เขย่าช่อง 9

ไม่เพียงแต่สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่แปลงร่างเป็น NBT และสถานีโทรทัศน์ TITV ที่เปลี่ยนชื่อ และคอนเซ็ปต์ใหม่ มาเป็นโทรทัศน์สาธารณะในชื่อ“ไทย พีบีเอส” สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท ก็กำลังถูก “เขย่า” อย่างแรง อันเป็นผลมาจากจากความต้องการควบคุมสื่อของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ว่าผลจะลงเอยอย่างไร มาอ่านบทสัมภาษณ์ “วสันต์ ภัยหลีกลี้” กับจุดเปลี่ยนทีวีไทย จะทำให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่น่าติดตาม

แรงกระเพื่อมของการเปลี่ยนแปลงนี้ มาจาก “จักรภพ เพ็ญแข” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศต่อหน้าผู้สื่อข่าวในวันเปิดตัว ว่า ต้องการเปลี่ยนแปลง “วสันต์ ภัยหลีกลี้” ออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท จำกัด (มหาชน)

โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นเพราะผลประกอบการ อสมท ไม่เข้าเป้า มีการซ่อนตัวเลขขาดทุนอยู่ถึง 29 ล้านบาท

การปลดครั้งนี้ อาจไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายนัก เพราะมีกระแสข่าวมาพักใหญ่ บวกกับหลังจากมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารในหลายหน่วยงาน และโทรทัศน์ ก็เป็น “สื่อ” ที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการเข้ามาควบคุมดูแลเป็นพิเศษ เช่น กรณีของช่อง 11

แต่เหตุผลที่จักรภพใช้อ้างในครั้งนี้ ดูไม่ชอบธรรม และไม่มีน้ำหนักมากนัก เพราะถ้าถามคนในวงการโฆษณาต่างก็รู้ดีว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี2551 มีเหตุการณ์พิเศษ คือ การเสด็จสู่สวรรคาลัย ของสมเด็จพระพี่นางฯ สถานีโทรทัศน์จึงได้ร่วมกันงดรายการบันเทิง โฆษณาทางทีวี ในช่วงสองเดือนแรกจึงต่ำกว่าปกติ เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะช่อง 9 แต่เกิดกับสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง

การออกมาเคลื่อนไหวของจักรภพ จึงถูกตอบโต้อย่างหนักจากหลายฝ่าย ว่าเป็นการแทรกแซงองค์กร อาจผิดกฎหมายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำข้อมูลภายในออกมาเปิดเผย

ไม่ว่าการปลด กรรมการผู้อำนวยการ อสมท จะเป็นผลหรือไม่ก็ตาม แต่คงไม่ถูกเปลี่ยนแปลง ชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เหมือนกับ ทีไอทีวี และช่อง 11 เพราะช่อง 9 นั้น เป็นบริษัท ที่รัฐบาลถือหุ้น และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากรัฐบาลผลีผลามทำอะไรลงไป ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้าง

การปลดวสันต์ ภัยหลีกลี้ นับได้ว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการที่รัฐบาลต้องการเป็นผู้ควบคุมสื่อ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลครั้งใด ก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้อำนวยการสถานี ซึ่งเกิดขึ้นทั้งช่อง 9 และสถานีโทรทัศน์ช่อง 5

อย่างไรก็ตาม นิตยสาร POSITIONING มีโอกาสได้สัมภาษณ์วสันต์ ถึงมุมมองที่กำลังเกิดขึ้นกับทีวีไทย ไว้ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

วสันต์ มองว่า สถานีโทรทัศน์ของไทย กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งแบ่งสื่อออกเป็น 3 ประเภท คือ สาธารณะ เชิงพาณิชย์ และสื่อชุมชน

สื่อ จะเกิดการกระจายตัวมากขึ้น คือ ในแง่ของความเป็นเจ้าของ จะไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในมือของรัฐ หรือเอกชนบางรายเช่นแต่ก่อน จะมีเอกชนรายใหม่ๆ มาเป็นเจ้าของมากขึ้น แต่เหตุการณ์นี้อาจต้องใช้เวลา ต้องรอกระบวนการ อย่างเช่น การเกิดคณะกรรมการ กสทช ซึ่งอาจใช้เวลา 2 ปีครึ่ง

นอกจากนี้ กฎหมายประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ อนุญาตให้เคเบิลทีวีมีโฆษณาได้ จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันสถานีโทรทัศน์จะรุนแรงมากขึ้น ทั้งฟรีทีวีเอง และเคเบิลทีวี จะมีรายใหม่ๆ เข้ามา โฆษณาจะถูกแชร์ไปยังทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี มีการประเมินกันว่า คงจะแชร์ไป 5-10% ของเม็ดเงินโฆษณา

“สื่อบ้านเราคงจะแข่งขันกันมากขึ้น ทั้งคุณภาพ และมีทางเลือกมากขึ้น ในลักษณะที่ เป็นนิชมากขึ้น ต่อไปจะมีช่องรายการเฉพาะเกิดขึ้นมากมาย ช่องลูกทุ่ง วัยรุ่น ช่องละคร ช่องเกม

เวลานี้เกิดขึ้นในเคเบิลทีวีแล้ว ต่อไปจะเกิดในทีวีดาวเทียม อินเทอร์เน็ตทีวี”

