ดีแทค ต้องมีมากว่า "ฮัลโหล"

เมื่อเบอร์ 2 อย่างดีแทครู้สึกตัวว่าที่ยืนในธุรกิจสื่อสารไร้สายไม่ใช่ที่มั่นอันแข็งแรงเสมอไป โอกาสหล่นไปอยู่เบอร์ 3 มีได้ตลอดเวลา แม้ว่า ดีแทคจะทำสำเร็จในแง่ของการสร้างแบรนด์ พลิกสถานการณ์ของมวยรองให้กลับขึ้นมาได้สำเร็จ จนเบอร์ 1 ต้องหันมามองชนิดตาไม่กะพริบ

แต่หลายปีมานี้ ดีแทคก็มีบริการฮัลโหลเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถสร้างนวัตกรรมบริการใหม่ๆ มาสร้างรายได้ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ “ซิคเว่ เบรคเก้” ซีอีโอ ดีแทค จึงต้องออก Step แรง ๆ ด้วยการงัดกลยุทธ์หาทีมงานใหม่มาดูแลหน่วยงานที่เพิ่งตั้งขึ้นในชื่อ “Next Dtac Division”

จังหวะก้าวครั้งนี้ “ซิคเว่” มั่นใจว่าไม่ช้ากว่าคู่แข่ง เพราะวิธีการเลือกทีมงานใหม่ ซึ่งมี “อมฤต ศุขะวณิช” ที่มาจากธุรกิจไฟแนนซ์ มาเป็นผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่ม Next Dtac

เพราะเชื่อว่าผู้ที่ไม่เคยทำธุรกิจสื่อสารมาก่อนจะ “คิดนอกกรอบ” หาธุรกิจใหม่ที่เข้าถึงผู้บริโภคจริงๆ และยังให้นโยบายโตทางลัด ด้วยการ “ร่วมทุน” บริษัทที่มีคอนเทนต์ และบริการใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา

อย่างการซื้อหุ้นบริษัทเพย์สบาย เพื่อเตรียมให้บริการ Mobile Payment หลังจากเอไอเอส มีเอ็มเปย์ ส่วนทรู มีทรูมันนี่ที่ล้ำหน้าไปแล้วหลายก้าว

“ซิคเว่” เชื่อว่า ตลาดเมืองไทยยังมีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตอีกมาก สังเกตได้จากหลายโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์ แต่ไม่มีอินเทอร์เน็ต นี่คือโอกาสทางธุรกิจของดีแทค ในการต่อยอดธุรกิจด้าน Data Service ซึ่งเป็นบริการที่มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่บริการด้าน Voice เริ่มถึงจุดอิ่มตัว

เมื่อตลาดพร้อม เทคโนโลยีพร้อม คลื่นความถี่มีเหลือเฟือ แต่กฎระเบียบรัฐยังไม่เอื้อ “ดีแทค” จึงต้องหาแรงมากเป็นพิเศษ ด้วยการจัดอีเวนต์ สาธิตประโยชน์ของเทคโนโลยี HSDPA พื้นฐานของ 3G ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และโรงเรียนบ้านแพง ที่ดีแทคยกทัพสื่อมวลชนพากันไปดูให้เห็นชัดๆ เพื่อต้องการบอกว่า การส่งข้อมูล ภาพ เสียง แบบไฮสปีด ทั้งร้องทั้งเต้น หรือเรียนหนังสือทางไกลทำได้โดยไม่สะดุด

นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณสกัดคู่แข่ง ที่อยากเปิดบริการ 3 G ใจจะขาด แต่ขาดก็แต่คลื่นความถี่ จนเป็นคลื่นใต้น้ำที่ระอุอยู่ในเวลานี้ ซึ่งทั้งดีแทค ทรูมูฟ และเอไอเอส ต่างก็รู้ดี โดยเฉพาะทรูมูฟ ต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ เพราะคลื่นความถี่น้อยกว่าใคร

การเริ่มต้นครั้งนี้ ที่มหาวิทยาลัยสารคาม “ซิคเว่” มั่นใจว่าจะทำให้ Dtac เข้าถึงเป้าหมายที่วาง Positioning ไว้เป็น Wireless Service Provider จากเดิมเป็นแค่ Mobile Phone Operator เท่านั้น

เปรียบเทียบจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
——————————————————————————————
ประเทศ % การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จำนวนผู้ใช้ (ล้านคน) %อัตราเติบโต
——————————————————————————————
ไทย 13 8.4 268
เกาหลีใต้ 70.2 34.43 81
มาเลเซีย 60 14.90 303
เวียดนาม 21.4 18.22 9,013