บัลลังก์ 7 สีสะเทือน

ละครเรื่อง “ช่อง 7 สี” ที่มี “สุรางค์ เปรมปรีดิ์” หรือ “คุณแดง” เป็นนักแสดงนำมานาน 26 ปี กำลังใกล้ถึงจุดไคลแมกซ์เข้าไปทุกที โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายปี 2550 ที่เนื้อเรื่องดำเนินมาได้อย่างเร้าใจ ทำให้ผู้ชมต้องลุ้นว่าตอนสุดท้ายของนักแสดงคนนี้จะยังคงมีบทเล่นเป็นตัวเอกต่อไปในช่อง 7 หรือไม่

เพียงแค่ 4-5 เดือน สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากการประกาศจากคณะกรรมการบริษัท ที่ได้แต่งตั้งบุคคลต่างๆ จน “คุณแดง” ถูกโยกออกจากเก้าอี้สำคัญคือตำแหน่ง “ผู้จัดการฝ่ายรายการ” และย้ายผู้บริหารคู่ใจออกจากตำแหน่งสำคัญในสถานี ทั้งฝ่ายบันเทิง และข่าว นี่คือปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการสื่อในการเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของสื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดในไทย เช่นเดียวกับความรู้สึกของเอเยนซี่ ที่อยากให้ช่อง 7 ปรับตัว เพื่อจะได้ซื้อเวลาง่าย และคุ้มค่ามากกว่าเดิม

นี่คือจุดเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของช่อง 7 ในรอบ 40 ปี

โยก-ย้าย แซะเก้าอี้ “คุณแดง”
ความเปลี่ยนแปลงในช่อง 7 เริ่มส่งสัญญาณชัดตั้งแต่ 3 มกราคม 2550 เมื่อ “กฤตย์ รัตนรักษ์” ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในธนาคารกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่กลุ่มจีอีแคปปิตอลฯ จ่ายเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนในแบงก์กรุงศรีฯ กว่า 22,256 ล้านบาท โดย “กฤตย์” เลือกถอยออกจากธุรกิจการเงิน และให้ครอบครัว “รัตนรักษ์” ที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในแบงก์กรุงศรีฯ มานาน กลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยผ่านบริษัทในเครือข่ายของช่อง 7 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักที่ตระกูลรัตน์รักษ์ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับตระกูล “กรรณสูต”

เมื่อวางมือในธุรกิจการเงินแล้ว“ช่อง 7” คือเวทีที่ “กฤตย์” พร้อมเข้ามาอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะการจัดผังรายการซึ่งรวมทั้งรายการข่าว

แต่ความเปลี่ยนแปลงในช่อง 7 กลายเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ทั้งในวงการสื่อ และวงการเอเยนซี่โฆษณา ที่เฝ้ารอการเปลี่ยนแปลงในช่อง 7 มานาน เพราะแม้เรตติ้งช่อง 7 จะยังคงเป็นอันดับ 1 แต่ในช่วงหลังๆ ก็เริ่มไม่ง่ายเหมือนในอดีต เพราะช่อง 3 คู่แข่งโดยตรงของช่อง 7 สร้างแพ็กเกจให้ซื้อง่าย ขายคล่อง ด้วยแผนการตลาดครบวงจร และยังทำลงทุนจัดทำผลวิจัย “เรตติ้ง” เป็นของตัวเอง

“ลูกค้าส่วนใหญ่จะสนใจซื้อเวลาโฆษณาจากช่อง 3 เพราะปรับตัวชัดเจน มีกิจกรรมทางการตลาดสื่อสารกับผู้ชมต่อเนื่องและเมื่อคิดคำนวณอัตราความคุ้มค่าการใช้เม็ดเงินโฆษณา เมื่อเทียบกับเรตติ้งแล้ว (Cost per rating by point หรือ CPRP) คุ้มค่ากว่า เพราะช่อง 3 จะมีแถมสปอตให้ด้วยในบางแพ็กเกจ” แหล่งข่าวจากเอเยนซี่รายหนึ่งบอก

พฤศจิกายน 2550 หน่วยงานต่างๆ ภายในช่อง 7 ได้รับหนังสือเวียนการประกาศลงนามโดย “กฤตย์” ในฐานะประธานช่อง 7 ถึงการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญคือแต่งตั้งให้ “สมพงษ์ อัชฌานุเคราะห์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เป็นผู้จัดการฝ่ายรายการช่วงเวลานอกไพร์มไทม์ มีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 แทน “พลากร สมสุวรรณ” คนสนิทของ “คุณแดง” โดยให้ “พลากร” ไปนั่งในตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่ คือผู้จัดการฝ่ายสังกัดสำนักประธานกรรมการดูแลงานด้านกลยุทธ์ แผนงาน โครงการพิเศษ งานด้านประชาสัมพันธ์และงานสื่อสารองค์กร

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2551 กฤตย์ยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ “สมพงษ์” เป็นผู้จัดการฝ่ายรายการ นั่งคุมผังรายการของช่อง 7 แทน “คุณแดง” ที่นั่งเก้าอี้นี้มาตั้งแต่ปี 2524 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ผังรายการคือหัวใจของสถานีโทรทัศน์ คำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจของคุณแดงลง แต่ยังคงมีเก้าอี้สำคัญ คือ “กรรมการผู้จัดการ” และตำแหน่งที่เรียกกันภายในช่อง 7 ว่า ประธานกรรมการละครเท่านั้น

3 มีนาคม 2551 มีการปรับอีกครั้งในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายข่าว เพื่อรองรับแผนการปรับปรุงรายการข่าวที่ช่อง 7 ถูกมองว่าเป็นช่องที่มีความเคลื่อนไหวเรื่องพัฒนารายการข่าวน้อยที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยแต่งตั้งให้ “สมเกียรติ เจริญภิญโญยิ่ง” รองผู้จัดการฝ่ายข่าว เป็นรักษาการผู้จัดการฝ่ายข่าวแทนผู้จัดการคนเดิมที่โยกไปอยู่ในสำนักประธานกรรมการกับ “พลากร”

นี่คือการเปลี่ยนแปลง 3 ระลอกที่ส่งสัญญาณให้เห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามมาอีก ท่ามกลางกระแสข่าวที่แรงขึ้นว่าเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงต่อไป น่าจะเป็นเก้าอี้ “กรรมการผู้จัดการ” ของคุณแดง

เพราะไม่เพียงการแย่งชิงการบริหารภายในช่อง 7 ระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ตระกูลเท่านั้น แต่เป็นเพราะเรตติ้งของช่อง 7 ที่เริ่มลดลงและเป็นครั้งแรกที่เม็ดเงินโฆษณาไหลไปช่อง 3 มากขึ้น จนทำระยะห่างระหว่างช่อง 3 และช่อง 7 เริ่มแคบลง จากที่เคยห่างอยู่ประมาณ 20-30% ขณะนี้เหลือเพียงประมาณ 10% เท่านั้น

การพลิกมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่าของตระกูล “รัตนรักษ์” ทั้งที่เดิม “รัตนรักษ์” ถือหุ้นส่วนน้อยในช่วงเริ่มต้นตั้งช่อง 7 เมื่อปี 2510 เพราะจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2522 ที่ช่อง 7 เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 10 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท และปี 2527 เพิ่มเป็น 61 ล้านบาท

ท่ามกลางความคุกรุ่นในหมู่พนักงานบางคน กลุ่มที่ชื่นชอบคุณแดงที่แม้จะเนี้ยบและเจ้าระเบียบ แต่ก็ไม่ได้ทำตัวห่างเหินกับพนักงานมากนัก

ขณะที่ “กฤตย์” นั้น ด้วยนโยบายส่วนตัวที่ไม่ต้องการเป็นข่าว ไม่ชอบพูดและไม่เปิดเผยตัวให้พนักงานได้มีโอกาสรู้จักและสัมผัส ซึ่งไม่ใช่เป็นเฉพาะที่ช่อง 7 เท่านั้น แม้แต่ที่แบงก์กรุงศรีฯพนักงานบางคนที่ทำงานมานานกว่า 10 ปียังแทบไม่มีโอกาสได้เห็น “กฤตย์” ชัดๆ โอกาสที่จะได้ฟังหรือรับรู้นโยบายจากผู้บริหารระดับสูงโดยตรง จึงเป็นไปได้ยาก

“คุณกฤตย์เหรอ ไม่เคยเห็น ไม่เคยเจอตัวแม้แต่ครั้งเดียว” พนักงานช่อง 7 คนหนึ่งบอก ซึ่งแม้ว่าพนักงานคนนี้ต้องรายงานตรงต่อ “กฤตย์” แต่ก็คือการเจอกันทางเอกสารเท่านั้น

ทุกวันนี้ “กฤตย์” ทุ่มเทและให้เวลากับการทำงานในช่อง 7 อย่างเต็มที่ จากเดิมที่เคยเข้าทำงานสัปดาห์ละ 2 วัน ทุกวันนี้ กฤตย์เดินทางไปทำงานที่ช่อง 7 ทุกวัน แต่อยู่ที่กองบัญชาการของช่อง 7 ที่ตึกเพลินจิตทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของฝ่ายการตลาด อีกหนึ่งทรัพสินของ “กฤตย์” และหากต้องเรียกประชุมระดับผู้บริหารของสถานี โดยเฉพาะฝ่ายต่างๆ จะให้ไปเจอกันที่เพลินจิตทาวเวอร์

ด้วยบุคลิกที่ค่อนข้างเก็บตัวของกฤตย์ จึงถูกมองว่าอาจเป็นอุปสรรคในการสร้างความเข้าใจกับพนักงานถึงการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่กำลังเกิดขึ้นกับช่อง 7

ยิ่งข่าวลือหนาหูว่า “กฤตย์” เตรียมส่ง “ชาลอต โทณวณิก” ขุนพลหญิงคู่ใจจากแบงก์กรุงศรีฯ เข้ามาแซะเก้าอี้คุณแดง หลังจากที่ “กฤตย์” ส่ง “ชาลอต” ไปเป็นซีอีโอ มีเดีย ออฟ มีเดียส์ มาแล้วระยะหนึ่งก็ยิ่งทำให้บรรยากาศของช่อง 7 เวลานี้ จึงเต็มไปข่าวลือ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “กฤตย์” พยายามส่ง “ชาลอต” เข้ามา แต่ในปี 2545 เคยก้าวเข้ามาในช่อง 7 แล้วครั้งหนึ่งในตำแหน่ง “ประธานที่ปรึกษาด้านการตลาด” เพราะหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 การขายโฆษณาเต็มไปด้วยความลำบากและเรตติ้งช่อง 7 ตกจากคู่แข่ง ช่วงนั้น “ชาลอต” ซึ่งมีภาพของนักการตลาดสามารถทำให้ธุรกิจแบงก์มีสีสันไม่ต่างอะไรกับสินค้าอุปโภคบริโภค “ชาลอต” จึงถูกส่งให้มาเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดของช่อง 7 แต่ก็อยู่ได้เพียง 3 ปี ก็กลับออกไป จนปี 2549 จึงกลับมาเป็นซีอีโอที่มีเดียออฟมีเดียส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ช่อง 7 ถือหุ้นใหญ่ และมีรายการอยู่ในผังช่อง 7 มากที่สุด

“ละคร” ฐานที่มั่นสุดท้าย
“คุณแดง” ซึ่งรู้สถานการณ์เป็นอย่างดีและวางตัวได้อย่างคงเส้นคงวา เพราะทุกครั้งที่นักข่าวถามถึงว่ารู้สึกอย่างไรกับกระแสแรงของ “ชาลอต” ที่จะเข้ามาในช่อง 7 คำตอบของคุณแดงคือความนิ่งเฉย และกลายเป็นคำถามวงแตกทุกครั้ง ต่างจากคำถามเกี่ยวกับดาราในสังกัดที่ “พี่แดง” แฮปปี้ที่จะพูดคุยกับน้องๆ นักข่าวมากกว่า

นี่อาจเป็นสิ่งที่ “คุณแดง” ถนัด และจากประสบการณ์การคัดกรอง จัดวางละครลงผัง เลือกตัวละครด้วยตัวเองจนสำเร็จมานานกว่า 20 ปี และที่สำคัญคลังสมบัติของช่อง 7 ที่มีทั้งลิขสิทธิ์บทประพันธ์ และลิขสิทธิ์ละครทั้งหมดที่ออกอากาศไปแล้วภายใต้การบริหารจัดการของ “คุณแดง” ทำให้ ณ วันนี้ “คุณแดง” ยังเป็นบุคคลที่ “กฤตย์” ยังไม่อาจหักอย่างรุนแรง เพราะรายได้ 70-80% ของช่อง 7 ยังคงมาจากละครด้วยเรตโฆษณาสูงสุด 4.5 แสนบาทต่อนาที และจุดแข็งที่ชัดเจนของช่อง 7 คือการมีอำนาจตัดสินสูงสุดชัดเจนที่ “คุณแดง” ทำให้ง่ายต่อการปรับเปลี่ยน

อย่างที่ “ประวิทย์ มาลีนนท์” บิ๊กบอสของวิก 3 พระราม 4 จะบอกว่า “จุดแข็ง” ของละครช่อง 7 คือมีกำลังพอที่จะถ่ายทำไปออกอากาศไป หากไม่ดีก็สามารถสั่งเปลี่ยนถ่ายใหม่ได้ทันที ทำให้ละครของช่อง 7 มีความทันสมัยและทันต่อกระแสสังคมมากกว่า

สงครามนางฟ้า-ช่อง 3 ตามบี้
แต่สถานการณ์การแข่งขันทีวีเวลานี้ ทำให้ช่อง 7 ไม่อาจชื่นชมความสำเร็จกับอดีตได้อีกต่อไป ดูอย่างกรณี “สงครามนางฟ้า” ของค่ายเอ็กแซ็กท์ สร้างปรากฏการณ์ดันเรตติ้งของช่อง 5 ขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด แสดงว่าละครดีต้องมีการตลาดนำ หรือช่อง 3 ที่เริ่มมีความถี่ของเรื่องที่สามารถชนะเรตติ้งช่อง 7 ได้มากขึ้น เพราะการรู้จุดแข็งของช่อง 7 และการปรับจุดอ่อนของช่อง 3 ทำได้ดีขึ้น จนสามารถปรับอัตราค่าโฆษณาช่วงละครเท่ากับช่อง 7 แล้วที่ 4.5 แสนบาทต่อนาที

นอกจากนี้ช่อง 3 ยังได้สร้างจุดแข็งเรื่อง “ข่าว” ขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ครอบครัวข่าว” เน้นรูปแบบการสนทนาข่าวที่ถูกใจคนดูส่วนใหญ่ โดยมีสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นหัวหอก ซึ่งก็ยังรักษาเรตติ้งได้ดี จนกระทั่งทุกวันนี้ช่อง 3 เพิ่มรายการข่าวเข้ามาในผังแล้ว 50%

ยิ่งมาได้อานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงช่องไอทีวีเดิมให้กลายเป็นโทรทัศน์สาธารณะด้วยแล้ว ทำให้เงินโฆษณาจากช่องไอทีวีเดิม ไหลมาอยู่ที่ช่อง 3 ซึ่งเวลานี้มีอัตราโฆษณาได้เฉลี่ยนาทีละ 2 แสนบาท

เป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจเช่นนี้ ทำให้กฤตย์และช่อง 7 เองก็ไม่อาจอยู่เฉยได้

ดีเดย์ผังใหม่ พ.ค.
จากการเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ของช่อง 7 จนทำให้เรตติ้งเริ่มชะลอ และความคุ้มค่าของการซื้อเวลาโฆษณากับช่อง 7 ในมุมของเอเยนซี่ เริ่มลดลง ทำให้ “กฤตย์” เรียกทีมผู้บริหารของช่อง 7 เพื่อปรับผังรายการ ซึ่งภายในเดือนเมษายนนี้จะทราบผลว่ารายการไหนจะอยู่หรือไป เพราะเดือนพฤษภาคมนี้จะเริ่มผังใหม่ทันที แม้ปกติช่อง 7 จะแจ้งกับผู้เช่าเวลาว่า มีนโยบายปรับผังรายการทุกไตรมาส แต่นี่คือครั้งแรกที่ “กฤตย์” ลงมืออย่างเต็มตัว รวมทั้งรายการข่าว

การปรับปรุงรายการข่าวเป็นเป้าหมายในระยะสั้นสำหรับ “กฤตย์” ที่คาดว่าแฟนผู้ชมของช่อง 7 สี จะเห็นความเปลี่ยนแปลงภาย 2-3 เดือนนี้ แต่สไตล์ของช่อง 7 ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงชนิดเปลี่ยนสี เปลี่ยนโลโก้ แต่คือการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน และ “ข่าว” ของช่อง 7 จะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากฝ่ายข่าวของช่อง 7 ที่กำลังเตรียมรูปแบบ เนื้อหา และวิธีการนำเสนอใหม่ เพราะภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันที่มีความขัดแย้ง ไม่นิ่ง “ข่าว” คือสิ่งที่ชาวบ้านจะให้ความสนใจมากขึ้น

เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวช่อง 7 บอกว่าการปรับปรุงรายการข่าวจะมีทั้งชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน และเนื้อหา เช่น จะมีสัดส่วนข่าวเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งสำหรับนักลงทุน และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน จากเดิมที่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก ที่เตรียมไว้เช่นเริ่มข่าวเช้าตั้งแต่ตี 5 จากเดิม เริ่ม 05.30 น. ด้วยข่าวทั่วไป และตั้งแต่ 8 โมงเช้าจะมีรายงานข่าวเศรษฐกิจ ก่อนเปิดตลาดหุ้น จากเดิมที่มีข่าวทั่วไป “ข่าวเด็ด 7 สี” นอกจากนี้จะมีการวิเคราะห์ข่าวมากขึ้น จากเดิมที่รายงานตามเหตุการณ์ แต่จะไม่เน้นการแสดงความคิดเห็นลงในเนื้อข่าว แบบการพูดคุยข่าวเหมือนช่องอื่น ๆ และไม่เน้นจำนวนพิธีกรมากๆ แต่ก็ต้องมีคนเด่นที่ผู้ชมรู้จัก

ที่สำคัญมีการตกลงกับฝ่ายผังรายการว่า หากมีข่าวด่วนที่ประชาชนควรรับทราบจะสามารถแทรกรายการปกติได้ทันที จากเดิมที่ช่อง 7 มีจุดอ่อนที่ไม่รายข่าวได้ทันสถานการณ์ เมื่อมีข่าวด่วนขึ้น รวมทั้งจะประสานกับฝ่ายการตลาดมากขึ้น เพื่อให้นาทีโฆษณาของรายการข่าวขายได้ราคามากยิ่งขึ้น

นี่คือเวลาเพียง 4-5 เดือนของเรื่องราวในช่อง 7 ที่จบแต่ละฉากยังคงทิ้งปมให้ต้องลุ้นกันต่อ เพื่อดูว่าเมื่อถึงตอนสุดท้ายฉากจบบริบูรณ์ของเรื่องยาวนี้จะเป็นอย่างไร

Timeline

ปี 2510
จอมพลประภาส จารุเสถียร
ผู้บัญชาการทหารบกช่วงนั้นให้ตั้ง
สถานีโทรทัศน์แห่งแรก หรือช่อง 7

13 กันยายน 2510
นางเรวดี เทียนประภาส ที่สมรสกับนายสุชาติ กรรณสูต
ในฐานะน้องภรรยาจอมพลประภาส ยื่นจดทะเบียน
ตั้งบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์ บริหารช่อง 7
มีผู้ก่อตั้งคือ นายเฑียร์ น้องชายของนายสุชาติ
บุตรชายและบุตรสาว คือ ชาติเชื้อ ร.ท.ชายชาญ และสุรางค์
จัดสรรหุ้นใหญ่ที่มี 1,000 หุ้นทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
เฉลี่ย ให้ครอบครัว กรรณสูต จารุเสถียร และเทียนประภาส
และมีนายชวน รัตนรักษ์ บิดาของ “กฤตย์” ถือหุ้น 50 หุ้น
เพราะมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับจอมพลประภาสมาก่อน

27 พ.ย.2510
เปิดสถานีถ่ายทอดสดประกวดนางสาวไทย

ปี 2513-2523 มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร
จากการเสียชีวิตของผู้ถือหุ้นบางคน

ปี 2522 เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 10 ล้าน เป็น
50 ล้านบาท “รัตน์รักษ์” กลายเป็นถือหุ้นใหญ่

ปี 2524 “สุรางค์” เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายรายการ

ปี 2527 เพิ่มทุนเป็น 61 ล้านบาท

ปี 2536 “กฤตย์” รับตำแหน่งประธานกรรมแทนบิดา

ปี 2537 “สุรางค์” เป็นกรรมการรองผู้จัดการ

ปี 2541 “สุรางค์” เป็นกรรมการผู้จัดการ

ปี 2545-2548 “ชาลอต” ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายการตลาด

ปี 2550 “กฤตย์” ขายหุ้นในแบงก์กรุงศรีฯ และเข้าบริหารในช่อง 7 มากขึ้น
มีการโยกย้ายผู้บริหารภายใน

2 มกราคม 2551
แต่งตั้ง “สมพงษ์ อัชฌานุเคราะห์” เป็นผู้จัดการฝ่ายรายการแทน “คุณสุรางค์”

3 มีนาคม 2551
แต่งตั้ง “สมเกียรติ เจริญภิญโญยิ่ง” เป็นรักษาการผู้จัดการฝ่ายข่าว

Profile

ช่อง 7
ปัจจุบันบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์ และวิทยุ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 มีทุนจดทะเบียน 61 ล้านบาท มีกรรมการ 11 คน โดยมีกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันกับบริษัทได้คือ “กฤตย์ รัตนรักษ์” ประธานกรรมการ หรือ ร.อ.หญิง สุมิตรา จารุเสถียร และ 2 ใน 9 คนร่วมลงลายมือชื่อคือ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ น.ส.ชัชฎาภรณ์ รักษนาเวศ นายไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ ร.อ.สุพจน์ แสงสายัณห์ นายเชิดศักดิ์ ตันสกุล สุดธิดา รัตนรักษ์ ชะลอ นาคอ่อน เจริญ จิรวิศัลย์

ฐานะการเงิน เมื่อปี 2547 มีสินทรัพย์ 14,061 ล้านบาท ปี 2549 มี 17,667 ล้านบาท มีหนี้สิน 1,153 ล้านบาท มีรายได้ปี 2547 มูลค่า 4,726 ล้านบาท กำไร 1,694 ล้านบาท ปี 2549 ทำได้ 5,580 ล้านบาท และกำไร 2,106 ล้านบาท

People

กฤตย์ รัตนรักษ์

“กฤตย์ รัตนรักษ์” จัดเป็นเป็นเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย มีบุคลิกเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ชอบเป็นข่าว ไม่เคยแถลงข่าว จะเปิดเผยตัวต่อสาธารณะในวันประชุมผู้ถือหุ้นบ้าง

เกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2489 เป็นบุตรชายคนเดียวของชวนกับศศิธร รัตนรักษ์ ที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจเดินเรือ
“กฤตย์” จบการศึกษาระดับปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์น นิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และเริ่มทำงานในธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ครอบครัวถือหุ้นใหญ่

ปัจจุบันมีหุ้นใหญ่ในช่อง 7 บริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง เป็นต้น

Profile

สมพงษ์ อัชฌานุเคราะห์

สมพงษ์ อัชฌานุเคราะห์ ปัจจุบันอายุ 44 ปี เป็นลูกหม้อช่อง 7 อยู่กับช่องมานานประมาณ 25 ปี จบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เริ่มเข้าวิกหมอชิต ตั้งแต่ปี 2525 จนปัจจุบันอายุ 44 ปี ได้โปรโมตเป็นผู้จัดการฝ่ายรายการของช่อง 7 เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2551 ก่อนหน้านี้มีตำแหน่งสำคัญ คือ ผู้จัดการฝ่ายรายการช่วงเวลานอกไพร์มไทม์ และผู้จัดการฝ่ายการตลาด และยังมีตำแหน่งรองนายสนามมวยไทย 7 สี

Profile

สุรางค์ เปรมปรีดิ์

สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2485 จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 8 โรงเรียนราชินีบน ปริญญาตรี ค.บ. เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท Master of Art in Education มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) สหรัฐอเมริกา เป็นผู้อำนวยการนิตยสารสตรีสารก่อนเข้ามาเป็นผู้บริหารช่อง 7 เต็มตัว เมื่อปี 2524 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายรายการช่อง 7 ปี 2541 ถึงปัจจุบัน เป็นกรรมการผู้จัดการช่อง 7