“เซ็นเตอร์ พ้อยท์” ได้ฤกษ์ย้ายบ้านใหม่มาอยู่ชายคาของเซ็นทรัล เวิลด์ ซึ่งมีพื้นที่เหลือเฟือ ใหญ่กว่าเดิมเกือบ 10 เท่า โดยได้แรงหนุนจาก CPN ที่หวังจะใช้เป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้าวัยรุ่น
กระนั้น พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินฟินิตี้ มอลล์ จำกัด ก็บอกว่า หากพูดถึงเรื่องโลเกชั่นแล้ว สยามสแควร์ยังคงเป็นต่อ ชนิดที่เรียกว่าหาใครเทียบได้ยาก
เมื่อโจทย์ใหม่ “ยากกว่าเดิม ใช้เงินทุนเยอะกว่าเดิม” จึงเป็นที่มาของการร่วมทุนกับศิรเดช ฐิตะฐาน เปิดบริษัท อินฟินิตี้ มอลล์ จำกัด เพื่อลุยตลาด Lifestyle Mall เจาะวัยทีนโดยเฉพาะ ด้วยเงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท และงบสำหรับการทำกิจกรรม การบริหารต่างๆ กว่า 1,200 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเช่าพื้นที่ 10 ปี
ด้าน กอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) คาดหวังกับแม่เหล็กใหม่นี้ ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเซ็นทรัล เวิลด์ได้ “คนชอบสถานที่ Dynamic ชอบสถานที่ที่มีชีวิตชา และพลังอยู่ในตัวคนหนุ่มคนสาว ทำให้เปลี่ยนบรรยากาศของศูนย์ฯ ได้ ”
นอกจากจะได้พื้นที่ใหญ่กว่าเดิมเกือบ 10 เท่า (จาก 1,500 ตร.ม. เป็น 10,000 ตร.ม.) “ระยะเวลา” การให้บริการยังนานกว่าเก่า ทำให้โอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายย่อมมากขึ้นไปด้วย
“ปกติที่เก่า ทุ่มหรือสองทุ่ม เด็กๆ ก็กลับกันแล้ว แต่ที่นี่เปิดปิดตามเวลาศูนย์การค้า และอย่าตกใจถ้าเห็นเด็กแต่งคอลเพลสย์เดินกันเต็มไปหมด” พรนริศบอก
เซ็นเตอร์ พ้อยท์ แห่งใหม่ออกแบบโดยบริษัท This Design ซึ่งมีผลงานเลื่องชื่อกับการออกแบบ TCDC และคิดการใหญ่ด้วยการดึง Tenant ดังๆ จากเกาหลี ญี่ปุ่น มาเปิดเพื่อความเป็นออริจินัล
“อีเวนต์” จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ใช้ดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย โดยส่วนผสมระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกศูนย์ฯ ทำให้เขาเชื่อว่าจะเกิดอีเวนต์ที่นี่เกือบ 300 อีเวนต์ต่อปี ซึ่งรายได้จากอีเวนต์ในเบื้องแรกจะคิดเป็นสัดส่วน 25% ขณะที่ค่าเช่าคิดเป็น 75% แต่หลังจากนั้นภายใน 3 ปี พรนริศเชื่อว่าตัวเลขจะกลับกัน ซึ่งเป็นประสบการณ์เดิมที่เคยสัมผัสมา
แม้จะเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นขนาดใหญ่ แต่เขาบอกว่าที่นี่ไม่ทิ้งสาระ การเรียนรู้จะเน้นนอกเหนือจากตำเรียน แบบที่พรนริศเอ่ยอย่างติดตลกว่า “สอนทุกอย่างที่แม่ห้าม”
Positioning Ultimate Teen Setter
Project Detail พื้นที่ชั้น 7 และชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ รวม 10,000 ตร.ม. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Technotainment เสนอเทคโนโลยีในรูปแบบบันเทิง และ Urban Life Entertainment เสนอไลฟ์สไตล์ในแบบคนเมือง ประกอบด้วยร้านค้ากว่า 50 ร้าน (ขนาดตั้งแต่ 20 ตร.ม.- 1,000 ตร.ม.)
Target กลุ่มเป้าหมายเดิม คือ วัย Tween (ม.ต้น และ ม.ปลาย) ต่อเนื่องจนถึงวัยรุ่นตอนต้น นักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มเป้าหมายใหม่ จะขยายฐานไปถึงวัยทำงานอายุ 35 ปี ซึ่ง Young at Heart
Strategy ใช้งบการตลาด 20-50 ล้านบาท ใช้สื่อภายในแบบ Interactive เน้น Anchor แบบออริจินัลจากเกาหลี ญี่ปุ่น ผนวกกับอีเวนต์