Cyber trends : March 2008

เพลงออนไลน์ยุคใหม่ ไม่ห้ามก๊อบฯ

ตลาดขายเพลงออนไลน์ยังอยู่ในระยะตั้งไข่ ผู้ใช้และผู้ขายต่างก็ยังทดลองระบบอยู่ และล่าสุด Big Trend ตั้งแต่กลางปีที่แล้วถึงต้นปี 2008 นี้ คือการ “เลิกห้ามก๊อบปี้” ก็คือเลิกใส่ระบบป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ Digital Rights Management หรือ DRM ที่อนุญาตให้แต่เล่นบนเครื่องเดียว ห้ามก๊อบปี้ไปเล่นบนเครื่องอื่นๆ ซึ่งระบบนี้ค่ายเพลงใหญ่เมืองไทยอย่างแกรมมี่เคยนำมาทดลองใส่บนแผ่นซีดีก่อนจะมีเสียงบ่นจากปัญหามากมายบนเว็บบอร์ดต่างๆ จนยกเลิกไป

แนวโน้มนี้เกิดขึ้นเพราะบริษัททั้งหลายที่ใส่ DRM ต่างก็ทำยอดขายแพ้พวกที่ไม่ห้ามก๊อบปี้ ยืนยันอีกทีด้วยผลวิจัยจากบริษัทวิจัยธุรกิจด้านนี้หลายแห่งที่พบใกล้เคียงกันว่ายอดขายเพลงออนไลน์โดยไม่ติด DRM นั้น ทำยอดขายได้มากกว่ารายที่ติด DRM มาก เช่นในอังกฤษนั้นสูงกว่าถึง 4 เท่า จนเมื่อเข้าสู่ปีนี้ผู้ประกอบการตัวกลางขายเพลงหรือค่ายเพลงในสหรัฐฯ ทั้งหลายต่างก็ยกเลิกระบบ DRM ที่ยุ่งยากนี้กันถ้วนหน้า

ครึ่งปีหลังของ 2007 นั้น 3 ค่ายเพลงยักษ์ระดับโลกยกเลิก DRM ติดๆ กันเป็นขบวน เริ่มด้วย EMI ที่หลังจากยกเลิก DRM ไปเมื่อกลางปี 2007 ที่ผ่านมา EMI ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ก็ประกาศตัวเลขยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด บางเพลงนั้นสูงขึ้นถึงกว่า 350 เปอร์เซ็นต์ภายในสัปดาห์แรกที่ยกเลิก DRM จากนั้นต่อด้วยเดือนสิงหา 2007 ที่ Universal ที่ประกาศทดสอบขายเพลงแบบไร้ DRM ผ่านเว็บ Amazon, RealNetwork, BestBuy และ Wal-Mart ไปถึงสิ้นปี 2008 และตามด้วยปลายปีที่อีกค่าย Warner Music หันมาขายเพลงแบบไร้ DRM บ้างโดยขายผ่านบนร้านออนไลน์บนเว็บ Amazon

และล่าสุดมกราฯต้นปี 2008 ค่าย Sony BMG ก็ประกาศขายเพลงออนไลน์ MP3 แบบไร้ DRM บ้าง เปิดให้ผู้ซื้อนำเพลงไปก๊อบปี้ลงมือถือหลายเครื่อง คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่น MP3 กี่ครั้งก็ได้ตามพอใจ โดยจะทำตลาดในชื่อ Platinum MusicPass เริ่มที่ตลาดกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือก่อน โดยยังไม่มีแผนใช้กับญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ อย่างไทย ซึ่งที่สหรัฐฯ นั้น บริการ MusicPass จะเป็นบัตรเติมเงินวางขายในร้านค้าปลีก 4,500 แห่งของโซนี่ทั่วสหรัฐฯ โดยบัตรโหลดเพลงราคา 12.99 เหรียญนี้จะมีหมายเลขหลังบัตรให้ผู้ซื้อขูดแล้วนำไปล็อกอินและดาวน์โหลดไฟล์เพลงที่ต้องการ

ส่วนตัวกลางอีคอมเมิร์ซที่ไม่ใช่ค่ายเพลงอย่าง Amazon นั้นก็เพิ่งประกาศเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่าจะเปิด MP3 Store International แบบไร้ DRM สำหรับทั่วโลกภายในปี 2008 นี้ ซึ่งเหตุผลที่แถลงออกมาคือ Amazon นั้นได้รับอีเมลจากลูกค้ารอบโลกเรียกร้องว่าอยากซื้อเพลง MP3 ไร้ DRM เหมือนลูกค้าในสหรัฐฯ บ้าง ซึ่งปัจจุบัน Amazon MP3 Store มีเพลงไร้ DRM พร้อมขายอยู่มากที่สุดบนอินเทอร์เน็ต

