ยุทธศาสตร์กรีนสโตร์เทสโก้ โลตัส

การผุดสร้าง “กรีนสโตร์” ของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดยักษ์ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ สะท้อนให้เห็นจุดเปลี่ยนที่จำต้องผนวก “ธุรกิจสีเขียว” ไว้ในยุทธศาสตร์การแข่งขัน โดยมี “เทสโก้ โลตัส” เป็นผู้เริ่มต้นในสนามนี้

กรีนสโตร์ใหม่เอี่ยมถอดด้าม เทสโก้ โลตัส สาขาศาลายาแห่งนี้ เป็นการสานต่อจากอาคารประหยัดพลังงานแห่งแรกของเทสโก้ โลตัส ที่สาขาพระราม 1 ซึ่งเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีจุดเริ่มต้นจากนโยบายขององค์กรในการประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน นำมาสู่การสานต่อด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสเทสโก้ โลตัส เปิดเผยเหตุที่มาของการสร้างกรีนสโตร์ว่า “ส่วนหนึ่งเกิดจากความจำเป็นของธุรกิจ อีกส่วนหนึ่งสามารถต่อยอดกับการทำประโยชน์แก่สังคม” เพราะการเป็นธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ใช้พลังงานสูง ก่อมลพิษได้มาก

“คนมาช้อปปิ้งเยอะก็มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น” ดร.ดามพ์ กล่าว ซึ่งผลจากการตรวจวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Footprints) ในชั้นบรรยากาศของเทสโก้ โลตัสเมื่อปีที่แล้ว พบว่า ทุกสาขารวมกันมี Carbon Footprints ถึง 4 แสนตันต่อปี จึงตั้งเป้าหมายระยะยาวเพื่อลด CO2 ให้ได้ทุกสาขารวมกัน 50% ภายในปี 2563 สอดคล้องกับการประกาศวิสัยทัศน์ขอเป็นผู้นำเครดิตคาร์บอนต่ำของ Sir Terry Leahy ประธาน Tesco PLC เมื่อปีก่อน

ขณะเดียวกัน ลูกค้ามาจับจ่ายใช้สอยมากก็ทำให้เครื่องทำความเย็นต้องทำงานเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนสินค้าทั้งหมดที่มีอยู่ 35,000 รายการ สะท้อนให้เห็นขยะบรรจุภัณฑ์จำนวนมาก รวมไปถึงอาหารสดหมดอายุ ซึ่งล้วนแต่เป็นกำไรที่หดหายไปทั้งสิ้น

กรีนสโตร์จะช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

เทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 1 จัดเป็นกรีนไฮเปอร์มาร์ทสาขาแรกของโลก ที่กลุ่มเทสโก้ได้เริ่มต้นในปี 2547 เกิดก่อนเทสโก้ กรีนสโตร์ ในอังกฤษถึง 2 ปี โดยมีสาขาศาลายาเป็นแห่งที่ 3 ขณะที่คู่แข่งอย่าง Carrefour เริ่มต้นกรีนสโตร์ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (2549) ด้วยการสร้างกรีนสโตร์ที่ปักกิ่ง ตามมาด้วยเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

ผลลัพธ์จากกรีนสโตร์แห่งแรกที่พระราม 1 ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ 7 ล้านบาท จากการนำแผงโซลาร์เซลล์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า และลดการใช้ไฟ 2.5 % ทำให้เทสโก้ โลตัสมั่นใจแนวทางของตัวเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดพลังงานเพิ่มขึ้น เทสโก้ โลตัสจึงสร้างกรีนสโตร์แห่งที่ 2 ที่อำเภอศาลายา และทดลองโครงการอื่นๆ ที่ทำไม่ได้ในสาขาแรก เช่น กังหันลมผลิตไฟฟ้า โซลาร์คูลลิ่ง และไบโอดีเซล เป็นต้น รวมทั้งการนำบรรจุภัณฑ์และของเสียที่เกิดขึ้นทุกวันมารีไซเคิลกลายเป็นพลังงาน เป็นการพลิกขั้วจากการ “เพิ่ม” มาสู่การ “ลด” ค่าใช้จ่าย คาดว่าจะประหยัดเงินเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ยังตั้ง Research Center ณ กรีนสโตร์แห่งนี้เพิ่มเป็นแห่งที่ 3 ทำการวิจัยและพัฒนาครอบคลุมโปรดักส์กรีน เช่น สำรวจความต้องการของลูกค้าเกี่ยวกับสินค้าผักปลอดสารพิษ ผักไฮโดรโปรนิกส์ การปรับปรุงPackaging ของ House Brand ที่ช่วยลดจำนวนขยะ ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ว่าเทสโก้ โลตัสจะดำเนินรอยตาม บริษัทแม่ Tesco PLC ที่ Diversify ตัวเองสู่ธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการต่อยอดเข้ากับการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น บัตรสะสมแต้มรีไซเคิลขยะ หรือแม้แต่ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต

กรีนสโตร์แห่งนี้ยังเป็น “สะพานเชื่อม” สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน เช่น เติมลมยางจากพลังงานกังหันลม ชาร์จแบตเตอรี่มือถือฟรี และบริการไฟป้ายรถเมล์หน้าสโตร์จากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมไปถึงการสร้างศูนย์การเรียนรู้ในสโตร์เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ช่วยเสริมภาพลักษณ์ผู้นำด้านธุรกิจสีเขียว และให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมไปในตัว นอกเหนือจากการจ้างแรงงานท้องถิ่นในจังหวัดนครปฐมเป็นส่วนใหญ่

แน่นอนว่า เทสโก้ โลตัสจะยังไม่หยุดแค่กรีนสโตร์แห่งนี้ แต่จะ “Roll Back” โมเดลที่ประสบความสำเร็จกับสาขาอื่นๆ อีกด้วย เพื่อเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำธุรกิจสีเขียว อันจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์รับผิดชอบต่อสังคม ปรับตัวอยู่ร่วมกับชุมชน ปรับปรุงประสิทธิภาพงาน ลดค่าใช้จ่าย และเป็นภูมิคุ้มกันด้านวิกฤตสิ่งแวดล้อมในอนาคต

กรีนสโตร์ลำดับ 2 แต่ใหญ่ที่สุด

เนื่องจากสาขาพระราม1 เป็นการประเดิม “กรีนสโตร์” แห่งแรกของเทสโก้ โลตัส จึงเต็มไปด้วยการ “ลองผิดลองถูก” ซึ่ง กษิดิศ มโนภิเวศ หัวหน้าวิศวกรฝ่ายออกแบบและก่อสร้าง ของเทสโก้ โลตัส ยอมรับว่า “เราไม่มีต้นแบบจากต่างประเทศ แต่ปรับใช้จากโครงการและเทคโนโลยีที่มีอยู่”

ด้วยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ของสาขาแรก นำมาสู่การสร้างกรีนสโตร์แห่งที่ 2 บนพื้นที่ 38 ไร่ ชานเมืองจังหวัดนครปฐม ที่ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ดินเสื่อมโทรมเพราะมีการขุดตักหน้าดินไปขาย เทสโก้ โลตัสเริ่มต้นอยู่กับธรรมชาติอย่างง่ายๆ ด้วยการสร้างอาคารครอบสระน้ำ ได้ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายถมกลบดินและช่วยระบายความร้อน

ที่นี่มีพื้นที่เพียงพอต่อการทดลองและดำเนินโครงการประหยัดพลังงานใหม่ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ Solar Cooling ที่นำแสงอาทิตย์มาผลิตน้ำเย็นในระบบปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าส่วนอื่นๆ “เพราะระบบปรับอากาศกินพลังงานมากที่สุด” ทั้งยังมีการรีไซเคิลน้ำมันพืชใช้แล้วเพื่อผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้กับระบบขนส่งลำเลียงสินค้า ผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะ เช่น ผักผลไม้เน่าเสีย นำไปผลิตไฟฟ้าต่ออีกทอด

อีกทั้งสาขาใหม่นี้ยังให้โอกาสทดสอบการใช้กังหันลม 3 ต้น เปลี่ยนพลังลมเป็นกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตีเป็นไฟฟ้าโดยเฉลี่ย 30 หน่วยต่อวัน สามารถเก็บสะสมไฟฟ้าไว้ใช้ได้อีกด้วย หนำซ้ำกลับกลายเป็นไฮไลต์ที่สวยดึงดูดความสนใจผู้คนที่ผ่านไปมาอย่างมาก

อีกเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ การจับมือเป็นพันธมิตร “กรีน” กับฟิลิปส์ พัฒนาหลอดไฟที่สามารถปรับระดับความเข้มของแสงตามความสว่างของแสงอาทิตย์ได้เป็นครั้งแรกในเมืองไทย ทั้งยังสร้างสถิติมีป้ายสโตร์ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ประหยัดพลังงานมากถึง 70% ด้วยไฟ LED (Light-Emitting Diode)

กรีนสโตร์ศาลายาจึงกลายเป็น “กรีนสโตร์” ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีโครงการประหยัดพลังงานทั้งหมดกว่า 50 ซึ่งเป็นผลงานเก่าจากกรีนสโตร์แห่งแรก 27 รายการ สามารถประหยัดพลังงานได้ 30% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,500 ตัน/ปี หรือ 40% ขณะที่สาขาพระราม 1 ประหยัดพลังงานได้เพียง 15 %

แผนภูมิประหยัดพลังงาน สาขาศาลายา (Diagram)
ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด : 800 กว่าล้านบาท
ค่าใช้จ่ายเฉพาะระบบประหยัดพลังงาน : 108 ล้านบาท
เป้าหมายรวม -1) ลดการใช้พลังงาน 30 % สำหรับสาขาที่มีขนาดเดียวกันหรือ 3 กิโลวัตต์ (ประหยัดได้ 12 ล้านบาทต่อปี) 2) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ 40 % (2,500 ตันต่อปี)

1) โครงการพลังงานหมุนเวียน 6 โครงการ (ลด 10%) เช่น Bio-Diesel*** Bio-Gas***
2) โครงการออกแบบใหม่ 30 โครงการ (ลด 11%) เช่น สระน้ำขนาดใหญ่ระบายความร้อน เครื่องทำน้ำเย็น** ระบบฉนวนหลังคา ระบบปรับความสว่างอัตโนมัติทั้งอาคาร***
3) โครงการประหยัดพลังงานมาตรฐาน 14 โครงการ (ลด 9%) เช่น เครื่องปรับความถี่กระแสไฟฟ้า (VSD) คอมพิวเตอร์ควบคุมระบบทำน้ำเย็น ระบบฟลูออเรสเซนต์ปรับความเข้มแสงอัตโนมัติ*

*** เป็นโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นในศาลายา

อุปสรรคสำคัญของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในปัจจุบัน
– ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ถูกมองว่าเป็นผู้ก่อมลพิษ ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซ CO2 และสร้างขยะจำนวนมหาศาล นอกจากต้องปฏิบัติตามโควตาของปล่อยกาซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโต ยังเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์
– หลายปีที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีกส่งขนาดใหญ่ต้องเผชิญกับแรงต้านด้านการรุกขยายสาขาโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชน รวมไปถึงการทำลายธุรกิจโชห่วยท้องถิ่น หรือการจัดการที่ขัดต่อศีลธรรม เช่น ใช้แรงงานเด็ก วางยาสุนัขจรจัด เป็นต้น บางรายมีปัญหาเรื่องอาหารเป็นพิษ
โอกาสใหม่จากการชู “ธุรกิจสีเขียว”
– ลดค่าใช้จ่ายระยะยาว ทั้งการประหยัดพลังงาน และลดของเสีย (ของสด, น้ำมันพืชใช้แล้ว เป็นต้น)
– สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับชุมชน ลดแรงต้าน และช่วยจูงใจให้พนักงานและผู้บริโภคจงรักภักดีกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น
– โอกาสต่อยอดธุรกิจเข้ากับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเช่นที่ Tesco PLC กำลังดำเนินการอยู่ เช่น บัตรสะสมแต้มรีไซเคิลขยะ หรือแม้แต่ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต