เทคนิคการเล่าเรื่องของโชค จะไม่เล่าเรื่องเฉพาะความสำเร็จของตัวเองแบบที่เขาเห็นว่าเจ้านายส่วนใหญ่ชอบทำ แต่ทุกความสำเร็จที่อ้างถึงจะต้องมีลูกน้องเป็นส่วนหนึ่งในภาพความสำเร็จนั้นด้วยเสมอ เพื่อเป็นการบอกให้รู้ว่าไม่ว่านายหรือลูกน้องต่างอยู่ในเรื่องราวเดียวกัน

เมื่อผู้นำให้ใจขนาดนี้ พนักงานในองค์กรย่อมพร้อมที่จะเทใจให้งานเต็มที่ ไม่ต่างกับความทุ่มเทดูแลธุรกิจที่เหมือนเป็นธุรกิจของพวกเขาเอง

10 กลยุทธ์สร้างคน
1. เป็นผู้นำที่ใช้คุณสมบัติพิเศษเฉพาะคนสร้างการเปลี่ยนแปลง
2. เป็นผู้นำที่พร้อมยอมรับการตัดสินใจของคนหมู่มาก
3. เป็นผู้นำที่ลูกน้องรัก เคารพ และเชื่อ
4. เชื่อมั่นในความผูกพันระหว่างผู้นำและทีม
5. พร้อมที่จะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
6. ภูมิใจในความสำเร็จ
7. ภูมิใจในความเป็นเจ้าของ
8. รู้จักมองต่างมุม
9. มีการเรียนรู้และประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
10. มีจิตสำนึกของความเป็นครู

10 ปรัชญาในการทำธุรกิจ
1.“All or Nothing” เป็นบุคลิกและทิศทางการดำเนินธุรกิจของซีอีโอ
2. มีการจัดวางธุรกิจและการบริหารความเสี่ยง
3. มี “ศรัทธา” ในงานและกับทีมงาน
4. ให้ความสำคัญการสื่อสารและแปลงสัญญาณเพื่อถ่ายทอดสู่ทีมงาน
5. เคลื่อนไหวเร็วเต็มไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนแปลง
6. เรียนรู้จากข้อผิดพลาดและกล้ายอมรับผิดด้วยความมั่นใจ
7. กระตุ้นและสร้างสรรค์เสมอ คิดเหมือนเด็กแต่ปฏิบัติการอย่างมืออาชีพ
8. คาดหวังในสิ่งที่ดีกว่า
9. ชนะในเรื่องเล็กๆ แต่ชนะบ่อยๆ
10. ภูมิใจกับความสำเร็จ

10 แนวทางในการทำตลาด
1.เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม
2.สร้างสรรค์การทำงานร่วมกัน
3.เป็นผู้สร้างตลาดและมูลค่าการตลาด
4.ให้ความรู้กับตลาด
5.ใช้แนวคิดลิมิเต็ดอิดิชั่น
6.ใช้จุดแข็งเป็นตัวขับเคลื่อน
7.เรียนรู้จากประสบการณ์
8.High barrier of entry
9.มีเป้าหมายและภาพที่ชัดเจน
10.มีซีอีโอเป็นทูตของแบรนด์

อาณาจักรฟาร์มโชคชัย

ปัจจุบันมีบริษัทในเครือ 6 บริษัท พนักงาน 1,200 คน กระจายใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจร้านอาหาร

ตัวอย่างจากฟาร์มโชคชัย
-เอกสารจากฟาร์มโชคชัยจะพิมพ์ 2 หน้าทุกแผ่น
-รูปแบบอักษรที่ใช้พิมพ์ จะเลือกใช้รูปแบบที่เหมือนตัวเขียนเพื่อสร้างความแตกต่างจากเอกสารทั่วไป
-ในเอกสารมักจะปรากฏรูปกิจกรรมของโชคประกอบด้วยเสมอ ตามกลยุทธ์การตลาดที่ใช้ซีอีโอเป็นทูตของแบรนด์