แม้จะตกที่นั่งขาดทุนอยู่หลายหมื่นล้านบาท แต่ Hutch ก็ไม่เคยท้อถอย ล่าสุดเปิดตัวซิมการ์ดรุ่นใหม่ “ซิม เดอเรลล่า” (Sim Derella) จำนวนจำกัด 50,000 อัน เอาใจคนโทรหนัก
การออกซิมใหม่ครั้งนี้ เป็นผลมาจากทำ Customer Insight ประมาณ 500 คน เป็นเวลา 1 เดือน ในกรุงเทพฯ พบว่าผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยต้องการโปรโมชั่นที่สามารถรองรับ “คนโทรหนักช่วงพีค” และมักมีซิมมือถือมากกว่า 1 เบอร์
Hutch มองว่า นี่คือช่องว่างทางการตลาดให้ Hutch เปิดตัว “ซิม เดอเรลล่า” ฟังปุ๊บรู้ปั๊บว่ามาจาก “ซินเดอเรลล่า” สัญลักษณ์ของการ “หมดเวลา” ยามเที่ยงคืน ทั้งยังนำรองเท้าแก้วคู่กายซินเดอเรลล่ามาเป็น “ไอคอน” สร้างจุดเด่นให้แคมเปญ
ทำเอาคนโทรหนักต้องตาลุกวาวเพราะโทรได้ทุกเครือข่าย ครอบคลุมเวลาที่ใช้กันบ่อย จ่ายเพียงค่าซิมการ์ด 299 บาท + 15 บาท ต่อวัน โทรช่วงเที่ยงวันถึงเที่ยงคืน (โทรนอกเวลาโปรโมชั่น 1 บาทต่อชั่วโมง) สำหรับลูกค้าใหม่ที่ต้องคิดหนักเพราะซิมการ์ดนี้ต้องใช้เฉพาะกับโทรศัพท์ของ Hutch เท่านั้น บริษัทก็แก้ปัญหาด้วยการเข็นโทรศัพท์รุ่นที่ถูกที่สุดออกมาขายร่วมด้วย คือ C2905 ราคา 1,850 บาท
สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการคลอดซิม “โทรหนัก” ของ Hutch ก็คือการพยายามเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย เพราะครั้งนี้บริษัทผลักหน้าที่ขายให้ตัวแทนทั้งหมด อันเป็นกลยุทธ์ขยายเครือข่ายช่องทางขายตามเคาน์เตอร์ หลังจากที่ได้รับการตอบรับดีจากโปรโมชั่นเก่าปีที่แล้ว “โทรไม่อั้น 3 ช่วงเวลา” ทำให้มีตัวแทนหันมาขายซิม Hutch มากขึ้นถึง 20%
ส่วนการวางจำหน่าย “ซิม เดอเรลล่า” เพียงแค่ 50,000 อัน นอกจากจะเป็นเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพของเครือข่ายที่ยังต้องปรับปรุงอีกมาก ยังเป็นการรอดูท่าทีข้อพิพาทเรื่องค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ว่าอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ทำให้ Hutch ต้องจ่ายค่า IC อย่างผู้ให้บริการมือถือค่ายอื่นเช่น AIS หรือ DTACหรือไม่
ทั้งนี้ Hutch ใช้เทคโนโลยี CDMA ซึ่งต่างไปจากค่ายอื่น จึงมีข้อได้เปรียบด้านสัมปทานที่ขณะนี้ยังไม่ต้องจ่ายค่า IC จึงสามารถทำตลาดโทรไม่อั้นทุกเครือข่ายได้
แม้จะเหลือกำไรติดกระเป๋าเพียงเล็กน้อย…Hutch บอกว่า “แค่นี้ก็พอใจแล้ว” เพราะเป้าหมายคือการใช้ความได้เปรียบนี้เร่งเพิ่มปริมาณเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย และสร้าง Brand Awareness ให้เข้มแข็งมากขึ้น ในกลุ่มลูกค้าหลักของ Hutch ซึ่งเป็นกลุ่มระดับ C+ ได้แก่ คนค้าขายทั่วไปและนักเรียนนักศึกษา
Did you know?
หากปรับปรุง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมเรียบร้อยแล้ว ประกาศของ กทช.ในเรื่อง IC จะมีผลบังคับใช้กับผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งผู้รับใบอนุญาต คือทีโอที – กสท และเอกชนผู้รับสัมปทาน