ทำให้ตอนนี้เหลือยักษ์ใหญ่รายเดียวที่ยังขายเพลงแบบมี DRM อยู่ คือ “ไอจูนส์” (iTunes) และการเลิก DRM ของคู่แข่งหลายรายก็เป็นความพยายามในการแย่งลูกค้าจากไอจูนส์ซึ่งครองตลาดส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุด CEO ชื่อดังของแอปเปิลคือ Steve Jobs ก็เขียนบทความว่าพร้อมจะถอด DRM บ้างถ้าค่ายเพลงส่วนใหญ่ต้องการให้เลิก บ่งชี้ว่า iTunes คงต้องยกเลิก DRM บ้างเร็วๆ นี้ ส่วนในไทยนั้นระบบขายเพลงออนไลน์ยักษ์ใหญ่ 2 รายก็ใช้แตกต่างกัน คือแกรมมี่ยังมี DRM ส่วน RS นั้นไร้ DRM

Microsoft เสนอเกือบห้าหมื่นล้านดอลล์ขอฮุบ Yahoo

ข่าวใหญ่วงการไอทีรับเดือนกุมภาพันธ์แห่งวาเลนไทน์ ที่ยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ได้ยื่นสินสอด 4.46 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในข้อเสนออย่างเป็นทางการไปยังกรรมการบริหารบริษัท Yahoo ว่าจะขอซื้อหุ้นส่วนใหญ่เพื่อเข้าครอบงำกิจการ คิดเป็นเงินไทยถึงราว 1.4 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาขยายตลาดโฆษณาออนไลน์ของไมโครซอฟท์ให้มีเม็ดเงินสูงขึ้นและมีลูกค้ามากขึ้นอย่างรวดเร็วทันที

ช่วง 2 ปีหลังนี้ วงการสื่ออินเทอร์เน็ตสหรัฐฯ ฮือฮากับข่าวลักษณะนี้ไปแล้วหลายครั้ง เช่นการที่ Google ซื้อ YouTube 1.6 พันล้านเหรียญฯ และซื้อ DoubleClick บริการตรวจวัดเรตติ้งบนเว็บ 3.1 พันล้านเหรียญฯ และ Microsoft เองก็ซื้อ aQuantive เอเยนซี่โฆษณาบนเน็ต 6 พันล้านเหรียญฯ ซึ่งแพงที่สุดที่ไมโครซอฟท์เคยซื้อกิจการมาหลายครั้ง แต่ทุกดีลที่กล่าวมาทั้งหมดรวมกันก็ยังไม่ถึงครึ่งของดีลเสนอซื้อ Yahoo ครั้งนี้ที่แม้จะยังไม่มีการตอบรับแต่ก็เป็นข่าวใหญ่ไปทั้งวงการ

นักวิเคราะห์ด้านการเงินหลายคนในสหรัฐฯ เปิดเผยมีกองทุน hedge fund หลายรายกำลังสนใจจะทุ่มซื้อยาฮูอยู่เพราะราคาหุ้นตกมามาก ซึ่งหากกองทุนเก็งกำไรเหล่านี้ทำจริงจะทำให้ราคาหุ้นยาฮูดีดตัวกลับขึ้นมามากอย่างรวดเร็ว ข่าวแบบนี้จึงบีบให้ไมโครซอฟท์ต้องรีบชิงเสนอซื้อก่อน โดยที่ Microsoft นั้นมีความพร้อมทางการเงินอยู่แล้ว โดยในปี 2007 ที่ผ่านไปนั้นไมโครซอฟท์มีรายได้ราวๆ 5 หมื่นล้านเหรียญ และเป็นกำไรอยู่ 1.4 หมื่นล้านเหรียญฯ ในขณะที่ยาฮูนั้นมีรายรับ 6.7 พันล้านแต่ผลกำไรหลายปีหลังยังลุ่มๆ ดอนๆ ส่วนกูเกิลคู่ปรับมาแรงนั้นมีรายรับ 1.66 หมื่นล้านเหรียญฯ และมีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น

ดีลนี้ยังมีคู่แข่งรายใหญ่อีกเจ้าคือ News Corporation ของ Rupert Murdoch เจ้าของเครือ Fox และเว็บ MySpace ที่โด่งดังและสนใจขอซื้อ Yahoo เพื่อมาขยายธุรกิจโฆษณาออนไลน์จากเดิมที่อยู่บนฐานของ Myspace เป็นสำคัญ