การกำหนด Positioning ของ อสมท เพื่อรับมือกับการจุดเปลี่ยนดังกล่าว วสันต์บอกว่า ในด้านทีวี ยังคงเน้นข่าวสารสาระ เน้นรายการสร้างสรรค์ เราจะพัฒนาตัวเราเองให้แข็งแรงขึ้น โดยจะวางตัวเป็น Content Provider และ Network Provider

นอกจากโมเดิร์นไนน์ อสมท มีรายการ mcot1 เป็นสถานีข่าว และ mcot2 เป็นวาไรตี้สเตชั่น ออกอากาศทางทรูวิชั่นส์ และมีโครงการทำช่องรายการมากขึ้น เพื่อออกอากาศ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ตทีวี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ เช่น ทีวีออนโมบาย อยู่ระหว่างทดลอง ดิจิตอล วิดีโอ บรอดคาสติ้ง กับเอส เค เทเลคอม ประเทศเกาหลี และทดลองระบบ GPRS และระบบ EDGE กับ โอปะเรเตอร์รายหนึ่งของไทย

ส่วน Network Provider นั้น มาจากการที่มีเครือข่ายช่องสัญญาณอยู่เยอะ เช่น หาก อสมท ตัดสินใจทำเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือทีวีออนโมบาย จะเปิดให้ผู้ผลิตรายการรายเล็ก มาเช่าช่อง หรือร่วมผลิตรายการ

สำหรับช่อง 9 จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การใช้คอนเซ็ปต์ “ข่าวเข้มแข็ง” ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว และกลางปีนี้จะมีการปรับผังรายการใหญ่อีกครั้ง คือ การเพิ่มน้ำหนักรายการข่าว และเพิ่มสัดส่วนรายการบันเทิงมากขึ้น”

การนำเสนอข่าวในมุมมองของวสันต์ คือ ต้องตรงไปตรงมา ไม่เน้นเรื่องความหวือหวา แต่เน้นความน่าเชื่อถือ ไม่ให้ข่าวกับความเห็นปะปนกัน ถ้าจะมีวิเคราะห์ จะทำเป็นสารคดี หรือรายการพิเศษ แต่จะนำเสนอให้ให้เข้าถึงง่าย และเป็นกันเอง ในลักษณะเดียวกันกับบีบีซี หรือซีเอ็นเอ็น ที่มี กระชับ ฉับไว ถูกต้องรวดเร็ว น่าเชื่อถือ แต่ความน่าเชื่อถือ ผู้ประกาศข่าว ต้องดูน่าเชื่อถือ มีความแม่นยำ นำผู้ชมได้

เนื่องจากรายได้จากข่าวที่เติบโตสูงขึ้น ช่อง 9 จะเพิ่มเวลาข่าวภาคเที่ยงจะเพิ่มจาก 1 ชั่วโมง เพิ่มอีก 15 นาที เสาร์อาทิตย์เพิ่ม 30 นาที ข่าวภาคค่ำ วันธรรมดาเพิ่ม 5 นาที ข่าวบันเทิง เพิ่มเวลาไปแล้วบางส่วน และจะเพิ่มอีก

ส่วนเนื้อหา บันเทิง ซึ่งมีสัดส่วน 22% เราจะขยายสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นบันเทิงสร้างสรรค์ ให้สาระ อาจจะร่วมมือกับพันธมิตรผลิต หรือเป็นเนื้อหาจากต่างประเทศ

“เวลานี้ เราแข่งกับตัวเอง เราอยากเป็นสถานีคุณภาพ ดูได้ทั้งครอบครัว และภาพรวมกลมกล่อม ไม่ให้หนักไป ดูแล้วดี แต่ทันสมัย ทำให้โปร่งใส”

วสันต์ บอกว่า การทำงานของเขาเวลานี้ หลังจากให้เวลาไปกับการบริหารจัดการองค์กร และเรื่องของเนื้อหา เขาต้องใช้เวลาไปกับการเดินทางไปโรดโชว์ เดินสายพบปะกับนักลงทุนในต่างประเทศ และเขาก็ต้องให้น้ำหนักไปกับเรื่องของ “การตลาด” มากขึ้น มีการพูดคุยกับมีเดียแพลเนอร์ และเอเยนซี่มากขึ้น ตามการแข่งขันของสื่อทีวีที่สูงขึ้น

และนี่คือบางส่วนแนวคิดของวสันต์ กับทิศทางของ อสมท และช่อง 9 ต้องรอลุ้นกันต่อว่า นโยบายและทิศทางเหล่านี้ของวสันต์ จะได้เดินหน้าต่อหรือไม่

ไม่ว่าการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่เชื่อว่า ช่อง 9 อาจไม่ได้ถูกเปลี่ยนแบบ “หน้ามือเป็นหลังมือ” เหมือนกับที่เกิดขึ้นใน ช่อง 11 และทีไอทีวี อีกทั้ง เพราะช่อง 9 ก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และผลประกอบการไม่ได้ย่ำแย่เข้าขั้นวิกฤต เพียงแต่เป็นเพราะรัฐบาลต้องการควบคุมข่าวสาร สื่อ ในมือของรัฐ ก็เลยต้องเปลี่ยนแปลงคนคุมไปตามกลไกการเมือง ส่วนคนดูจะได้ประโยชน์ และเอเยนซี่โฆษณา จะต้องวิเคราะห์ หรือคิด