Green, Quick, Premium & Customization เทรนด์เมืองนอกไม่หนีไทย

เทรนด์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย กับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ มีหลายเรื่องที่มีความใกล้เคียงกัน 8 เทรนด์นอกมาแรงปี 2008 หากจะจับกลุ่มเทรนด์จริง ๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องหลัก ๆ ที่เหมือนกัน ในคือกระแสที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมซึ่งน่าจะยกให้เป็นกระแสสุดฮิตของโลกที่กำลังมาแรงขึ้นทุกที่ก็ยังได้ กระแสเรื่องความรวดเร็วและง่ายในการบริโภค เรื่องของ Customization ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกได้ต้องตามรสนิยมของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งการทำตลาดเพื่อล้อไปกับเครือข่ายของกลุ่มผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม และการยกระดับบริการและแบรนด์ให้หรูหราเพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าและบริการหลายชนิดแม้กระทั่งฟาสต์ฟู้ดก็หยิบเทรนด์นี้มาใช้อย่างได้ผลมาแล้ว

ดังนั้นแม้สภาพโดยรวมของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของไทย และต่างประเทศ จะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สำหรับโลกการตลาดแล้ว ไม่ถือว่าห่างไกลกันเลย อะไรที่เมืองนอกมีให้เห็น ก็สามารถหาได้ในเมืองไทยเช่นกัน อยู่ที่ว่าจะนิยามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร

เว็บไซต์ trendwatching.com เว็บที่คอยอัพเดทเทรนด์ให้กับผู้สนใจ และแนะนำวิธีการจับตาเทรนด์ให้กับนักการตลาดและผู้สนใจ ได้รวบรวมเทรนด์ของปี 2008 ไว้ 8 เทรนด์ ซึ่งหากสรุปมาแล้วก็ไม่ต่างจากเทรนด์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เพียงแต่ตัวอย่างสินค้าและรายละเอียด อาจจะแตกต่างกันตามรสนิยมของแต่ประเทศ หรือไม่ก็แตกต่างกันที่ความเข้มข้นของการตอบสนองในแต่ละเรื่อง โดยสรุป 8 เทรนด์ของปี 2008 พร้อมเหตุผลไว้ดังนี้

“Eco Iconic”
ทุกแบรนด์และทุกสินค้าเอาชนะกันที่การพยายามแสดงตัวว่าไม่ก่อปัญหากับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะผ่านบรรจุภัณฑ์เช่นกระแสถุงผ้าที่กำลังเป็นของแจกมาแรง และรณรงค์ให้ใช้แทนถุงพลาสติกกันทั่วโลก

หรือผ่านตัวเลข ส่วนรถยนต์ก็ต้องโชว์ข้อมูลตัวเลขที่เห็นได้ชัดเจนว่าใครปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศน้อยกว่าไม่ว่าในขั้นตอนการผลิตและเมื่อรถออกมาวิ่ง แม้แต่สายการบินก็ต้องโชว์ว่าเที่ยวบินหนึ่งๆ ของตัวเองปล่อยคาร์บอนออกมาเท่าไร และทางสายการบินมีมาตรการอะไรลดและคุมมลพิษเหล่านี้บ้าง

“Online Oxygen”
“ออนไลน์ทุกหนแห่ง” ได้เปรียบว่า ภายในปี 2012 อากาศส่วนใหญ่บนโลกใบนี้จะเปรียบเสมือนมีสาย LAN โยงใยกันอยู่ถี่ยิบ โทรศัพท์มือถือเกือบ 3 พันล้านเครื่องจะมีอย่างน้อย 1 พันล้านเครื่องที่เข้าอินเทอร์เน็ตประจำ ในร้านกาแฟ ห้องพักโรงแรม ตามสวนสาธารณะ ถนน ก็พบหลายคนเปิดโน้ตบุ๊กนั่งทำงานกันอยู่ ขึ้นไปบนเครื่องบินก็ยังมีจอมีคอมพิวเตอร์ให้เข้าเน็ตระหว่างนั่งเครื่องหลายสายการบิน

นั่นคือเว็บหรือบริการออนไลน์อะไรที่เคยใช้กันมากในออฟฟิศ บ้าน ต่อไปนี้จะใช้กันได้ทุกที่ทั่วไป และเมื่อนั่นคำถามที่สำคัญในแต่ละครั้งที่เปิดเครื่องมาใช้งานก็คือคุณกำลังอยู่ที่ไหน แล้วสารพัดเว็บก็จะสนอง Information ที่เหมาะสมออกมาไม่ว่าเส้นทาง ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร ฯลฯ

“Snack Culture”
พฤติกรรมผู้ใช้รีบเร่งขึ้น ต้องการให้บริการต่างๆ ใช้เวลาสั้นลง ต้องการใช้เวลาบริโภคสินค้าแต่ละชิ้นแต่ละครั้งสั้นลง เช่น นิตยสารแจกฟรีชื่อ “20 Minutes” ที่ประสบความสำเร็จมียอดผู้อ่านสูงในหลายประเทศ รับรองไว้บนปกว่าอ่านหมดทั้งฉบับได้ในเวลาไม่เกิน 20 นาที

หรือร้านตัดผมที่รับรองว่าใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที เป็นต้น เปรียบได้กับสแนคหรือฟาสต์ฟู้ดที่ไปกันได้ดีกับสังคมเมืองใหญ่ที่รีบเร่งและมีงานกับกิจกรรมต่างๆ รอให้ทำเต็มไปหมด

“Brand Butlers”
หรือการทำตลาดด้วยการรับใช้ผู้บริโภคแทนที่จะทุ่มเงินไปกับสื่อโฆษณากว้างๆ เช่นผ้าอ้อมยี่ห้อ “EvyBaby” ที่หันมาลงงบการตลาดไปกับการทำบูธเปลี่ยนผ้าอ้อมมาอำนวยความสะดวกให้พ่อแม่ทั้งหลายไว้ตามสนามบิน ศูนย์การค้า โดยตกแต่งให้มีสีสันบุคลิกความเป็นแบรนด์ EvyBaby หรือทิสชูยี่ห้อ Charmin ของ P&G ที่ไปลงทุนสร้างห้องน้ำฟรีตกแต่งเป็นกึ่งดิสเพลย์โฆษณาไว้หลายจุดเช่นกัน

“MIY : Make It Yourself”
“ทำเองก็ได้ ง่ายจัง” เช่นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ดังๆ ในสหรัฐฯ เพิ่มบริการออกแบบได้ดังใจผ่านเว็บไซต์ให้กับลูกค้ากันแพร่หลาย และยิ่งกว่านั้นทาง MIT กำลังคิดค้นเครื่องหล่อชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กที่มีซอฟต์แวร์ช่วยออกแบบให้คนทั่วไปสามารถทำตัวถังมือถือ เครื่องเล่น MP3 หรืออื่นๆ ได้ตามจินตนาการเลยทีเดียว

เทรนด์นี้เกิดมาก่อนแล้วในอินเทอร์เน็ต ก็คือการมาของ Web 2.0 ตั้งแต่ปี 2006 นั่นเอง แต่ในปี 2008 นี้เป็นต้นไปถูกคาดว่าจะนิยมกันในสินค้าต่างๆ เป็น “Product 2.0” ด้วย

“Crowd Mining”
การรวบรวมฝูงชนมากลุ่มหนึ่งแล้วทำธุรกิจจากการโฆษณาไปยังกลุ่มนี้ แต่ในลักษณะที่แปลกต่างไปจากการทำสื่อธรรมดาๆ แบบเดิมๆ
เช่น sellaband.com ที่ให้คนรักดนตรีเข้าไปส่งงานเพลงเล่นเองอัดเองไว้ และให้คนฟังเพลงเข้าไปลองฟังได้ฟรี และหากเห็นวงไหนเข้าทีน่าลงทุนด้วย ก็กดร่วมลงทุนคนละไม่กี่ดอลลาร์ เมื่อมากถึงกำหนดก็นำเงินก้อนนั้นไปผลิตงานและโปรโมตวางขายจริงแล้วปันผลรายได้กลับให้ทุกคนที่ร่วมลงทุน หรือสโมสรฟุตบอลเล็กๆ ในอังกฤษ ชื่อ Ebbsfleet United FC ที่ทำเว็บเป็นระบบให้แฟนของทีมมาร่วมกันโหวตกำหนดนักบอลตัวจริงในแต่ละเกมและแผนการเล่นที่จะใช้

การทำ “Crowd Mining” หรือคัดแยกแล้วผูกสัมพันธ์ (Engage) กับฝูงชนเช่นนี้ ช่วยให้เลือกสรรกลุ่มเป้าหมายได้ตรงกลุ่มมากขึ้น รู้จักพวกเขาดีขึ้น แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารหรือประสบการณ์ได้มากกว่า และเมื่อนั้นย่อมพลิกไปเป็นสื่อโฆษณาที่มีประสิทธิภาพกว่าได้ด้วย

“Status Spheres”
หรือ Status Lifestyle คือการที่ผู้มีกำลังซื้อยิ่งสูงก็ไม่ได้แปลว่าจะยิ่งเลือกซื้อเลือกใช้ของยิ่งแพงยิ่งหรูแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะผู้คนแบ่งกลุ่มตามความสนใจเฉพาะด้าน รสนิยมเฉพาะแนวต่างกันละเอียดชัดเจนยิบย่อยขึ้นอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเว็บ 2.0 ก็มาเน้นจุดนี้ขึ้น อีกทั้งยังมีกระแสระวังเรื่องโลกร้อน ฉะนั้นลูกค้าจะคิดถึง “Status” หรือ “ตัวตน สถานภาพ” ของสินค้าอย่างละเอียดในหลายๆ ด้าน ซึ่งจะกระทบมาถึงภาพลักษณ์ของตัวเองยามใช้สินค้านั้นด้วย

“Premiumization”
แต่หากสินค้ามีแบรนด์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว การออกสินค้าระดับบนหรูในแบรนด์เดิม กำลังเป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จ เช่นน้ำแร่แบรนด์ดังหลายยี่ห้อเช่น Evian แข่งกันสรรหาแหล่งน้ำจากต่างทวีปหรือเขาลูกต่างๆ มาบรรจุใส่ขวดพิเศษ บ้างก็เป็นขวดคริสตัล ขายในราคาแพงกว่าน้ำแร่ทั่วไปมาก แต่ก็ขายดี

เช่นขวดน้ำดื่ม Bling H20 ผลิตออกมาแบบ limited Edition มีฝาจุกไม้คอร์ก ขวดทำจากคริสตัลของสวารอฟสกี้ ภายใต้แนวคิดว่า “เราสามารถบ่งบอกบุคลิกคนได้จากขวดน้ำดื่มที่เขาถือ” Bling H20 จึงจัดเป็นเสมือนเครื่องแต่งกายหรือ Fashion Accessory ชิ้นหนึ่งในราคาขวดละ 17 ดอลลาร์ขึ้นไป

หรือน้ำดื่ม Tasmanian Rain ที่ใช้น้ำมาจากเกาะ Tasmania ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นที่ที่องค์กร World Meteorological Organization สำรวจและบันทึกไว้ว่าอากาศบริสุทธิ์ที่สุดในโลก และน้ำฝนของที่นี่ก็มาจากขั้วโลกใต้ซึ่งอากาศสะอาดบริสุทธิ์ไม่มีคนอาศัยอยู่

หรือช็อกโกแลตแบรนด์ดังๆ หันมาแข่งกันออกเวอร์ชั่นพรีเมียม แต่ทั้งนี้สินค้าระดับพรีเมียมที่ออกมาต้องมีเรื่องราว มี “Status” เฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น แนวการดีไซน์ วัตถุดิบ สูตร บรรจุภัณฑ์ ไม่ใช่สักแต่หรูและแพง

ที่มา : เว็บไซต์ trendwatching.com