Live Billboard แบรนดิ้งทรู

“ไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจขายกาแฟ ไม่ได้ตั้งใจขายสินค้าไอที แต่อยากแบรนดิ้ง ทรู”

นี่คือแผนที่ “ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น บอกถึงสาเหตุที่มาปักหลักมาเปิด “ทรูไลฟ์ ช้อป” ที่สยามสแควร์ ซอย 3 เป็นสาขาแรก ตั้งแต่ปีที่แล้ว และที่ต้องเป็นสยามสแควร์ เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะวัยรุ่น เมื่อทรูฯ เข้าสู่ธุรกิจบริการเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแล้ว ที่นี่จึงเหมาะสมที่สุด

“แทนที่จะซื้อบิลบอร์ด โฆษณาแบรนด์ของทรู เรามาเช่าพื้นที่เปิดร้านกาแฟและอินเทอร์เน็ตอย่างนี้คุ้มค่ากว่า”

กรณีของทรูฯ จึงตอกย้ำให้เห็นว่านี่คือพลังของสยามสแควร์ ที่สามารถดึงดูดให้บริษัทยักษ์ใหญ่ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แห่งนี้ แต่การเข้าถึงคนแบบสยามสแควร์ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นแบรนด์ใหญ่ มีเงินทุ่มก็จะได้ใจของคนกลุ่มนี้ เพราะมีโจทย์หลายข้อที่ท้าทายให้เพื่อให้บรรลุผล

ความเป็น “สยามสแควร์” ที่ทรูฯ มองว่าเอื้อต่อการแบรนดิ้งนั้น “กิตติณัฐ ทีคะวรรณ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัททรูไลฟ์สไตล์ รีเทล บอกว่าเพราะเป็นแหล่งที่มีวัยรุ่นจำนวนมาก สอดคล้องกับ Positioning ของสินค้าเครือทรูเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ เพราะกลุ่มวัยรุ่นให้เวลาเรียนรู้กับไลฟ์สไตล์ค่อนข้างมากและเหตุผลที่สยามสแควร์อยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของคนกรุงเทพฯ และมีคนจำนวนมากมาเพื่อ Update Trend ใหม่ ๆ หลายคนมาที่นี่ไม่ใช่เพียงเพราะต้องการช้อปปิ้ง เรียนหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องการมาดูเทรนด์ใหม่ๆ ด้วย

การตัดสินใจของทรูฯ ในการเปิดเป็นร้านกาแฟ เพราะมองว่าเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม หรือการรับประทาน คือไลฟ์สไตล์ที่เข้าถึงทุกกลุ่มมากที่สุด โดยเฉพาะเทรนด์การดื่มกาแฟที่มาแรง เพื่อให้ทรูไลฟ์ ช้อป เป็น Touch Point กับทรูฯ มากที่สุด

สิ่งที่ให้บริการในร้านนอกจากกาแฟแล้วที่สำคัญคืออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นบริการที่สำคัญของทรู และสอดคล้องกับวัยรุ่นที่ชอบใช้อินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากบริการอื่นๆ อย่างการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ การจ่ายค่าบริการ การซื้อโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือว่าเป็นจุดบริการที่ลูกค้ามาเพราะจำเป็นต้องมา

อย่างไรก็ตาม การบริการสำหรับกลุ่มลูกค้าที่สยามไม่ใช่ง่ายนัก เพราะต้องคิดให้ทันกับเทรนด์ของวัยรุ่น เพราะกลุ่มนี้มีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จากจุดนี้ทำให้ทรูฯ ต้องคิดให้เด็กมาร้าน เพราะไม่ใช่เพียงแค่จ่ายค่าบริการ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์มือถือแล้วมา แต่ต้องการให้เกิดความรู้สึกบวก เป็น Soft site เช่น มานั่งคุยกับเพื่อน เล่นเน็ตไวไฟได้ มาโหลดเพลงก็ได้ หรืออย่างล่าสุดที่ทรูไลฟ์ ช้อป ต้องปรับให้ทันเทรนด์เอ็มพี 3-4 ที่มาแรงจึงเปิดเป็นพื้นที่ของร้าน iBeat สำหรับสาวก iPod โดยเฉพาะ

แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะพื้นที่ในสยามสแควร์ ส่วนใหญ่ เป็นโรงเรียนกวดวิชาเกี่ยวกับการศึกษาบนชั้น 2 ของร้านจึงทำเป็นห้องประชุมเพื่อเด็ก นักศึกษามาประชุมฝึกซ้อมการพรีเซนต์งาน และชั้น 4 ทำเป็นห้องเรียนที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเอแบค และมหาวิทยาลัยชิงหัว สอนภาษาจีน เพื่อดึงให้เด็กเข้ามาในร้านมากขึ้น รวมถึงโครงการห้องสมุดดิจิตอลที่ให้ลูกค้าที่มาใช้อินเทอร์เน็ตที่ทรูไลฟ์ ช้อปสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายห้องสมุดของเอแบคได้

ประมาณ 1 ปีที่ร้านทรูไลฟ์ ช้อป สยาม ซอย 3 กลายเป็นแหล่งที่วัยรุ่นกลุ่มนี้เดินเข้าออก เป็น Live-Billboard ที่มีการปรับปรุงและมีชีวิตชีวา ด้วยบริการใหม่ๆ ตลอดเวลาส่งผลต่อแบรนด์ของทรูฯ อย่างได้ผล ซึ่ง “กิตติณัฐ” บอกว่าปัจจุบันในวันธรรมดามีลูกค้าประมาณ 1,000 คนต่อวัน เสาร์-อาทิตย์ประมาณ 1,500 คน เข้ามาเล่นอินเทอร์เน็ต ดื่มกาแฟ และสั่งอาหาร เฉลี่ยคนละประมาณ 100-200 บาท ส่วนที่มาเล่นอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยคนละ 1-1.5 ชั่วโมง โดยมีไวไฟให้ต่อเชื่อมทั่วร้าน และขณะนี้คอมพิวเตอร์ให้บริการประมาณ 50 เครื่อง จากช่วงแรกที่เปิดบริการมีเพียง 25 เครื่องเท่านั้น

ความสำเร็จของการสร้างแบรนด์ทรูฯ อาจยังวัดเป็นตัวเลขได้ยาก แต่หากวัดผลจากทรูไลฟ์ ช้อปที่สยาม ที่ยังมีแผนขยายอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นสัญญาณให้เห็นว่า ทรูฯ กำลังมาอยู่ในถูกที่ถูกทางและถูกเวลากับสยามสแควร์

แบรนด์ : ทรูไลฟ์ ช้อป
เจ้าของ : ทรู คอร์ปอเรชั่น
สถานที่ : สยามสแควร์ ซอย 3
เริ่มตั้ง : ปี 2549
สินค้า บริการ : กาแฟ+อาหาร+อินเทอร์เน็ต+Gadget+โรงเรียนสอนภาษาจีน
กลุ่มเป้าหมาย : นักเรียน นักศึกษา 50% คนทำงาน และนักท่องเที่ยวรวมอีก 50%
จำนวนลูกค้า : จันทร์-ศุกร์ 1,000 คน เสาร์-อาทิตย์ 1,500 คน เฉลี่ยจ่ายคนละ 100-200 บาท
เป้าหมาย : แบรนดิ้ง “ทรู” ผ่านกลยุทธ์ความเป็น Live Billboard