Yvon Chouinard: ต้นแบบของ “Green Business” ในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 2)

Patagonia เพื่อสิ่งแวดล้อม

“บนโลกที่ไร้ชีวิต ย่อมไร้ธุรกิจ” (“There is no business to be done on a dead planet.”) เป็นคำกล่าวของ David Brower นักสิ่งแวดล้อมชื่อดัง ผู้ก่อตั้ง The Sierra Club องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งซานฟรานซิสโก และเป็นข้อความที่สลักไว้ที่ประตูทางเข้าของสำนักงานใหญ่ “Patagonia” ที่ Ventura แคลิฟอร์เนีย เพื่อเตือนใจทุกชีวิตใน Patagonia ถึงจุดมุ่งหมายในการมาทำงาน ณ ที่แห่งนี้

เมื่อกล่าวถึงสิ่งแวดล้อมของโลก Yvon Chouinard มองว่า ตลอดชีวิตของเขา เขาเห็นแต่ความเสื่อมลงของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการการใช้ชีวิตของมนุษย์ แม้กระทั่งมิตรสหายของเขาที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักคิดในด้านสิ่งแวดล้อมต่างเห็นด้วยกับเขา และเชื่อว่า พวกเรากำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ของมวลมนุษยชาติ

Yvon ยกตัวอย่างจากหนังสือ “The Future of Life” ของ Edward O. Wilson ที่ทำดัชนี “Living Planet” วัดค่าสภาวะของป่าไม้ แหล่งน้ำจืด และระบบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางทะเลของโลก พบว่า “พวกเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในวาระสุดท้ายของธรรมชาติ” นอกจากนี้ Wilson ยังกระตุ้นอีกด้วยว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ต้องทำให้เป็นศตวรรษแห่งสิ่งแวดล้อม ภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาควิทยาศาสตร์ต้องร่วมมือกันในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมลง หากไม่เช่นนั้น โลกของเราจะไม่สามารถสร้างทรัพยากรสิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่ได้

ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้สร้างความหดหู่ใจหรือสิ้นหวังให้แก่ Yvon เลย ตรงกันข้าม เขากลับมีความสุข เขายึดมั่นในหลักพุทธศาสนาที่ว่า “เมื่อมีเกิด ก็มีดับ” ต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ “บางที่สายพันธุ์ของมนุษยชาติกำลังเดินมาถึงจุดจบแล้วก็เป็นได้ เพื่อจะได้เหลือพื้นที่ให้สายพันธุ์ชีวิตรูปแบบอื่น

ที่มีความหวัง มีสติปัญญาล้ำหน้ากว่า และมีความรับผิดชอบมากกว่า ได้ก่อกำเนิด” เป็นความคิด Yvon

ถึงสัจธรรม แต่กระนั้น เขายังคิดว่า “บางทีอาจจะมีอะไรบางสิ่งบางอย่างที่เราสามารถทำได้” เพื่อกู้ภัย

หรือป้องกันสิ่งแวดล้อมที่กำลังถดถอย อันนำมาซึ่งกำเนิดของโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมของ Patagonia ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อนควบคู่กับการทำธุรกิจ ด้วยการพยายามป้องกันการทำลายหน้าผาหินของบรรดานักไต่เขาที่อุทยานแห่งชาติ Yosemite โดยผลิตอุปกรณ์ปีนเขาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากนั้นขยายรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Patagonia ให้มีการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงปลายทาง

สิ่งที่ยากที่สุดในการทำธุรกิจคือ การที่ค้นพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม Yvon ต้องตัดใจดึงออกจากตลาด เริ่มต้นกระบวนการผลิตใหม่ทั้งหมด ดังเช่นในช่วงกลางของยุค 90 Patagonia ต้องเผชิญกับความยากลำบากนี้ จากการเปลี่ยนวัตถุดิบมาใช้ฝ้ายออร์แกนิก ซึ่งแม้ว่าผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายของ Patagonia จะเปลี่ยนมาใช้ฝ้ายออร์แกนิกทั้งหมดแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาจะหมดไป จริงอยู่ แม้ว่าฝ้ายออร์แกนิกจะไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก หรือเก็บเกี่ยว แต่ยังคงต้องใช้น้ำจำนวนมากในการเพาะปลูก อีกทั้งการเพาะปลูกทุกปียังเป็นการทำลายหน้าดินด้วย และคนส่วนใหญ่จะทิ้งเสื้อผ้าที่เก่าแล้ว Patagonia จึงยังคงพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่หรือผลิตใหม่ให้ได้ดีดังเดิม สินค้าทุกชิ้นของ Patagonia ได้รับประกันคุณภาพตลอดอายุการใช้งาน ด้วยสัญลักษณ์ “Patagonia Ironclad Guarantee”

Yvon กล่าวว่า แม้ว่าการทำธุรกิจของ Patagonia มีเรื่องให้ท้าทายอยู่เสมอ แต่เขาพบว่า ทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจเลือกทางที่ถูกต้อง แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงเท่าตัวในการผลิต แต่ผลที่ได้คือ กลับมีกำไรมากขึ้น มีคนซื้อมากขึ้น จากจุดแข็งตรงนี้ของ Patagonia ทำให้เขามั่นใจว่า Patagonia เดินมาถูกทางแล้ว พร้อมสนับสนุนโครงการประเมินค่าสิ่งแวดล้อมของ Patagonia ให้ความรู้ในหลายๆ ด้าน ให้ Patagonia มีทางเลือกใหม่ๆ และทางเลือกนั้นเป็นทางเลือกที่เดินมุ่งหน้าไปสู่ความยั่งยืน ภายใต้วัตถุประสงค์ขององค์กร 5 ข้อหลัก คือ

1. เป็นผู้นำในการใส่ใจสิ่งมีชีวิต : ตระหนักว่าทุกผลลัพธ์เกิดขึ้นจากการกระทำด้วยน้ำมือของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

2. รับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเรา : เมื่อเข้าใจถึงผลในทางทำลายที่เกิดจากการกระทำของพวกเรา ต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่

3. รู้สำนึก เริ่มบำเพ็ญประโยชน์ : ไม่ว่าเราจะพยายามขจัดมลภาวะที่เราก่อขึ้น เราก็ยังคงเป็นผู้ก่อมลพิษอยู่ดี ดังนั้นต้องคืนประโยชน์ให้แก่ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

4. สนับสนุนประชาธิปไตยแบบอารยะ : การให้ของพวกเราคือการให้แก่นักต่อสู้ผู้อยู่แถวหน้า ซึ่งเป็นตัวแทนที่มีประสิทธิภาพที่สุดในระบอบประชาธิปไตยของเรา

5. จูงใจบริษัทอื่นๆ : นำด้วยตัวอย่าง…ดังโครงการเด่นๆ ที่เลือกมาบางโครงการต่อไปนี้

โครงการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสิ่งแวดล้อม : 1% For The Planet

แรงบันดาลใจของโครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อ 35 ปีก่อน ขณะที่ชายหนุ่มคนหนึ่งผู้เรียกตัวเองว่า “สหายแห่งสายน้ำเวนทัวรา (Ventura)” เดินเข้ามาในสำนักงาน แล้วบอกว่า “เขาต้องการฟื้นแม่น้ำสายนี้ให้กลับไปใสสะอาดดั่งเดิม” ที่ชายหนุ่มกล่าวเช่นนี้ เนื่องจากสำนักงานใหญ่ของ Patagonia ตั้งใกล้แม่น้ำเวนทัวรา เมื่อมีนักต่อสู้ผู้มีอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ กล้าเดินเข้าให้ความหวัง Yvon จึงตอบสนองด้วยการรับชายหนุ่มผู้นี้เข้าร่วมชายคา Patagonia

เมื่อปี 1985 Patagonia เริ่มบริจาคเงินจำนวน 10% ของกำไรก่อนหักภาษีให้แก่กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมในระดับรากหญ้า ต่อมาเพิ่มอีกทางเลือกหนึ่งคือ 1% ของยอดขาย

ซึ่งเป็นที่มาของโครงการ 1% For The Planet เริ่มบริจาคเงิน 1% จากรายได้ทั้งหมดของบริษัทให้แก่โครงการและการศึกษาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นสนับสนุนนักวิจัยและกลุ่มต่อสู้ที่มีความตั้งใจและกลยุทธ์แรงกล้าในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ผืนป่า และความหลากหลายทางชีววิทยาทั้งสัตว์และพืช

มาถึง ณ วันนี้ Patagonia สนับสนุนทุนจำนวนกว่า 29 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่องค์กรและกลุ่มนักวิจัยกว่า 1,000 แห่ง และสามารถชักจูงบริษัทอื่นให้เข้าร่วมโครงการนี้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 787 บริษัททั่วโลก โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีต่ออนาคต

โครงการนี้เป็นสัญญา 1% ที่จะต้องให้ทุกปีไม่ว่าปีนั้นจะขาดทุนหรือกำไรก็ตาม ซึ่ง Yvon ถือว่าเป็นการเสียภาษีให้โลกใบนี้ (Earth Tax) ที่เขามีส่วนในการใช้และทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

โครงการ Common Threads Garment Recycling

เป็นการนำและทำเส้นใยสิ่งทอให้กลับมาใช้ใหม่ได้ เริ่มต้นเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว โดยลูกค้าสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากใยสังเคราะห์กันน้ำ (Capilene?) ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กางเกงชั้นใน หรือเสื้อผ้าเด็ก ที่เก่าไม่ใช้แล้ว ส่งกลับคืนมาที่บริษัท เพื่อทางบริษัทจะทำการรีไซเคิลด้วยระบบ ECOCIRCLE? ซึ่งเป็นระบบที่คิดค้นโดยบริษัทสิ่งทอ TEIJIN แห่งประเทศญี่ปุ่น โดยเสื้อผ้าเก่าเหล่านั้นจะถูกแยกกระดุมและซิปออกให้เหลือแต่เพียงตัวผ้า แล้วจึงตัดเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำเข้าเครื่องอัดออกมาเป็นก้อนเล็กๆ จากนั้นก็ย่อยสลายป่นกลายเป็นโมเลกุลบริสุทธิ์ที่กลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตใยสังเคราะห์ และถูกอัดกลับมาเป็นเม็ดใยสังเคราะห์ และนำไปปั่นเป็นเส้นใย เพื่อใช้ทอและตัดเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ต่อไป

ปัจจุบัน นอกจากผลิตภัณฑ์ Capilene? แล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นอีกหลายประเภทที่สามารถนำมาเข้ากระบวนการนี้ได้ เช่น ขนแกะสังเคราะห์ Synchilla? ผลิตภัณฑ์ Polartec? fleece และเสื้อผ้าฝ้านออร์แกนิก เป็นต้น

โครงการ The Conservation Alliance

เป็นโครงการพันธมิตรพิทักษ์ธรรมชาติที่ Patagonia ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ก่อตั้งเมื่อปี 1989 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 70 ราย โดยเป็นการลงขันร่วมกันในการสนับสนุนทุนแก่องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยปีที่ผ่านมามีองค์กรที่ได้รับทุนทั้งสิ้น 9 องค์กร ได้แก่ โครงการรักป่านาเวดา โครงการพันธมิตรเพื่อป่าเหนือ สมาพันธ์ทรัพยากรธรรมชาติแห่งโอเรกอน และองค์กรช่วยชีวิตปลาแซลมอนที่เกิดตามธรรมชาติ เป็นต้น

ณ วันนี้ ความพยายามที่ Patagonia ได้พยายามมาตลอดเกือบ 20 ปี กำลังส่งผลแล้ว อุตสาหกรรมอาหารออร์แกนิก เติบโตกว่า 20% ต่อปี ความต้องการฝ้ายออร์แกนิกจากทั่วโลกมีมากขึ้นถึง 3 เท่าหลังจากที่ Patagonia เปลี่ยนมาใช้ฝ้ายออร์แกนิก และเมื่อใดที่บริษัทใหญ่ๆ เช่น Nike เริ่มหันมาสั่งฝ้ายออร์แกนิก เพื่อมาผสมกับฝ้ายธรรมดามากขึ้น เมื่อนั้นผู้เพาะปลูกฝ้ายจะเริ่มหันมาเพาะปลูกฝ้ายออร์แกนิกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงมากในอนาคต อันส่งผลดีให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกได้มากขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาเส้นใยสังเคราะห์ประเภทอื่นที่ Patagonia ในเป็นวัตถุดิบปลอดสารพิษ

จากความสำเร็จของ Patagonia ภายใต้ปรัชญาการทำงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอันจำกัด ทำให้ Patagonia กลายกรณีศึกษาธุรกิจต้นแบบของ “Green Business” และช่วยโน้มน้าว ชักจูงให้บริษัทอื่นๆ เชื่อว่า “Green Business” เป็นธุรกิจที่ดี ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านั้นเริ่มปฏิบัติการ “Green” ทีละนิดทีละน้อย ไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อโลกใบนี้ของทุกคน

เมื่อปี 1995 มหาวิทยาลัยเยล Yale มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขา Humane Letters ให้แก่ Yvon Chouinard ผู้ที่กล่าวอยู่เสมอว่า “ทุกคนมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทุกอย่างที่เราผลิตหรือบริโภคก่อให้เกิดขยะและมลพิษ ฉะนั้นทุกคนต้องมีส่วนในการรับผิดชอบร่วมกัน”

ข้อมูลและภาพ
www.patagonia.com
www.onepercentfortheplanet.org