Hi5 บูม สนามใหม่โฆษณาไทย

“Social Networking” เป็นคำที่กำลังมาแรงในวงการโฆษณา โดยเฉพาะเว็บ Hi5.com เว็บระดับโลกสัญชาติอเมริกัน ที่กวาดเอากลุ่มนักท่องเน็ตวัยหนุ่มสาวคนทำงานลงไปถึงวัยรุ่นไทยมากมาย สร้าง “เครือข่ายเพื่อนๆ” ที่กว้างใหญ่มหาศาลในช่วงปีสองปีนี้ จนกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายใหม่ของสินค้าหรือบริการแบรนด์ต่างๆ

จากตัวเลขคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตปัจจุบันทั้งหมดราว 10 ล้านคน มีคนไทยใช้ Hi5 ถึงกว่า 8 แสนคน หรือราว 8 % และยังมีอัตราเติบโตที่สูงมากเพราะยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น โดยที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น รองลงไปเป็นกลุ่มหนุ่มสาวทำงานใหม่ๆ หรือ “First Jobber”

ด้วยตัวเลขการเติบโต และกลุ่มผู้ใช้เหล่านี้ เป็นแรงจูงใจให้สินค้าและเอเยนซี่โฆษณาหันมาสนใจเว็บไซต์แห่งนี้ เริ่มจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ AIS เลือกใช้ Hi5 เป็นสื่อออนไลน์ มาได้เกือบปี และล่าสุด sanook.com ที่เพิ่งบรรลุดีลเป็นตัวแทนขายโฆษณาของ Hi5 ในไทยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ใน Hi5 นั้น ผู้ใช้อาจจะเริ่มเล่นด้วยการเข้าไปดูอัลบั้มรูป ดูข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลรสนิยมของคนอื่น ไปจนถึงอ่านข้อความท้ายรูป หรือ Comment ที่บรรดาเพื่อนๆ ของพวกเขาเหล่านั้น แต่หากผู้ใช้ต้องการจะเริ่มมีส่วนร่วมเข้าไปคอมเมนต์หรือพูดคุยบ้าง ก็ต้องแนะนำตัวเอง โดยสร้าง “Profile” ที่มีทั้งเพศ อายุ เมืองที่อยู่ บรรยายรูปร่าง ไลฟ์สไตล์ และรสนิยม กับทั้งส่ง Upload รูปขึ้นไปโชว์

Profile แนะนำตัวต่อเพื่อนเก่าเพื่อนใหม่เหล่านี้เอง ที่เป็นฐานข้อมูลชั้นดีของเหล่าบรรดาเจ้าของสินค้าและเอเยนซี่โฆษณา เพราะพวกเขาสามารถเลือกยิงโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจง ตาม Profile ของคนเหล่านี้

นอกเหนือจากโปรไฟล์ของกลุ่มคนเหล่านี้ที่เป็นข้อมูลอันหอมหวาน อันเป็นที่ต้องการของผู้ผลิตสินค้าและโฆษณา Hi5 ยังได้สร้าง “เครือข่าย” จากความเป็น Social Network แบบไม่มีที่สิ้นสุด จากกลไกที่เรียกว่า “เพื่อนสู่เพื่อน” เช่นเพื่อนสมัยเรียนของเราจะได้เห็นหน้าและรู้ข้อมูลของเพื่อนที่ทำงานของเราได้ และเมื่อพวกเขา Add ชื่อกันก็จะมีเมลมาแจ้งทุกคนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องให้รู้ได้ทันที เรียกให้เราอดใจไม่ไหวต้องเข้าไปดูความเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ ใน Hi5.com อยู่เสมอ

กลไกเหล่านี้นี้ช่วยให้เครือข่ายขยายตัวไปรวดเร็วราวกับปฏิกิริยาลูกโซ่ในระเบิดนิวเคลียร์ แน่นอนว่านอกจากเหล่าผู้ใช้จะได้รู้จักคนใหม่ๆ มามายแล้ว บรรดานักโฆษณาหรือเจ้าของสินค้าก็ได้รู้จักและได้พื้นที่ล้ำค่าที่จะลงโฆษณาให้ผู้คนมหาศาลอย่างตรงกลุ่มอีกด้วย

ป้าย Banner โฆษณาของสินค้าไทยๆ จะไม่ถูกยิงผิดไปยังคนดูต่างประเทศ เพราะระบบของ Hi5.com นั้นต้องล็อกอินก่อนเข้าใช้ทำให้รู้เสมอว่าใครกำลังดูหน้าเว็บนั้นอยู่ หรือถ้าเข้าไปดูรูปคนไทยแบบไม่ได้ล็อกอิน ก็จะได้เห็นป้ายโฆษณาจากไทยเช่นกัน เพราะผู้ดูก็ไม่พ้นต้องเป็นเพื่อนหรือ “เพื่อนของเพื่อน” กับเจ้าของรูป

ยกเว้นก็แต่บางอัลบั้ม Hi5 ที่เป็นของดาราฮอลลีวู้ดดังๆ หรือนักร้องระดับโลก ซึ่งมีทั้งตัวจริงและตัวปลอมมาเปิดสนุกๆ ก็มากราย ก็ย่อมมีคนสารพัดชาติเข้าไปดูและทักทาย แต่นั่นก็เป็นข้อยกเว้นและเป็นส่วนน้อยใน Hi5 เท่านั้น

โฆษณาให้ผ่านตา อย่าหวังให้คลิก

ในแง่ของเอเยนซี่โฆษณา พวกเขาหวังผลทั้ง “Impression” คือการให้ผู้ใช้เห็น ยิ่งถ้ากดคลิกดูแบนเนอร์เพื่อเข้าไปที่เว็บสินค้าเพื่อที่จะสมัครสมาชิก และลงมือสั่งซื้อสินค้า นั่นคือเป้าหมายสูงสุด

สำหรับ Hi5 นั้น แม้จะมาแรง แต่การลงโฆษณาในเว็บนี้ อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ Digital Media Director บริษัท Adaptor เอเยนซี่โฆษณาออนไลน์ไทยในเครือชินคอร์ป บอกว่า น่าจะให้ผลในแง่การให้ผู้ใช้เห็นเท่านั้น ซึ่งเป็นปกติของเว็บประเภท Social Networking ที่จะมีแค่ 1% กว่าๆ จากผู้เห็นแบนเนอร์ เทียบเป็นสัดส่วนน้อยกว่าเว็บประเภทอื่นๆ มาก เพราะแต่ละคนตั้งใจมาดูรูปและคอมเมนต์คุยกับเพื่อนโดยตรง

ต่างจากเว็บที่พูดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสินค้าตรงๆ เช่นเว็บชุมชนคนเล่นมือถือ ย่อมมีคนคลิกแบนเนอร์โฆษณามือถือหรือบริการมากกว่า เช่นการโฆษณาโน้ตบุ๊กในเว็บข่าวไอทีหรือเว็บถามตอบเรื่องคอมพิวเตอร์ ก็ย่อมมีเปอร์เซ็นต์ผู้คลิกแบนเนอร์มากกว่าลงโฆษณาใน Hi5

แม้แต่เว็บข่าวหนังสือพิมพ์ทั่วไปก็ยังมีเปอร์เซ็นต์ผู้คลิกแบนเนอร์มากกว่า Hi5 เพราะผู้ใช้จะเปิดใจอ่านเรื่องหลากหลาย แต่ใน Hi5 พวกเขามาแบบมีจุดประสงค์ชัดเจนว่ามาดูรูปเพื่อนคนนี้ หรือการคอมเมนต์

ดังนั้น หากต้องการหวังผลเพียงแค่ “ให้ผู้ใช้เห็น” แบนเนอร์แล้ว ใน Hi5 จึงเหมาะมากกว่า “เว็บเจาะเฉพาะเรื่อง” และคุ้มค่าเมื่อเทียบต่อครั้งที่ป้ายผ่านตา (Impression) ชาว Hi5 และเป็นกลุ่มเป้าหมายในวัยและระดับรายได้กับไลฟ์สไตล์ที่ตรงกับที่ AIS สนใจพอดีโดยไม่มุ่งหวังว่าผู้ใช้จะต้องคลิกเข้าไป

มุ่งโตเร็วตั้ง Sanook เป็นตัวแทนในไทย

แม้ Hi5จะโด่งดังทั่วโลก และมีผู้ใช้ถึง 8 แสนคนแล้วในไทย แต่เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเน็ตไทยทั้งหมดกว่า 10 ล้านคนแล้ว ยังมีทีว่างเหลืออีกมาก ซึ่งหาก Hi5 ต้องการจะบุกเข้ามาให้รวดเร็วทันใจ ก็คงต้องหาตัวแทนในไทย โดยเฉพาะการหาโฆษณา hi5 จะหาพาร์ตเนอร์ทำตลาดให้ เพราะได้จำกัด Positioning ตัวเองไว้เป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์และดูแลระบบเท่านั้น

การที่ Hi5 สนใจทำตลาดในประเทศไทยเป็นพิเศษนั้น เพราะไทยมีอัตราเติบโตของผู้ใช้ Hi5 สูงที่สุดในเอเชีย และมีคน Register ใหม่ต่อวันเฉลี่ยวันละ 8 พันคน ส่วนยอดผู้ใช้รวมนั้นก็เป็นอันดับ 4 ในเอเชีย และอันดับ 10 ในโลก

การทำตลาดในไทยนั้น Hi5 ได้ sanook.com ซึ่งมีบริษัทโฆษณาออนไลน์ในเครือ คือ Topspace เซ็นสัญญาเป็นตัวแทนขายโฆษณาเพียงรายเดียวในไทยให้กับ Hi5

“เราเชื่อมั่นว่า Topspace จะช่วยให้เราเข้าถึงนักท่องเน็ตชาวไทยได้ 60% ได้ทันที” Bret Finkelstein ผู้อำนวยการฝ่ายขายของ Hi5แถลงกับสื่อไทย ว่า Topspace จะเป็นทางลัดให้มีโฆษณามาลงในหน้า Hi5 ของคนไทยมากขึ้น และช่วยให้มีคนไทยรู้จักและเล่น Hi5 มากขึ้นด้วย

กษมาช นีรปัทมะ รองประธานบริหารสื่อออนไลน์ของ Topspace ในเครือสนุก ประสบการณ์และเครือข่ายในธุรกิจอินเทอร์เน็ตช่วยให้ Hi5 มียอดโฆษณาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน sanook เอง ก็มองเห็นโอกาสจากการมี Hi5 จะช่วยให้ Page View ของ sanook.com เพิ่มขึ้นเป็น 60% จากเดิมที่มีอยู่ 40%

ความเปลี่ยนแปลงแรกสุดของ Hi5 ก็คือ เมนูและคำอธิบายเป็นภาษาไทย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จะช่วยให้มีคนไทยหน้าใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาใน Hi5.com คึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

กำเนิด Hi5

ปี 2004 นักศึกษาปริญญาตรีชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ Ramu Yalamanchi ร่วมกับเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ที่เรียนปริญญาตรี Computer Science อยู่ ก่อตั้ง SponsorNet New Media ธุรกิจตัวแทนโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต

ยามาลานชี่ มองเห็นจุดอ่อนของระบบการโฆษณาผ่านแบนเนอร์แบบเก่าๆ ที่อาจไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย บวกกับการได้เห็นพฤติกรรมการสร้างอัลบั้มรูปแล้วพูดคุยกันต่อท้าย กับการเกิดกลุ่มเพื่อนที่คอยอัพเดตข่าวแต่ละคนในก๊วนกันทางอินเทอร์เน็ต จึงแยกตัวออกมาตั้ง hi5 เพื่อหวังตอบโจทย์ทั้งฝั่งผู้โฆษณาและผู้ใช้ไปในเวลาเดียวกัน

ปัจจุบัน Hi5 เป็นเว็บประเภท Social Networking ที่มีผู้ใช้มากที่สุดใน 23 ประเทศ เช่นในกลุ่มประเทศที่พูดภาษาสเปนอย่างสเปน โปรตุเกส บราซิล และในไทย เนื่องจากชื่อเว็บที่พิมพ์ง่ายจำง่ายและหน้าจอที่ไม่ซับซ้อน

ในสหรัฐฯ และยุโรปนั้นนั้นต่างออกไป นั่นคือเจ้าตลาดเว็บ Social Networking กลับเป็น facebook.com ที่แจ้งเกิดจากการเป็นหนังสือรวมรุ่นกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ส่วนในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์และไต้หวันนั้นกลับเป็น frienster.com เป็นผู้นำตลาด

ทุกวันนี้ Hi5 มีสมาชิกรวม 65 ล้านรายทั่วโลก และแม้เว็บจะเติบโตและมาแรงเท่าใด แต่ยามาลานชี่ผู้ก่อตั้ง hi5 ก็ยังนั่งเป็น CEO อยู่ และยังไม่ได้ขายกิจการให้ยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Microsoft, หรือ Yahoo ตามกระแสที่เว็บเล็กๆ หลายแห่งถูกกว้านซื้อเข้าไปก่อนนี้แล้ว

ชื่อ “Hi5” มาจากไหน ?

คำว่า Hi5 หรือ “Hi Five” หมายถึงอาการที่คนสองคนชูฝ่ามือแบนิ้วทั้ง 5 มาแปะกันแรงๆ เป็นการทักทายประสาเพื่อนสนิทที่ชาวอเมริกันนิยมกันมาก เช่นเดียวกับคำชวนให้มาแปะมือกันก็พูดว่า “Give me five!” เป็นต้น

สำนวนนี้เป็นที่มาของชื่อเว็บ Hi5 และในเว็บนี้ก็เปิดให้เรา “Give 5” ให้กับเพื่อนสนิทหรือคนที่พิเศษได้โดยการกดปุ่มลิงค์ “Give …ชื่อเจ้าของรูป… Five” และหากเจ้าของรูปคนนั้นไม่เคยได้รับ “Five” มาก่อน เราก็จะได้รับเกียรติให้เป็นคนแรกที่ให้ Five แก่เจ้าของรูปนั้นให้รู้กันไปทั้งกลุ่มด้วย