Youtube บนมือถือ จากพันคลิปสู่สิบล้าน

ยูทูบ (YouTube) เว็บไซต์วิดีโอคลิปที่โด่งดังมาหลายปี มีถึง 10 ล้านไฟล์ แต่ว่าในช่วงหลายปีแรกนั้นมีเพียงไม่กี่พันคลิปเท่านั้นที่ดูได้บนมือถือผ่าน m.youtube.com เพราะคลิปในยูทูบนั้นเป็นไฟล์ Flash (FLV) ส่วนมือถือส่วนใหญ่นั้นดูได้แต่ไฟล์ 3gp, wmv, mpg โดย 3gp นั้นขนาดไฟล์เล็กสุดและเปิดดูได้มากรุ่นมือถือ

ล่าสุด 24 มกราที่ผ่านมา กูเกิลจึงปรับ m.youtube.com สำหรับมือถือให้มีครบ 10 กว่าล้านไฟล์เท่าๆ กับเวอร์ชั่นปกติบนคอมพิวเตอร์ โดยทั้งหมดจะเป็นคลิปแบบ 3gp ซึ่งการปรับใหญ่ครั้งนี้มองในแง่การตลาดแล้วจะช่วยเพิ่มฐานจำนวนผู้เข้าชม Youtube ได้อีกมหาศาลโดยเฉพาะในประเทศที่มีเครือข่าย 3G ที่ผู้ใช้ดาวน์โหลดคลิปยาวๆ ใหญ่ๆ ได้ในราคาเหมาจ่ายไม่แพง

แต่สำหรับ 2.5 G ผ่าน GPRS อย่างในไทยที่คิดค่าใช้จ่ายผ่านขนาดไฟล์นั้น ผู้ใช้คงต้องเช็กความยาวคลิปซึ่งหมายถึงขนาดไฟล์ให้ดีทุกครั้งก่อนตัดสินใจเปิดโหลดดู เพราะแต่ละวินาทีนั้นเป็นเงินทั้งสิ้น

ส่วนการอัพโหลดส่งคลิปวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือขึ้นสู่ยูทูบนั้น ต้องติดตั้งโปรแกรม “YouTube for Mobile” ลงในมือถือก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังติดตั้งใช้ได้ก็แต่บนเครื่องรุ่นใหม่ๆ ของโนเกีย และโซนี่อิริคสัน

บุกทีวี เริ่มที่พานาฯ

แม้จะใหญ่โตโด่งดังในโลกอินเทอร์เน็ตบนคอมพิวเตอร์แค่ไหน แต่ Youtube ก็ยังไม่พอใจ เดินหน้าขยายช่องทางไปสู่มือถือ และล่าสุดคือมาสู่ทีวี โดยเริ่มทดสอบกับโทรทัศน์ Panasonic รุ่นใหม่รับต้นเดือนมกราฯที่ผ่านมาเป็นทีวีจอพลาสม่าที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยที่เว็บไซต์ตั้งต้นคือ Youtube โดยจะเปิดขายอย่างเป็นทางการในสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ ช่วงกลางปีนี้ ซึ่งทาง Matsushita Electric เจ้าของแบรนด์พานาโซนิคนั้นถึงกับแถลงเรียกความสนใจในงาน CES 2008 โดยเรียกทีวีรุ่นใหม่นี้ด้วยชื่อชั่วคราวว่า “Youtube TV” เลยทีเดียว

ส่วนคู่แข่งของพานาโซนิคอย่างโซนี่ ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ประกาศในงานเดียวกันว่าจะวางขายทีวีที่เข้าเน็ตได้ในกลางปีนี้เช่นกัน และยังสามารถรับสัญญาณสตรีมมิ่งวิดีโอความละเอียดสูงจาก Sony Pictures Entertainment และ Sony BMG Music ในลักษณะ IPTV ได้อีกด้วย

WordPress.com ทุ่มความจุสู้ Social Networking

Automattic ผู้ให้บริการเว็บบล็อกชื่อดัง wordpress.com ตัดสินใจเพิ่มเนื้อที่ส่วนตัวของผู้ใช้ทุกคนจาก 50 MB เป็น 3 GB มากกว่าคู่แข่งสำคัญอย่าง Blogger ของกูเกิลถึง 3 เท่า และเพื่อแข่งขันกับเว็บไซต์ประเภท Social Networking ที่มาทีหลังแต่ดังแรงกว่า ดึงดูดผู้คนและธุรกิจรวมถึงแบรนด์ต่างๆ ไปเขียนบล็อกบนนั้นแทน เพราะนอกจากจะเขียนบล็อก ยังทำอัลบั้มรูป และมีรายชื่อเพื่อนกับความเคลื่อนไหวในวงสังคมของเราให้ได้ติดตามและพูดคุยกันง่ายๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย