เกมรับมือตลาด “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซบ มาม่า ไวไว แตกไลน์สู่ร้านอาหาร

มาม่า-ไวไว แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ดิ้นหนีตาย จากสภาวะตลาดไม่โตเพราะพิษเศรษฐกิจ เปิดร้านอาหาร ร้านราเมงต่อยอดธุรกิจ มาม่าร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นลุยร้านราเมงโคราคุเอ็น ทางด้านไวไวเปิดร้านควิกเทอเรสประเดิมสาขาแรกหน้าโรงงานย่านเพชรเกษม

ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ส่งผลทำให้หลายๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน หรือแม้แต่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เคยถูกเรียกว่าเป็น “ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ” เพราะจากเดิมถ้าเศรษฐกิจตกคนยิ่งกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ปรากฏว่าช่วง 2 ปีมานี้ เศรษฐกิจไม่ดียอดขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลับยิ่งลดลง

ส่งผลให้ตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในปี 2558 มีการเติบโตน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในรอบ 44 ปี เพียงแค่ 0.4% ด้วยมูลค่าตลาด 14,500 ล้านบาท

แต่ถึงแม้ว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 1.6% ก็ตาม แต่ทุกวันนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันอันดุเดือด เมื่อผู้บริโภคมีทางเลือกใหม่ๆ จากอาหารสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อ

ถึงแม้ว่าจะมีการแก้เกมด้วยการออกสินค้าในระดับพรีเมียม แบบถ้วย เพื่อขยับไปจับลูกค้าในระดับกลางถึงบน แต่ตลาดนี้ยังมีสัดส่วนเล็กมากเมื่อเทียบกับบะหมี่ซองซึ่งเป็นเป็นตลาดใหญ่ ครองตลาดผู้บริโภคฐานราก ซึ่งได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ หันไปซื้ออาหารประเภทอื่นอย่างข้าวถุงที่มีราคาถูกกว่าบะหมี่

ทำให้มาม่าเองต้องออกแคมเปญ ชิงโชค รถยนต์ ทอง ต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ กระตุกยอดขายให้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ทั้งมาม่าและไวไวก็เริ่มมองหาการ “ต่อยอด” แตกไลน์ธุรกิจออกไป ก้าวไปสู่ในเกมธุรกิจใหม่ๆ แต่ยังอยู่บนรากฐานของธุรกิจเดิม

1_mama

โดยบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ในเครือของสหพัฒน์ ได้ลุยทำร้านราเมงด้วยการร่วมทุนกับ บริษัท โคราคุเอ็น โฮลดิ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด ในการบริหารร้าน “โคราคุเอ็น ราเมง” จากประเทศญี่ปุ่น

ทั้งคู่มองว่า ถึงแม้การแข่งขันจะสูง แต่โอกาสยังมี เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองแห่งอาหารการกิน และตลาดร้านอาหารก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านของเชนร้านอาหาร และร้านอาหารทั่วไป จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ทั้งสองแบรนด์ลงมาจับตลาดตรงนี้

จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้โคราคุเอ็น ราเมงได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2555 เปิดบริการไปแล้ว 6 สาขา แต่ดูเหมือนการแข่งขันจะไม่ง่ายอย่างที่คิด คู่แข่งมากหน้าหลายตา มีทั้งรายใหญ่ในไทย และร้านอิมพอร์ตจากญี่ปุ่น ทำให้ปัจจุบันมีร้านราเมงมากกว่า 1,000 ร้านในประเทศไทย

นอกจากนี้ การขาดประสบการณ์ในการทำตลาด และความไม่ชำนาญด้านทำเล ทำให้การขยายสาขาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ทางโคราคุเอ็นจึงตัดสินใจยุติการบริหารด้วยตนเอง แล้วใช้โมเดลการมองหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจในไทย

จึงเป็นที่มาของการมาร่วมมือกับ “ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” ที่มีความสนใจอยากเปิดร้านราเมงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะต้องการต่อยอดธุรกิจด้านเส้นในแบบที่ตนเองถนัด และได้พูดคุยเจรจากัน 3 เดือนจึงทำการร่วมทุนกึ่งเทกโอเวอร์ เปิดเป็น “บริษัท เพรซิเดนท์ โคราคุเอ็น จำกัด” ด้วยเงินลงทุน 25 ล้านบาท มีสัดส่วนการถือหุ้นเป็น บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) 70% บริษัท โคราคุเอ็น โฮลดิ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด 14% และบุคคล 16%

2_mama

ในความร่วมทุนกึ่งเทกโอเวอร์ที่ว่านั้นทำให้สิทธิ์การบริหารร้านโคราคุเอ็นเป็นของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ โดยที่ทางโคราคุเอ็นไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ กำหนด ทั้งนี้ทางไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ยังได้ซื้อในส่วนของโรงงานผลิตเส้นราเมงมาด้วย แต่ไม่เปิดเผยมูลค่าการลงทุน ซึ่งจากเดิมโรงงานได้ตั้งอยู่ที่ อ.มหาชัย แต่จะทำการย้ายมารวมกับโรงงานของไทยเพรสซิเดนท์ฟูดส์ ที่อำเภอศรีราชา

Tsutae Niida ประธานบริษัท Kourakuen Holding Corporation กล่าวว่า ตอนแรกที่เข้ามาทำตลาดตั้งเป้าขยาย 100 สาขาในไทย แต่เราไม่ชำนาญด้านทำเล และหลายๆ อย่าง จึงต้องมองหาพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อสร้างการเติบโต ตอนแรกคุยกับทางไทยเพรซิเดนท์ในลักษณะของการขายแฟรนไชส์ แต่เห็นว่ามีศักยภาพจึงทำการร่วมทุนกัน

5_mama

หลังจากที่มีการร่วมทุนเกิดขึ้นกันนั้นร้านโคราคุเอ็นภายใต้ชายคาใหม่ จึงเริ่มต้นจาก 2 สาขาที่ทำกำไรดีที่สุด คือ สาขาเกตเวย์เอกมัย และเจพาร์ค ศรีราชา ส่วนอีก 4 สาขาได้ทำการปิดบริการไปเพราะไม่สร้างกำไร และเร่งปั๊ม 30 สาขาภายใน 5 ปี โดยเริ่มต้นจากพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน แล้วจึงขยายไปยังต่างจังหวัด

เพชร พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า เราถนัดในเรื่องเส้น จึงมองหาแต่ร้านร้านอาหารประเภทราเมงเพื่อมาต่อยอดธุรกิจ ซึ่งยอมรับว่าตลาดนี้การแข่งขันสูงมาก แต่จุดแข็งที่โคราคุเอ็นจะใช้เพื่อสู้ในตลาดราเมงหลักๆ เป็นในเรื่องของเมนูที่มีความหลากหลายทั้งราเมง เมนูข้าว และเกี๊ยวซ่า เพราะในปัจจุบันมีร้านราเมงที่แยกเซ็กเมนต์ชัดเจนเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงในเรื่องราคาในระดับกลาง ในขณะที่ร้านราเมงอิมพอร์ตจะมีราคาแพง 100-300 บาท

ทางไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ได้ตั้งเป้ารายได้ภายใน 1 ปีนี้ 40 ล้านบาท โดยที่ปีนี้ยังไม่มีการขยายสาขาเพิ่มเติม

“ไวไว” แตกไลน์ “ควิกเทอเรส” สู่ธุรกิจร้านอาหาร

ทางด้านไวไวและควิกเป็นอีกแบรนด์ที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีการขยับตัวค่อนข้างเยอะ สำหรับแบรนด์ควิกเองที่ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของการสร้างแบรนด์เพื่อให้เกิดการรับรู้แก่ผู้บริโภค ในกลุ่มวัยรุ่น ในปีที่แล้วมีการใช้พรีเซ็นเตอร์กลุ่มพร้อมกันถึง 7 คน และเป็นการเน้นการทำตลาดของบะหมี่แบบถ้วย แต่ไม่มีการออกรสชาติอะไรใหม่ๆ ออกมา

3_mama

สิ่งใหม่ๆ ที่ไวไวต้องการเพิ่มไม่ใช่พอร์ตสินค้า แต่เป็นธุรกิจใหม่ ล่าสุดได้มีการแตกไลน์ธุรกิจร้านอาหารเช่นกัน แต่เป็นการลงทุนสร้างแบรนด์ใหม่เองใช้ชื่อร้านว่า “ควิกเทอเรส” ประเดิมลองตลาดที่หน้าโรงงานของตนเองย่านเพชรเกษมเป็นสาขาแรก ที่ได้เปิดให้บริการเมื่อช่วงกลางปี 2558 ที่ผ่านมา

ครั้งนี้เป็นการแตกไลน์ธุรกิจครั้งใหญ่อีกครั้งในรอบ 10 ปี หลังจากที่ไวไวเคยแตกไลน์ธุรกิจเครื่องปรุงรสแบรนด์ “รสเด็ด” มาแล้ว ความสำคัญของการที่ไวไวลงมาเล่นตลาดนี้ก็เพื่อต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถขายให้ได้มากกว่าบะหมี่ซองละ 6 บาทเท่านั้น เพื่อตอบรับกับตลาดที่ไม่มีการเติบโต

4_mama

ยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด กล่าวว่า ในช่วงปีนี้ยังไม่มีการลงทุนอะไรเพิ่มเท่าไหร่ แต่อยากแตกไลน์ธุรกิจมากกว่าเพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจเดิมที่เรามีจุดแข็งที่วัตถุดิบเรื่องเส้น เลยทำเป็นร้านอาหารเพราะสามารถขายได้แพงขึ้นมากกว่าบะหมี่ซองละ 6 บาท ในอนาคตจะมีการขยายสาขาเป็นเชนร้านอาหารเลย

ควิกเทอเรสเป็นร้านอาหารประเภทอาหารจานเดียวที่ทางไวไวได้ต่อยอดจากธุรกิจเส้นของตนเอง เอาวัตถุดิบเส้นที่มีอยู่มาแปลงร่างเป็นเมนูอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่า จากที่ขายบะหมี่ได้ซองละ 6 บาท เมนูมีทั้งประเภทยำ ซูชิ สปาเกตตี ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ราคาเริ่มต้นที่ 35-55 บาท

แผนในการขยายสาขาของควิกเทอเรส ยศสรัลบอกว่า คงไม่ไปสู้กับร้านอาหารในห้าง อาจจะมองเป็นทำเลมหาวิทยาลัย สำนักงาน และแหล่งท่องเที่ยว มองที่ทำเลมหาวิทยาลัยมหิดล เพราะสามารถควบคุมได้ง่าย อยู่ใกล้กับโรงงาน ภายในสิ้นปีนี้จะขยายเพิ่ม 1 สาขา และตั้งเป้าขยาย 50 สาขาภายใน 5 ปี   

ส่วนแผนในปีนี้สำหรับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยศสรัลมองว่า จะเพิ่มในตลาดกลุ่มพรีเมียมในลักษณะของการใส่ชิ้นเนื้อลงไป หรือซองใหญ่ขึ้น ทำให้ขายได้ในราคาสูงขึ้น จาก 6 บาทเป็น 8 บาท หรือจาก 13 บาท เป็น 15 บาท อาจจะได้เห็นในช่วงปลายปีนี้

นับเป็นอีกหนึ่งในความเคลื่อนไหวของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้องต่อยอดธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจ และบริบทการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป

info_mama