ปั้นธุรกิจด้วย Social Networking

www.investasiaonline.com เว็บไซต์ที่พยายามรวมกลุ่มของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อเป็นแหล่งรวมข้อมูลความรู้ในการลงทุน พัฒนาขึ้นโดยนำหลักการของ Social Networking มาใช้ด้วยเป้าหมายที่คาดว่าจะทำให้นักลงทุน Engage กับชุมชน และเป็นการใช้รูปแบบชุมชนออนไลน์ขยายฐานลูกค้าอย่างไร้ขีดจำกัด

ในมุมมองธิติ ธาราสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซ์วิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งคลุกคลีอยู่ในแวดวงการศึกษาจากการเป็นอาจารย์พิเศษสอนด้านไอทีให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง และอีกหลายสถาบัน ซึ่งสนใจศึกษาเรื่อง Social Networking มาอย่างต่อเนื่อง

เขามองว่า กลไกของ Social Networking ไม่ต่างจากการศึกษาระบบ Child Center ซึ่งเป็นรูปแบบของการรวมศูนย์เหมือนๆ กัน แต่ Social Networking แตกต่างตรงที่เมื่อรวมศูนย์แล้วมีการกระจายออก จึงเป็นรูปแบบที่ธิติเลือกเสนอให้บริษัทนำมาใช้กับการพัฒนาเว็บไซต์สำหรับกลุ่มนักลงทุน แทนวิธีที่จะเจาะเข้าตลาดแบบเฉพาะกลุ่มตามแนวคิดเดิม

“ในโลกแห่งความจริงกับโลกออนไลน์ ก็ไม่ต่างกัน การมีเพื่อนแนะนำให้รู้จักใครหรืออะไรสักอย่างทำให้เราตอบรับได้ง่ายและเร็วขึ้น เราก็จับเอาจุดที่ให้เพื่อนแนะนำ มาเป็นกลไกในการขยายกลุ่มเป้าหมายสร้างรูปแบบให้เกิดการพบปะกันบนออนไลน์ในกลุ่มนักลงทุน”

เว็บไซต์อินเวสท์เอเชียออนไลน์เริ่มต้นเปิดตัวมาไม่ถึง 2 ปี ปัจจุบันเป็นชุมชนออนไลน์ที่มีนักลงทุนเข้ามาเป็นสมาชิกประมาณเกือบ 1 แสนราย จากหลายประเทศในเอเชีย

ขณะที่นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งเปิดดำเนินการมากว่า 30 ปี มีนักลงทุนรวมประมาณ 3 แสนคน และมีเพียง 1 ใน 3 หรือประมาณ 1 แสนคนเท่านั้นที่เป็นนักลงทุนที่ลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งธิติให้ความเห็นว่าเป็นเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ไทยใช้วิธีการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายเดิมๆ ทำให้นักลงทุนไม่ขยายตัวออกไปในวงการ

ข้อได้เปรียบของ Social Networking นอกจากทำให้สินค้าได้รับการแนะนำบอกต่อ ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในอนาคตเพิ่มขึ้น เพราะการบอกต่อเป็นการกระจายสินค้าไปยังกลุ่มที่เป็นทั้งกลุ่มเป้าหมายและที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย แต่บริษัทคาดว่ามีโอกาสที่จะเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มเป้าหมายได้ในอนาคต

อีกสิ่งหนึ่งที่ได้แน่ๆ จากรูปแบบของ Social Networking คือการประหยัดต้นทุนการดำเนินงานเมื่อเทียบกับการทำตลาดแบบเดิมๆ เพราะประหยัดทั้งต้นทุนการเงินและเวลาแถมยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า

เช่น กรณีของเน็กซ์วิว ซึ่งมีข้อมูลเป็นสินค้า ถ้าเป็นการขายผ่านการอบรมในรูปแบบเดิม จะต้องลงทุนตั้งแต่การจัดหาสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก จัดหาวิทยากร ที่ล้วนเป็นต้นทุนทั้งสิ้น แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่พวกเขาสามารถสร้างชุมชนออนไลน์แล้วเปิดทำตลาดกับกลุ่มนักลงทุนที่สนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้ทันที

เขาเชื่อว่า จุดขายของอินเวสท์เอเชียฯ แตกต่างจากคอมมูนิตี้เว็บอื่นๆ ตรงที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เป็นชุมชนของนักลงทุนที่ต้องการข้อมูลเพื่อการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นความต้องการของคนที่เข้ามาจึงไม่ใช่แค่การรู้จักกันในหมู่นักลงทุนเท่านั้น แต่ยังคาดหวังถึงข้อมูลที่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุนได้จริง

อินเวสท์เอเชียฯไม่เหมือนเว็บ Social Networking อื่นที่เมื่อสร้างชุมชนสำเร็จก็จะนำจำนวนสมาชิกในชุมชนไปเป็นจุดขายให้กับสินค้าหรือแบรนด์ที่จะเข้ามาหากลุ่มเป้าหมาย แต่เป็นการสร้างชุมชนขึ้นเมื่อเพื่อซัพพอร์ตธุรกิจของตัวเอง แต่การทำตลาดบนชุมชนก็ไม่ได้แตกต่างไปจากรูปแบบที่เจ้าของสินค้าหรือแบรนด์อื่นๆ ใช้กันในตลาดเท่าไรนัก

การทำตลาดบนชุมชนออนไลน์ที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปจะมีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่ การทำตลาดแบบ Direct และ Indirect

“Direct คือการที่แบรนด์หรือเจ้าของสินค้าเข้าไปหากลุ่มเป้าหมายในชุมชนออนไลน์โดยตรง ซึ่งมักจะมีอุปสรรค ส่วนใหญ่จึงนิยมใช้ Indirect ที่นิยมมากคือการสร้างตุ๊กตา แล้วอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นกูรูเพื่อเผยแพร่ความรู้แทรกตัวเข้าไปหากลุ่มต่างๆ พยายามทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความศรัทธาแล้วใช้แบรนด์ตามเข้าไป ซึ่งต้องหาวิธีที่เนียนมากๆ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยตอบรับการตลาดแบบ Aggressive ส่วนใหญ่จึงต้องเน้นการสอดแทรกในเชิงจิตวิทยา”

เน็กซ์วิวเองก็ใช้กลยุทธ์แบบ Indirect เช่นกัน เทคนิคการตลาดของเน็กซ์วิว คือการใช้ Top 5 กูรูด้านเศรษฐกิจการลงทุนจากประเทศต่างๆ ทั้งในอเมริกา แคนาดา จีน สิงคโปร์ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เชื่อถือของกลุ่มนักลงทุน

“เราไม่ขายตรง แต่เราจะให้กูรูทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้กลุ่มนักลงทุน หน้าที่ของเขาคือออกมาพูดหรือทักทายคนทุกวันหรือเขียนบทความ ถ้าข้อมูลที่เขาสอนทำให้นักลงทุนเชื่อจะทำให้เกิดความศรัทธาแล้วสอดแทรกโปรดักส์เข้าไป นักลงทุนจะดูว่ากูรูแต่ละคนใช้กราฟ ชาร์ตของอะไร ใช้ตัวชี้วัดหรือโปรดักส์ของใคร ถ้าเขาอยากเก่งแบบกูรูเขาก็จะเลือกใช้โปรดักส์เดียวกัน นั่นก็คือกลยุทธ์ในการขายทางอ้อม การทำให้เขาศรัทธาใครสักคนจะทำให้มองข้ามจุดด้อยของคนคนนั้นและมองข้ามการขายไปด้วย”

ในฐานะ Data Vender ซึ่งต้องมีการพัฒนาโปรดักส์อย่างต่อเนื่อง อินเวสท์เอเชียฯ จึงเป็นชุมชนออนไลน์ที่ให้ประโยชน์กับเน็กซ์วิวด้านการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาโปรดักส์ได้ด้วย โดยการเก็บข้อมูลจากคำถามหรือปัญหาของนักลงทุนที่โต้ตอบกับกูรูมาเป็นข้อมูล

ณ วันนี้ ชุมชนออนไลน์ในกลุ่มนักลงทุนจะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ของโลกออนไลน์ แต่ธิติถือว่าสิ่งที่เน็กซ์วิวทำมาประสบความสำเร็จไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมของนักลงทุนไทยซึ่งนิยมหาข้อมูลฟรี มายอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้า

“นักลงทุนไทยมีทั้งตลาดหลักทรัพย์และโบรกเกอร์ต่างๆ ที่โพรไวด์ซอฟต์แวร์และข้อมูลให้ แต่วันนี้มีคนเกือบ 2 พันรายที่ยอมจ่ายเงิน 1,200-2,000 บาทต่อเดือนเพื่อซื้อโปรดักส์ของบริษัท”

ในมุมของธิตินี่คือโมเดลของ Social Networking ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในการสร้างชุมชนของตัวเอง แต่ในอีกมุมหนึ่งธุรกิจของเน็กซ์วิว ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่านอกจากชุมชนออนไลน์สำหรับคนหมู่มาก ในประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาชุมชนออนไลน์ในรูปแบบที่เป็นชุมชนเฉพาะกลุ่มขึ้นได้ไม่น้อยหน้ารูปแบบการหารายได้บนออนไลน์ที่เห็นกันในต่างประเทศ