ปิดฉาก “ตะแล้บแก๊ป”

บรรยากาศที่ไปรษณีย์กลางบางรักคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัยที่พากันมาส่งโทรเลขเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2008 ซึ่งเป็นภาพที่ไม่คุ้นนัก และมันอาจไม่เกิดขึ้นถ้าวันนี้ไม่ใช่ “วันสุดท้ายของโทรเลข”

“ถ้ามีคนส่งโทรเลขมากเท่านี้ทุกวัน เราคงไม่ต้องปิดบริการ” เสียงจากบนเวทีเสวนาในงานอำลา 133 ปี โทรเลขไทย บอกได้ถึงสาเหตุที่ต้องปิดตัว กลายเป็นเพียงบันทึกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ระบบการสื่อสารของไทย เช่นเดียวกับประเทศลาวที่ปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2546

ปัจจุบันโลกหมุนเร็วกว่าจังหวะการก้าวของโทรเลขอย่างมาก เทคโนโลยีพากันเคลื่อนไปข้างหน้า ทิ้งผู้ตาม (ไม่ทัน) อย่างโทรเลขไว้ข้างหลัง เพราะความไม่สะดวก ทั้งการเดินทางไปยังที่ทำการไปรษณีย์ และเสียค่าใช้จ่ายตามจำนวนตัวอักษร กว่า 2-3 วันผู้รับถึงจะได้ข้อความ ต่างกับ SMS และอีเมล ที่เพียงแค่เปิดเครื่อง พิมพ์ข้อความ กดส่ง สารก็ส่งถึงมือผู้รับ จนปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเพียงเดือนละ 100 ฉบับ คิดเป็นรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ต้นทุนมากกว่า 25 ล้านบาท

ความจริงโทรเลขต้องปิดตัวไปนานแล้ว แต่เพราะยังมีบรรดาบริษัทบัตรเครดิตและสถาบันการเงิน ที่ยังใช้บริการ เพื่อทวงหนี้ เพราะสามารถนำไปเป็นเอกสารฟ้องร้องทางคดีได้ ศาลรับฟังถือว่าเป็นเอกสารสำคัญ จนผู้ใช้โทรเลข 99% มาจากบริษัทบัตรเครดิตและสถาบันการเงิน บุคคลธรรมดาเพียง 1% เท่านั้น

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2418 ซึ่งเป็นปีที่โทรเลขถือกำเนิดขึ้น จนถึงตอนนี้กินเวลา 133 ปี เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาไปมาก จนเราอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าในอนาคตจะมีอะไรที่ต้องปิดตัวไป และมีอะไรใหม่มาแทนที่หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ วันนี้ โทรเลขจากที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข บางรัก ถึงมือกองบ.ก. POSITIONING แล้ว นี่คือความสำคัญของอดีต และความเป็นอดีตที่กำลังกลายเป็นประวัติศาสตร์คืออีเวนต์ที่มีคุณค่าในวันนี้

Did you know?
-โทรเลขเป็นช่องทางการสื่อสารของคนทั่วไป โดยสำนักพระราชวังก็ใช้โทรเลขเป็นช่องทางสื่อราชสาร เช่น ส่งข้อความแสดงความยินดีกับราชวงศ์ในประเทศอื่น
-ยุคเฟื่องฟูที่สุดของโทรคือยุค 60 ที่วัยรุ่นมักจะส่งข้อความถึงกัน โดยเป็นเรื่องความรักระหว่างหนุ่มสาว มีโทรเลขจำนวนมากที่ส่งไปถึงผู้รับในวันวาเลนไทน์ ซึ่งยอดการส่งโทรเลขสูงสุดถึง 1 แสนฉบับต่อวัน