เทสล่า (Tesla) บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังออกมายอมรับแล้วว่า ในการเกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ (10 กรกฎาคม 2559) ได้มีการเปิดใช้งานระบบออโต้ไพล็อตของตัวรถจริง แต่ทางบริษัทสันนิษฐานว่า อุบัติเหตุครั้งนี้อาจมาจากการใช้งานฟังก์ชันออโต้ไพล็อตที่ไม่ถูกต้อง
เคราะห์ดีที่ผู้ขับขี่ในครั้งนี้รอดชีวิต ไม่เหมือนอีกรายที่เกิดเหตุก่อนหน้าที่มีรายงานว่า ระบบช่วยการขับขี่ของเทสล่าไม่สามารถตรวจจับรถบรรทุกอีกคันที่อยู่บนถนนได้ เนื่องจากสีของตัวรถที่จ้าเกินไปจนดูคล้ายสีของท้องฟ้า แถมยังเป็นรถบรรทุกขนาดยาว จึงทำให้ระบบของเทสล่าตีความผิดว่า นั่นไม่ใช่รถ และทำการเปลี่ยนเลนจนเกิดการชนขึ้น
ด้านซีอีโอ อีลอน มัสก์ เผยว่า เทสล่ายังไม่มีแผนจะยกเลิกการทำงานของระบบออโตไพล็อต และจะนำเสนอวิธีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดผ่านบล็อกอีกด้วย
ทั้งนี้ เทสล่ายังเคยโพสต์ถึงระบบออโต้ไพล็อตด้วยว่า ผู้บริโภคที่ใช้ระบบออโตไพล็อตนั้น ตามสถิติแล้วปลอดภัยกว่าคนที่ไม่ได้ใช้แน่นอน
ส่วนการเกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในรัฐมอนทานา สหรัฐอเมริกา โดยรถโมเดล X ของบริษัทได้เกิดเปลี่ยนทิศทาง และพุ่งเข้าชนรางรถไฟที่ทำจากไม้อย่างจัง และมีรายงานว่าระบบควบคุมพวงมาลัยอัตโนมัติของตัวรถนั้นเปิดใช้งานอยู่
โดยสภาพของที่เกิดเหตุนั้น พบว่า เป็นถนนในเขตภูเขาที่มีการตีเส้นไม่ชัดเจน และเกิดขึ้นในเวลาดึกมากด้วย
นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า ระบบตรวจจับ ซึ่งเป็นเซนเซอร์บริเวณพวงมาลัยชี้ว่า มือของคนขับไม่ได้จับอยู่ที่พวงมาลัยเป็นเวลานานประมาณ 2 นาที ก่อนที่จะเกิดการชนด้วย ซึ่งขัดกับข้อกำหนดในการใช้งานที่ระบุว่า ในการเปิดใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าวนี้ ผู้ขับขี่ต้องจับพวงมาลัยไว้เสมอ
ส่วนสภาพถนนก่อนเกิดอุบัติเหตุก็ค่อนข้างแย่ และตัวรถได้ทำการเตือนผู้ขับแล้วให้รีบจับพวงมาลัย แต่เขาก็ไม่ได้ทำตาม อุบัติเหตุดังกล่าวจึงได้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ เทสล่า ระบุว่า ระบบควบคุมพวงมาลัยอัตโนมัตินี้ เหมาะสำหรับการขับขี่บนไฮเวย์มากกว่าขับบนถนนที่มีการตีเส้นไม่ชัดเจน
ด้านผู้ขับรถคันดังกล่าว ซึ่งระบุชื่อเพียงแค่ Pang เผยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เขาได้รับคำเตือนจากตัวรถแล้ว แต่ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาอ่านไม่ออก เนื่องจากเขาใช้ภาษาจีน แมนดารินนั่นเอง
สื่ออย่างบีบีซีนิวส์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ เทสล่าเปิดเผยรายละเอียดได้อย่างรวดเร็ว ผิดกับกรณีการชนครั้งก่อนที่กว่าจะเปิดเผยได้ก็ใช้เวลานานถึง 54 วันนับจากได้รับการแจ้งข้อมูลอุบัติเหตุ โดยในครั้งนั้น มีการโยงไปถึงการขายหุ้นของเทสล่าที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันว่า อาจเป็นเพราะบริษัทจะมีการขายหุ้น จึงทำให้เทสล่าไม่ออกมาประกาศว่า ระบบออโตไพล็อตของบริษัทนั้นมีปัญหาก็เป็นได้
ที่มา: http://www.manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000070027