คู่จิ้นงานดีไซน์บนโลกออนไลน์

บทความโดย : ดร.กุลเดช สินธวณรงค์

เมื่อไม่นานมานี้ คุณแจ๊ค หม่า เจ้าของอาลีบาบา เว็บและเครือข่ายธุรกิจออนไลน์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อทั่วโลกไว้ว่า สินค้าลอกเลียนแบบ (ของก๊อบ) ส่วนใหญ่ทำไปทำมาอาจจะมีคุณภาพดีกว่าของคล้ายกันซึ่งมาจากแบรนด์ดังด้วยซ้ำ ก็ทำไมล่ะ ในเมื่อมันมาจากโรงงานเดียวกัน วัตถุดิบเดียวกัน

น่าสนใจครับ เมื่อคำพูดคำนี้มาจากเครือข่ายการค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และตลอดเวลาการดำเนินธุรกิจเขาได้ให้สัญญากับประชาคมลูกค้า ผู้ซื้อ และแบรนด์มาตลอด (โดยเฉพาะจากฝั่งตะวันตก) ว่าจะเข้มงวดและจริงจังกับการซื้อขายสินค้าในเครือข่ายของอาลีบาบาที่สุ่มเสี่ยงกับการละเมิดสิทธิและผลประโยชน์ของแบรนด์ใหญ่เล็ก

ได้เรื่องสิครับ ข้อความดังกล่าวกระหึ่ม เรียกแขกไปได้ทั่วโลก เป็นอีกครั้งที่อาลีบาบาโดนกระหน่ำด้วยคำวิจารณ์จากทุกทิศทาง

เรื่องของผลงานดีไซน์ กับกฎหมายบนไซเบอร์ จะว่าไป ก็เหมือนเพลงไทยคลาสสิกชื่อ ‘ท่าฉลอม’ นะครับ คือเรียกว่าพูดแค่ชื่อเพลงขึ้นมาก็งงแล้ว (ว่ามันคืออะไร) หรือมันเกี่ยวกันยังไง ทรัพย์สินหรือ สินทรัพย์ทางปัญญาซึ่งจะว่าไป มีค่ามากไม่ไกลกว่าระยะทางจากท่าฉลอมไปมหาชัย ดีไซเนอร์รุ่นเก่ารุ่นใหม่มีเวลาควรจะใส่ใจ อย่าแค่คิดว่าอยู่ใกล้ๆ ว่ายข้ามฝั่งคงไหว เอาเข้าจริงว่ายไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ ก็มีสิทธิ์จมน้ำตายได้ครับ

หลายท่านคงเคยได้ยินคำพูดของ Alexander McQueen แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังผู้ล่วงลับ ผลผลิตจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง Central Saint Martins ในอังกฤษงานครีเอทีฟในโลกปัจจุบันมีแค่ 1-2% เท่านั้นที่เป็นของแท้ ที่เรียกได้ว่ากลั่นบริสุทธิ์ออกมาเป็นของจริง (Essence to Originality) นอกจากนั้นถึงไม่ได้เลียนแบบตรงๆ ก็มีที่มาที่ไปจากแนวคิดหลายหลักแหล่งทั้งนั้น

ผมว่าก็จริงนะ ไม่ว่าจะทำนองเพลง สินค้า กลไก หรือแม้แต่งานออกแบบสถาปัตยกรรมหลายงานที่ว่าเจ๋งก็ยังได้กลิ่นของงานหรือแรงบันดาลใจจากคนใครคนใดคนหนึ่ง ก็ขั้นตอนของงานออกแบบที่เราทำกันอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งคือการหา references หรือไอเดียจากที่ต่างๆในโลกออนไลน์ทั้งนั้น ไม่ว่า pinterestหรือ vimeoไม่จริงเหรอครับ? (เราในวงการมักเรียกให้เก๋ว่าทำ research)

หลายเดือนก่อนผมมีโอกาสไปบรรยายที่งาน Business of Design Week มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนในวงการที่เป็นตัวแทนทางด้านการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ที่ฮ่องกง เขาเล่าให้ฟังว่าช่วงนี้ลูกค้าเขาเยอะเพราะคนส่วนใหญ่แม้แต่ในต่างประเทศเอง ไม่ค่อยเข้าใจว่าทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร (ฮา) เรื่องบางเรื่องก็ได้รับการปกป้องโดยอัตโนมัติแล้ว เช่นผลงาน หรือความคิดสร้างสรรค์ แต่เรื่องบางเรื่องก็กำกวม เช่นสิทธิบัตรหรือสิ่งที่ครอบคลุมนอกเหนือจากนั้น ลูกค้าองค์กรของเขามาถึงก็จดทะเบียนดักเอาไว้ก่อน

อยากเล่าให้ฟังว่า ขบวนการขั้นตอนเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงมากครับ งานดีไซน์ชิ้นนึงความคิดนึงบางทีขึ้นทะเบียนไว้เพื่อครอบคลุมแค่บางประเทศในยุโรป ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นอาจถึงหลัก 10 ล้านบาท! เพราะการจะอ้างสิทธิว่างานดีไซน์หรือความคิดสร้างสรรค์ของเราชิ้นนั้นเป็นของเราจริงๆ ในโลกยุคนี้ บางทีมันยาก มันมีขั้นตอนในการสืบเสาะหาที่มาที่ไปเพื่อพิสูจน์ทราบว่างานของเราหรือส่วนหนึ่งใดของผลงานแนวคิดเรา มันไม่ซ้ำหรือมีส่วนคล้ายกับใครและมีความเป็นเนื้อแท้ของเราจริง (originality)แค่ไหน บางทีกว่าจะผ่านขั้นตอนที่ต้องรอคอยนี้ไปแล้วยังอาจจะต้องมานั่งซับน้ำตาเมื่อคนอื่นมาบอกมันไม่ใช่แค่ของเราคนเดียวนะสิ

เอาแค่บ้านเรา จะแค่จดเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการทั่วไปใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้าต่างประเทศจะจด IP อาจจะกินเวลาถึง 2-3 ปี ขึ้นอยู่ว่าจะให้ครอบคลุมมากน้อยประเทศแค่ไหน (คิดเล่นๆ ถ้าให้นักสืบพันทิป ตำรวจไซเบอร์ และชาวเน็ตของไทยมาช่วย คงร่นเวลาได้เยอะ) นั่งดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าออนไลน์ ทรัพย์สินความคิดของเราดีไซเนอร์ยิ่งมึน เพราะมีกฎหมายเกินกว่าสิบฉบับที่ดีไซเนอร์และคนทำการค้าออนไลน์ควรรู้ นอกจากวัตถุประสงค์ของกฎหมายเมืองไทยส่วนใหญ่คือป้องกันมากกว่าลงโทษแล้ว เรื่องของการค้าออนไลน์พอมาเกี่ยวกับกฎหมายบางครั้งก็ยิ่งวุ่นเป็นวัวพันหลักสำหรับเราๆ ท่านๆ และผู้บริโภคทั่วไป

คนทำการค้าโซเชียล (social commerce) นี่ยิ่งน่าเป็นห่วง เรื่องในโซเชียลอะไรที่ผ่านไปผ่านมาเข้าหูเพื่อนออกหูเราคนก็นึกว่าเป็นเรื่องจริง เชื่อนำหน้าไปก่อนแล้ว ถ้าท่านจะทำการค้าโซเชียลท่านต้องทำใจไว้ก่อนเลย ว่าของของเราไม่ใช่ของๆ เราอีกต่อไปตั้งแต่ท่านพิมพ์อะไรลงไปในเฟซบุ๊ก ลงภาพอะไรในไอจี หรือแม้แต่ส่งไลน์ให้ใคร ไม่ต้องรอให้เฟซบุ๊กมาประกาศอ้างสิทธิของคอนเทนต์ของเราหรอกครับ ลองไปอ่านกฎเงื่อนไขการใช้แอป (application) ของเฟซบุ๊กดีๆ ไอ้ที่ตัวเล็กอ่านยากยาวหลายหน้าตอนที่ท่านสมัครแล้วมัวแต่รีบ scroll down เพื่อจะได้โหลดให้มันเสร็จเพื่อที่จะกดเยสน่ะ เขียนยาวหลายข้อมีหลายประเด็น แต่ผมสรุปให้สั้นๆง่ายๆ ว่าคอนเทนต์ของเราไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของเขาไปหมดตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ฝรั่งเขาคิดง่ายครับ โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ถ้าอยากใช้แอปของเขาก็ต้องเอาคอนเทนต์และความเป็นส่วนตัวของเราไปแลก

คุณแจ๊ค หม่า บอกว่าจะพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจในปัจจุบันเพราะเรื่องของแท้สู้ของเทียมไม่ได้ ผมคิดว่าเขามุ่งมั่นใช้วิธีการทำธุรกิจแบบนี้ตั้งแต่แรกเลยมากกว่า ธุรกิจ platform ก็คือทำให้ลูกค้าทั้งสองฝ่ายรู้สึกดี แปลว่าทำยังไงก็ได้ที่เพิ่ม traffic ของการค้าออนไลน์มาให้ผ่านที่เขา และก็ยังคงทำให้คนผ่านไปผ่านมาเดินกลับมาบ่อยๆ ก็เท่านั้น (แถมบุคคลที่สามคือบรรดาเจ้าของบริษัทมือถือที่เป็น service provider ก็แฮปปี้ เพราะการใช้งานเดต้าพุ่งกระฉูด)

เราอาจจะลองมองเรื่องวุ่นๆ พวกนี้แบบนักบัญชีก็ได้ครับสำหรับดีไซเนอร์ นักออกแบบ ลองมองว่างานของเรามันคือ ‘ทรัพย์สิน’ เมื่อเป็นทรัพย์สิน ถึงเรามีกรรมสิทธิ์ ก็เปลี่ยนมือได้ อยู่ที่เราจะเปลี่ยนมันเป็นทุน เป็นเงิน หรือเปลี่ยนมันเป็นปัญหา (นั่งฟ้องร้องกัน)

สำหรับเจ้าของธุรกิจออนไลน์อาจจะลองมองกลับด้าน ว่างานที่ผ่านมือเราเข้ามาเพื่อค้าขายมันคือ ‘สินทรัพย์’ เมื่อเป็นสินทรัพย์เราก็มีกรรมสิทธิ์ได้ชั่วคราวเท่านั้น เป็นเหมือนของที่ยืมดีไซเนอร์หรือเจ้าของจริงเขามา จะทำประโยชน์จากเขาก็ให้เกียรติเขาหน่อยสิ ผมว่าถ้าทั้งคู่ลองเปิดใจกว้างคิดแบบนี้ น่าจะทำเรื่องวุ่นๆ เรื่องเครียดๆ ของทรัพย์สินทางปัญญาให้เบาลงได้บ้าง เพราะเอาเข้าจริง เราก็พึ่งพิงกันทั้งดีไซเนอร์และธุรกิจออนไลน์

จริงมั้ยครับ?

pic_profileProfile
กุลเดช สินธวณรงค์
ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด

ด้วยประสบการณ์ทำงานในการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทดีไซน์มากว่า 15 ปี ซึ่งเป็นการผสมผสานการพัฒนาด้านความรู้ของบริษัท และเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ประสบการณ์ด้านความคิดสร้างสรรค์ มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาดและองค์ความรู้เพื่อทำให้บริษัทเติบโตและก้าวไปข้างหน้า การเป็นวิศวกร, นักออกแบบ, ครีเอทีฟ และเจ้าของกิจการจากการสั่งสมการทำงานที่มีความแตกต่างกันทั้งในสายอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง