โลกกำลังเทน้ำหนัก ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตชนิดพุ่งพรวดทุกปี จนธุรกิจเกือบทุกประเภทกำลังพาเหรดเข้าไปลงทุน อย่างที่อินเทรนด์คือถ้าไม่ไปจีนก็ต้องไปอินเดีย
แม้อินเดียจะตามหลังอยู่ หากวัดตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะจีนมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกสินค้าในตลาดโลกถึง 8% ขณะที่อินเดียยังไม่ถึง 1% แต่อินเดียกำลังจะได้ Positioning ความเป็น “Made in India” แทนที่จีนที่ส่ง Made in China” ภายใน 5 ปีนับจากนี้
รอย เลนเดอร์ส รองประธาน บริษัท เคปมินิ คอนซัลแตนส์ เซอร์วิส ระบุว่า ปัจจุบันจีนมีนักลงทุนไปตั้งโรงงานมากที่สุด ส่วนอินเดียถูกเลือกในอุตสาหกรรมไอที การเงิน และศูนย์บริการเป็นส่วนใหญ่ แต่จากผลสำรวจความเห็นของบริษัทผู้ผลิตสินค้าจำนวน 340 รายใน 500 รายของฟอร์จูน ระบุว่า ใน 3-5 ปีข้างหน้าอินเดียจะถูกเลือกตั้งโรงงานมากขึ้น เพราะต้นทุนถูก
หากเปรียบเทียบเรื่องต้นทุนแรงงานแล้ว ปัจจุบันจีนไม่ได้มีค่าแรงต่ำเหมือนอดีต โดยเฉลี่ยค่าแรงของจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 250-350 ดอลลาร์ต่อเดือนต่อคน ขณะที่ไทยและหลายประเทศในเอเชียอยู่ที่ 100-200 ดอลลาร์ต่อเดือน แต่อินเดียถูกกว่านั้นคือเริ่มต้น 60 ดอลลาร์ต่อเดือน
กรณีของฮุนได เกาหลี เป็นตัวอย่างความสำเร็จ ที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ในเมืองเชนไน ทางตอนใต้ของอินเดีย เมื่อปี 1998ปัจจุบันส่งออกรถหลายพันล้านต่อปี มีอีกหลายบริษัทที่เตรียมไปลงทุนคือโนเกีย ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่จากฟินแลนด์, พอสโค ผู้ผลิตเหล็กจากเกาหลีใต้ และคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่างเดลล์ เพราะไม่เพียงเป็นแหล่งผลิตที่เอื้อต่อการส่งออกเท่านั้น ตลาดชาวอินเดียเองก็มีศักยภาพ ด้วยจำนวน 1,100 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม อินเดียยังต้องมีการบ้านต้องพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้า และโครงสร้างของซัพพลายเชน